ผ้าขาวม้าโกอินเตอร์ จากเส้นใยผ้าทอชุมชนสู่สโมสรฟุตบอลและสนามแข่ง

โครงการ “ผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย” ปีที่ 5 จัดแฟชั่นโชว์ผ้าขาวม้าครีเอทีฟ ชูแนวคิด “ทีมผ้าขาวม้าไทย” รวมพลังคนรุ่นใหม่ สร้างสรรค์อัตลักษณ์ผ้าขาวม้าทอมือชุมชนทั่วประเทศ ต่อยอดสู่ตลาดคนเมือง สโมสรฟุตบอล และตลาดสากล
พิเศษสุดกับครั้งแรกของการเดินแบบแฟชั่นโชว์ชุดกีฬา ผ้าขาวม้า สุดเท่ของนักเตะจาก 4 สโมสรฟุตบอลดัง โปลิศ เทโร เอฟซี, สุโขทัย เอฟซี, สุพรรณบุรี เอฟซี และ ราชบุรี เอฟซี นำโดย ธีรเทพ วิโนทัย, ลีออน เจมส์, สุพรรณ ทองสงค์ และ สตีเว่น ล็องจิล ร่วมกับนางแบบนายแบบอีกหลายสิบชีวิตภายในงาน “ผ้าขาวม้าทอใจ 2564” ณ ชั้น G สามย่านมิตรทาวน์ เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2564
แฟชั่น ผ้าขาวม้าครั้งนี้ มีความพิเศษตรงที่เป็นเสื้อผ้าแฟชั่นที่ตัดเย็บด้วยผ้าขาวม้าจาก โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย ปีที่ 5 ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งผลักดันให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าผ้าขาวม้าทอมือ เพื่อช่วยเพิ่มรายได้และพัฒนาทักษะอาชีพให้กับชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทั่วประเทศ ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างเจ้าของภูมิปัญญาการทอผ้าขาวม้า ดีไซเนอร์ และกลุ่มนักศึกษารุ่นใหม่ด้านการออกแบบและด้านการบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยต่างๆ
โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย เป็นโครงการที่มุ่งหวังพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ของชุมชนในชนบททั่วประเทศ เพราะดำเนินงานภายใต้คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน
อันประกอบด้วย บริษัทประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด, กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย, เครือข่ายบริษัทประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคมทั่วประเทศ, ภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษาภายใต้โครงการ Creative Young Designers และภาคเอกชนซึ่งมี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นำโดย ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ไทยเบฟ และประธานคณะกรรมการ “โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย” เป็นผู้ริเริ่มและหัวเรือหลักในการดำเนินงานมาตั้งแต่เริ่มโครงการครั้งที่ 1 ในปีพ.ศ.2559
2 นักเตะสโมสรสุโขทัย เอฟซี กับผลงานการออกแบบชุดกีฬาจากผ้าขาวม้าของนักศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ X กลุ่มทอผ้าและตัดเย็บผ้าขาวม้าบ้านหาดเสี้ยว จ.สุโขทัย (credit photo : FB/PakaomaThailand)
เหตุผลที่แฟชั่นโชว์ผ้าขาวม้าจาก “โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย ปีที่ 5” ได้รับเกียรติจากนักเตะดาวดังของสโมสรฟุตบอลร่วมแสดงแบบ เนื่องจากโครงการปีนี้ชูแนวคิด ทีมผ้าขาวม้าไทยจากเส้นใยสู่สนามแข่ง หมายถึงการรวมพลังของทุกภาคส่วนพัฒนาเป็น “ทีมผ้าขาวม้า” ที่แข็งแกร่งและยั่งยืนเป็นหนึ่งเดียว เพื่อต่อยอดการพัฒนาด้านตลาดและช่องทางการจัดจำหน่าย รวมไปถึงการออกแบบ ของที่ระลึกให้แก่ สโมสรฟุตบอล และการนำสินค้าผ้าขาวม้าทอมือเข้าวางขายในกิจกรรมต่างๆ ของสโมสร
ชุดกีฬาและผ้าพันคอจากผ้าขาวม้าของสโมสรฟุตบอลโปลิศ เทโร เอฟซี ออกแบบโดยนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่น ใช้ผ้าขาวม้าทอมือของวิสาหกิจชุมชนคอตตอนดีไซน์ จ.ปทุมธานี (credit photo : FB/PakaomaThailand)
คุณต้องใจ ธนะชานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีวิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า นับจากปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องของคุณภาพการผลิตและด้านการตลาด ผลักดันจนเกิดการพัฒนาและแปรรูป ผ้าขาวม้าชุมชน ที่หลากหลาย ควบคู่ไปกับการจัดประกวดลายผ้าขาวม้า และผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าที่สะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชนอย่างชัดเจน จนเป็นที่รู้จักและถูกจับตามองในวงกว้าง
“ที่สำคัญ โครงการ Creative Young Designers เราได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ของน้องๆ นักศึกษา ในการนำผ้าขาวม้าสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานต่างๆ ซึ่งน้องๆ มีความคิดสร้างสรรค์ มีเทคนิคใหม่ๆ และยังสามารถขยายกรอบความคิดออกไปได้อีกมากมาย”
สิ่งสำคัญที่ต้องการให้เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนโครงการฯ คือ ชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ เกิดเครือข่ายการทำงานของกลุ่มทอผ้าของชุมชนภายในจังหวัด และข้ามไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนาการแปรรูปผ้าขาวม้าทอมือให้มีคุณภาพ และมีความหลากหลาย สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มทอผ้าอย่างยั่งยืน คุณต้องใจกล่าว
ปัจจุบัน โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย ได้ต่อยอดขยายพื้นที่การทำงานเป็น 15 ชุมชนทั่วประเทศ ประกอบด้วย
- วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง
- วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสืบสานต่อผ้าทอมือบ้านผือ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
- วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านหนองเครือบุญ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา
- วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านรางจิก อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
- วิสาหกิจชุมชนปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าไหมผ้าฝ้ายบ้านเสารีก อ.พนา จ.อำนาจเจริญ
- กลุ่มพัฒนาสตรีบ้านสวนปอ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด
- กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ อ.เมือง จ.หนองบังลำภู
- กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ อ.เมือง จ.บึงกาฬ
- กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
- กลุ่มทอผ้าบ้านห้วยทราย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
- กลุ่มอาชีพผ้าฝ้ายอำพัน อ.ฮอด จ.เชียงใหม่
- กลุ่มอาชีพทอผ้าบ้านล่องมุด อ.เทพา จ.สงขลา
- กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านโนนชาด อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์
- วิมพ์ดีไซน์ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี
- กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร บ้านคึมมะอุ-สวนหม่อน อ.บัวลาย จ.นครราชสีมา
ร่วมกับ 13 มหาวิทยาลัยใน โครงการ Eisa (Education Institute Support Activity) ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
และ 3 สโมสรฟุตบอล ประกอบด้วย สโมสรอยุธยา ยูไนเต็ด, สโมสรนครปฐม ยูไนเต็ด และสโมสรพีที ประจวบ
คุณ ฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานคณะกรรมการโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็น โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทยได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องจนก้าวเข้าสู่ปี ที่ 5 โดยมี บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน รวมถึงเครือข่ายชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทอมือทั่วประเทศ และต้องขอขอบพระคุณ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ภาคีเครือข่ายภาคเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศที่ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาทักษะอาชีพให้กับชุมชนผู้ผลิต และร่วมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าผ้าขาวม้าทอมือ จนสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่เข้าร่วมโครงการมาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นจำนวนเงินกว่า 173 ล้านบาท
การส่งมอบผลงานการออกแบบของนักศึกษา ทั้ง 6 สถาบันภายใต้กิจกรรม Creative Young Designer ให้กับชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้น นับเป็นนิมิตหมายอันดีอีกครั้งหนึ่งในการสร้างความร่วมแรงร่วมใจระหว่างนักศึกษาในเมืองและชุมชนในชนบท ซึ่งตรงกับชื่อและวัตถุประสงค์ของงานนี้ คือ ‘ผ้าขาวม้าทอใจ’ ที่ต้องการให้ ผ้าขาวม้า มีบทบาทในการเชื่อมโยงคนไทยของเราเข้าด้วยกัน ทั้งการเชื่อมโยงระหว่างคนเมืองกับคนในชนบท และ การสร้างความผูกพันระหว่างคนรุ่นปู่ย่าตายายกับคนรุ่นใหม่
“ผมมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การทำกิจกรรมของนักศึกษาในปีที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการช่วยกระตุ้นชุมชนในการคิดค้นพัฒนารูปแบบสินค้าใหม่ๆ แล้ว ยังเป็นการสร้างเสริมประสบการณ์และการเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับนักศึกษาด้วย กระผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นกิจกรรม Creative Young Designer ยังคงดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและขยายขอบข่ายความร่วมมือไปสู่ 15 ชุมชนทั่วประเทศ ผ่านความร่วมมือกับ 13 สถาบันอุดมศึกษา และ 3 สโมสรฟุตบอล...
รวมถึงมีการขยายการบูรณาการความรู้ทั้งในด้านการออกแบบและการบริหารธุรกิจเข้าด้วยกัน ตลอดจนมีการพัฒนาด้านการตลาดและการจัดจำหน่ายสินค้าผ้าขาวม้าผ่านช่องทางและกิจกรรมต่างๆ ของสโมสรฟุตบอล...
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า พลังร่วมที่เราได้แสดงออกร่วมกันในวันนี้ จะช่วยหนุนนำการดำเนิน โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย และการพัฒนาชุมชนผ้าขาวม้าทอมือของเราต่อไปในอนาคต เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนตามแนวทางแรงบันดาลใจจากทุกคน เพื่อชุมชนที่ยั่งยืน”
คุณ ฐาปน กล่าวด้วยว่า ผลงานของ “โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย” นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งใน 5 มิติหลัก ดังนี้
- การสร้างรายได้ให้กับชุมชนผ้าขาวม้าทอมือ ในช่วงที่ผ่านมามีชุมชนที่ยืนหยัดทำงานร่วมกับโครงการฯ มาอย่างต่อเนื่องจำนวน 28 ชุมชน และโครงการฯได้ร่วมสร้างรายได้ให้กับชุมชนเหล่านี้กว่า 173 ล้านบาท
- การสร้างเครือข่ายภาคเอกชน ที่พร้อมจะสนับสนุนชุมชนผ้าขาวม้าทอมือ ทั้งในรูปแบบการสั่งซื้อสินค้า การร่วมออกแบบและให้ความรู้ในการทำธุรกิจ ตลอดจนความเชื่อมโยงในรูปแบบต่างๆ โดยมีตัวอย่างของเครือข่ายภาคเอกชนที่ได้ร่วมทำงานกับโครงการมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ กลุ่ม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัทเซ็นทรัล และ บริษัท S&P Syndicate จำกัด
- การผลักดันการสร้างอัตลักษณ์ของชุมชน ลงบนผ้าขาวม้าของตน เพื่อสร้างความโดดเด่นเฉพาะตัวให้เป็นที่จดจำของผู้บริโภค
- การสานต่องานผลิตและแปรรูปผ้าขาวม้าสู่คนรุ่นใหม่ ผ่านกิจกรรมหลัก 2 อย่าง คือ การเฟ้นหาทายาทผ้าขาวม้าไทย ซึ่งได้พบทายาทตัวจริงในชุมชนจำนวน 15 คน ที่ยึดถือการผลิตและแปรรูปผ้าขาวม้าทอมือเป็นอาชีพ โดยช่วยพัฒนาช่องทางขายสู่ช่องทางออนไลน์และพัฒนาอัตลักษณ์และแบรนด์สินค้าให้มีความโดดเด่นชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนั้น โครงการฯ ยังได้สร้างความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องโดยมีการดึงคณาจารย์และนักศึกษาเข้าร่วมงานกับชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทอมือ รวม 13 สถาบันและมีชุมชนที่ได้รับประโยชน์รวมทั้งสิ้นจำนวน 24 ชุมชน
- การเสริมสร้างห่วงโซ่การผลิตผ้าขาวม้าทอมือ ให้มีความเข้มแข็งและเกื้อกูลกันระหว่างชุมชนต่างๆ เพื่อให้แต่ละชุมชนสามารถพัฒนาทักษะและความเป็นเลิศในด้านที่ตนถนัด ซึ่งผลงานด้านนี้ที่มีความเด่นชัดที่สุด คือการผลิตผ้าขาวม้าทอมือในจังหวัดอำนาจเจริญ นำโดยคุณธนิดา พูลจิตร แบรนด์นุชบา ที่ได้เชื่อมโยงชุมชนกว่า 80 กลุ่มจาก 7 อำเภอ ในจังหวัดอำนาจเจริญ และสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนเป็นเงินกว่า 10 ล้านบาทต่อปี
สำหรับผู้สนใจอยากซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าทอมือของชุมชนผู้ผลิตส่งตรงจากเชียงใหม่ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด สุโขทัย ราชบุรี สุพรรณบุรี และปุทมธานี ชมผลงานผู้ชนะการประกวดลายผ้าขาวม้า “นวอัตลักษณ์” และผลงานการประกวดภาพถ่ายผ้าขาวม้าผ่าน IG “Wow From Home” ความงดงามของ “ผ้าขาวม้าลายขอ” ยังมีเวลาวันนี้อีก 1 วัน (26 พ.ย.2564) ณ ชั้น G สามย่านมิตรทาวน์ ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น.
สินค้าจากผ้าขาวม้าบ้านหาดเสี้ยว จังหวัดสุโขทัย