บอ.บู๋–บูรณิจฉ์ ทุ่งหญ้าแห่งความฝันของคนบ้าฟุตบอล ที่ไม่คิดไปทำอย่างอื่น
โลกคือฟุตบอล เบื้องหลังคนบ้าบอล "บอ.บู๋" บูรณิจฉ์ รัตนวิเชียร นักข่าว คอลัมนิสต์ สยามกีฬา ชายผู้เป็นนักข่าวและติดตามความเป็นไปของโลกลูกหนัง มายาวนานกว่า 28 ปี ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสื่อ
ฟุตบอลคือศาสนาของเด็กผู้ชาย เป็นเรื่องที่ใช้พูดคุยผูกมิตรรัก และบางครั้งก็เป็นต้นตอของความกระทบกระทั่งเกลียดชัง
90 นาทีคือช่วงเวลาของการแข่งขัน แต่พลันที่สิ้นเสียงนกหวีด โลกของฟุตบอลไม่ได้จบลงเพียงแค่ในสนาม เช่น ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดคือคอนเทนท์มูลค่ากว่าพันล้าน นักกีฬาฟุตบอลระดับท็อปอย่างคริสเตียโน โรนัลโด้ คือผู้ที่มียอดคนติดตามใน Instagram มากที่สุดในโลก
โลกส่วนหนึ่งอธิบายได้ผ่านกีฬา และกีฬาฟุตบอลคือโลกเกือบทั้งใบของผู้ชาย ในลูกกลมๆ มีเหตุผลน่าวิเคราะห์แบบผู้ใหญ่ เร้าอารมณ์คึกคะนองแบบเด็กๆ ถึงเช่นนั้นในจำนวนผู้คนนับสิบล้านในประเทศไทยที่ติดตามฟุตบอล บอ.บู๋–บูรณิจฉ์ รัตนวิเชียร นักข่าว คอลัมนิสต์ น่าจะเป็นบุคคลลำดับแรกๆ ที่ถูกนิยามว่า “บ้าบอล” ที่สุด
ผู้ชายคนนี้ทำงานมาเกือบ 30 ปี ไม่เคยเปลี่ยนอาชีพ เป็นเจ้าของคอลัมน์ "ทุ่งหญ้าแห่งความฝัน" ในหนังสือพิมพ์สตาร์ซอคเกอร์รายวันที่คนรักฟุตบอลต้องติดตามอ่านเมื่อหลายสิบปีก่อน และเป็นคนเดียวกับช่องยูทูบ เจ้าของเพจ บอ.บู๋ ที่มีคนติดตามกว่า 4.8 แสนคน
บ่ายแก่ๆ ในเดือนพฤศจิกายน'64 เรานัดกันที่สำนักงานสื่อเครือสยามกีฬา ซอยนวลจันทร์ รามอินทรา ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจและอากาศ อาคารภายนอกยังดูโออ่า แท่นพิมพ์หนังสือแบบยุคอุตสาหกรรมใหม่ยังคงทำงานต่อไป หากเมื่อเดินต่อเข้าไปภายใน บางพื้นที่กลับปิดไฟเงียบ และแผนกฟุตบอลต่างประเทศที่น่าจะคึกคักที่สุด มีสีสันมากที่สุด ดูจะมีจำนวนโต๊ะว่าง มากกว่า คนเข้ามาทำงาน
ทุ่งหญ้าแห่งความฝัน ชื่อคอลัมน์และชื่อหนังสือของ บอ.บู๋ -บูรณิจฉ์
- ยังไม่ถึงเวลาทำงานกันหรือเปล่า? ข่าวฟุตบอลต่างประเทศเริ่มกันดึกๆ
มีบ้างที่ยังไม่เข้า แต่ก็เหลือกันแค่นี้แหละ ไปหมดแล้ว (หัวเราะ) ไปทำอย่างอื่นบ้าง ไปทำเพจ ทำคอนเทนท์ออนไลน์ มีแต่ผมนี่แหละที่ยังอยู่
- คุณเองก็มี เพจ บอ.บู๋ มีคนติดตามกว่า 4 แสนคน
ใช่ เป็นเพจของผมเอง โชคดีที่ยังมีต้นทุนจากการทำงานจากหนังสือพิมพ์ วิทยุ รายการโทรทัศน์ ยังมีผู้ติดตาม ทุกวันนี้ผมทำเพจ ทำช่องยูทูบ แต่ที่สยามกีฬาผมก็ไม่คิดจะไปไหน จะอยู่จนกว่าจะจากกันไปข้าง ผมยังภูมิใจที่มีคำต่อท้ายว่าสยามกีฬานะ อยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 2536 รายงานด้านฟุตบอลต่างประเทศ เขียนสกู๊ป เป็นคอลัมนิสต์ ทำเนื้อหาด้านฟุตบอล นับดูก็เกือบๆ 30 ปี ยังรู้สึกภูมิใจกับการเป็นคนของสยามกีฬาอยู่
- อยู่กับฟุตบอลมานาน ทุกวันนี้คุณดูฟุตบอลด้วยความรู้สึกแบบไหน
ตอนนี้ตั้งใจดูมาก ตอนทำหนังสือพิมพ์สัปดาห์หนึ่งต้องเขียนงาน 4-5 ชิ้น บางทีคิวที่เราเขียนไม่ตรงกับการแข่งขัน เราก็นั่งดูแบบสบายๆ กินข้าวไปดูไปบ้างก็มี ขอแค่ดูพอหาแง่มุมมาเขียน แต่พอทำออนไลน์ มีเพจ ต้องทำทุกวัน วิเคราะห์ทุกวัน แล้วคนติดตาม บอ.บู๋ คาดหวังว่า พอบอลจบเราต้องมีความเห็นเลย ทุกวันนี้ต้องดูคนเดียว เงียบๆ คุยกับใครไม่ได้เลย เพราะต้องดูเพื่อจะเก็บรายละเอียดให้ได้เยอะที่สุด
ที่ต้องไม่พลาดเลยคือทีมใหญ่ อย่างแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล ต้องดูเป็นหลัก เพราะว่ามีฐานแฟนบอลเยอะ คนสนใจเยอะ รองลงมาก็เชลซี, แมนเชสเตอร์ซิตี, ทอตนัมฮอตสเปอร์ ต้องดูเพื่อเอามานำเสนอ
มีบ้างแหละที่เราเบื่อ จะบอกว่าไม่เบื่อเลยก็จะดูหล่อไปหน่อย คุณคงเข้าใจฟุตบอลไม่ได้สนุกทุกคู่ บางทีมาดึก หรือบางทีบอลไม่มีความหมาย เอาง่ายๆสมมติว่าเป็นทีมใหญ่ก็จริง แต่ทีมเข้ารอบไปแล้ว นัดที่จะแข่งนี้เอาเด็กเยาวชนลง แบบนี้ที่เบื่อ เป็นเมื่อก่อนผมไม่ดูเลยนะ แต่ตอนนี้ต้องดู เพราะมีคนรออ่าน รอติดตามอยู่
ถึงวันนี้ความรู้สึกมันผสมๆ เบื่อบ้าง สนุกบ้าง แต่โดยเฉลี่ย เราคิดว่าการดูบอลมันมากกว่างานไปแล้ว แล้วยิ่งเป็นงานที่มีความชอบผสมอยู่ด้วย มันเลยเหมือนกับทำงานอดิเรก เหมือนกับเราทำในสิ่งที่เราชอบและได้เงินด้วย ยิ่งผนวกกับการเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของวงการฟุตบอลมันไม่จบแค่นั้นไง เช่น เดี๋ยวมีคนถูกไล่ออก เดี๋ยวมีนักเตะย้ายเข้ามาใหม่ เราจะรู้สึกสนุกไปกับตรงนั้น
ยิ่งทำงานออนไลน์ แล้วเห็นตัวเลขคนที่ติดตาม หรือคน Engagement มันก็ต้องคิดตลอดว่าเราจะนำเสนออะไรให้ผู้คนเหล่านี้ยังดูเราอยู่ แม้ว่าจะไม่มีบอลแข่งหรือเป็นช่วงปิดฤดูกาล ไม่มีสถานการณ์ใดๆ
- คนที่ทำงานมาเกือบ 30 ปี ทำอยู่เรื่องเดียวถือว่านานพอสมควร อะไรเป็นองค์ประกอบที่ทำให้อยู่นานขนาดนี้
ผมว่าผมบ้าบอล บ้าจริงๆนะ มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว เวลาอยู่กับเพื่อน นั่งสังสรรค์ ไม่ได้ทำงาน ผมก็คุยเรื่องบอลอยู่ดี คุยเรื่องแมนยู คุยเรื่องลิเวอร์พูล “เฮ้ย ทำไมวันนี้มันเล่นดี” หรือ “ทำไมเจอร์เก้น คล็อปป์ (ผู้จัดการทีมลิเวอร์พูล) มันเก่งจังวะ” มันยังสนุกที่ได้คุย คงแตกต่างกับเราทำงานธนาคาร เราคงไม่นั่งคุยกับเพื่อนหลังเลิกงานว่า “วันนี้มีคนมาฝากเงินเท่าไร” ลูกค้าคนนี้เป็นอย่างไร ผมมันบ้าบอล ต่อให้ไม่ทำงานก็คุยเรื่องบอล
ถ้าถามว่าองค์ประกอบอะไรที่ทำให้ทำงานขนาดนี้ ก็ต้องเป็นความบ้าก่อน นั่งทำงานดึกๆ เข้าเวรข่าว จนถึงเช้า ยิ่งในช่วงที่รายได้ไม่ได้มาก มันก็ต้องอาศัยความจริงใจ เอาจริงเอาจัง เข้มข้น เป็นสิบๆปี กว่าจะพอมีชื่อเสียง
- เคยคิดจะทำอย่างอื่นบ้างไหม
ไม่เคยเลย (รีบตอบ) ถึงคิดจะทำก็ยังเชื่อมโยงกับฟุตบอลอยู่ดี เช่น พอโซเชียลเน็ตเวิร์คได้รับความนิยม เราก็คิดอยู่ว่าจะทำเพจดีไหม ทำช่องยูทูบไหม ก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็ยังมีฟุตบอลเป็นหลักอยู่ดี
สมัยก่อนจะไปดูฟุตบอลที่อังกฤษสักครั้ง มันไม่ง่ายเลยนะ สมัยจะทำสารคดีฟุตบอลเพื่อมาออกช่อง 7 ต้องขออนุญาตสโมสรก่อน ทำจดหมาย เตรียมตัวนานมาก ทุกวันนี้มีมือถือ อยากถ่ายไรก็ถ่าย มันยิ่งให้ผมอยากทำ จะให้เปิดร้านอาหาร ทำธุรกิจ เป็นเจ้าของแบรนด์ ขายครีม ขายอาหารสุขภาพคงไม่เหมาะกับคนอย่างผม
อีกอย่างที่ทำคือการทำทัวร์ดูฟุตบอล เพราะคิดว่าเราบ้าบอล ก็อยากชวนคนอื่นให้ไปด้วย เราก็ทำหน้าที่ไกด์ เป็นคนนำเที่ยว ให้ความรู้เรื่องฟุตบอล ให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งการที่เราติดตามมานานทำให้เราต่างจากคนอื่น นักฟุตบอลไปกินอาหารร้านไหน ไปสังสรรค์ที่ไหนต่อ แล้วยิ่งผมเคยอยู่อังกฤษ ผมบ้าแมนยู รู้แ_่ง ทุกซอกทุกมุม พยายามทำทัวร์ให้มันถึงกึ๋นกว่าใคร
- บุคลากรด้านกีฬาของไทย มีจุดเริ่มต้นมาจากงานข่าวฟุตบอลมากมาย เช่น คุณบิ๊กจ๊ะ (สาธิต กรีกุล) คุณแจ๊คกี้ (อดิสรณ์ พึ่งยา) แต่ทำไมคุณยังอยู่ที่เดิม พอเอ่ยชื่อ บอ.บู๋ คนนึกภาพอย่างอื่นไม่ออก นอกจาก นักข่าว คอลัมน์นิสต์ฟุตบอลเท่านั้น
เพราะสิ่งที่เราทำมันไปทางเดียวไง พี่ๆ ท่านอื่น นอกจากเป็นคอลัมน์นิสต์ เขาก็จะมีบทบาทอื่นๆ เช่น พากษ์กีฬาอ่านข่าวในโทรทัศน์ บางคนทำธุรกิจ แต่ผมไม่มีเลย เพราะผมไม่ค่อยมีโอกาสแบบนี้ จะให้ไปประกาศข่าวเขาก็มีคนทำหน้าที่แล้ว ผมก็เลยเป็นแต่คอลัมนิสต์ เป็นคนรายงานเรื่องฟุตบอล
เวลาเราทำ เราพยายามทำให้คนชอบที่สุด บางคนมองว่าผมเฮฟวี่ ฮาร์ดคอร์ หาว่าผมเถื่อน ก็เฮ้ย ผมเป็นของผมแบบนี้ ผมชอบอะไรที่มันส์ๆ ถึงกึ๋น เขียนฟุตบอลที่โยงกับเรื่องสังคม เล่าถึงชีวิตคน ใช้ภาษาที่ตรงไปตรงมา บ้าบิ่น กวนตีนบ้าง แหย่คนโน่นคนนี้บ้าง มันไม่มีใครทำ คนก็เลยจดจำ
การเป็นคอลัมน์นิสต์ฟุตบอลที่กวนตีนๆ จึงเป็นภาพลักษณ์ของผมอย่างเดียว แต่ทั้งหมดทั้งมวล ผมตั้งใจทำให้ดีที่สุดนะ ตั้งใจให้คนอ่าน ให้คนติดตาม เพราะถ้าไม่มีคนชอบ ไม่มีคนติดตาม ก็ไม่รู้จะทำไปทำไมเหมือนกัน
- คุณเป็นนักข่าวฟุตบอล คอลัมนิสต์ฟุตบอลที่น่าจะมีคนชอบเยอะที่สุด แล้วก็มีคนเกลียดเยอะที่สุด เวลาถูกด่า มีท้อบ้างไหม
ท้อสิ เราก็คนนะ มีหัวใจ ผมดูบ้าๆ แต่ก็มีความรู้สึก และถ้าคุณเข้าใจโลกโซเชียลดีพอนะ คุณจะเห็นความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก แล้วก็โดนมาเยอะ
เชื่อไหมว่า โซเชียลมันทำให้ความคิดที่บรรเลงด่าของคนไทยบางกลุ่มมันต่ำจริงๆนะ ต่ำแบบไม่น่าเชื่อ ทั้งวุฒิภาวะ การแสดงออก ทำไมถึงเป็นขนาดนี้ บางทีไม่ทันได้อ่าน ไม่เข้าใจความหมาย แต่ก็แสดงออก ด่ากันโดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอีกฝ่ายต้องการสื่อสารอะไร เกรียน ต่ำ แบบที่ไม่รู้จะหาคำอะไรมาพูด
อย่างที่คุณรู้ ผมเองก็ถูกด่ามาเยอะ เวลาคนด่า เราก็ขึ้นนะ แต่อายุขนาดนี้แล้ว อะไรผ่านได้ก็พยายามผ่านไป แต่บางอันที่ผ่านไม่ได้ เช่น มาใส่ความเราว่าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ทั้งที่เราไม่ได้เป็น ซึ่งตรงนี้ถ้าเราไม่มีเวลา ก็จำเป็นต้องปล่อยไป ไม่ต้องดูโทรศัพท์อีก แต่ถ้าวันไหนพอมีเวลาต้องชี้แจง ต้องอธิบายหน่อย เรื่องนี้กูไม่เคยพูดนี่หว่า มึงไปเอามาจากไหน มาด่ากูแบบนี้ได้ไง ไปหาหลักฐานมา
- บอ.บู๋ กับการถูกด่า ถูกแบน เป็นสิ่งที่ได้ยินมาตลอด การถูกแบนในยุคไหนที่แย่ที่สุด
ทุกครั้งที่มีปัญหามันแย่หมด มันเซ็ง แต่มันก็ผ่านไป คนทำงานก็ต้องหนักแน่นกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ถามว่าอะไรแย่ที่สุด ในความรู้สึกของผม คือ ตอนบอลโลก 2006 ตอนนั้นผมทำรายการสด รายการฟุตบอลโลก แล้วผมดันไปพูดคำว่า “ตบเด็ก” ซึ่งในความหมายของผมคือ การที่ทีมใหญ่เอาชนะทีมเล็ก แต่ผมก็ยอมรับนะว่าพูดด้วยความคะนองจริงๆ แล้วก็ดันไปพูดออกทีวี ปรากฏว่าโดนผู้มีอำนาจเล่น ถูกสั่งแบน เพราะใช้คำที่ไม่ดี รุนแรง แล้วดูตอนนี้ คุณดูรายการเดี๋ยวนี้ไหม ทุกอย่างมันพูดกันได้หมด แต่ย้อนกลับไป ณ วันนั้น มันกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ผมต้องโดนแบนออกจากรายการ
- รู้สึกแย่ในตอนนั้น ?
ใช่ รู้สึกเฟลไปเลย เพราะเจตนาเราไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น ถามในใจตลอดทำไมถึงเป็นแบบนั้นได้วะ ตอนผมทำรายการวิทยุ ผมโดนแบน 4 รอบนะ คือก็รู้ว่าผิดแหละ เราคิดว่าโดนอีกแล้วเหรอ แค่นี้ก็โดนแล้ว จนครั้งล่าสุดที่โดนแบนรอบที่ 4 ผมบอกกับคนที่เอาผมเข้าไปทำเลยว่า ต่อไปนี้ไม่ต้องเอาผมไปจัดรายการก็ได้ครับ ตัวตนผมเป็นอย่างนี้ เป็นคนสนุก คนมันส์ พูดกันตรงไปตรงมาแบบที่ชาวบ้านพูดกัน คุณเอาผมไปทำ เพราะต้องการขายความมันส์ ผมเป็นคนโผงผาง ผมพูดจาแบบนี้ แต่พอพูดนิดพูดหน่อย ไอ้นี่ก็ไม่ได้ ไอ้นั้นก็ไม่ได้ แล้วคุณจะมาเอาผมไปทำไม
- เวลาคุณโดนแบนเพราะเรื่องแบบนี้ คนรอบตัวคุณว่าอย่างไร เจ้านายคุณ เพื่อนร่วมงาน
เขาเข้าใจว่า เราเป็นตัวตนแบบนี้ แต่ผมไม่ได้ตั้งใจจะหยาบ จะสนุก เพราะผมจะขายนะ ผมเป็นแบบนี้ของผมอยู่แล้ว นี่คือตัวตนของผม ผมพูดตรง ใช้คำแบบที่เราพูดกัน
- อะไรคือสิ่งที่คุณมีความสุขหรือภูมิใจที่สุดในการทำข่าวฟุตบอล
ตอนไปอยู่อังกฤษ 2 ปี ช่วงปี 2001-2003 ทุกอย่างในชีวิตผมใหม่หมดเลย ได้ไปประจำการที่ต่างประเทศเพื่อไปดูบอลที่เราชอบ ไปเดินทาง ไปเจอวัฒนธรรม เจออาหารการกิน เจอแหล่งศูนย์รวมนักเรียนไทย ไปขอสัมภาษณ์นักฟุตบอล ได้ไปเป็นสิบๆสนาม เป็นช่วงที่มีความสุขมาก เหมือนเป็นความฝันของเรา
โอเค ในวันนั้นมันไม่ง่ายเหมือนทุกวันนี้ มันไม่สบายเหมือนเมืองไทย กล้องโทรศัพท์คุณภาพก็ไม่ได้ดีมาก ไหนจะความแตกต่างทางภาษา แต่ทุกอย่างมันแปลกใหม่หมด ท้าทายสำหรับการทำงาน
ตื่นเช้ามาต้องไปซื้อหนังสือพิมพ์มาก่อน 7-8 ฉบับ ดูว่ามีอะไรน่าสนใจแล้วเขียนข่าวกลับมา เขียนสกู๊ปกลับมา เป็นเรื่องแปลบ้าง รายงานความเคลื่อนไหวในวงการฟุตบอลบ้าง ก็ถือว่าเรารายงานข่าวฟุตบอลที่คนไทยสนใจ หาเรื่องที่เขาอยากรู้ และหน้าที่ของเราคือสัปดาห์หนึ่งต้องไปดูฟุตบอล 2-3 นัดเป็นอย่างน้อย บางทีก็ต้องไปต่างจังหวัดไกลๆบ้าง ต้องอัดเทปฟุตบอล สนุกเกอร์บ้าง (เพราะเป็นช่วงที่คุณต๋อง ศิษย์ฉ่อย แข่งขันที่อังกฤษ) รายงานผลกีฬาจากโทรศัพท์เข้ารายการวิทยุ ถ้าทัวร์ของสยามกีฬาไปก็ช่วยดูแลลูกทัวร์ ให้ความรู้ด้านฟุตบอล บางทีก็ขนของมาขายที่ร้านสตาร์ซอคเกอร์ เยอะไปหมด
- ถือว่าเป็นงานที่หนักเหมือนกันนะ
ใช่ ค่อนข้างหนัก แล้วมีความคาดหวังสูง เพราะก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะได้ไป แต่เป็นช่วงที่สนุก สร้างความมีระเบียบวินัยให้ตัวเอง สร้างทักษะในวิชาชีพ ตอนนั้นเขียนหนังสือลื่นมาก ทุกอย่างมันเล่าได้หมด เป็นวัตถุดิบในการรายงาน
- เมื่อไม่นานมานี้ ร้านสตาร์ซอคเกอร์ สาขาสุดท้ายที่ ซีคอนสแควร์ ปิดตัวลงไป คุณพูดถึงความคลาสสิกของการดูฟุตบอลที่ได้จากไปเช่นกัน ช่วยอธิบายได้ไหมว่าความคลาสสิกที่ว่าคืออะไร
มันเป็นสมัยที่ไม่มียูทูบ ไม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างทุกวันนี้ไง ไม่ใช่เวลาที่อยากดูเมื่อไรก็ต้องได้ดู
ร้านสินค้าสตาร์ซอคเกอร์ ที่เพิ่งปิดตัวลง
สมัยผมดูบอลใหม่ๆ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ฟุตบอลไม่มีถ่ายทอดสดบ่อยๆแบบทุกวันนี้นะ ใน 1 ปี คุณจะมีโอกาสดูฟุตบอล สัก 2 นัด คือนัดชิงลีกคัพกับเอฟเอคัพ ส่วนฟุตบอลโลกมีแค่นัดเปิดและนัดปิดเท่านั้น และยิ่งถ้าทีมที่เราชอบไม่เข้ารอบชิงชนะเลิศ เท่ากับเราไม่มีโอกาสดูทีมที่เราชอบเลย
พอมาอีกยุคหนึ่งเราก็จะเห็นรายการโทรทัศน์เอาเทปฟุตบอลมาฉายบ้าง เป็นเทปที่ตัดให้สั้นบ้าง แต่ก็นานๆครั้ง จนมีรายการโทรทัศน์อย่างเจาะสนาม นาทีระทึกใจ ที่ทำให้เราได้ดูภาพกีฬา ได้เห็นไฮไลต์ฟุตบอล
การติดตามข่าวฟุตบอลในอดีตจึงมาจากการอ่านหนังสือแทบจะทั้งหมด และร้านสตาร์ซอคเกอร์นี่แหละ ที่มีให้เช่าวิดีโอเทปฟุตบอล เป็นความสนุกในยุคนั้นของคนที่บ้าฟุตบอล สมัยก่อนอยากจะเห็น อยากจะจับเสื้อฟุตบอล ก็ต้องไปที่ร้านนั้น ไม่มีเงินซื้อไปจับก็ยังดีวะ เพราะสตาร์ซอคเกอร์เขาก็เอาอันนั้นมาขายในเมืองไทย ราคาก็จะสูงหน่อยเพราะต้องบวกกำไรไปด้วย ตอนผมอยู่อังกฤษก็มีส่วนช่วยในส่วนนี้ มีความผูกพันกับมัน ทั้งในฐานะคนบ้าฟุตบอล ในฐานะคนทำงาน ก็เลยอธิบายความผูกพันระหว่างเรากับสิ่งนี้ เป็นความผูกพันสำหรับคนชอบฟุตบอลในยุคก่อน
- วิถีการดูฟุตบอล และการทำงานในอดีตแบบนี้มันสอนให้คุณเป็นอย่างไร
ผมถือเป็นการบ่มเพาะเพื่อการทำงานแบบรับผิดชอบ อย่างแรกคือสอนให้เราให้คุณค่ากับความแม่นยำ ถูกต้อง ละเอียด ต้องเช็คให้แน่นอน เพราะข่าวยังเป็นความจริง และถึงแม้จะเป็นเรื่องฟุตบอลก็ต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้
เอาง่ายๆนะ เมื่อวันที่แมนยูแพ้วัตฟอร์ด (21 พ.ย.64) แล้วมีข่าวว่าบอร์ดสโมสรประชุมพิเศษเพื่อเรียกประชุมพิจารณาเรื่องโอเล่ กุนนาร์ โชชาร์ ว่าจะให้ดำรงตำแหน่งต่อไปหรือไม่ ซึ่งในวันนั้นไม่มีมติที่เป็นทางการออกมา แต่กลายเป็นว่าหลายๆ เพจฟุตบอล นำเสนอข่าวหมดแล้วว่า บอร์ดมีมติไล่ออก แต่ในความจริง คือมันยังไม่ได้ไล่นะ คือโอเค มันไม่รอดหรอก แต่มันยังไม่ปลดเลยนะ เราไปนำเสนอแบบนี้ไม่ได้หรอก คุณจะบอกว่า มันมีแนวโน้มได้ แต่ก็ต้องทิ้งท้ายว่า มันยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ ถ้าคุณนิยามว่าคุณเป็นนักข่าวจริง ความถูกต้อง แม่นยำ แน่นอน มันต้องเป๊ะ ต้องให้ข้อมูลเบื้องหลัง วิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นได้ และส่วนตัวผมก็เลือกที่จะไม่รีบจนกว่าจะเป็นทางการ
ก่อนที่ วินเซนต์ แวนโก๊ะ (Vincent van Gogh) จะทำงานที่เรียกว่า อิมเพรสชั่นนิสม์ เขาต้องเข้าใจการดรออิ้ง (Drawing) ก่อน ต้องรู้เรื่องแสงเงา ความแม่นยำ การวางตำแหน่งภาพ ไม่ใช่อยู่ดีๆ คุณจุดๆ ขีดๆ อะไรไม่รู้แล้วบอกว่ามันเป็น อิมเพรสชั่นนิสต์ จะเป็นแฮรี่ เคน ที่ยิงประตูได้เป็นกอบเป็นกำ หรือ แวนโก๊ะ ก็ฝึกฝนมาก่อนทั้งนั้น นักข่าวฟุตบอลก็เหมือนกัน กว่าจะมีคอลัมน์ ให้ข้อมูลผู้อ่าน วิเคราะห์ทิศทางที่จะเกิดขึ้น มันมาจากการติดตาม รู้แหล่งข่าว ที่มาของข่าว พิจารณาความน่าเชื่อของข้อมูล เข้าใจธรรมเนียมปฏิบัติ มีทักษะความเชี่ยวชาญ มันไม่มีทางลัด และผมเองก็เติบโตจากการทำงานแบบนั้น อย่างที่บอกว่าเห็นผมบ้าๆ แต่เวลาทำงานผมซีเรียสนะ
- ธุรกิจสื่อเปลี่ยนไป แต่ทุกวันนี้คุณก็ถือเป็นนักข่าวฟุตบอลจากยุคอนาลอก ที่มีชื่อเสียง และได้รับความนิยมในยุคดิจิทัล
นั่นเพราะผมโชคดีที่มีต้นทุน และต้นทุนนี้มาจากการทำงานที่ผมทำมาตลอด เวลาทำงานผมไม่เหยาะแหยะนะ อย่างเรื่องแมนยูนี่ผมศึกษาประวัติ หาข้อมูล รู้ทุกหลืบที่โอลด์แทรฟฟอร์ด และยินดีที่จะหาข้อมูล บางทีเขียนแค่บรรทัดเดียวแต่ใช้เวลาหาข้อมูลเป็นชั่วโมง
แฟนเพจและช่องยูทูบของ บอ.บู๋
ในหน้าเพจผม ในการทำงานทุกวันนี้ ผมมีหลักอยู่ 2 ส่วนคือ ข้อมูลที่ลึกกว่า วิเคราะห์ และการนำเสนอที่สนุก เราต้องไม่ฉาบฉวย ยกตัวอย่างเรื่องของแมนยูในขณะนี้ ที่พอจะหาผู้จัดการทีมใหม่ แล้วก็มีคำพูดที่ว่า จะปลุกผี ต้องใช้ดีเอ็นเอเดียวกันมาปลุก หมายถึงเอานักเตะเก่ามาทำ วิเคราะห์กันไปต่างๆ นานา ทุกคนทำคอนเทนท์เพื่อเรียกยอด Like ยอด Engagement แต่ถ้าคุณศึกษาประวัติให้ดี มันไม่มีหรอก ในอดีตแมนยูเคยลองเอาอดีตนักฟุตบอลมาแล้วครั้งหนึ่งคือ วิล์ฟ แมคกินเนส แล้วก็อยู่ได้แค่ 8 เดือนก็ต้องออกจากตำแหน่ง แล้วก็มาเป็นโอเล่ กุนนาร์ โซชาร์ ซึ่งไม่อยู่แล้ว คือแมนยูเคยลองวิธีนี้แล้วและมันไม่เวิร์คนะ ขณะที่เซอร์แมตต์ บัสบี และ เซอร์ อเล็ก เฟอร์กูสัน ที่ประสบความสำเร็จในการคุมทีม อันนี้ไม่เกี่ยวอะไรมาก่อนกับแมนยูเลย
ถ้าถามว่าทำไมผมยังอยู่ได้ ยังมีคนติดตาม ก็คงต้องบอกว่าผมยังมีคนชอบมากกว่าคนเกลียด และผมยืนยันที่จะทำงานแบบไม่ฉาบฉวย ต้องลึก ต้องวิเคราะห์ ต้องถึงกึ๋น ซึ่งสิ่งนี้มันเป็นยี่ห้อของผมไปแล้ว ก็ยังจะทำต่อไป ตั้งแต่วันแรกๆ จนถึงวันนี้