“ยูนิเซฟ” ร่วมกับเครือข่าย “สิทธิเด็ก” จัดเสวนา “วันเด็กสากล”
“วันเด็กสากล” ปี 2021 “ยูนิเซฟ” ร่วมกับเครือข่าย “สิทธิเด็ก” จัดเสวนาหาทางออก “ปัญหาเด็ก” ใน “สถานสงเคราะห์” เด็ก 9 ใน 10 คนยังมีพ่อหรือแม่ เด็กมากกว่าร้อยละ 60 ยังติดต่อกับพ่อหรือแม่ หรือญาติพี่น้อง แต่ต้องเข้าสถานสงเคราะห์เนื่องจาก “ความยากจน”
ยูนิเซฟ ร่วมมือกับเครื่อข่าย สิทธิเด็ก จัดเสวนาออนไลน์ใน วันเด็กสากล มาจาก “อภิสรา แซ่ลี” นักวิจัยวัยกว่า 20 ปี เติบโตขึ้นมาในสถานเลี้ยงเด็ก
เปิดเผยภูมิหลัง ชีวิตในสถานสงเคราะห์เด็ก คือบทเรียนของชีวิต เธอมองว่า “อาสาสมัครมาแล้วก็ไป มาสอนภาษา จัดกิจกรรม เราถูกทอดทิ้งอย่างต่อเนื่อง
ความรู้สึกที่ว่าไม่มีใครอยู่กับเราตลอดไปมันเจ็บปวด ทำให้เรารู้สึกชา สอนให้เราไม่กล้าสร้างความผูกพันกับใคร ในสถานสงเคราะห์ มีผู้ใหญ่ไม่เพียงพอที่จะมอบความรักความอบอุ่นให้
เด็กแต่ละคนทักษะความสนใจไม่เหมือนกัน แต่ถูกรวมอยู่ในกล่องเดียวกัน การบรรลุศักยภาพในตัวเองของเด็กกลายเป็นเรื่องท้าทาย เพราะมีโอกาสน้อยในการแสดงความเป็นตัวเอง เมื่อถูกส่งออกมา”
อภิสรา แซ่ลี เล่าต่อไปว่า “เด็กมักขาดทักษะชีวิต ยากที่จะเข้าใจว่ารักแท้คืออะไร พวกเขาค้นหาความรักในสถานที่ผิด ๆ บางคนมองไม่เห็นอนาคตจึงเลือกทำร้ายตัวเอง”
ความทรงจำของ อภิสรา เป็นจุดเริ่มต้นของการประชุมแห่งชาติ ด้านการเลี้ยงดูทดแทนในหัวข้อ เด็กอยู่ในครอบครัวที่ปลอดภัยและเอาใจใส่
วันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา งานดังกล่าวจัดขึ้นในโอกาส วันเด็กสากล และ วันครบรอบ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเวียนมาทุกปีในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564
ยูนิเซฟ (Unicef) ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ เครือข่ายสิทธิเด็ก ประเทศไทย และ กลุ่มการเลี้ยงดูทดแทน
จัดการประชุมดังกล่าวขึ้นทางออนไลน์ โดยมีผู้เข้าร่วมคือ รัฐบาล ภาคประชาสังคม ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ ตลอดจนผู้แทนจากต่างประเทศ
เพื่อหารือเกี่ยวกับการปฏิรูประบบการเลี้ยงดูทดแทน เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กทุกคนมีสิทธิที่จะเติบโตใน สภาพแวดล้อมในรูปแบบของครอบครัวที่ปลอดภัย
จากการพูดคุยเนื่องในโอกาส วันเด็กสากล ครั้งนี้ทุกฝ่ายลงความเห็นว่า ถ้าเป็นไปได้ครอบครัวเด็กต้องดูแลเอง ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นพ้องว่า
ครอบครัวที่เปราะบาง ควรได้รับการสนับสนุนให้สามารถดูแลเด็กได้ ถ้าพ่อแม่ของเด็กดูแลไม่ได้จริงๆ เด็กก็ควรได้รับการดูแลอย่างอบอุ่น ด้วยความรัก ปลอดภัย เสมือนอยู่ในครอบครัว นั่นก็คือ สิทธิเด็ก
กัณฐมณี ลดาพงษ์พัฒนา จากเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทยกล่าวว่า การแยกเด็กออกจากครอบครัวควรเป็นทางเลือกสุดท้าย และหากมีการต้องแยกเด็กออกจากครอบครัว
ต้องใช้เวลาสั้นที่สุด และทางเลือกที่ดีที่สุดคือให้เด็กได้อยู่กับญาติพี่น้อง ซึ่งเป็นการพึ่งพาระบบเครือญาติที่เข้มแข็งในสังคมไทย
เธอกล่าวว่าปัจจุบันมีสถานรับเลี้ยงเด็กประมาณ 700 แห่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแต่ตัวเลขที่แท้จริงอาจมากกว่านี้ราวสองเท่า
เนื่องจากมีสถานสงเคราะห์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหลายร้อยแห่งซึ่งอาจมีการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก เช่น การรับเงินบริจาค
กัณฐมณีกล่าวถึงงานวิจัยของยูนิเซฟ ในปีนี้ ซึ่งกล่าวถึงตัวอย่างของสถานรับเลี้ยงเด็กในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งพบว่าเด็ก 9 ใน 10 คนยังมีพ่อหรือแม่อยู่
และเด็กมากกว่าร้อยละ 60 กล่าวว่ายังติดต่อกับพ่อหรือแม่ หรือญาติพี่น้องอยู่ แต่ต้องเข้าสถานสงเคราะห์เนื่องจากความยากจน
การอภิปรายในที่ประชุมมุ่งเน้นไปที่การปฏิรูปกฎหมาย และนโยบายระดับประเทศเพื่อสนับสนุนครอบครัว และป้องกันไม่ให้เด็กถูกแยกจากครอบครัวในทุกกรณี
หากเป็นไปได้ โดยมีการสรุปความท้าทายในการทำงานเมื่อต้องประเมินว่าการแยกเด็กออกมาจากครอบครัวในกรณีใดกรณีหนึ่งจำเป็นอย่างที่สุดแล้วหรือไม่ และการดูแลแบบไหนจะเหมาะสมสำหรับเด็กที่สุด
ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งรวมไปถึงผู้กำหนดนโยบาย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานส่วนหน้าของรัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญ องค์กรพัฒนาเอกชน และตัวแทนจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นกล่าวถึงความท้าทายในระบบการเลี้ยงดูทดแทน
และเสนอแนวคิดในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว และระดับชุมชนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแยกครอบครัว รวมไปถึงการปรับปรุงมาตรฐานการดูแล
และการเปลี่ยนผ่านของระบบเลี้ยงดูทดแทน โดยบทบาทของครอบครัวในฐานะที่เป็นรากฐานของสังคมถูกเน้นเป็นขั้นตอนแรกในการป้องกัน ไม่ให้เด็กถูกทอดทิ้งหรือพลัดพรากจากพ่อแม่
แนวทางปฏิบัติขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการดูแลทดแทนตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยร่วมลงนาม เสนอหลักเกณฑ์สองประการในการพิจารณาการดูแลทดแทน
คือหลักเกณฑ์ความจำเป็นและหลักเกณฑ์ความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม นักสังคมสงเคราะห์และส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีประสบการณ์ การฝึกอบรม
และการกำกับดูแลที่เหมาะสมเพื่อช่วยในการตัดสินใจให้เด็กได้รับการดูแลตามหลักการดังกล่าวผู้เข้าร่วมเสวนาหลายคนเสนอแนะว่า
สถานสงเคราะห์เด็กในประเทศไทยควรถูกห้ามไม่ให้รับเงินบริจาคหรือระดมทุน เพราะจะเป็นการส่งเสริมให้มีการรับเลี้ยงเด็กในจำนวนมากและเป็นเวลานานเพื่อดึงดูดเงินบริจาคต่อไปเรื่อย ๆ
ผู้เข้าร่วมยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิรูปการเลี้ยงดูทดแทนในประเทศอื่น ๆ จากเดอเลีย ป๊อป (Delia Pop) ผู้อำนวยการ Tanya's Dream Fund
และผู้สนับสนุนการปฏิรูปการเลี้ยงดูทดแทน เล่าถึงตัวอย่างในประเทศโรมาเนียบ้านเกิดของเธอ และประเทศรวันดา
ในปี 2543 เด็กจำนวนกว่าหนึ่งแสนรายอาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์จำนวนกว่า 640 แห่งทั่วประเทศโรมาเนีย แต่ในปี 2564
สถานสงเคราะห์เหล่านี้กลายเป็นสถานที่ผิดกฏหมายแล้ว ทำให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในระบบการเลี้ยงดูแบบครอบครัว
ในประเทศรวันดา การปฏิรูปการเลี้ยงดูทดแทนทำให้มีอาสาสมัครในระดับชุมชน และครอบครัวอุปถัมภ์ที่ได้รับการรับรองเพิ่มขึ้น
โดยรัฐบาลได้ให้การช่วยเหลือแก่ครอบครัวเพื่อให้ดูแลเด็กได้ และนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาที่ได้รับการฝึกอบรมก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ป๊อปชี้ให้เห็นว่ากุญแจสู่ความสำเร็จของการปฏิรูปการเลี้ยงดูทดแทนในสองประเทศนี้คือการที่งบประมาณได้ถูกปรับเปลี่ยนไปใช้ในการส่งเสริมการดูแลแบบครอบครัว
แทนที่จะถูกแจกจ่ายให้กับสถานสงเคราะห์ซึ่งมักจะเป็นรูปแบบการดูแลเด็กที่แพงที่สุดในขณะที่เด็กต้องมีบาดแผลจากการล่วงละเมิดและการละเลยซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก
กัณฐมณีได้ยกคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีเด็กกำพร้า จนกว่าจะมีสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า” เพื่อเน้นถึงความสำคัญของบทบาทของครอบครัว เครือญาติ และชุมชนในการเลี้ยงดูเด็ก
ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เสนอว่า
การลดความยากจนเพื่อลดการย้ายถิ่นฐานภายในประเทศที่นำไปสู่การแตกแยกของครอบครัว การสร้างงานในท้องถิ่น
และโครงการงบประมาณจูงใจสำหรับครอบครัวหรือญาติในการดูแลเด็กควรเป็นสิ่งสำคัญสำหรับภาครัฐเช่นกัน
ในวันที่สองของการประชุม เจ้าชายไมเคิลแห่งเคนต์ องค์อุปถัมภ์ขององค์กร Care for Children ร่วมแสดงความยินดีกับประเทศไทย
สำหรับความพยายามในการพัฒนาระบบบริการจัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ โดยกล่าวว่าตั้งแต่ปี 2551 พระองค์ทรงสนับสนุน
โครงการนำร่องของ Care for Children ในจังหวัดเชียงใหม่ที่นำเด็กจากสถานสงเคราะห์กลับมาสู่ครอบครัวอุปถัมภ์ และการฝึกอบรมนักสังคมสงเคราะห์ในท้องถิ่น
นางคยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การ ยูนิเซฟ ประเทศไทย ยกย่องความมุ่งมั่นของไทยในการเสริมสร้างนโยบายการเลี้ยงดูทดแทน
โดยกล่าวว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และยูนิเซฟกำลังทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาแผนงานระดับชาติของการเลี้ยงดูทดแทน
เพื่อปรับปรุงบริการการสนับสนุนครอบครัว และส่งเสริมการเลี้ยงดูทดแทนแบบครอบครัว
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวในช่วงท้ายของการประชุมว่า
“ผมมักจะแนะนำนักสังคมสงเคราะห์ของกระทรวงฯ ให้มองว่าเด็กเป็นลูกของเรา เราจะได้ตั้งคำถามกับตัวเองเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กได้รับการดูแลที่ดีที่สุด”
เครดิตภาพ: ยูนิเซฟ/อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา