"5 ธันวาคม 2564“ วันพ่อแห่งชาติ และสำคัญอีกอย่างคือเป็น"วันดินโลก"
"5 ธันวาคม 2564" นอกจากเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของ"ในหลวง รัชกาลที่ 9" ยังเป็น“วันพ่อแห่งชาติ” และที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติประกาศให้วันนี้เป็น “วันดินโลก”
5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญที่ประชาชนน้อมรำลึกถึงในหลวง รัชกาลที่ 9 หลายคนรู้ดีว่า วันนี้เป็นวันพ่อแห่งชาติ แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า วันนี้เป็น วันดินโลก
จุดเริ่มต้นวันดินโลก
ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สนพระราชหฤทัยในวิทยาศาสตร์ทางดิน และผลสำเร็จจากการบริหารจัดการดินอย่างต่อเนื่องของพระองค์ เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ
เมื่อปี 2545 ที่ประชุมคณะกรรมการสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ มีมติให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นวันดินโลก เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณของพระองค์
โดยใช้วันนี้เป็นวันรณรงค์ให้ชาวโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน ที่มีต่อความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติและสภาพแวดล้อม และความจำเป็นต้องมีการจัดการทรัพยากรที่ดินอย่างยั่งยืน
เนื่องจากดิน เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีสำคัญต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก ดินช่วยพัฒนาระบบนิเวศให้มีความยั่งยืน เอื้อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยดูดซับคาร์บอน และบรรเทาผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
นอกจากนี้ดินยังเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด และไม่สามารถนำกลับมาทดแทนใหม่ หากมีการเสื่อมสลายไป ใช้ที่ดินผิดประเภทและขาดการอนุรักษ์ จะก่อให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของดินที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์
สหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันดินโลก” (World Soil Day) เพื่อใช้เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนกิจกรรมการรณรงค์และเผยแพร่ความรู้ทางด้านดิน และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดิน ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกต่อมนุษยชาติและสภาพแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง
จากจุดเริ่มต้นของพระเมตตา ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงอยากเห็นประชาชนมีที่ดินทำกิน มีผลผลิตเป็นอาหารเพียงพอต่อการดำรงชีพ ก่อให้เกิดโครงการพระราชดำริต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการเกษตรในมิติของดินต่างๆ ด้วยการทำโครงการหญ้าแฝก ห่มดิน แกล้งดิน และแก้ดินเปรี้ยว ฯลฯ จึงขอยกตัวอย่างกรณีห่มดิน
ห่มดิน เพื่อทำให้จุลินทรีย์ทำงาน
แม้ไม่ได้เป็นเกษตรกร ก็สามารถเอาวิธีห่มดินมาใช้กับการปลูกต้นไม้ทั่วไปได้ ถ้าไม่มีฟาง ก็หาวัสดุใกล้ตัวพวกเศษใบไม้มาห่ม เพื่อคลุมหน้าดินไม่ให้วัชพืชขึ้นรบกวนต้นไม้
ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชดำริในการดูแลและรักษาดินเรื่อง“การห่มดิน”ไว้ เพื่อให้ดินมีความชุ่มชื้น จุลินทรีย์ทำงานได้ดี ทำให้ดินมีคุณภาพทำการเกษตรได้ดี นอกจากนี้ยังป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและพัฒนาทรัพยากรดินให้เกิดแร่ธาตุ
ยังจำได้ว่า ตอนที่เยี่ยมชม พื้นที่ของชาวนามหานคร ที่อ.หนองจอก จ.กรุงเทพฯ พระอธิการสายชล ขันติธัมโม ที่ปรึกษาโครงการ พาไปดูต้นไม้ที่ห่มด้วยเศษวัสดุใบไม้ใบหญ้า แล้วบอกว่า
“ตอนแรกๆ อาตมาก็เชื่อว่าเป็นพระราชดำริที่สวยหรูของกษัตริย์ แต่พอทำแล้วเห็นผล ก็เกิดความศรัทธา แนวทางนี้อาตมาเชื่อว่าไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด
ถ้ามีทุนน้อยก็ต้องใช้เวลา ค่อยๆ ทำ เดินทีละก้าว แค่จอบอันเดียว ปลูกผัก ปลูกพริกบนคันนา มีทุนแล้วก็ทำหนองน้ำ มีโคกกว้างๆ ใช้หลักการธรรมชาติ
รู้ไหมหน้าหนาวต้นไม้จะผลัดใบมาห่มดิน รักษาความชื้นให้ต้นไม้ตลอดหน้าแล้ง หรือต้นไม้บางขนิดชอบชื้น ถ้ามาปลูกในที่แห้งก็ไม่รอด”
ห่มดิน ให้ดินดี
คงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “อยู่เมืองไทยไม่อดตายหรอก โยนเมล็ดลงไปบนดินตรงไหน ก็งอก...”
ดินดี ก็คือ ดินที่ไม่ถูกทำลายธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อดิน และดินที่ได้รับการปรับปรุงดินอยู่เรื่อยๆ
ส่วนการห่มดิน คลุมดินโดยใช้ฟาง เศษหญ้า หรือใบไม้ที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เป็นการใส่อาหารให้ดินด้วยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ แล้วดินจะปล่อยธาตุอาหารให้พืช
ดังนั้นการห่มดิน ก็คือการให้ความชุ่มชื้นกับดิน เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ ช่วยย่อยสลายซากพืช ซากสัตว์ ย่อยแร่ธาตุที่อยู่ในหิน ลูกรัง ทราย ช่วยผลิตฮอร์โมนให้พืช ช่วยผลิตสารป้องกันโรคพืช
นอกจากนี้การห่มดิน ยังมีข้อดีจุลินทรีย์ช่วยสร้างอาหารให้สัตว์หน้าดิน เช่น ไส้เดือน กิ้งกือ ฯลฯ ซึ่งช่วยพรวนดิน และถ่ายมูลเป็นปุ๋ยให้พืช เพื่อให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยให้กับพืช
เวลาจะห่มดินต้องเว้นระยะให้ห่างจากโคนต้นไม้ 1 คืบ ห่มหนา 1 คืบ–1 ฟุต ทำเป็นวงเหมือนโดนัท โรยด้วยปุ๋ยคอก (มูลสัตว์) บาง ๆ และรดด้วยน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำเจือจาง
..............
ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และมูลนิิธิปิดทองหลังพระ