เรื่องที่ไม่ต้อง "เหล้า" ของ "ภัทรพงษ์"
วันรณรงค์ยุติความรุนแรงในปีนี้ ขอเปิดตัวอย่างชีวิตผู้ที่เคยก้าวพลาด "ภัทรพงษ์ กิตติวิริยะพันธุ์" อดีตกำนันน้ำดี แห่งตำบลบ้านโข้ง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อหวังเตือนสติและลดความรุนแรงในครอบครัว
"ภัทรพงษ์ กิตติวิริยะพันธุ์" ปัจจุบันเป็นผู้ประสานงานประชาคมงดเหล้าจังหวัดสุพรรณบุรี และยังเป็นอีกหนึ่งจิตอาสาจากเครือข่ายงดเหล้า ที่ร่วมรณรงค์ชวน ช่วย เชียร์ให้ลดละเลิกดื่มเหล้าในชุมชนสู้เหล้ากว่า 400 แห่งทั่วประเทศ
หลายคนอาจไม่รู้ว่า ก่อนหน้านั้น “ภัทรพงษ์” คือหนึ่งในผู้ประสบเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว อันเนื่องมาจาก “เหล้า” จนนำมาซึ่งความสูญเสีย ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ภัทรพงษ์ตัดสินใจขออาสาแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาดในวันนี้
เดิมครอบครัวภัทรพงษ์มีอาชีพทำไร่ พ่อมีอาชีพรับจ้างขับรถสิบล้อรับส่งอ้อย เขาเล่าว่าพ่อเป็นนักดื่มตัวยง
“เมื่อรับเงินค่าจ้างก็ได้ไปรับผมที่โรงเรียน แต่ก็พาผมแวะบ้านเพื่อน ไปนั่งดื่มเหล้ากับเพื่อนก่อนกลับบ้านแทบทุกวัน ผมเองหลังจากกลับมาดึกๆ กับพ่อแล้ว ก็จะถูกบังคับให้มาอ่านหนังสือให้ฟัง ไม่อ่านก็จะถูกดุว่า อาจมีลงไม้ลงมือบ้าง แต่บ่อยครั้งที่พ่อเมากลับบ้านและทะเลาะกับแม่ เพราะพ่อเมาและขับรถมอเตอร์ไซด์ล้ม กลับไม่ถึงบ้านอยู่บ่อยครั้ง และแม่ต้องออกไปช่วยพยุงเข้าบ้านทุกครั้ง จึงเป็นชนวนที่ทำให้แม่กับพ่อต้องทะเลาะกัน ลงไม่ลงมือกัน เพราะความที่พ่อเมา อาจด้วยแม่มีความห่วงใยในความปลอดภัย ของพ่อรวมถึงตัวผมด้วย สิ่งสำคัญคือ เรื่องค่าใช้จ่ายในบ้าน เกิดเรื่องปัญหาความเป็นอยู่ที่ขาดแคลน เมื่อครั้งที่น้องป่วยพ่อไปขอยืมเงินญาติๆ แต่ไม่มีใครให้ยืมเพราะคิดว่าจะเอาเงินไปกินเหล้า เพราะเมาจนไม่มีใครเชื่อ”
จุดเปลี่ยนครั้งที่หนึ่งคือ พ่อได้ตั้งใจเลิกดื่มเหล้าเด็ดขาด จึงตัดสินใจพาครอบครัวย้ายที่อยู่ไปเป็นโฟร์แมนรับเหมางานที่จังหวัดสมุทรปราการ
“หลังจากที่พ่อเลิกดื่มเหล้า ก็ทำให้ชีวิตครอบครัวเรามีความอบอุ่น เรื่องการเงินในครอบครัวดีก็ขึ้นเป็นลำดับ ไม่มีการทะเลาะดุด่าในครอบครัวอีกเลย”
นายภัทรพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนชีวิตในวัยรุ่นของผมมีแต่การได้ซึมซับภาพจากพ่อเรื่องการดื่มเหล้าในสมัยเด็ก ประกอบกับอารมณ์วัยรุ่น ทำให้มองว่าเป็นเรื่องปกติ จึงหันมาดื่มเหล้าเช่นเดียวกับพ่อในอดีตจนถลำลึก
“เมื่ออายุ 18 ปี ผมเริ่มดื่มเหล้าและเพื่อนก็พาไปทุกรูปแบบ ทั้งยาเสพติดและการพนัน เงินค่าจ้างวิ่งรถเดือนละ 30,000 บาท ไม่มีเหลือเก็บ จนในที่สุดพ่อของผมกลายเป็นคนที่ให้สติผม คอยเตือนให้คิดเสมอ และครั้งที่เกิดความสะเทือนใจอย่างมากคือ ผมต้องเสียน้องชายไปเพราะเหล้า ครั้งนั้นน้องชายไปดื่มเหล้ากับเพื่อนและมีวัยรุ่นยกพวกตีกัน น้องผมนั่งดื่มกันอยู่ก็วิ่งหนีแต่ไปลื่นล้มบนถนนทำให้รถชนจนเสียชีวิต จากวันนั้น ทำให้ผมตั้งใจเลิกเหล้าและอบายมุขทุกอย่าง ทำมาหากินเก็บเงิน”
ดังนั้น ในวันแต่งงานเขาจึงตั้งปณิธานเลยว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข และจะไม่ให้เกิดการมีปากเสียง ไม่ทะเลาะหรือทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว เพราะไม่อยากให้ลูกๆ ได้ซึมซับปัญหาต่างๆ
หลังภัทรพงษ์ ได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน และต่อมาได้รับเลือกเป็นกำนันในปี 2547 จึงเริ่มหันมาตั้งใจทำงานจิตอาสา คอยช่วยเหลือสังคม ช่วยคนในชุมชน โดยเฉพาะการชวน คนเลิกเหล้า
“จากประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ผมไม่อยากให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับครอบครัวของผม กับลูกและภรรยาของผม และไม่ควรเกิดขึ้นกับครอบครัวอื่นๆ อีก ผมคิดว่าความสุข ความอบอุ่นในครอบครัวเกิดขึ้นได้ หากเรามีสติในการใช้ชีวิต ผมพยายามรณรงค์ ตั้งประเด็นในการทำงานพื้นที่ต่างๆ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนการทำงานประเด็นงดเหล้าและผลกระทบต่างๆ แนวทางการป้องกัน เพื่อยับยั้งความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในครอบครัวในสังคมของเรา จนกลายเป็นบ้านที่ปลอดภัย สังคมที่เป็นสุขในที่สุด”
ภัทรพงษ์ เชื่อว่า การไม่ยุ่งเกี่ยวกับเหล้าเบียร์สิ่งมึนเมาจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะไม่ใช้ความรุนแรง เพราะยังมีสติ รู้จักยับยั้งชั่งใจ
“ขอฝากให้ผู้ชายทุกคนอย่าได้ก้าวพลาดอย่างที่ผมเคยเป็นมาแล้ว โดยการลด ละ เลิกเหล้าเบียร์ อบายมุข เพื่อลดการใช้ความรุนแรงในโอกาส วันรณรงค์ยุติความรุนแรง ปีนี้” ภัทรพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย