“ไครียะห์”ลูกสาวแห่งทะเล"จะนะ" แค่ทวงสัญญา ไม่เอานิคมอุตสาหกรรม

“ไครียะห์”ลูกสาวแห่งทะเล"จะนะ" แค่ทวงสัญญา ไม่เอานิคมอุตสาหกรรม

เด็กหญิงแห่งทะเล"จะนะ" เติบโตมากับทะเล เธออยู่ในวิถีประมงตั้งแต่เด็กๆ และเธอมากรุงเทพฯ เพื่อทวงสัญญาจากท่านนายกฯ ไม่เอา"นิคมอุตสาหกรรมจะนะ"แต่ถูกจับขึ้นรถหายไปในความมืด...

“บ้านหนูอยู่ริมชายหาด บางทีโลมาจะมาว่ายน้ำเล่นหน้าบ้าน ชุมชนบ้านสวนกง 99.9% ทำอาชีพประมง ทะเลไม่ได้หล่อเลี้ยงคนในชุมชนอย่างเดียว แต่หล่อเลี้ยงคนทั้งประเทศ ทั้งภูมิภาค เพราะเรือประมง ขายสัตว์น้ำไปสู่ตลาด ร้านอาหาร ส่งเข้ากรุงเทพฯ จังหวัดอื่นๆ แล้วก็ส่งไปประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้”

ไครียะห์ ระหมันยะ (ยะห์) นักเรียนชั้น ม.6 ลูกชาวประมง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ลุกขึ้นสู้เคลื่อนไหวคัดค้าน เพราะไม่อยากเห็นบ้านเกิดริมทะเลที่อุดมสมบูรณ์ กลายเป็น นิคมอุตสาหกรรม เล่า

"เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และอยากให้รุ่นหลานของเรา เจอสภาพแวดล้อมที่ดีแบบเราด้วย...

สิ่งที่เห็นเวลาไปทำงานกับเยาวชนในพื้นที่ คือ เยาวชนทุกคนมีความฝันเป็นของตัวเอง แต่แทนที่เยาวชนคนนั้นจะได้ทำความฝันให้เป็นจริง เขากลับยอมทิ้งความฝันและลุกขึ้นมาต่อสู้เพราะจำเป็น"

“ไครียะห์”ลูกสาวแห่งทะเล\"จะนะ\" แค่ทวงสัญญา ไม่เอานิคมอุตสาหกรรม

ชีวิตเปลี่ยน เพราะรักบ้านเกิด

ปลายปี 2560 ยะห์ได้เข้าร่วมเดินขบวน คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา พร้อมกับชาวบ้าน เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านโครงการต่อนายกรัฐมนตรี ที่เดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่อำเภอเมืองสงขลา แล้วโดนสลายการชุมนุม 

พ่อยะห์โดนตำรวจจับล่ามโซ่ ในข้อหาทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ กีดขวางจราจร และพกพาอาวุธในที่สาธารณะ ซึ่งก็คือ ธงสีเขียว รักสิ่งแวดล้อม และ ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

“ไครียะห์”ลูกสาวแห่งทะเล\"จะนะ\" แค่ทวงสัญญา ไม่เอานิคมอุตสาหกรรม

วันที่ 7 พฤษภาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติให้อำเภอจะนะ เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรม หนึ่งปีต่อมา เดือนพฤษภาคม 2563 ยะห์และแม่ไปปูเสื่อกางมุ้งค้างคืนหน้าบันไดศาลากลางจังหวัดสงขลา เพื่อรอคำตอบ 

หลังยื่นจดหมายถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็น เพราะเวทีจำกัดสิทธิการเข้าร่วมของคนในพื้นที่ และยังจัดในช่วง​โรคระบาด และช่วงเดือนรอมฎอนถือศีลอด

เดือนกรกฎาคม 2563 ยะห์เดินทางจากสงขลา มาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกครั้ง ขอให้ยกเลิกมติ ครม. เรื่อง นิคมอุตสาหกรรมจะนะ จนเกิดแฮชแท็ก #SAVECHANA ในทวิตเตอร์

“ไครียะห์”ลูกสาวแห่งทะเล\"จะนะ\" แค่ทวงสัญญา ไม่เอานิคมอุตสาหกรรม

จะนะ คือเมืองต้นแบบ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อเดือนพฤษภาคม2562 ให้ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต

พร้อมกับยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นแผนที่นำทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันระดับนานาชาติ มุ่งสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว

การผลักดันโครงการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกระบวนการรับฟังความเห็นโครงการ แต่เป็นเพียงพิธีกรรมสร้างความชอบธรรม ดำเนินงานผ่านศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) โดยมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา จ.ชายแดนใต้ เป็นผู้ควบคุมและกำกับทิศทาง โดย พอ.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

2 ปีผ่านไป กระบวนการผลักดันโครงการ ยังคงดำเนินไปในลักษณะที่กีดกันกลุ่มคนที่เห็นต่าง และใช้อำนาจทางกฏหมายบีบบังคับให้ประชาชนยอมรับโครงการว่า อุตสาหกรรมจะสร้างงาน สร้างรายได้

“ไครียะห์”ลูกสาวแห่งทะเล\"จะนะ\" แค่ทวงสัญญา ไม่เอานิคมอุตสาหกรรม ทวงสัญญา นายกรัฐมนตรี  

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้ทำบันทึกข้อตกลงกับรัฐบาลกรณีปัญหาในโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

ขณะนั้นพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รับรู้และนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 15 ธันวาคม 2563 

หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 และว่า ตนให้อำนาจคณะกรรมการตรวจสอบอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้ข้อเท็จปรากฏ

“ไครียะห์”ลูกสาวแห่งทะเล\"จะนะ\" แค่ทวงสัญญา ไม่เอานิคมอุตสาหกรรม

และเมื่อดำเนินการเสร็จแล้วให้รายงานผลข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ให้เชิญผู้แทนส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐและบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าว

25 พฤศจิกายน 2564 ที่ประตู 3 ทำเนียบรัฐบาล ไครียะห์ ได้มาทวงถามความคืบหน้ากรณีเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้มีการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกโครงการเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 10-15 ธันวาคม 2563 ซึ่งมีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ไว้กับรัฐบาล

และได้อ่านจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า

"หนูเป็นลูกหลานชาวประมงพื้นบ้าน พวกเราอยู่กันได้เพราะมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ทะเลจะนะเป็นสิ่งมีค่า

เมื่อปีที่แล้วญาติพี่น้องของหนูมาอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อบอกลุงว่ามีบริษัทเอกชนมาสร้างนิคมอุตสาหกรรมใช้ที่ดินกว่า 16,000 ไร่ เราบอกลุงว่า เราไม่ต้องการการพัฒนาแบบนั้น 

ลุงรับปากว่าจะดูแลเรื่องนี้ และส่งคนมาตรวจสอบ จนถึงวันนี้กำลังจะครบ 1 ปี บริษัทยังเดินหน้าโครงการไม่หยุด หนูจึงมาทวงถามคำสัญญาเรื่องนี้กับลุงอีกครั้ง ในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ จะมารอฟังคำตอบจากลุงตู่ทุกวันในเวลาเลิกงาน 16.00 น. จนกว่าจะได้รับคำตอบ ในข้อเรียกร้องที่เคยเสนอไปเมื่อปีที่แล้ว 

“ไครียะห์”ลูกสาวแห่งทะเล\"จะนะ\" แค่ทวงสัญญา ไม่เอานิคมอุตสาหกรรม ไครียะห์ ระหมันยะ ที่หน้าทำเนียบ

30 พฤศจิกายน 2564 เป็นวันที่สองที่ไครียะห์ มานั่งฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่เวลา 16.00-18.00 น. ของทุกวัน เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาล รับฟังเสียงของเธอ ในฐานะตัวแทนชาวบ้านจะนะ 

ไครียะห์บอกว่า 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ทำตามสัญญา รู้สึกเหมือนโดนหลอก อยากให้รัฐบาล แก้ปัญหาต่างๆ ด้วยการฟังเสียงประชาชน 

2 ธันวาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล ไครียะห์ ได้มานั่งหน้าทำเนียบรัฐบาลเป็นวันที่ 4 เพื่อทวงสัญญาเมื่อ 1 ปีที่แล้วที่รัฐบาลเคยให้ไว้ว่าจะหยุดโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา 6 เดือน เพื่อดำเนินการตามกระบวนการต่างๆ ให้ถูกต้อง แต่ในความเป็นจริง

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)ยังทำโครงการนี้เรื่อยมา ไม่ได้หยุด จัดเวทีไม่ให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยเข้าร่วม

3 ธันวาคม 2564 ไครียะห์ ได้ยื่นหนังสือให้กับ ซูการ์โน มะทา ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ

และนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล เลขานุการ กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนสภาผู้แทนราษฎร

เพื่อขอให้ตรวจสอบกระบวนการมีส่วนร่วมในโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หรือ โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่รัฐบาลได้มีการทำบันทึกข้อตกลงกับเครือข่ายไว้ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2563 ว่า

จะตรวจสอบการดำเนินงาน โดยให้ยุติการดำเนินการทุกอย่างในโครงการนี้เอาไว้ก่อน แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ดำเนินการตามที่ได้ตกลงไว้ ยังปล่อยให้ ศอ.บต. เปลี่ยนสีผังเมือง 

และเร่งดำเนินโครงการอย่างไม่สนใจต่อข้อตกลงโดยเดินหน้าศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ระหว่างวันที่ 13 - 23 ธ.ค. 2564 รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นอาจจะกลายเป็นความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

“ไครียะห์”ลูกสาวแห่งทะเล\"จะนะ\" แค่ทวงสัญญา ไม่เอานิคมอุตสาหกรรม เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น 

6 ธันวาคม 2564 เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อมาทวงสัญญา SEA (Strategic Environmental Assessment) การประเมินผลกระทบระดับยุทธศาสตร์ ภาคประชาชน จากรัฐบาล เป็นการติดตามแผนพัฒนาสงขลา-สตูล

ก่อนหน้านี้ เครือข่ายฯได้ยื่นหนังสือถึง ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ ‘สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ยังไม่พบการดำเนินการใดๆ

ช่วงเวลา 21.00 น. เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) ได้เข้าสลายการชุมนุม ‘เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น’ หลังจากช่วงเย็นเครือข่ายฯ ได้เดินทางมาปักหลักที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อมาทวงสัญญา เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ย้ายไปฝั่งเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ทางกลุ่มยืนยันจะปักหลักบริเวณนี้ หากมีการบังคับย้ายก็จะไม่ต่อสู้ แต่จะยกมือขอดุอาอ์ (ขอพรจากพระเจ้า) เท่านั้น

เวลา 21.22 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าควบคุมตัวประชาชนและนำตัวขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหา

......................

ภาพ : ไครียะห์ ระหมันยะ จากเว็บ mothersmuseum.org