“ทีเส็บ”ผลักดัน“บุรีรัมย์” เป็น“เมืองไมซ์”ดึงคนมาเที่ยวมากขึ้น

“ทีเส็บ”ผลักดัน“บุรีรัมย์” เป็น“เมืองไมซ์”ดึงคนมาเที่ยวมากขึ้น

"บุรีรัมย์" เป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นในหลายด้าน มีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เป็นเป้าหมายใหม่ของนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ ทั้งไทยและต่างประเทศ

การท่องเที่ยวเป็นกลุ่ม หรือการจัดประชุมการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และการแสดงสินค้านานาชาติ หรือ ไมซ์ (MICE : Meetings, Incentives, Conventions and Exhibitions) เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. (Thailand Convention & Exhibition Bureau : TCEB) ให้ความสำคัญ

มุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นที่ประชุมและจัดนิทรรศการระดับนานาชาติ เพื่อเพิ่มรายได้ของประเทศ มีศักยภาพแข่งขันในอุตสาหกรรมไมซ์ในตลาดโลกได้ จึงต้องสรรหาสถานที่ใหม่ๆ เพื่รองรับความต้องการนี้

 

  • ​​​​​​ทำไมต้องเป็นบุรีรัมย์

จังหวัดที่จะรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้จะต้องมีความพร้อม ซึ่ง บุรีรัมย์ มีในด้านนี้

BE IN BURIRAM เป็นแคมเปญ ที่ ISAN MICE ของทาง TCEB กำลังจะเริ่มรณรงค์เพื่อตอกย้ำว่า บุรีรัมย์ไม่ได้มีเพียงกีฬาอย่างเดียว แต่มีทุกอย่าง คือ อาราม อโรคยา และ อารมณ์” สุรัชสานุ์ ทองมี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงแคมเปญใหม่ ที่จะเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้มารู้จักกับจ.บุรีรัมย์ในอีกมุมมองมิติหนึ่ง

“ทีเส็บ”ผลักดัน“บุรีรัมย์” เป็น“เมืองไมซ์”ดึงคนมาเที่ยวมากขึ้น ปราสาทพนมรุ้ง

เมื่อพูดถึงจ.บุรีรัมย์ สิ่งแรกที่นักท่องเที่ยวนึกถึง ก็คือ ปราสาทพนมรุ้ง

“อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เป็นแลนด์มาร์คสำคัญ เป็นศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรม เป็นแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบของโบราณสถาน เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี 

ปัจจุบันมีกลุ่มคณะที่ศรัทธามาประกอบพิธีกรรมบวงสรวงเป็นประจำทุกวัน วันละ 3-4 คณะ มีการจัดบายศรี นำเครื่องเซ่นไหว้ มากราบไหว้ขอพรบนบานสิ่งต่างๆ และเมื่อประสบความสำเร็จก็จะได้กลับมาเจอกันอีก” ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เล่าถึงบรรยากาศห้ฟัง

“ทีเส็บ”ผลักดัน“บุรีรัมย์” เป็น“เมืองไมซ์”ดึงคนมาเที่ยวมากขึ้น อโรคยาศาลา ใน เพลาเพลิน

  • แหล่งเรียนรู้ "อโรคยา"

จากตัวเมืองออกไป 32 กิโลเมตร ที่ อ.คูเมือง จะได้พบกับ เพลาเพลิน PlayLaPloen ที่มี อโรคยาศาลา Arokaya Wellness Sala คนที่เคยมาจะนึกว่ามีแต่อุทยานดอกไม้ แต่ที่นี่ตอนนี้มีมากกว่านั้น

“เพลาเพลิน เริ่มต้นมาจากผู้บริหาร พรทิพย์ อัษฎาธร มีความตั้งใจทำเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ในภาคอีสาน สมัยก่อนไม่มีที่ท่องเที่ยวหรือแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนเลย เมื่อสิบกว่าปีก่อน จากอุทยานดอกไม้ โรงเรือนเรียนรู้เรื่องพันธุ์พืชต่างๆ เพิ่มเติมมาเป็นศูนย์เรียนรู้กัญชาทางการแพทย์

มี อโรคยาศาลา แหล่งเรียนรู้เรื่องศาสตร์สมุนไพร เกษตรกรรม สอนเรื่องการทำน้ำหมักชีวภาพ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรต่างๆ” ธนพร พรสง่ากุล ผู้บริหาร อโรคยาศาลา เล่าถึงที่มาให้ฟัง

“เราเริ่มทำกัญชาจริงจังเมื่อสองปีที่แล้ว เริ่มจาก รพ.คูเมือง ที่ผลิตยาให้ในจังหวัด ขาดสมุนไพรในพื้นที่ ต้องไปรับมาจากแหล่งข้างนอกซึ่งมีการปนเปื้อน เอามาผลิตยาไม่ได้ จึงอยากนำร่องเรื่องการปลูกกัญชาทางการแพทย์ เลยจัดตั้งเป็นวิสาหกิจ ปลูกกัญชาทางการแพทย์ให้กับ รพ. ช่วงปี 62 

“ทีเส็บ”ผลักดัน“บุรีรัมย์” เป็น“เมืองไมซ์”ดึงคนมาเที่ยวมากขึ้น กัญชาที่ปลูกในโรงเรือนระบบปิด

ในช่วงแรกมีแค่ 3 แห่ง คือ อภัยภูเบศร, องค์การเภสัช และแม่โจ้ ของเราเป็นวิสาหกิจกับโรงพยาบาลเป็นที่แรกของประเทศ มีอภัยภูเบศรมาเป็นพี่เลี้ยง ไกด์ไลน์ว่าจะต้องทำยาสูตรไหนยังไง เพื่อเอามารักษาผู้ป่วย สายพันธุ์ที่ปลูกก็ต้องสอดคล้องกัน ต้องประเมินก่อนว่าเราใช้ยาเยอะแค่ไหน แล้วค่อยมาวางแผนการปลูกก 

ยาแต่ละตัวก็ใช้กัญชาแต่ละสายพันธุ์ เช่น กัญชาที่มี THC สูง ช่วยเรื่องการนอนหลับ อยากอาหารมากขึ้น ใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ควบคู่กับการคีโมบำบัด ส่วน CBD ช่วยลดอาการอักเสบ การเจ็บปวด

โรงปลูกเป็นแบบปิดเพื่อลดความเสี่ยงให้มากที่สุด มี 12 ห้องปลูก ทำส่งให้องค์การเภสัชด้วย ในอนาคตจะทำส่งเชิงอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ผลผลิตกัญชาแห้งของเราได้ประมาณ 1000 กิโลกรัมต่อปี (ดอกสด 10 กิโลกรัมจะได้ดอกแห้ง 1 กิโลกรัม) 

“ทีเส็บ”ผลักดัน“บุรีรัมย์” เป็น“เมืองไมซ์”ดึงคนมาเที่ยวมากขึ้น สาธิต การสุมยา ลดภูมิแพ้ ช่วยเรื่องทางเดินหายใจ

กิจกรรมของเพลาเพลิน มีเวิร์คชอปเกี่ยวกับกัญชา ทำน้ำมันนวดกัญชา มีเวิร์คชอปทำสมุนไพร พวกสุมยา มีกิจกรรมย้อมผ้า ทำเทียนหอม ไปจับมือกับท่องเที่ยวเชิงชุมชน ทำเรื่องผ้าไหม พาไปดูบ้านนกกระเรียน พาเที่ยวรอบๆ จ.บุรีรัมย์

เราส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และสุขภาพองค์รวม เรื่อง กาย ใจ มีหัตถการแบบอื่นๆด้วย ส่งเสริมแพทย์แผนไทยเป็นหลัก มีแผนจีนและแผนปัจจุบัน ตั้งแต่นวด กดจุดออฟฟิศซินโดรม ฝังเข็ม ครอบแก้ว น้ำมันกัญชาทางการแพทย์ และยกระดับสมุนไพร”

“ทีเส็บ”ผลักดัน“บุรีรัมย์” เป็น“เมืองไมซ์”ดึงคนมาเที่ยวมากขึ้น ล่องเรือดูพระอาทิตย์ขึ้น พร้อมอาหารเช้าบนเรือ ที่อ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก

  • สถานที่ท่องเที่ยวในบุรีรัมย์

สถานที่ท่องเที่ยวยามเช้าที่เหมาะแก่การชมพระอาทิตย์ขึ้นมากที่สุดคือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก ที่เพาะเลี้ยง นกกระเรียนพันธุ์ไทย ขณะนี้มีการปรับปรุงใหม่ มีกิจกรรมใหม่

ในช่วงน้ำขึ้น จะมีบริการเรือนำนักท่องเที่ยวออกไปชมดอกบัวและนกนานาชนิด พร้อมกับชุดอาหารเช้าทานบนเรือ ถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้น ท่ามกลางธรรมชาติ กลางน้ำ แสงแดดอ่อนๆ ช่วยปรับอารมณ์ให้ผ่องใสรับวันใหม่อย่างมีพลัง

และมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่ต้องไปคือ สนามช้างอารีน่า แลนด์มาร์คของจังหวัดบุรีรัมย์ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสนามเหย้าของ สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด หรือ ทีมปราสาทสายฟ้า

“ทีเส็บ”ผลักดัน“บุรีรัมย์” เป็น“เมืองไมซ์”ดึงคนมาเที่ยวมากขึ้น สนามช้างอารีนา

“ที่นี่เป็นสนามฟุตบอลแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจากฟีฟ่าและเอเอฟซี ขนาด 32,600 ที่นั่ง ระยะเวลาในการสร้าง 256 วัน โครงสร้างทั้งหมดเป็นเหล็ก แบ่งเป็น 4 ชั้น ชั้นล่าง เกี่ยวกับการจัดการแข่งขันฟุตบอล มีห้องแถลงข่าว มีห้องแต่งตัวนักกีฬา ห้องแพทย์ ห้องกรรมการ

ชั้นสองเป็นห้องประชุมสัมมนาใหญ่ 400-800 ท่าน ชั้นสามห้องประชุมเล็ก 200 ท่านและห้องวีไอพีเลาจน์ ชั้นสี่ห้องสกายบ็อกซ์ สามารถดูฟุตบอลในห้องได้ มีหน้าต่างกว้าง 

ฟังก์ชั่นที่นี่ 70 เปอร์เซนต์เป็นเรื่องฟุตบอล ที่เหลือเป็น Facilites อำนวยความสะดวก ทุกชั้นสามารถออกไปชมฟุตบอลได้หมด” ประมูลชัย นพสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการ สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อธิบาย

“ทีเส็บ”ผลักดัน“บุรีรัมย์” เป็น“เมืองไมซ์”ดึงคนมาเที่ยวมากขึ้น กิจกรรมเพื่อสุขภาพที่เพลาเพลิน

  • โรคระบาด ทำโลกเปลี่ยนไป

ก่อนหน้านี้ สสปน. (สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ TCEB:Thailand Convention & Exhibition Bureau) ให้ความสำคัญในการดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์จากต่างประเทศมาจัดงานในประเทศไทยเป็นหลัก แต่หลังจากมีการระบาดของโควิด ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

“TCEB มีหน้าที่ดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์เข้ามาในประเทศไทย โปรโมทต่างประเทศเป็นหลัก ดึงงานจากต่างประเทศมาจัดในเมืองไทย พอมีโควิด การจัดประชุมสัมมนาที่รองรับต่างประเทศก็ปิดหมด การจัดงานในประเทศเริ่มมีสัดส่วนที่สูงขึ้น 

เมื่อสิบปีที่แล้วเรามีโครงการ MICE city เพื่อกระจายการจัดงานไปที่ภาคอื่นบ้าง ไมซ์ซิตี้ทั้ง 10 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพ,เชียงใหม่, ขอนแก่น, ภูเก็ต, พัทยา, พิษณุโลก, นครราชสีมา, อุดรธานี, สุราษฎร์ธานี และ สงขลา จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ กล่าวถึงสถานการณ์ในปัจจุบันให้ฟัง

“ในช่วงสองปีนี้ บุรีรัมย์ เชียงราย อุบลฯ เป็นเมืองที่มีเทศกาลเด่น อย่างบุรีรัมย์มีเรื่องกีฬา หลังการจัดงาน Moto GP ก็มีที่พักมากขึ้น ส่วนอุบลฯก็มีงานเทียนที่ติดอันดับยูเนสโก เวลาจัดงานเราจะดูสองอย่าง 1)ที่พักดี 2)การขนส่งดี เมื่อปีที่แล้วเราได้ทำโครงการ BE IN BURIRAM เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวไมซ์ ที่เป็นหมู่คณะ”

“ทีเส็บ”ผลักดัน“บุรีรัมย์” เป็น“เมืองไมซ์”ดึงคนมาเที่ยวมากขึ้น ยามเช้า ที่อ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก 

  • บุรีรัมย์มีดีตรงไหน

     จิรุตถ์ กล่าวถึงศักยภาพจังหวัดบุรีรัมย์ว่า  เป็นจังหวัดที่มีมรดกทางวัฒนธรรม สามารถจัด Meetings, Incentives, Conventions and Exhibitions ได้ มีสถานที่วัฒนธรรม ชุมชน ที่สำคัญคือคนที่นี่ให้ความร่วมือที่ดีมาก

สามารถพัฒนาเป็นไมซ์ซิตี้ได้ เพราะมีอัตลักษณ์โดดเด่นเรื่องจัดงานเมกะอีเวนท์ ไม่ว่ากรังปรีดิ์ มอเตอร์จีพี อินเตอร์เนชั่นนอลต่างๆ และมีที่จัดประชุมได้ถึงสามหมื่นกว่าคน ในประเทศไทยมีแบบนี้ไม่มาก เป็นเมืองบุกเบิกที่ทำเมกะอีเวนท์ได้ดี มีศักยภาพในการทำงาน และทุกครั้งที่จัดงาน เราไม่เคยลืมชุมชน

"เดี๋ยวนี้พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป ไม่ได้หาแค่ที่พักนอนประชุมเสร็จแล้วกลับบ้าน ทุกธุรกิจต้องมีรายละเอียดในไลฟ์สไตล์ ให้คนมีประสบการณ์ร่วมกับคนในพื้นที่ มีกิจกรรมสร้างรายได้ให้พวกเขา 

ทุกบริษัทจะคำนึงถึง2เรื่องในการจัดประชุมสัมมนานอกสถานที่ 1)ทำเป็น CSR ช่วยเหลือคน 2)มีความยั่งยืน ไม่ทำร้ายโลก รักษโลก ลดคาร์บอนฟุตปรินท์

TCEB ก็สรรหาโปรดักส์มาตอบโจทย์กลุ่มนักท่องเที่ยวที่ตอนนี้ต้องการสิ่งใหม่ รู้สึกว่าเขามาทำประโยชน์ จากโมเดลเดิมซื้อขายแลกเปลี่ยน มาเป็นโมเดลใหม สิ่งที่ทำช่วยโลกไหม การประชุมช่วยคนในพื้นที่หรือเปล่า ถ้าได้ช่วยสังคม ช่วยคนในพื้นที่ ทุกคนจะรู้สึกประทับใจ ดีใจ

ประเด็นเรื่องของความยั่งยืน โลกกำลังไปทางนั้น กิจกรรมไมซ์ภาค Exhibitions เมื่อก่อนพูดเรื่องอาหาร, เครื่องประดับ, จิเวลลี่ แต่ตอนนี้คุยเรื่องพลังงาน และ พลังงานทดแทนมากขึ้น

รัฐบาลก็สนับสนุนเรื่องนี้มากขึ้น เป็นโอกาสของนักธุรกิจยุคใหม่ ในเรื่องการประชุม เพราะทุกอย่างเกี่ยวข้องกันหมด การกระทำของเราเท่ากับปลูกต้นไม้กี่ต้น ลดขยะไปเท่าไร ลดกระดาษยังไง"