จับสลาก หรือ จับฉลาก คำไหนแน่ที่ถูกต้อง?

จับสลาก หรือ จับฉลาก คำไหนแน่ที่ถูกต้อง?

คำว่า จับสลาก และ จับฉลาก ถูกใช้บ่อยช่วงเทศกาลปีใหม่ในกิจกรรมการจับของขวัญ แล้วทุกคนเคยสงสัยไหมว่าแท้จริงแล้วต้องใช้คำไหนแน่ถึงจะถูกต้อง กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ชวนคลายข้อสงสัย!

ยิ่งใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่ทั้ง 2 คำนี้ถูกใช้บ่อยในกิจกรรมท็อปลิสต์อย่างการจับของขวัญ แล้วที่เรา ๆ เรียกกันติดปากทั้ง 'การจับสลากของขวัญ' และ 'การจับฉลากของขวัญ' แท้จริงแล้วต้องใช้คำไหนแน่ถึงจะถูกต้อง กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ชวนคลายข้อสงสัย!

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2554 ให้ความหมายของคำว่า ‘สลาก’ และ 
‘ฉลาก’ ดังนี้

สลาก และ ฉลาก มี 2 ความหมายเหมือนกัน กล่าวคือ

สิ่งเช่นติ้ว ตั๋ว หรือแผ่นกระดาษเล็ก ๆ ซึ่งสามารถทำเป็นเครื่องหมายกำหนดในการเสี่ยงโชคเสี่ยงทาย 

อีกหนึ่งความหมาย คือ ป้ายบอกชื่อยา ใช้ปิดขวดยารักษาโรค 

แต่ ‘ฉลาก’ มีอีกหนึ่งความหมายที่เพิ่มขึ้นมา คือ รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย หรือข้อความใด ๆ ที่แสดงไว้ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุสินค้า เช่น ฉลากเครื่องสำอาง 

ดังนั้นตามความหมายของพจนานุกรมดังกล่าวนี้ คำว่า ฉลาก และ สลาก สามารถใช้ได้ทั้ง 2 คำในบริบท ‘การจับของขวัญ’ คือ จับสลากของขวัญ และ จับฉลากของขวัญ 

แม้จะมีความหมายเหมือนกัน แต่ก็มีบางคำเป็นข้อยกเว้น ใช้ได้เพียงคำเดียวเท่านั้น เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล สลากภัตร เป็นต้น 

เชื่อว่าหลายคนอาจกำลังตั้งคำถามว่าแล้วทำไมความหมายเหมือนกัน ถึงไม่ใช่แค่คำเดียวตั้งแต่แรก

จากข้อมูลเพจ ‘ภาษาและวรรณกรรมไทย’ ระบุว่า เพราะคำไทยทั้ง 2 คำนี้ เกิดจากการรับคำมาจากภาษาบาลี โดยที่ทั้ง 2 คำมีลักษณะเสียงคล้ายกัน ต่างกันแค่เสียง ส กับ ฉ ในพยางค์แรก อาจกล่าวได้ว่าเสียง ส เกิดการแยกเสียงเป็น 2 เสียง คือ ส/s/ และ ฉ/ch/ ทำให้พจนานุกรมบางฉบับว่า ฉลาก เลือนมาจาก สลาก

และเมื่อย้อนดูประวัติพบว่า การใช้ทั้ง 2 คำนี้สามารถใช้แทนกันได้ตั้งแต่โบราณ บางครั้งเขียน สลาก หรือ ฉลาก

ขณะที่ในทางภาษาศาสตร์อธิบายว่าเสียง ส กลายเป็นเสียง ฉ ถือว่าเป็นการกลมกลืนของเสียงบางส่วน โดยเกิดจากการเปลี่ยนตำแหน่งที่เกิดเสียงจาก ส /s/ ซึ่งเป็นเสียงเสียดแทรกที่ฟันไปเป็น ฉ /ch/ ซึ่งเป็นเสียงที่เกิดในตำแหน่งเพดานแข็งเสียง ส และ ฉ มีตำแหน่งที่เกิดเสียงใกล้เคียงกัน

อีกหนึ่งคำสันนิษฐานอาจเพราะการที่หลายคนนำไปเทียบเคียงความหมายจากภาษาอังกฤษ 

จากข้อมูลเพจ ‘คำไทย’ ระบุว่า สลาก คือ a ticket, a tab, (to draw) lots หมายถึง การเสี่ยงโชค การได้รางวัล 

ฉลาก คือ a label หมายถึง สิ่งอื่นใดที่ทำให้ปรากฏข้อความเกี่ยวกับสินค้า ซึ่งแสดงไว้ที่สินค้าหรือภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสินค้า 

เมื่อมาตีความความหมายเทียบเคียงภาษา อาจทำให้เกิดความสับสน

โดยสรุป จะใช้คำว่า ‘สลาก’ หรือ ‘ฉลาก’ ก็แล้วแต่ความสะดวกในการออกเสียง เนื่องจากสองคำนี้มีความหมายเหมือนกัน อย่างไรก็ดีขอให้ทุกคนสนุกกับกิจกรรมการจับ ‘สลาก’ หรือ ‘ฉลาก’ ของขวัญกันถ้วนหน้า
...........................
อ้างอิง : พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2554, เพจภาษาและวรรณกรรมไทย,
เพจคำไทย