ห้องทะเบียนเคลื่อนที่ ก้าวสำคัญ ‘สิทธิเด็ก’
ห้องทะเบียนเคลื่อนที่ในโรงเรียน ถือว่าเป็น “ก้าวสำคัญ” ของ “สิทธิเด็ก” เป็นการแก้ปัญหา “เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ” ในประเทศไทย
ไม่มีใครอยากเป็นเด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ หรือไร้ตัวตน นั่นคือ สิทธิเด็ก ที่เด็กควรมี แต่เมื่อเลือกเกิดไม่ได้
เด็กกลุ่มหนึ่งจึงมีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัว ถูกลดทอนสิทธิขั้นพื้นฐาน ความฝันถึงอนาคตไปได้ไม่ไกลนัก
“หนูไม่เคยมีบัตรอะไรเลย เวลาไปทำกิจกรรมที่ให้กรอกเลขประจำตัวหนูก็ไม่มีโอกาสเข้าร่วม เวลาจะเดินทางไปไหนก็กลัวถูกจับ”
เด็กหญิงน้ำฝน (นามสมมติ) วัย 14 ปี กล่าวด้วยสีหน้ากังวลใจ เธอเป็นบุตรสาวแรงงานข้ามชาติในอำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่
ซึ่งยังไม่เคยมีหลักฐานยืนยันตัวตนในระบบทะเบียนราษฎรของประเทศไทยมาก่อน
วันนี้น้ำฝนเดินทางมาที่โรงเรียนบ้านต้นโชคที่อำเภอไชยปราการ เพื่อมาลงทะเบียนขอบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนผ่าน
โครงการ ห้องทะเบียนเคลื่อนที่ หรือ Mobile Registration Unit ซึ่งดำเนินการโดยองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมกับองค์กรแตร์ เด ซอม เยอรมัน (Terre des Hommes)
และเครือข่ายคุ้มครองเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสถานะให้แก่เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติจำนวน 32,000 คนในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือของประเทศไทย
ระหว่างเดือนกันยายน 2564 ถึง พฤษภาคม 2565 อาสาสมัครห้องทะเบียนเคลื่อนที่จะเข้าไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน
เพื่อลงทะเบียน เตรียมความพร้อม จัดทำ และ รวบรวมเอกสารต่าง ๆ ในการพัฒนาสถานะให้แก่เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ 2 กลุ่ม เพื่อช่วยเหลือในด้าน สิทธิเด็ก กลุ่มแรกคือ เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติที่อยู่ในระบบโรงเรียน
เกี่ยวกับ สิทธิเด็ก ถึงแม้เด็กกลุ่มนี้จะได้รับการสำรวจในระบบโรงเรียน มีรหัสประจำตัวที่ขึ้นต้นด้วยตัว G (Generate) แต่พวกเขากลับไม่มีตัวตนทางกฎหมายของประเทศไทย
เนื่องจากไม่ได้มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎรของกระทรวงมหาดไทย นั่นคือ ไม่มีเลข 13 หลักนั่นเอง แม้เด็กกลุ่มนี้จะมีสิทธิในการศึกษา
แต่ก็ขาดสิทธิขั้นพื้นฐานด้านอื่น ๆ เช่น สิทธิการรักษาพยาบาล และสิทธิการเดินทาง พวกเขาไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่การศึกษาได้ยกเว้นได้รับอนุญาตจากอำเภอ
ส่วนเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง คือ เด็กไร้สัญชาติที่เป็นลูกหลานกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มนี้เกิดในประเทศไทย มีหลักฐานการเกิดและมีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร คือมีเลข 13 หลัก แต่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย
ซึ่งอาสาสมัครก็จะเข้าไปช่วยเตรียมความพร้อม รวมรวมเอกสารและให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่เด็ก ๆ และครอบครัวในการขอสัญชาติไทย
หลังจากจัดทำและรวบรวมเอกสารต่าง ๆ แล้ว อาสาสมัครโครงการห้องทะเบียนเคลื่อนที่และโรงเรียนก็จะนำส่งเอกสารให้เจ้าหน้าที่อำเภอเพื่อพิจารณาและอนุมัติต่อไป
ทั้งหมดนี้ถือเป็นการลดภาระงานของครูและเจ้าหน้าที่อำเภอ อีกทั้งทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ ในการพัฒนาสถานะบุคคลของเด็ก ๆ รวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย
บ่ายวันนั้น น้ำฝนเขียนความฝันของเธอลงบนกระดาษระหว่างรอคิวจัดเตรียมเอกสารพร้อมกับเด็กคนอื่น ที่ตั้งหน้าตั้งตามารอลงทะเบียน
“ตอนนี้ฉันเรียนอยู่ชั้น ม.2 ฉันอยากเรียนให้จบปริญญาตรี ฉันฝันอยากเป็นดารา นักเต้น หมอ อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง อยากมีอาชีพที่
สามารถเลี้ยงครอบครัวให้สบายขึ้น อยากมีอาชีพอะไรก็ที่ทำให้เรามีความสุข ฉันมีความฝันหลายอย่าง และจะตั้งใจทำมันให้ได้”
แม่ของน้ำฝนที่มาพร้อมกับเธอวันนั้นบอกด้วยรอยยิ้มว่า “แม่ดีใจมากที่ลูกจะมีบัตรประจำตัว [ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน] เหมือนคนอื่น
เพราะเขาเป็นเด็กผู้หญิง แม่เป็นห่วงเขามาก กลัวถูกหลอก กลัวถูกจับ กลัวไปหมด ลูกเป็นเด็กเรียนดี ตั้งใจเรียน แม่ตั้งใจส่งให้เขาเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่แม่จะทำได้”
ชีวิตที่ไม่มีใครเห็น
เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังเกิด มีสิทธิที่จะมีชื่อและได้รับสัญชาติใดสัญชาติหนึ่ง ซึ่งรัฐต้องประกันสิทธิเหล่านี้ตามกฎหมายภายในและพันธกรณีที่มีอยู่ระหว่างประเทศ
โดยเฉพาะในกรณีที่เด็กตกอยู่ในสถานะไร้สัญชาติ ทั้งหมดนี้ระบุไว้อย่างชัดเจนในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีประชากรที่ต้องตกอยู่ในภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก
ข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยปี 2563 ระบุว่า มีบุคคลไร้สัญชาติมากกว่า 539,000 คนในประเทศไทย ซึ่งเป็นเด็กราว 297,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 40
“เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติต้องเผชิญกับข้อจำกัดมากมายในชีวิต ทั้งอุปสรรคด้านการศึกษา การเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข การเดินทาง และปัญหาเรื่องการทำงานในอนาคต
รวมถึงสิทธิหรือสวัสดิการขั้นพื้นฐานต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ การถูกละเมิด การถูกแสวงผลประโยชน์ และการเลือกปฏิบัติ
ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และการเติบโตและอนาคตของเด็กทั้งชีวิต” ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล เจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าว
ปริญญากล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันกฎหมายและนโยบายของประเทศไทยมีการพัฒนาไปมาก ซึ่งถือว่าก้าวหน้า ชัดเจน และครอบคลุมการแก้ปัญหาเด็กไร้สัญชาติในแต่ละกลุ่ม
แต่แม้จะมีความพยายามอย่างหนักทั้งจากภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการและองค์กรระหว่างประเทศ
ที่ร่วมกันพัฒนาแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่สามารถยุติปัญหาลงได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
เมื่อเดือนเมษายน 2564 ยูนิเซฟได้เผยแพร่การศึกษาฉบับใหม่ ชีวิตที่ไม่มีใครเห็น: 48 ปี สถานการณ์เด็กไร้สัญชาติในประเทศไทย (2515-2563)
(Invisible Lives: 48 Years of the Situation of Stateless Children in Thailand (1972-2020) ซึ่งจัดทำโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และได้รับการสนับสนุนของสหภาพยุโรปและยูนิเซฟ
การศึกษาฉบับนี้ได้วิเคราะห์อุปสรรคที่เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยต้องเผชิญในการพัฒนาสถานะและขอสัญชาติในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
พร้อมให้ข้อเสนอแนะทางนโยบายและการปฏิบัติ ตลอดจนจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้กระบวนการพัฒนาสถานะและสัญชาติไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน ยูนิเซฟได้ออกแคมเปญรณรงค์ ชีวิตที่มีตัวตน (Lives Untold: Invisible No More) เพื่อให้ผู้คนในสังคมรับรู้และเข้าใจปัญหาที่เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติต้องเผชิญมากขึ้น
การศึกษาฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า อุปสรรคของการพัฒนาสถานะของ เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยยังอยู่ที่ขั้นตอนการดำเนินงาน
โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการมีเจ้าหน้าที่และงบประมาณไม่เพียงพอ การกำหนดขั้นตอนที่ซับซ้อนเกินความจำเป็น หรือการที่เจ้าหน้าที่บางคนยังมีทัศนคติเชิงลบต่อเด็กและบุคคลไร้สัญชาติ
นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคอื่น ๆ ที่เกิดจากกลุ่มบุคคลไร้สัญชาติเอง เช่น พ่อแม่ไม่ทราบขั้นตอนการจดทะเบียนการเกิด ทำให้เด็กขาดหลักฐานการเกิด
หรือเด็กและครอบครัวขาดข้อมูลในการขอสถานะทางกฎหมายหรือการขอสัญชาติ หรือกลัวที่จะต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่
ประสานความร่วมมือ เร่งพัฒนาสถานะบุคคล
ปัจจุบัน ประเทศไทยมี เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ ที่อยู่ในระบบโรงเรียน (รหัสขึ้นต้นด้วย G) แต่ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฏรอยู่ราว 80,000 คน ซึ่งเป็นเด็กที่อยู่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน รวมกันราว 30,000 คน
ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรปและยูนิเซฟ เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2564 โรงเรียน องค์กรท้องถิ่นและภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านนี้
ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding – MoU) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการลงทะเบียนและพัฒนาสถานะบุคคลให้แก่เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่ภาคเหนือ
จิระชาติ ซื่อตระกูล นายอำเภอไชยปราการ ทำหน้าที่ประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ณ ที่ว่าการอำเภอไชยปราการ กล่าวว่า
“ปัญหาเรื่องสถานะบุคคลที่ผ่านมาดำเนินงานล่าช้าเพราะต่างคนต่างทำงาน และแต่ละหน่วยงานก็มีภาระงานของตนเองหลายอย่าง ทำให้บุคคลากรไม่เพียงพอต่อการทำงาน
การเซ็น MoU วันนี้ ผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับเด็กที่จะได้รับ ไม่ไร้รัฐอีกต่อไป เพราะเจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานเพื่อเป้าหมายเดียวกัน”
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและองค์กรภาคประจำสังคม 8 องค์กร รวมทั้งพยานพระภิกษุสงฆ์ที่หอประชุมอำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการลงทะเบียนและพัฒนาสถานะบุคคลให้แก่เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่ภาคเหนือ
สันติพงษ์ มูลฟอง ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน และผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวว่า โครงการห้องทะเบียนเคลื่อนที่ชี้ให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันระหว่าง ครู เจ้าหน้าที่อำเภอ
และตัวแทนจากภาคประชาสังคมเพื่อช่วยให้เด็ก ๆ มีโอกาสได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้เร็วยิ่งขึ้น โดยโรงเรียนจะทำหน้าที่เสมือนเป็น “เจ้าบ้าน”
ที่รับรองการมีตัวตนของเด็กในสถานศึกษาอย่างถูกกฎหมาย สร้างความไว้วางใจระหว่างครูและเด็ก ตลอดจนลดช่องโหว่จากการหาผลประโยชน์จากการทำบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน
โดยมีองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่มาช่วยจัดเตรียมเอกสารข้อมูลของเด็ก ๆ เพื่อส่งมอบให้ทางอำเภอเพื่อ พิจารณา และอนุมัติต่อไป
“การร่วมมือกันในครั้งนี้จะทำให้การทำงานเร็วขึ้น และผลประโยชน์จะตกอยู่กับเด็กที่จะได้รับการปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานมากขึ้น
รวมทั้งรัฐไทยเองก็สามารถจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ทั้งในเรื่องการศึกษา สาธารณสุข และความมั่นคง” สันติพงษ์กล่าว
นายสุข จันทร์เสาร์ นายกสมาคมวิชาชีพครูอำเภอไชยปราการ และผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านต้นโชคกล่าวด้วยรอยยิ้มเมื่อเห็นเด็กที่เคยลาออกกลางคันกลับคืนสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง
“การมีเลข 13 หลักจะทำให้เด็กมีความตั้งใจเรียนมากขึ้น อย่างวันนี้มีเด็กบางคนขอกลับมาเรียนต่อ ทางโรงเรียนก็พร้อมให้เขากลับมาเรียน เพราะเขาจะได้มีความรู้ติดตัวมากขึ้น”
ภาพ ปฏิญญา ปัญญายศ