ทำไมต้องกิน “คุกกี้ขิง” ใน “เทศกาลคริสต์มาส”
ขนมหวานประจำ "เทศกาลคริสต์มาส" ที่ทุกบ้านต้องกินหลังกินไก่งวง คือ “คุกกี้ขิง” หรือ “คุกกี้ขนมปังขิง” (Gingerbread) ขนมสัญลักษณ์แห่งเทศกาลเฉลิมฉลอง
ฝรั่งเรียกว่า ขนมปังขิง (Gingerbread) แต่เนื้อสัมผัสไม่เหมือนขนมปัง หากเป็นเนื้อคุกกี้หรือบิสกิตกรอบ ๆ มีกลิ่นขิงอ่อน ๆ หอม ๆ อยู่ข้างใน เหมาะเป็นของหวานในช่วงฤดูหนาว
Gingerbread (ภาพ: foodal.com)
ทำไมเรียก Gingerbread :ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ขนมปัง สายสืบอาหารรายงานว่า เรื่องเริ่มต้นในอังกฤษยุคกลาง คำว่า Gingerbread หมายถึงการถนอมอาหารด้วย ขิง และยุคโน้นไม่ได้หมายถึงของหวาน
จนถึงศตวรรษที่ 15 ความหมายของคำนี้เปลี่ยนไป หมายถึงของหวานที่มีส่วนผสมของน้ำผึ้งหรือน้ำตาลและเครื่องเทศ นักวิชาการบางคนบอกว่าหยิบยืมมาจากภาษาฝรั่งเศสโบราณว่า Gingerbras ความหมายเช่นเดียวกับคนอังกฤษ ส่วนชาวเยอรมันเรียกว่า Pfefferkuchen
ช่วยกันทำคุกกี้ขิง (ภาพ: alwaystheholidays.com)
เวลาผ่านไป Gingerbread หมายถึง ขนมปัง เค้ก คุกกี้ ที่มีส่วนผสมของขิง และเติมความหวานด้วยน้ำผึ้ง น้ำเชื่อม น้ำตาลโมลาส ฯลฯ บางสูตรก็ใส่เครื่องเทศหลากหลาย นอกจาก ขิงผง ก็มีอบเชย กานพลู ลูกจันทน์เทศ คาร์ดามอม ใช้วิธีอบแบบเดียวกับทำคุกกี้ มีทั้งแบบคุกกี้นิ่มและชนิดเนื้อแข็ง แล้วตกแต่งสวยงามด้วยครีมสีขาวและโรยไอซิ่งสื่อถึงหิมะ หรือละเลงเฉดสีสดใส
ต้นกำเนิดขิง : ชาวจีนรู้จักกินขิงก่อนใคร ใช้ทำอาหาร ทำยา ทำขนม เมื่อขิงเดินทางจากจีนสู่ตะวันออกกลาง และนักรบครูเสดนำขิงสู่ยุโรป ขิงจึงกลายเป็นเครื่องเทศยอดนิยม และเริ่มทำ คุกกี้ขิง กันมาตั้งแต่ยุคกลาง โดยทำเป็นรูปสัตว์ รูปสัญลักษณ์ต่าง ๆ รูปราชา-ราชินี
(ภาพ: alwaystheholidays.com)
แรกมี Gingerbread : บันทึกว่าชาวอียิปต์และชาวกรีกโบราณ ทำ Gingerbread ก่อนใคร แต่หลักฐานไม่แน่ชัดนัก จนเมื่อมีพระชาวอาร์มีเนียน นำสูตรทำ Gingerbread (ในที่นี้ขอเรียกว่าคุกกี้ขิง) มาเผยแพร่ในยุโรป เมื่อปี ค.ศ.992
ประกอบกับเมื่อถึงยุคกลาง (Middle Ages ค.ศ.476-1453) ขิงและเครื่องเทศนำเข้ามาในยุโรปโดยนักรบครูเสด ที่ไปรบในสมรภูมิตะวันออกกลาง พวกเขากลับมาพร้อมขิงและเครื่องเทศ และสูตรทำขนมปังใส่ขิงแบบชาวอาหรับ คนอังกฤษยุคกลางตื่นเต้นมาก จึงนำเครื่องเทศผงได้แก่ ขิง กานพลู อบเชย ใส่เข้าไปในอาหารและทำ Gingerbread เมื่อราวศตวรรษที่ 11
อีกอย่าง ขิง ในยุคนั้นช่วยถนอมอาหาร และกินดีต่อสุขภาพ ดูแลระบบย่อยอาหาร และให้สรรพคุณร้อนช่วยให้ร่างกายอุ่นขึ้นในฤดูหนาว
(ภาพ: freepik.com)
ทำไมคริสต์มาสต้องกินขนมปังขิง : บันทึกว่าเจ้าชายอัลเบิร์ต (เป็นชาวเยอรมัน) เมื่ออภิเษกสมรสกับพระราชินีวิคทอเรีย เมื่อถึงเทศกาลคริสต์มาสก็อยากตกแต่งต้นคริสต์มาสตามแบบดั้งเดิมให้สวยขึ้น แล้วก็นึกถึงอะไรที่กินได้ Gingerbread จึงกลายเป็นของหวานตกแต่งต้นคริสต์มาส
กินคุกกี้ขิงตอนคริสต์มาส : Gingerbread เริ่มเป็น ขนมประจำเทศกาลคริสต์มาส ราวศตวรรษที่ 17 โดยคนทำออกแบบรูปทรงสื่อถึงศาสนาและใช้ประดับต้นคริสต์มาส นิยมกินในเทศกาลคริสต์มาสและอีสเตอร์ ซึ่งรูปทรงจะแตกต่างจาก คุกกี้ขิง ที่กินทั่วไป อย่างไรก็ดี มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อใกล้เทศกาลคริสต์มาส ผู้คนจะอบคุกกี้ขิงที่สื่อถึงศาสนาและงานเฉลิมฉลองคริสต์มาส ในขณะที่ไม่อบคุกกี้ขิงรูปทรงนี้ในเดือนอื่น ๆ ของปี
Gingerbread house (ภาพ: bettycrocker.com)
บ้านขนมปังขิง Gingerbread house : เล่ากันว่าชาวเยอรมันคิดทำขนมปังขิง (หรือคุกกี้) เป็นรูปบ้านก่อนใคร แต่ละครอบครัวทำคุกกี้ขิงเป็นรูปบ้านแล้วให้เด็ก ๆ ช่วยกันตกแต่ง บางคนบอกว่ามีแรงบันดาลใจมาจากนิทานของสองพี่น้องตระกูลกริม (Grimm Brothers) ที่เขียนนิทานเรื่อง Hansel and Gretel (เขียนไว้เมื่อปี 1812) ในเรื่องเขียนว่า “พ่อมดอยู่ในกระท่อมที่ทำด้วยคุกกี้และลูกกวาด”
Gingerbread man (ภาพ: freepik.com)
Gingerbread man : คุกกี้ขิงรูปคนมาจากไหน ควีนอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ คิดถึงแขกเหรื่อที่มาร่วมงานในพระราชวัง ตอนนั้นคงเป็นช่วงคริสต์มาส พระองค์เลยตัดคุกกี้ขิงเป็นรูปคน ซึ่งหมายถึงแขกของพระองค์ เมื่อควีนทำชาวบ้านก็ทำตาม กลายเป็น คุกกี้ขิงรูปคน ใช้ประดับต้นคริสต์มาส สวยด้วยกินได้ด้วย
กินเลย คุกกี้ขิงรูปคน (ภาพ: foodal.com)
กินคุกกี้ขิงรูปคนแล้วจะได้แต่งงาน : เรื่องเล่าที่ลือกันมาหลายร้อยปี หลังจากควีนอลิซาเบธ ประดิษฐ์คุกกี้ขิงเป็นรูปคน มีแขนขาแต่รูปร่างเหมือนเด็ก จึงเป็นคุกกี้ล้อเลียนบุคลิกคน เมื่อหญิงสาวคนไหนกินคุกกี้รูปคนที่เธอมโนว่าเป็นชายที่เธอชอบ เธอก็จะได้แต่งงานกับชายคนนั้น อีกเรื่องเล่าว่า คุกกี้รูปคนรูปร่างเหมือนเด็กสื่อถึงพระเยซูเมื่อแรกประสูติในวันคริสต์มาส
คุกกี้ขิงรูปบ้านและรูปหัวใจ : ชาวเยอรมันเรียกว่า Lebkuchen ทำเป็นรูปบ้านและรูปหัวใจ รูปบ้านให้เด็ก ๆ ช่วยกันตกแต่ง รูปหัวใจสื่อความหมายเรื่องรักใคร่ ชอบใครก็มอบคุกกี้ขิงรูปหัวใจให้ โดยเมืองหลวงแห่งคุกกี้ขิงคือ Nuremberg ทำคุกกี้ขิงเมื่อยุค 1600s ทุกปีมีเทศกาลเฉลิมฉลองคุกกี้ขิงแบบฉบับของชาวเมือง มีสูตรโบราณเก็บไว้ในมิวเซียมในเมืองนูเรมเบิร์ก ตอนนี้มีระบบ GI ระบุว่า Gingerbread สูตรเฉพาะของเมืองนี้ต้องทำตามแบบนี้เท่านั้น เรียกว่า Nuremberg Lebkuchen
(ภาพ: coop.co.uk)
คุกกี้ขิงอธิษฐาน : ชาวสวีเดนเชื่อว่าคำอธิษฐานมีจริง โดยวาง คุกกี้ขิง บนฝ่ามือซ้าย (ควรเลือกขนาดให้พอดี) แล้วใช้นิ้วหัวแม่โป้งขวากดตรงกลางคุกกี้ ให้มันแตกออกมาเป็น 3 ส่วน แล้วรีบกินให้หมดทันที โดยไม่พูดจากับใคร ความปรารถนาที่คิดไว้จะสมหวัง
เทศกาลคริสต์มาส ปีนี้ ตั้งความหวังไว้ตรงกลางฝ่ามือ บิให้แตกแล้วรีบกินมันให้หมด...