เห็นได้ว่า การจัดการการระบาดโควิดของภาครัฐในหลายเรื่องล้มเหลว ผลักดันให้จิตอาสาหลายกลุ่ม ต้องลุกขึ้นมาช่วยเหลือกัน เพื่อความอยู่รอดของครอบครัวและชุมชน ดังเช่นกลุ่มเหล่านี้
เดือนเมษายน 2564 ได๋-ไดอานา จงจินตนาการ พิธีกรสาว ได้มีการพูดคุยกับ จ๊ะ-นงผณี มหาดไทย นักร้องลูกทุ่ง ว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด
ในตอนนั้นโควิดระลอกสามยังไม่หนักมาก มีเคสหนึ่งติดต่อเข้ามา พวกเขาช่วยกันประสานโรงพยาบาลหาเตียงให้ หลังจากนงผณีโพสต์ว่าช่วยได้สำเร็จแล้วหนึ่งราย คนก็ส่งข้อความเข้ามามากมาย
Cr.เส้นด้าย-Zendai
สมาชิกในกลุ่มนี้ที่มี 4 คน คือได๋, จ๊ะ, พี่สาวจ๊ะ, ผู้ช่วยของได๋ มีชื่อกลุ่มว่า เราต้องรอด ตอนแรกไม่ได้คิดเปิดเพจแค่ช่วยประสานให้ จนกลายมาเป็นชื่อเพจ
สองวันแรกมีเคสเข้ามา 30 เคส พวกเขาช่วยประสานทุกอย่างสองวันเต็มๆ นิหน่า- สุฐิตา ปัญญายงค์ ก็เข้ามาช่วย มีการประชุมแบ่งงาน เปิดไลน์แอด
พอได้รับข้อมูลก็ส่งไปให้เจ้าหน้าที่ประสานงาน มีทีม EMT ประเมินอาการ ตั้งแต่ทำมาพวกเขายอมรับว่า เยอะสุดคือ 300 รายจากแคมป์คนงานก่อสร้าง ซึ่งโชคดีที่มีหลายหน่วยงานติดต่อเข้ามาว่าถ้ามีอะไรให้ช่วยเหลือก็แจ้งมาได้เลย
เพจ เราต้องรอด จึงเป็นช่องทางช่วยผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประสานงานให้ผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลและจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค เครื่องวัดระดับออกซิเจน กรณีผู้เสียชีวิตก็ประสานหาฌาปนกิจสถานให้ด้วย #เราต้องรอด https://www.facebook.com/savethailandsafe
Cr.เส้นด้าย-Zendai
วันที่ 8 เมษายน 2564 ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าของเพจ หมอแล็บแพนด้า จับมือกับ กทม.ออกรถตรวจโควิด เคลื่อนที่ฟรี เพราะไม่ต้องการให้ผู้มีความเสี่ยงเดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาล ทำให้เกิดการแพร่เชื้อ จึงตระเวนออกตรวจที่บ้าน ตรวจเจอกักตัวทันที เมื่อเจอเร็ว รักษาถูกวิธี เชื้อไม่ลงปอด ก็ไม่เสียชีวิต
"ช่วงนั้นมีผู้ลงทะเบียนเข้ามา 18,000 ราย โดย กทม. ตั้งเป้า 700 รายต่อวัน กลุ่มเสี่ยงได้รับการตรวจฟรี กทม.ต้องทำก่อนเพราะมีคนอาศัยเยอะ มีผู้ติดเชื้อมาก เป็นโมเดลเพื่อขยายต่อ"
หมอแล็บโพสต์ต่อว่า ต้องยอมรับว่าพี่น้องประชาชนที่ติดเชื้อนอนรอที่บ้านเต็มไปหมด บางคนรอจนเสียชีวิต หลายๆ หน่วยงานพร้อมสร้าง Semi-ICU ต่อให้ต้องควักเนื้อ 1-2 ล้าน ก็ยอมเพื่อช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
แต่ประเทศไทยมีหลายหน่วยงานงัดกฎระเบียบที่เข้มงวดมากๆ มาใช้ จากลงทุน 2 ล้าน ต้องทำนั่นทำนี่เพิ่มทะลุ 12 ล้าน ทั้งที่เค้าพยายามปรับทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือคน พอต้องจ่าย 5-10 ล้าน เค้าก็ถอย
สุดท้ายเหลือ community isolation ไม่กี่ที่ วนลูปมาที่พี่น้องประชาชนต้องรอตายที่บ้าน อะไรที่ยืดหยุ่นให้ประชาชนหรือภาคเอกชนช่วยเหลือกันได้ก็ต้องช่วยกัน เห็นความตั้งใจของคนที่จะมาช่วยแล้วเขาล้มเลิกโครงการ ผมเห็นแล้วก็ปลงแทน...." https://www.facebook.com/search/top?q
Cr.เส้นด้าย-Zendai
เริ่มต้นมาจากการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 ของ กุลทรัพย์ วัฒนผล หรือ “อัพ VGB" อดีตนักกีฬาอีสปอร์ตเมื่อเดือนเมษายน 2564 ซึ่งเข้าไม่ถึงการรักษา แม้จะหาเตียงได้แล้วก็ไม่ทันการ
คริส โปตระนันทน์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม เขต 6 ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ กับ กุลเชษฐ พี่ชายของอัพ จึงรวมตัวกันทำกลุ่มประชาชนอาสาขึ้นมา
จากข้อสงสัยว่า คนดังคนรวยได้รับการรักษาโควิด-19 อย่างรวดเร็ว แต่คนธรรมดาอย่างน้องชายของผู้ร่วมก่อตั้งกลับหารถไปส่งรพ.ไม่ได้ หาจุดตรวจไม่เจอ โทรศัพท์หาใครก็ไม่ติด พอโทรติดโรงพยาบาลแล้ว กลับได้รับคำแนะนำว่าให้นั่งรถสาธารณะมา
มีคนเฟซบุ๊กไลฟ์ขอความช่วยเหลือให้ช่วยหาเตียง หลังติดโควิดมากมาย สะท้อนให้เห็นว่า ยังมีคนจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขของรัฐ เพราะรัฐมีข้อจำกัด และการสื่อสารของรัฐทำให้ประชาชนสับสน
การบริหารจัดการที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ การจัดหาวัคซีนที่ไม่ทันต่อเวลา เป็นเหตุให้ประชาชนหลายกลุ่มต้องออกมารวมตัวกันช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านั้น https://www.facebook.com/zendai.org
Cr.เส้นด้าย-Zendai
เป็นมูลนิธิที่ดูแลคุณภาพชีวิตผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ตั้งแต่เจอเคส จนเสียชีวิต ช่วยเหลือเรื่องปัจจัย 4 ประจำพื้นที่คลองหลอด และพื้นที่รอบกรุงเทพมหานคร จ.อยุธยา จ.สมุทรสาคร ทำงานเชิงรุก ไม่ให้คนออกมาเร่ร่อน ให้กลับมามีตัวตนในสังคม ช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่นได้ต่อไป
อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ย้อนถึงช่วงโควิดระบาดว่า ตั้งแต่ล็อกดาวน์ มีคนเร่ร่อนหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้นสองเท่า โดยประเมินจากการแจกอาหารแก่กลุ่มคนไร้บ้านและเร่ร่อนในจุดหลัก จาก 300 ราย เพิ่มเป็น 600 ราย บางคนกลายเป็นคนไร้บ้าน ถูกไล่ออกจากห้องเช่าเพราะติดโควิด หรือตกงานเพราะสถานประกอบการปิด
"ปกติกลุ่มคนเร่ร่อนและคนไร้บ้านไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว บางคนอาศัยตามถนนมานาน ไม่มีบัตรประชาชน เข้าไม่ถึงการตรวจหาเชื้อและวัคซีน เรามีอาสาสมัคร 10 คนไม่เพียงพอ ต้องขอความร่วมมือกับกลุ่มอาสาอื่นๆ เช่น กลุ่มเส้นด้าย กรณีตรวจพบติดเชื้อโควิดต้องส่งไปสถานพยาบาล
ล่าสุด มูลนิธิได้ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย จัดสรรวัคซีนมาฉีดให้คนยากไร้ เร่ร่อน ด้อยโอกาส ตกงาน ละแวกราชดำเนิน ท่าน้ำนนทบุรี บางกอกน้อย ลาดพร้าว จตุจักร พหลโยธิน บางแค
เป็นวัคซีนพระราชทานจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซิโนฟาร์ม 300 โดส เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม สิ่งที่มูลนิธิเผชิญที่ผ่านมาคือ ใช้เวลานานในการประสานงานให้ผู้ป่วยติดเชื้อเข้าสู่ศูนย์พักคอย https://www.facebook.com/issarachonfound
Cr.เส้นด้าย-Zendai
หมอริท เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช หรือ ริท เดอะสตาร์ เจ้าของโครงการ “หมอริทช่วยโควิด” ปี 2564 ที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดที่อยู่ระหว่างรอการรักษาและผู้ป่วยยากจน แบบ Home Isolation ส่งยาและติดต่อประสานเตียง พร้อมรับบริจาคอาหารแห้งและยาจัดส่งให้กับผู้ป่วย หลังจากช่วยเหลือสังคมมาได้ระยะหนึ่ง หมอริทก็ได้โพสต์ทวิตเตอร์พร้อมลิสต์ 13 ข้อดังนี้
1)หมอริทช่วยโควิด เป็นโครงการอาสา ไม่ได้รับเงินจากรัฐ เรียกร้องให้รัฐดูแลผู้ป่วยอย่างทั่วถึง เมื่อไรท่านดูแลทั่วถึง เราจะหยุด
2)หมอริทช่วยโควิด รับเคสใหม่ได้เฉลี่ย 200 เคส/วัน แต่หน่วยงานรัฐใน กทม. รับเคสใหม่ได้ 9 เคส/วัน ถ้าลดการทำงานที่ไม่จำเป็นบางอย่างลง จะทำให้รับเคสได้มากขึ้น?
3)ภาคประชาสังคม/จิตอาสา (ไม่ใช่เฉพาะ #หมอริทช่วยโควิด) ได้มีส่วนช่วยสำคัญให้ประเทศไทยผ่านวิกฤติโควิดนี้ไปได้ (ซึ่งท่านทราบสัดส่วนตัวเลขการดูแลเคสอยู่แล้ว ประมาณเกือบครึ่งต่อครึ่ง จริงหรือไม่?)
4)คนไข้ที่ติดต่อผ่านช่องทางของรัฐ ต้องรอการรักษานาน 3 วัน-14 วัน หรือ จนหายแล้ว จริงหรือไม่?
5)รัฐมีหน่วยจ่ายยาฟาวิ โดยจ่ายเป็นคอร์ส 3-5 วัน แล้วไม่ดูแลเคสต่อให้ครบ 14 วัน สุดท้ายคนไข้ตกเป็นภาระของใคร? ส่วนหนึ่งมา #หมอริทช่วยโควิด เข้าถึงเคสได้ก็ทำให้จบกระบวนการเลยไหม? ใช้งบไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่?
6)ATK บอกว่าให้เข้าระบบ HI ได้ ถ้าอาการแย่ลง แล้วต้องการเตียง เข้า รพ. ได้เลย แต่ในความเป็นจริง รพ. ไหนรับบ้าง? สุดท้ายรอ PCR กันหมดไหม? จะตายแล้วยังรอ PCR? รพ. มีปัญหาการเบิกไหม? ขอคำสั่งเด็ดขาดและชัดเจนเลยได้ไหม?
Cr.เส้นด้าย-Zendai
7)ดูแลคนไข้ช่วยเหลือกันกับภาครัฐ ท่านมีฐานข้อมูลให้เช็คการดูแลซ้ำซ้อนไหม? ภาษีประชาชนทั้งนั้น 1 คนไข้ต่อ1 การดูแลก็พอแล้ว
8)ระบบจัดหาเตียงอยู่ไหน? ทีมอาสามีแพทย์มาช่วยดูแล HI ประเมินความเสี่ยงให้แล้ว พออาการแย่ลง ต้องการเตียง ให้ส่งไปที่ไหน? หน่วยงานไหนรับช่วงต่อ? เบอร์กลางของท่านโทร.ติดจริงๆ หรือไม่?
9)เรื่องเตียง ไม่เพียงพอ รัฐกำลังขยายเพิ่มเตียงอยู่ ต้องจัดคนไข้เอาเตียงตามความรุนแรง เลยต้องให้ออกซิเจนที่บ้านไปก่อน แล้วหน่วยงานไหนดูแลเรื่องออกซิเจนที่บ้าน? มีแต่ขอความช่วยเหลือจากทีมอาสาด้วยกัน
10)การประชาสัมพันธ์ ความรู้ ความเข้าใจ เพียงพอไหม? กักตัวครบ 14 วัน ไม่ต้องตรวจซ้ำ ไปทำงานได้เลย, คนไข้ไม่ต้อง x-rays ปอดทุกคน, ยาฟาวิ ทานตามข้อบ่งชี้ ไม่ต้องทานทุกคนก็หายได้ เป็นต้น
11)ภาคแรงงาน นายจ้าง ยังต้องการใบรับรองแพทย์ มีระบบให้ไหม? เอา ATK/PCR กับชื่อหน่วยงานที่ดูแลไปออกใบรับรองเลยได้ไหม? แค่หมอมาช่วยตรวจยังไม่พอ ยังต้องแบ่งหมอช่วยเขียนใบรับรองแพทย์อีก มันจะทันไหม?
12)ตอนนี้ ภาคประชาสังคม/อาสา สร้างเครือข่ายกันเอง หาเตียง หาออกซิเจน หา PCR หา x-rays หายา หาอาหาร เค้าทำกันเรียบร้อยแล้ว มาดู แล้วขอบคุณและให้เครดิตเขาก็พอ
13)โควิดครั้งนี้ มันคือวิกฤต วันที่รัฐรับมือไม่ไหว ประชาชนพร้อมช่วย แค่ยอมรับในกำลังความสามารถ ไม่ต้องอาย ปล. ยังไม่รวมเรื่องการจัดการระยะยาว เช่น วัคซีนนะครับ ซึ่งสุดท้ายมันก็คือเรื่องเดียวกัน
Cr.เส้นด้าย-Zendai
ที่ผ่านมาในช่วงโควิดระบาดหนัก โครงการต้องรอด กลุ่ม Up for Thai นำโดย ดวงฤทธิ์ บุนนาค, คุณชายอดัม ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล, ป้าตือ สมบัษร ถิระสาโรช, สุกิจ เจริญมุขยนันท์ จัดตั้งศูนย์รวบรวมการสิ่งของจำเป็น รับบริจาควัตถุดิบ เครื่องอุปโภคบริโภค น้ำดื่ม ทุนทรัพย์
ตั้งโรงครัวผลิตอาหาร 2,000 คนต่อมื้อ (3 มื้อต่อวัน) ในทุกวัน 3 เดือน (เดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2564) แจกจ่ายไปยังชุมชนที่มีการกักตัวเฝ้าระวังอาการ และจากการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส COVID-19
ประสานงานความร่วมมือกับ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (แบรนด์ CP), บริษัทอาจจิตต์อินเตอร์เนชั่นเนล เพ็พเพอร์แอนด์สไปซ์ (ตรามือที่หนึ่ง), บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ (แบรนด์สิงห์), บริษัทหาดทิพย์ (แบรนด์น้ำทิพย์และโค้ก), บริษัท เซ็ปเป้ (แบรนด์เซ็ปเป้และเพรียว), บริษัทไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ (ตลาดไท) ฯลฯ และทีม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, กลุ่มเส้นด้าย, SOS Thailand, มูลนิธิปั้นเด็กดี, มูลนิธิดวงประทีป, อาสาดุสิต วัดสะพาน https://www.facebook.com/UpForThai
Cr.เส้นด้าย-Zendai
- จิตอาสาดูแลไทย Jitasa.care
คือ Digital map platform รายงานสถานการณ์โควิด-19 แบบเรียลไทม์ ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มวิศวกรรวมใจต้านภัยโควิด (ThaiFightCovid) นำความรู้ทางวิศวกรรมมาเป็นตัวกลางจัดทำข้อมูลให้ประชาชน ที่ต้องการรับความช่วยเหลือ ตั้งแต่ จุดฉีดวัคซีน, จุดตรวจโควิด, โรงพยาบาล, จุดพักคอย การให้ปรึกษาแพทย์ทางออนไลน์( Telemed )การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การดูแลศพผู้เสียชีวิต
และเชิญชวนคนมาร่วมเป็นจิตอาสากลุ่มต่างๆ ดังนี้ อาสาข้อมูล สถานะสถานที่ต่างๆ ปักหมุดสถานที่ที่เกี่ยวข้อง, อาสาติดต่อ ประสานงานผู้ต้องการความช่วยเหลือกับทีมงานที่เกี่ยวข้อง, อาสาพาไป รับส่งผู้ป่วย ร่างผู้เสียชีวิต และสิ่งของอื่นๆ, อาสาสาธารณะ ตรวจสอบหรือ ประสานงานหน้างาน ปัจจุบันมีอาสาสมัครจำนวน 5,118 ราย https://www.facebook.com/Jitasa.Care
จำนวนคนตาย ไม่ใช่ตัวเลข แต่คือชีวิต และเป็นคนในครอบครัวของใครสักคน