ดวงฤทธิ์ บุนนาค : ธุรกิจสร้างสรรค์ในโลกยุคใหม่
ทางรอดของเศรษฐกิจในอนาคต ต้องใช้"ความคิดสร้างสรรค์"เป็นตัวขับเคลื่อนเมือง สร้างความมั่งคั่งให้กับธุรกิจ
“สิ่งที่เราเรียกว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative Economy คือ การหาความเป็นไปได้ในบริบทนั้นๆ ในบริบทของเมือง ในบริบทของเศรษฐกิจ หลายคนเข้าใจผิดว่ามันเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของคน”
ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิก ผู้ก่อตั้ง The Jam Factory กล่าวในงาน Night At The Museam 11 Night Talk หัวข้อ "Creative Economy บนเมืองที่มีรากวัฒนธรรม" ที่ Museam Siam เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564
- เมืองสร้างสรรค์ Creative City
ดวงฤทธิ์ มองว่า การสร้างเมืองที่ดี ต้องเริ่มที่การมีความคิดสร้างสรรค์ และมีพื้นที่ให้แสดงออก
"สำหรับผม เมืองคือพื้นที่ เปรียบเทียบได้กับกระดาษขาว ผมเป็นสถาปนิก พร้อมจะเขียนอะไรก็ได้ลงไปบนนั้น ที่เรียกว่าพื้นที่หรือ Space เมืองที่มีพื้นที่ที่อนุญาตให้การสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้
Cr.Museam Siam
นั่นคือ Creative City หลายคนพยายามยัดเยียดเนื้อหาบางอย่างลงไปในเมือง ให้เมืองดูสร้างสรรค์ ผมเคยคุยกับตัวแทนจากหลายประเทศ เช่น ไต้หวัน, จีน, ญี่ปุ่น ผู้คนพยายามสร้างเมืองสร้างสรรค์โดยการสร้าง Content ขึ้นในเมือง
ผมทำแจมแฟคทอรี่มาได้ 5-6 ปีแล้ว ตรงคลองสาน เป็นพื้นที่ว่าง ที่อนุญาตให้หลายๆ คนมาสร้างอะไรก็ได้ กลายเป็นสถานที่ที่หลายคนเรียกว่า Creative space หรือพื้นที่สร้างสรรค์
มิวเซียมสยามก็เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เพราะไม่ได้มีโปรแกรมหรือมีคอนเทนท์ที่เฉพาะเจาะจง อนุญาตให้อะไรก็ได้เกิดขึ้น นั่นคือความหมายของเมืองสร้างสรรค์"
Cr.Museam Siam
- วัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่ง Creative Economy
ในเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดวงฤทธิ์ มองว่า นอกจากรากทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์แล้ว เรายังต้องมีความมั่นใจ
"ผมมองเห็นสองเรื่อง 1) วัฒนธรรม เวลาพูดถึงวัฒนธรรม เราพูดถึงการแสดงออกซึ่งตัวตน ผู้คน และแง่มุมที่สามารถส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อๆ ไปได้ 2) ประวัติศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม การที่เราจะส่งต่อไปได้ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์อย่างเดียว แต่เราต้องส่งต่อการแสดงออกซึ่งตัวตนของคนในปัจจุบันไปยังคนรุ่นต่อไปได้
หัวใจของธุรกิจ คือความมั่นใจ เมื่อมีความมั่นใจระดับหนึ่ง หรือมีการแสดงออก(self expression) ในเรื่องนั้นว่าจะทำสิ่งนี้ ธุรกิจถึงจะเกิด สมัยนี้เรียกว่าสตาร์ทอัพ
ร้านอาหารหลายอย่าง เช่น ร้านพิซซ่า ร้านเบอร์เกอร์ ทุกคนมีการแสดงออกหมด การทำให้มนุษย์หรือคนในเมืองมีการแสดงออกมีการส่งต่อได้ หรือทำให้เกิดธุรกิจใหม่ได้ มีวัฒนธรรมเป็นต้นกำเนิดของเศรษฐกิจ"
Cr.Museam Siam
- องค์ความรู้สองส่วนที่สำคัญ
ปัจจุบันคนมักเน้นความรู้จากการเรียนหรือตำราเป็นหลัก ดวงฤทธิ์บอกว่า ยังมีอีกองค์ความรู้ที่สำคัญมาก
"ในการถ่ายทอดความรู้ มีอยู่สองอย่าง 1)องค์ความรู้ที่สามารถบันทึกได้ Articulated knowledge ส่งต่อได้ เช่น ตำราในโรงเรียน ไม่ว่าเรื่องประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ อาจารย์ที่ออกมาอ่านตำรา หรือแจกชีทให้นักเรียนกลับไปอ่านที่บ้าน ซึ่งไม่ต้องเรียนก็ได้นะ
เพราะองค์ความรู้ที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน นักเรียนไม่อยากเรียนหนังสืออีกต่อไปแล้ว โรงเรียนไม่มีศักยภาพในการสอน หรือสิ่งที่ครูสอนน่ะผิด ผมค้นหาในกูเกิลแล้วมันเป็นแบบนี้มากกว่า
หรือบางเรื่องที่ครูพยายามจะสอน นักเรียนสามารถหาข้อมูลคู่ขนานได้ และได้ความรู้ที่มากกว่าด้วยเ พราะมันถูกบันทึกโดยแปลงให้เป็นดิจิทอล(Digitize) คุณค่าของ Articulated knowledge จะลดลงไปเรื่อยๆ แล้วก็ไม่มีคุณค่าอีกต่อไป
2)องค์ความรู้เงียบ (silent knowledge) มันสามารถส่งต่อได้เมื่ออยู่ด้วยกัน เป็นส่วนเติมเต็มขององค์ความรู้ทั้งหมด เราต้องสร้างพื้นที่ในเมือง เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ เช่น ประเพณีพื้นบ้าน งานฝีมือพื้นบ้าน ทักษะต่างๆ ส่งต่อได้โดยการอยู่ด้วยกันเป็นชุมชน เช่น การทำงานจักสาน, การถ่ายทอดงานฝีมือต่างๆ ในท้องถิ่น ไม่สามารถเขียนบันทึกได้ทั้งหมด
หรือการเรียนดนตรี เราสามารถเล่นเพลงนี้ได้เพราะมีโน้ตให้ แต่การถ่ายทอดความรู้ในการเล่นดนตรีจากครูดนตรีก็จะเป็นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งถ่ายทอดผ่านทางองค์ความรู้เงียบเท่านั้น นี่คือรากของวัฒนธรรม"
Cr.Museam Siam
- ความล้มเหลวของการเรียนรู้
ดวงฤทธิ์ มองว่า เมืองควรมีสถานที่เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เงียบ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ส่งต่อที่ดี
"การเรียนรู้ผ่านองค์ความรู้ที่บันทึกไว้อย่างเดียวเป็นความล้มแหลว เราไม่สามารถเข้าใจได้ว่า องค์ความรู้อีกครึ่งหนึ่ง หรืออีกมากกว่าครึ่ง คืออะไร อย่างบางคนรู้ แต่สอนไม่ได้ บอกได้แค่ให้มานั่งใกล้ๆ ดูเราทำ เดี๋ยวก็จะเป็นเอง นี่คือองค์ความรู้เงียบ
องค์ประกอบของเมือง จึงต้องมีศักยภาพในการถ่ายทอดองค์ความรู้เงียบที่ขาดหายไป เช่น งานศิลปะ งานคราฟท์ งานออกแบบ อาหารเพลง ภาพยนตร์ วรรณกรรม วรรณคดี การเต้นรำ สถาปัตยกรรม เช่น การไปดูนิทรรศการศิลปะ ไปอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน ใช้เวลาในสถานที่นั้นเพื่อเกิดการเรียนรู้ ไม่มีใครสอน แต่เกิดการเรียนรู้ขึ้น
การส่งต่อองค์ความรู้เงียบ คือ ศักยภาพสูงสุดของเมือง ของชุมชน ทำให้เกิดความมั่งคั่งทางวัฒนธรรม (cultural wealth) ส่งต่อไปยังการเป็น Creative City ซึ่งจะต้องมีการสร้างสรรค์เกิดขึ้น ครีเอทีฟนั้นก็จะนำไปเราไปสู่การผูกขาดทางธุรกิจโดยชั่วคราว(temporary monopoly ) มีศักยภาพในการผลิตแต่เพียงผู้เดียว"
Cr.Museam Siam
- เศรษฐกิจในอนาคต
ตวงฤทธิ์ เล่าว่า ในอดีตการทำธุรกิจหรือเรื่องเศรษฐกิจ ทำไปถึงจุดหนึ่งจะเป็นเจ้าของ (monopoly) แล้วเกิดความมั่งคั่ง (Wealth)
"ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเป็นรายเดียวที่มีน้ำมัน เราก็จะรวย แต่ปัจจุบันความมั่งคั่งไม่ได้เกิดขึ้นแบบนั้นแล้ว แต่จะเกิดขึ้นเป็นเส้นโค้งไซน์ (sine curve) ในลักษณะที่ว่า ธุรกิจเราไปถึงจุดสุดยอดเมื่อไร เดี๋ยวจะมีคนลอก แล้วกราฟก็จะตกไป จากจุดสูงสุดคือ มั่งคั่งแล้ว
หรืออย่างเช่น เราคิดแอพพลิเคชั่นอะไรได้ เราไปถึงจุดสุดยอดได้แล้ว อีกไม่นานมันจะตกแน่นอน แต่สิ่งที่จะพาเรากลับขึ้นไปสู่ความมั่งคั่ง (Wealth) ได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็คือ Creative City
เราต้องทำให้เด็กไทยมีความคิดสร้างสรรค์ (creativity) เพราะว่าในอนาคต การสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นสิ่งเดียวที่พาเราไปสู่ความมั่งคั่ง
ในเมืองที่ทำให้เกิดการผูกขาดทางธุรกิจโดยชั่วคราว(temporary monopoly) หรือเอื้อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เมืองนั้นก็จะนำไปสู่ความมั่งคั่ง(Wealth) นี่คือองค์ประกอบหลักสำคัญของเมืองสร้างสรรค์
สิ่งสำคัญเราต้องเข้าใจวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ พื้นฐานองค์ความรู้ เพื่อขับเคลื่อนเมือง เคลื่อนประเทศไปข้างหน้า มิฉะนั้นการเรียนรู้ทั้งหมดของเราก็เป็นแค่การเรียนรู้ ไม่ใช่การเรียนรู้เพื่อสร้างสิ่งใหม่"