รีบมารีบไป! “Surfskate” แฟชั่นกีฬาที่มาแรงแห่งปี 2564
กับคำถามถึงขาลงของ "Surfskate" สู่คำตอบที่อธิบายปรากฏการณ์เซิร์ฟสเก็ตฟีเวอร์ หรือนี่เป็นแค่กีฬาแฟชั่นที่ตายแล้ว
ทุบทุกสถิติ ตั้งแต่ปีก่อนจนมาถึงปี 2564 Surfskate (เซิร์ฟสเก็ต) ทำในสิ่งที่หลายชนิดกีฬาไม่เคยทำได้มาก่อน ทั้งสร้างกระแสคนเล่นเซิร์ฟสเก็ตทั่วประเทศ เกิดอีเวนท์น้อยใหญ่มากมาย สินค้าขายดีจนขาดตลาด และอีกสารพัดปรากฏการณ์เซิร์ฟสเก็ตฟีเวอร์
ถึงตอนนี้จะอยู่ในช่วงกระแสซาลงพอสมควรแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอดสองปีกว่าๆ นับตั้งแต่ Surfskate เริ่มเป็นที่รู้จัก โด่งดัง และอิ่มตัว มีอะไรต่อมิอะไรน่าพูดถึงมากจริงๆ
Surfskate ขึ้นสุด
สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยเมื่อเอ่ยถึง “Surfskate” คือ สินค้าทั้งแบบคอมพลีทพร้อมเล่น, แผ่นสเก็ต, ทรัค, ล้อ, ลูกปืน, กริปเทป หรือแม้แต่อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เคยกลายเป็นสินค้าขายดีที่สุดในบรรดาประเภทอุปกรณ์กีฬามาแล้ว นั่นก็เพราะ Demand และ Supply ไม่สอดคล้องกัน คือ ขณะที่ผู้บริโภคมีจำนวนมหาศาล ความต้องการสินค้ามีอย่างท่วมท้น แต่สินค้ากลับผลิตไม่เพียงพอ รวมถึงติดปัญหาการนำเข้า เพราะ “เซิร์ฟสเก็ต” ส่วนมาก Made in ต่างแดน เช่น สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, สเปน, แคนาดา, ญี่ปุ่น, จีน ฯลฯ แต่ปัญหาการขนส่งและมาตรการหลังจากเกิดโควิด-19 ทำให้อุปสงค์-อุปทาน ไม่ไปด้วยกัน
ยิ่งของไม่พอต่อความต้องการ “Surfskate” จึงกลายเป็น “ของมันต้องมี” ที่หลายคนขวนขวายมาครอบครอง ถึงขนาดในกลุ่มซื้อขายบนโซเชียลมีเดียเวลามีใครปล่อยของ เพียงพริบตาก็จะถูก F (ซื้อ) ไปอย่างรวดเร็ว
ในแง่คนเล่น ทุกมุมเมืองเกิดสังคมคนเล่น “เซิร์ฟสเก็ต” จากภาพของเด็กสเก็ตที่เคยเป็นปฏิปักษ์กับสังคม ไปที่ไหนก็มีแต่คนมองแง่ลบ กลายเป็นว่าห้างร้านต่างๆ ที่เคยไม่ต้อนรับ กลับเปิดพื้นที่ให้เล่นสเก็ตกันอย่างออกหน้าออกตา
ช่วงอายุของคนเล่น “Surfskate” เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่อธิบายความเป็น Surfskate for all ได้ดี เพราะตั้งแต่ลูกเล็กเด็กแดงไปจนถึงผู้สูงวัยแต่ใจยังเก๋า ต่างพากันมาโยกไหล่ส่ายสะโพกโชว์ลีลาพริ้วไหวดุจการโต้คลื่นบนบก
Surfskate ลงสุด
ปรากฏการณ์ “Surfskate” นอกจากสร้างสีสันให้วงการกีฬาและเป็นกิจกรรมสันทนาการแห่งยุค ความนิยมแบบก้าวกระโดดกลับส่งผลอีกด้านจนกลายเป็นจุดเปลี่ยนของวงการนี้ไปโดดยปริยาย
เรื่องแรก การปั่นราคา หลังจากสินค้าขาดตลาด การกักตุนและโก่งราคาก็เกิดขึ้น ช่วงระยะเวลาหนึ่ง “เซิร์ฟสเก็ต” เข้าสู่วังวน Resell อย่างเต็มตัว คือมีคนซื้อมาบวกราคาหลายเท่าตัวแล้วใช้กฎอุปสงค์-อุปทาน มาเป็นเกราะกำบัง แต่ไม่ว่าจะราคาแพงแค่ไหน ก็ยังมีคนยอมจ่ายเพื่อได้มาครอบครอง นั่นทำให้การปั่นราคาในช่วงนั้นเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง
ต้องยอมรับว่าไม่ได้มีแค่พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยที่อาศัยช่วงราคาขึ้นหาของมาทำกำไร แม้แต่ร้านบางร้านก็อาศัยจังหวะชุลมุน บวกราคาที่เกินจากราคา Official จนกลายเป็นว่าภาพจำของ “Surfskate” คือกีฬาคนรวย
ในบางรุ่นที่มีคนดังเล่นหรือแค่ถ่ายภาพคู่กับ “เซิร์ฟสเก็ต” อาทิ Yow Pipe (ลายสายฟ้ายอดฮิต), Smoothstar 77 Toledo, Carver Blacktip เป็นต้น ก็เคยถูกปั่นราคาไปจนสูงลิบชนิดที่มีคนแซวว่าแพงกว่าทองเสียอีก
แต่นั่นก็เป็นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง หลายคนประมาณการณ์กันไว้แล้วว่า หลังจากผู้ผลิตเพิ่มกำลังการผลิตจนมากพอและสินค้าเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมากๆ สมดุลจะเกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันเกิดขึ้นจริงแล้ว แม้จะไม่ถูกทั้งหมด เพราะปริมาณกับความต้องการไม่ได้อยู่จุดสมดุล แต่เป็นภาวะสินค้าล้นตลาดในขณะที่คนซื้อกลับน้อยลง
เรื่องนี้พอจะอธิบายได้ว่า ปัจจัยที่ทำให้ช่วงนี้เป็นขาลงของ “Surfskate” เพราะ
1. สถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมารุนแรงตั้งแต่เกิดระลอกใหญ่ในปี 2564 นี้ ทำให้กิจกรรมเกี่ยวกับ “เซิร์ฟสเก็ต” ที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วประเทศต้องยุติลง เมื่อตลาดวายก็แยกย้ายกันกลับบ้าน หลายคนเล่นบ้านใครบ้านมัน แต่มีไม่น้อยที่เอากลับไปวางไว้เฉยๆ
2. โควิด-19 อีกเช่นกัน แต่คราวนี้เป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เพราะหลายกิจการต้องปิด ต้องพักก่อน แต่รายจ่ายไม่ได้พักตาม เงินในกระเป๋าของอดีตนัก F ในตำนานก็กลายเป็นเพียงตำนานจริงๆ แม้จะมีรุ่นที่เคยอยากได้เข้ามาจ่อตรงหน้า แต่คนส่วนมากเลือกที่จะข้ามไป เพื่อเก็บเงินสดเอาไว้ในภาวะไม่แน่ไม่นอนแบบนี้
3. การตัดราคาจากผู้หนีตาย เรื่องนี้แม้จะเป็นปกติของการทำธุรกิจที่เกิดขึ้นได้ คือเมื่อร้านค้าหรือผู้ขายถือสินค้าเอาไว้จำนวนมาก แต่เกิดการ Dead stock ขึ้น วิธีการที่ง่ายที่สุด คือ ลดราคา แต่การลดราคาที่เกิดขึ้นในวงการ “Surfskate” กลับไปถึงขั้นตัดราคา อธิบายง่ายๆ ว่า ร้าน A และร้าน B เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าแบรนด์เดียวกัน มีราคา Official กำหนดไว้เท่ากัน ต้นทุนเท่ากัน แต่เมื่อร้าน A รู้สึกว่าไม่อยากถือสินค้าไว้อีกต่อไป จึงเทขายด้วยการลดราคาต่ำกว่าทุน ท่ามกลางบรรยากาศของขาลง ทำให้ลูกค้าหรือคนอื่นที่มองเข้ามา จะเข้าใจว่าสินค้าแบรนด์นี้ควรจะราคาถูกเหมือนที่กำลังลดราคา ทำให้ร้าน B ที่อาจเดือดร้อนเช่นกัน แต่แบกรับการขาดทุนเท่าร้าน A ไม่ไหว จึงเสียโอกาสการขายสินค้าไป แม้จะเป็นร้านที่ขายราคา Official มาตลอด
อาจมองว่าเป็นกลไกการตลาด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับหลายร้านคือตัวแทนอย่างร้าน A ก่อนจะเป็นตัวแทนจำหน่าย เคยใช้วิธีขายเกินราคาในช่วงที่ราคากำลังพุ่งสูงมาก่อนแล้ว หมายความว่ากำไรมหาศาลที่เคยได้ จะเอามาถัวเฉลี่ยกับส่วนที่ขาดทุนได้เช่นกัน ขณะที่ร้าน B ขายราคากลางมาโดยตลอด จึงไม่มีกำไรเกินควรเพื่อมาชดเชยได้...เรื่องนี้น่าเห็นใจ
4. คนอินกับเรื่องอื่นมากกว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เซิร์ฟสเก็ต” เป็นกีฬากระแส เป็นแฟชั่น จึงมีเกิดและมีดับ มีนิยมและมีเสื่อมความนิยมเป็นธรรมดา เพราะในช่วงเวลาที่คนเล่นเซิร์ฟสเก็ต ก็มีกระแสฟีเวอร์อื่นๆ ตีคู่กันมา เช่น ไม้ด่าง, คริปโต เคอเรนซี เป็นต้น ความสนใจคนจึงเปลี่ยนไป
แต่ใช่ว่าขณะที่หลายคนมองว่าเป็นขาลง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและอาจบ่งบอกถึงความเป็น Main stream ของ “Surfskate” คือ มีสนามสเก็ตเกิดขึ้นใหม่เยอะมาก, กิจกรรมงานแข่งขันกลับมาจัดเยอะ และหลายงานมีมาตรฐานทั้งเรื่องการจัดการและเงินรางวัล, ร้านที่ยังสู้ไหวมีสินค้าให้เลือกซื้อได้ทันทีในราคาปกติ, มีคนเล่นอยู่ไม่น้อย และหลายคนเลือกที่จะสนุกไปกับมัน บางคนตั้งใจพัฒนาฝีมือมากกว่าจับจ่ายใช้สอย และยังมีสินค้าจากหลายแบรนด์พัฒนาคุณภาพ มีสินค้ารุ่นใหม่ๆ ออกมาขายเรื่อยๆ
สิ่งเหล่านี้กำลังตอบคำถามว่า “Surfskate” อาจเป็นกีฬาแฟชั่นก็จริง และมีขาลงก็จริง แต่ถามว่ามันตายไปแล้วหรือไม่ ก็คงยังไม่ตาย