ทำไมต้องมี “ตู้แช่ไวน์” และ “5 กฎเหล็กในการรักษาไวน์”
ในเมืองไทยการเก็บไวน์เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากสภาพอากาศร้อน และนับวันยิ่งจะร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งความร้อนถือเป็นศัตรูสำคัญของไวน์ จึงจำเป็นต้องเก็บไวน์ไว้ใน “ตู้แช่ไวน์”
ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่มักอ่านจากตำราว่า ไวน์เก็บไว้ใน อุณหภูมิห้อง (Room Temperature) ก็ได้ โดยเฉพาะคนที่ทำงานในสายบริการตามร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ จึงเก็บไวน์ไว้ตามชั้นต่าง ๆ และเวลาเสิร์ฟไวน์ก็มักไม่แช่ไว้และไม่ได้เก็บไว้ใน ตู้แช่ไวน์ ความจริงคำว่า Room Temperature ใช้ในบ้านเราไม่ได้ เพราะบ้านเราอากาศร้อนถึงร้อนมาก
ตู้แช่ไวน์ดีไซน์สวย กลมกลืนเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของเฟอร์นิเจอร์
ยังมีกรณีที่ชอบเก็บไวน์ในห้องทำงาน จะตั้งหรือนอนไว้ก็ตาม โดยไม่มี ตู้แช่ไวน์ เปิดแอร์เฉพาะตอนกลางวันเลิกงานกลับบ้านก็ปิดแอร์ รวมทั้งท่านที่เก็บไวน์ไว้ในห้องนอน กลางคืนเปิดแอร์แต่กลางวันปิด ก็เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะไวน์เจอเย็น แล้วมาเจอร้อน สลับกันไปอย่างนี้ก็เป็นการฆ่าไวน์เช่นเดียวกัน
ตู้แช่ไวน์ จึงเป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุด การสร้างเซลลาร์หรือห้องไวน์แบบต่างประเทศนั้น ถ้าไม่มีเงินถุงเงินถังจริง ๆ แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก ประกอบกับปัจจุบันราคาตู้แช่ไวน์ย่อมเยากว่าในอดีตที่ผ่านมา จากเมื่อประมาณ 15-20 ปีที่แล้วขนาดบรรจุได้ประมาณ 100 ขวด ราคากว่า 300,000 - 400,000 บาท ทุกวันนี้ราคาถูกลงครึ่งต่อครึ่งส่วนหนึ่งเพราะเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น
รุ่น 7 ขวด
นั่นเป็นราคาของ ตู้แช่ไวน์แบบมืออาชีพ ของนักดื่มมืออาชีพ นักสะสมไวน์มืออาชีพ นักค้าไวน์ และมหาเศรษฐีทั้งหลาย เนื่องจากไวน์พวกนี้ราคาสูงและเป็น ไฟน์ ไวน์ (Fine Wine) หรือคลาสสิก ไวน์ ที่ต้องการ การพัฒนาตัว ดังนั้นตู้ชนิดนี้มักจะใช้คำว่า Wine Cellar ประมาณว่ามีตู้ประเภทนี้เหมือนมีห้องเซลลาร์เก็บไวน์อยู่ในบ้าน
ตู้แช่ไวน์ ราคาแพงพวกนี้ บางยี่ห้อ บางรุ่น สามารถปรับอุณหภูมิได้ ทั้งไวน์ขาว ไวน์แดง และสปาร์คกลิ้งไวน์ในตู้เดียวกัน ซึ่งไวน์ทั้ง 3 ประเภทดังกล่าวต้องการอุณหภูมิที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่ต้องซื้อตู้ถึง 3 ใบเหมือนสมัยก่อน
ส่วนตู้แช่ไวน์ทั่วไปที่เราเห็นตามร้านอาหาร หรือในห้องของผู้บริหารบางแห่ง ลักษณะคล้ายตู้เย็น ด้านหน้าติดกระจกใสมองเห็นขวดไวน์นั้น ส่วนใหญ่พัฒนามาจากตู้เย็นธรรมดา ผู้ผลิตก็เป็นผู้ผลิตตู้เย็นอยู่แล้ว ปัจจุบันมีหลายเกรด และหลายขนาด หลายราคา ตั้งแต่ประมาณ 7,000 กว่าบาทไปจนถึง 40,000-50,000 บาท
แยกปรับอุณหภูมิได้ 2 โซนในตู้เดียว
ส่วนหนึ่งของ ตู้แช่ไวน์ ประเภทนี้ บริษัทนำเข้าไวน์มักจะสั่งทำจำนวนมาก สำหรับแจกให้กับร้านอาหารที่สั่งไวน์จากบริษัทนั้น ๆ เป็นมูลค่าตามที่บริษัทกำหนด นอกจากนั้นยังเป็นตู้ที่นิยมซื้อเป็นของขวัญของกำนัลให้กับผู้หรับผู้ใหญ่ ผู้บริหารทั่ว ๆ ไป ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่กลุ่มคนประเภทมืออาชีพ นักดื่มมืออาชีพ นักสะสมไวน์ นักค้าไวน์ (Wine Trader) ฯลฯ ดังที่กล่าวในตอนแรก
ที่สำคัญไวน์ที่จะใส่ในตู้แช่ไวน์ประเภทหลังนี้ เป็นไวน์ที่ไม่จำเป็นต้อง พัฒนาตัว เหมือนประเภทแรก เป็นไวน์ที่พร้อมจะนำออกจากตู้มาดื่มได้ตลอดเวลา ใช้ดื่มเป็นประจำวัน (Every Day Wine)
ไม้ธรรมชาติ
นอกจากนั้นตู้ไวน์ประเภทนี้ บางส่วนใช้อุปกรณ์ทำความเย็น หรือคอมเพรสเซอร์ เช่นเดียวกับตู้เย็นธรรมดาที่ใช้ในครัวเรือนทั่วไป ซึ่งมีความสั่นสะเทือน เป็นอันตรายอีกอย่างหนึ่งของไวน์ โดยเฉพาะไฟน์ ไวน์ หรือไวน์เก่า ๆ รวมทั้งความเย็นในตู้ทำให้ฉลากไวน์ที่เป็นกระดาษยุ่ยเสียหาย
ถามว่า ตู้เย็นธรรมดาที่ใช้แช่อาหารนั้นสามารถแช่ไวน์ได้หรือไม่ ? ก็ได้ แต่ควรเป็นไวน์ที่ใช้ดื่มเป็นประจำวัน เป็นไวน์ใหม่ ไม่ใช่ไวน์ราคาแพง ไวน์สะสม ไวน์เก่า ๆ เป็นต้น
ปุ่มดิจิทัลที่ฝาตู้ สามารถกดจากด้านอก
ก่อนจะตัดสินใจซื้อ ตู้แช่ไวน์ ขอแนะนำ 5 กฎเหล็กแห่งการเก็บรักษาไวน์ เพราะไวน์เป็นสิ่ง “สิ่งมีชีวิต” ที่สามารถพัฒนาตัวเองได้ ต่างจากสุรากลั่น (Spirit) ที่ไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้อีก บรรจุขวดแล้วต้องดื่มเลย แต่การที่ ไวน์จะพัฒนาตัวเอง ต้องเก็บรักษาอย่างถูกต้องและดีที่สุด ดังนี้
แสงภายในไม่มีผลต่อไวน์
1 อุณหภูมิ (Temperature): อุณหภูมิที่ “ถูกต้องและสม่ำเสมอ” (Correct & Constant Temperature) เป็นสิ่งสำคัญมากในการเก็บรักษาไวน์ โดยทั่วไปไวน์ทุกชนิดสามารถเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิระหว่าง 10-12 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับอุณหภูมิที่ดีต่อไวน์ทุกชนิด แต่ถ้าต้องการความแตกต่าง และต้องการเก็บรักษาไวน์ในระดับอุณหภูมิที่ถูกต้องขณะเสิร์ฟ ถ้าเป็นไวน์ขาวอุณหภูมิในการเก็บรักษาที่ดีที่สุดคือ 6-12 องศาเซนเซียส ส่วนไวน์แดงระหว่าง 14-16 องศาเซลเซียส โดยระดับอุณหภูมิต้องถูกต้องและสม่ำเสมอตลอดระยะเวลาของการเก็บรักษาไวน์
ระบบควบคุมความเย็น
2 ความชื้นสัมพันธ์ (Humidity) : ความชื้นสัมพัทธ์ จะส่งผลโดยตรงต่อจุกคอร์กที่ปิดขวดไวน์ เพราะถ้าความชื้นสัมพัทธ์ ไม่เหมาะสมอาจทำให้จุกคอร์กแห้งกรอบ ทำให้ อากาศผ่านเข้าไปภายใน และทำลายรสชาติของไวน์ได้ การมีระดับความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมภายในตู้แช่ไวน์จะช่วยป้องกันจุกคอร์กแห้งกรอบ โดยระดับความชื้นที่เหมาะสมจะต้องมีประมาณ 50 -70% ไม่ควรต่ำกว่านี้
3 ความอ่อนไหวต่อแสง (Light Sensitivity) : แสงเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อคุณภาพของไวน์ ตู้แช่ไวน์ที่ดีจะต้องปกป้องไวน์จากแสงได้ โดยใช้กระจกที่ป้องกันรังสี UV ได้อย่างดี ขณะที่แสงสว่างภายในตู้แช่ไวน์ ต้องใช้หลอดที่ไม่มีผลต่อไวน์ เช่น แบบ LED และสุดท้ายที่กระจกต้องเคลือบอย่างดีป้องกันแสงด้านนอกโดยเฉพาะรังสียูวี
ป้องกันรังสียูวี
4 กลิ่น (Odor) : กลิ่นแปลกปลอมอาจแทรกผ่านจุกคอร์กลงไปทำลายคุณภาพของไวน์ได้ ดังนั้นชั้นวางไวน์จึงควรทำด้วยไม้แบบธรรมชาติหรือไม้ดิบ โดยไม่เคลือบสีหรือสารย้อมใดๆ
5 การสั่นกระเทือน (Vibration) : การกระทบกระเทือนเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไวน์เสื่อมคุณภาพ ตู้แช่ไวน์ ที่ดีต้องไร้แรงกระเทือนหรือมีก็ต่ำมาก ตู้แช่ไวน์แบบมืออาชีพ จึงมีความแตกต่างจากตู้แช่ไวน์มือสมัครเล่น และตู้เย็นธรรมดา
วิธีจัดเรียงไวน์
หลังจากได้ตู้แช่ไวน์มาแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ควรคำนึง ซึ่งหลายคนคิดไม่ถึงคือ “การจัดเรียงไวน์ในตู้” ควรจัดเรียงด้วยการหัวปากขวดเข้าไปด้านใน หันก้นขวดออกมาด้านนอก เพราะเมื่อเวลาเปิดตู้และดึงชั้นไวน์ออกมาจะได้เห็นฉลากไวน์โดยไม่ต้องไปขยับเขยื้อนขวดอันจะส่งผลถึงคุณภาพของไวน์ เพราะถ้าจัดเรียงโดยหันปากขวดออกด้านนอก เวลาต้องการดูฉลากไวน์จะกลับหัว เพื่อหยิบขวดไวน์ขึ้นมาดู นั่นเท่ากับว่า ทำให้ไวน์สะเทือน ซึ่งเป็นอันตรายและส่งผลถึงคุณภาพของไวน์
รุ่น Connoisseur สำหรับ Aging ไวน์
ทั้งหมดนั้นเป็นคำแนะนำส่วนหนึ่งของ ตู้แช่ไวน์ อยากมีไว้ใช้เพื่อฉลองปีใหม่กับมิตรสหาย หาเลือกซื้อได้ สนนราคาขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ
ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้ว่า ไวน์ที่ตัวเองมีในครอบครองนั้นเป็นไวน์ประเภทใด จากนั้นค่อยเลือกตู้แช่ไวน์