Good Noodle โชว์รูมบะหมี่กึ่งสำเร็จฯ ความหลากหลายบนซองที่สะท้อนการบริโภค

Good Noodle โชว์รูมบะหมี่กึ่งสำเร็จฯ  ความหลากหลายบนซองที่สะท้อนการบริโภค

ไม่ต้องสิ้นเดือนก็รับประทานได้ Good Noodle อาณาจักรบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่สะท้อนความต้องการและความหลากหลายของผู้บริโภคไทย

คุณรู้จักบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเหล่านี้ไหม? Mie Sedaap ที่ได้รับความนิยมในภาคใต้ บะหมี่ Wah-Lah ซึ่งแบรนด์ Nissin ส่งไปทำตลาดในเมียนมา หรือ Zha Wang (จา วัง) รามยอนรสซอสถั่วดำ ที่ยอดขายดีตอนซีรีส์เกาหลีกำลังอิน และอีกหลายต่อหลายแบรนด์ที่จำหน่ายในประเทศไทยมานานแต่เราไม่คุ้นหูมาก่อน

Good Noodle โชว์รูมบะหมี่กึ่งสำเร็จฯ  ความหลากหลายบนซองที่สะท้อนการบริโภค

ต่อให้ยังไม่ถึงช่วงสิ้นเดือน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็เป็นอาหารยอดนิยมลำดับแรกๆ ที่ผู้คนนึกถึง 

กลิ่นของเส้นที่ถูกลวกด้วยน้ำร้อนจัด เครื่องปรุงและเครื่องเคียงหลากหลายรูปแบบตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนหลายระดับ และจริงอยู่ที่ว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสัญลักษณ์ของช่วงปลายเดือนที่เงินในกระเป๋าต้องถูกบริหารอย่างรัดกุม แต่เชื่อเถอะว่านั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่ง เพราะโลกของบะหมี่สำเร็จรูปยิ่งใหญ่กว่าถูก-แพง และนับเฉพาะตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เข้ามาทำตลาดไทยก็มีตั้งแต่ราคา 2 บาท (สำหรับเด็ก) ไปจนถึงหลัก 200-300 บาท มีให้เลือกหลายรสชาติ ตั้งแต่ต้มยำ หม่าล่า ต้มโคล้ง หม้อไฟ บักกุ๊ดเต๋ หมี่ผัด ฯลฯ

ความหลากหลายในอาณาจักรบะหมี่กึ่งฯ

หากใครยังนึกไม่ออกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่จำหน่ายในประเทศไทย มีมากมายขนาดไหน ขอเชิญที่ร้าน “Good Noodle” ซึ่งตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้ายูเนี่ยนมอลล์

Good Noodle โชว์รูมบะหมี่กึ่งสำเร็จฯ  ความหลากหลายบนซองที่สะท้อนการบริโภค

ตั้งแต่ตุลาคม 2564 ที่เปิดตัวไป พื้นที่แห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นอาณาจักรบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นั่นเพราะพวกเขานำเสนอบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากหลากสัญชาติ หลายประเภทที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งแบรนด์ที่ขายดีในจังหวัดภาคใต้ แบรนด์ที่แรงงานข้ามชาตินิยมรับประทาน ทั้งยังรวมไปถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทางเลือก ไม่ว่าจะสายสุขภาพ สายฮาลาล สายเผ็ด สายหวาน สายขนม และมากกว่านั้นยังมีเครื่องเคียงกว่า 20-30 รายการที่รับประทานกับบะหมี่กึ่งฯ เช่น ไข่ ลูกชิ้น ปูอัด ชีส ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดได้สร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้รับประทาน ทำลายกรอบของบะหมี่สำเร็จรูปที่ต้องรับประทานในห้องแคบๆ ใกล้ๆสิ้นเดือน รอคอยรายได้ก้อนใหม่ที่กำลังมาถึง

Good Noodle โชว์รูมบะหมี่กึ่งสำเร็จฯ  ความหลากหลายบนซองที่สะท้อนการบริโภค

อังกูร วงศ์กลธูต ผู้บริหาร Good Noodle

อังกูร วงศ์กลธูต ผู้บริหาร Good Noodle บอกว่า จุดเริ่มต้นของการทำร้านมาจาก วันหนึ่งที่เขารับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกับเพื่อน แล้วก็สังเกตว่า รูปแบบของบะหมี่กึ่งฯ มีความหลากหลายแตกต่างกัน  ทำให้เกิดความอยากรู้ว่า บะหมี่กึ่งฯ ที่ขายอยู่ในท้องตลาดบ้านเรามียี่ห้ออะไรบ้าง เลยลองไปเดินดูตามห้าง ร้านสะดวกซื้อทุกที่ ติดต่อซัพพลายเออร์ ก่อนจะพบว่า ในประเทศไทยมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกว่า 300 ชนิด

“ผมทำสำรวจเลยครับ ว่ามีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอะไรที่บ้างที่ขายในประเทศไทย และพบว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีเยอะมาก แต่เราอาจจะคุ้นเคยไม่กี่ชนิด ผมมองว่าบะหมี่กึ่งฯคือความหลากหลายนะ แต่ละแบรนด์มีเรื่องราว มี Content ของตัวเอง และเดือนหนึ่งเราสามารถกินให้ไม่ซ้ำกันยังได้ จึงอยากจะทำศูนย์รวมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทย”

Good Noodle โชว์รูมบะหมี่กึ่งสำเร็จฯ  ความหลากหลายบนซองที่สะท้อนการบริโภค

ศูนย์รวมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทำให้ใครต่อใคร นึกถึง The Instant Ramen Museum ของแบรนด์ Nissin ที่อยู่ในโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น แต่ อังกูร ปฏิเสธว่า Good Noodle ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในร้าน Good Noodle จะมาจากผู้ผลิตใดก็ได้ และเขาอยากให้ Good Noodle มอบประสบการณ์การลองกิน ลองชิมจริงๆ มากกว่าจะดูด้วยตาหรือแค่เพียงได้ความรู้ เพราะอย่าลืมว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นอาหารที่สะท้อนรสนิยม และบอกเล่าวิถีการกินแบบของใครของมัน

“ยกตัวอย่างประเทศไทยเราก็จะคุ้นชินกับบะหมี่กึ่งฯ รสจัด เพราะวิถีการกินเราเป็นแบบนั้น อย่างไต้หวันก็จะโดดเด่นที่ซุป ทั้งแบบหม่าล่า ซุปบักกุ๊ดเต๋ ของอินโดนีเซีย มาเลเซียก็จะนิยมหมี่โกเรง (Mi goreng) ที่เป็นแนวบะหมี่ผัด แต่ถ้าเป็นเกาหลีก็จะชอบทำเผ็ดหน่อย ขึ้นชื่อเลยเรื่องความเผ็ด ส่วนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของจีนนั้นมีรูปแบบเส้นที่หลากหลาย ไม่ได้เป็นเส้นบะหมี่สีเหลืองอย่างเดียว แต่มีทั้งเส้นแบน เส้นใส วุ้นเส้น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากประเทศอินเดียที่นี่ก็มีนะ” อังกูร กล่าว

 

โชว์รูมบะหมี่ ชัยชนะของความเรียบง่าย

ถ้าใครลองเสิร์ชชื่อ “อังกูร วงศ์กลธูต” ก็จะพบว่า เขาเป็นนักเขียน และที่ปรึกษาด้านแบรนด์มาก่อน และเมื่อเจอกับโควิด-19 เขาพยายามที่จะหาอะไรทำเพื่อชดเชยกับงานที่ปรึกษา งานบรรยาย ที่ต้องชะลอตัวลงชั่วคราว

“จะเปิดร้านอาหาร ทำเดลิเวอรี่ ก็เหนื่อยแน่ เพราะต้องเจอกับคู่แข่งมาก จะทำสินค้าของตัวเองเราก็ต้องสร้างแบรนด์ใหม่ ต้องทำผลิตภัณฑ์ที่ดี ซึ่งมันก็ถูกต้องนะ แต่มันไม่เหมาะกับผมในเวลานั้น จึงมองสวนว่า อะไรที่คนบริโภคได้อยู่ตลอด และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเรื่องในตัวมันเองอยู่แล้วโดยไม่ต้องสร้างเนื้อหาใหม่”

“Good Noodle จึงเปรียบเสมือน Portal หรือเว็บท่าของบะหมี่กึ่งฯ ที่แต่ละคนมีคอนเทนท์ของตัวเอง แบรนด์ต่างๆ มีคอนเทนต์และสร้างแบรนด์ได้ดีด้วย มีรสชาติของตัวเอง มี Good noodle จึงเป็นโชว์รูมเพื่อนำเสนอความหลากหลายเหล่านั้น”

Good Noodle โชว์รูมบะหมี่กึ่งสำเร็จฯ  ความหลากหลายบนซองที่สะท้อนการบริโภค

Good Noodle โชว์รูมบะหมี่กึ่งสำเร็จฯ  ความหลากหลายบนซองที่สะท้อนการบริโภค

ในช่วงโควิด-19 ที่หลายธุรกิจชะลอการเช่าพื้นที่หน้าร้าน แต่อังกูร เลือก ห้างยูเนี่ยนมอลล์ที่ระหว่างนั้นกำลังหาจุดขายใหม่ เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าหลังมาตรการให้ศูนย์การค้าเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 1 ตุลาคม 2564

“การมียูเนี่ยนมอลล์เป็นพาร์ทเนอร์ ผมถือว่าเป็นกลยุทธ์เลยนะ เพราะแม้จะไม่ได้เป็นห้างสรรพสินค้าที่อยู่ใจกลางเมืองอย่างสยาม แต่ที่แห่งนี้มักจะมีการมีทติ้ง หรือจัดมินิคอนเสิร์ตของกลุ่ม K-Pop มีกลุ่มนักเรียน นักศึกษา กลุ่ม First-Jobber ซึ่งคือกลุ่มลูกค้าของ Good Noodle และผู้ที่มาเดินที่นี้คือกลุ่มคนที่มาซื้อจริง ไม่ใช่คนมาเดินเล่น”

Good Noodle โชว์รูมบะหมี่กึ่งสำเร็จฯ  ความหลากหลายบนซองที่สะท้อนการบริโภค

“ร้านเปิด ตุลาคม 64 กระแสตอบรับดีมาก ไม่ได้คิดว่าจะได้รับการตอบรับขนาดนี้ ยูทูบเบอร์มารีวิว คอนเซ็ปต์ของ Good Noodle คือความเรียบง่ายที่มาแต่ละครั้งก็จะได้ลองชิมรสชาติใหม่ๆมีให้เลือกทั้งรูปแบบซื้อกลับบ้านและต้มกินในร้านได้ ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้เราถือว่าประสบความสำเร็จแล้วระดับหนึ่ง”

Good Noodle โชว์รูมบะหมี่กึ่งสำเร็จฯ  ความหลากหลายบนซองที่สะท้อนการบริโภค

ถึงตรงนี้ อังกูรบอกว่า ยังไม่คิดขยายสาขา แต่กำลังมองหาซัพพลายเออร์เพื่อสินค้าที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่รับประทาน แต่ยังหมายถึงเครื่องเคียง ที่คนชอบรับประทานคู่กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปฯ ใช้เทคโนโลยีที่ร้านบะหมี่ในต่างประเทศมาใช้ที่ร้าน เพื่อสร้างประสบการณ์การกินบะหมี่กึ่งฯ ใหม่ๆในประเทศไทย”

เชื่อไหมว่า หลังจากที่ Good Noodle เปิดตัวไป ได้มีห้างสรรพสินค้านำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหลากหลายเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น มีการแข่งขันด้านราคา ซึ่งนั่นก็เป็นข้อดีของผู้บริโภคที่จะได้ลองชิม ลองรับประทานรสชาติใหม่ๆ ศึกษารสนิยมการกินของแต่ละที่มาให้หลากหลายมากกว่าเดิม