ครูดิว-ชัยธวัธ "ติวเตอร์" Nobody "ภาษาอังกฤษ"สายฮาที่มีผู้ติดตาม 1.4 ล้านคน
เบื้องหลังเสียงหัวเราะมีอะไรซ่อนอยู่ คุยกับ "ครูดิว" ชัยธวัธ มโนชัยเจริญกุล ติวเตอร์ภาษาอังกฤษออนไลน์สายฮาสุดครีเอท จากติวเตอร์ Nobody ที่ไม่มีคนรู้จัก สู่การเป็นคนสอนภาษายอดฮิตที่มีผู้ติดตามหลักล้านในโซเชียลมีเดีย
“ชีวิตประจำวัน ครูก็ไม่ได้เล่นใหญ่ขนาดนี้นะ ยกเว้นไปเจอนักเรียนแล้วถูกขอ เคยไปทานข้าวอยู่ครั้งหนึ่งแล้วนักเรียนขอให้ทักทายแบบในคลิป ก็จัดไปสิคะ ใช้เสียงสูงเลย นักเรียน สวัสดีค่าาาา”
ไม่มีใครแต่งกลอนสอนภาษาได้ทุกวันหรอก และก็แน่นอนอีกว่าไม่มีใครใช้เสียงสูงปรี๊ด แอ็คชั่นเวอร์ๆ ในทุกๆครั้งที่ต้องสื่อสาร แต่ทั้งหมดที่พูดมาคือคาแรกเตอร์ของ “ครูดิว” ชัยธวัธ มโนชัยเจริญกุล ติวเตอร์ภาษาอังกฤษออนไลน์ @krudewtoeic ที่คนเล่นโซเชียลมีเดียน่าจะผ่านตาสักครั้ง เพราะแต่ละคลิปที่ครูดิวสื่อสารล้วนถูกคิดมาให้ผู้เรียนจดจำง่ายๆ
คลิปสั้นสอนภาษาของครูดิวใน @keudewtoeic ถูกจัดหมวดเป็นความรู้ย่อยง่ายที่บริโภคได้ทุกวัน ยืนยันได้จากผู้ติดตามกว่า 1.4 ล้านคนใน TikTok ส่วน Instagram อยู่ที่ประมาณ 2.3 แสน ไม่นับแพลตฟอร์มและคอนเทนต์อื่นๆที่ได้รับการตอบรับอีกนับร้อยนับพัน และคู่มือการเรียนที่ขายดีในช่องทางออนไลน์
ส่วนผสมของเรื่องนี้คืออะไรและวิธีคิดแบบไหนที่ทำให้ครูดิว เป็นติวเตอร์สอนภาษาออนไลน์ที่ป๊อบที่สุดคนหนึ่ง มีผู้ติดตามตั้งแต่นักเรียน ดารา กระทั่งผู้ปกครองที่ขอจำเนื้อหาและลีลาการอธิบายไปบอกต่อ
กระดาษกรอบๆ สู่โลกแห่งภาษา
คนไทยแท้ๆ ที่ไม่ได้มีต้นทุนมากนัก ไม่ได้เรียนจบต่างประเทศ แต่ทำไมถึงเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่ได้รับความนิยม?
“ที่บ้านมีฐานะไม่ค่อยดีนัก อยู่ในบ้านเล็กๆ มีห้องแคบๆ ที่นอนกันหลายคน แต่ที่โชคดีหน่อยคือการเกิดมาในช่วงที่ครอบครัวมีเงินส่งให้เรียน และเป็นคนเดียวที่เรียนจบ ทุกวันนี้ยังขอบคุณพี่ๆ ว่าเรียนจบเพราะพี่ๆทุกคนทำงานหาเงินจนทำให้เรามีโอกาส” ครูดิวเริ่มเล่าชีวิตในช่วงวัยเด็ก
“เราไม่ต่างจากคนทั่วไปนะ รู้ตัวเองว่าเราไม่ใช่ผู้ชาย แต่ก็ไม่ได้ทำตัวแตกต่าง ไมได้ออกสาวแต่เด็ก แอ๊บแมนเล่นกับเพื่อนๆ ทำกิจกรรมที่เด็กผู้ชายทำกัน มีชีวิตปกติธรรมดา แต่สิ่งหนึ่งที่รู้สึกว่าตัวเองชอบคือภาษาอังกฤษ คือชอบดูหนังสือ ส่วนหนึ่งมาจากคุณพ่อซึ่งเป็นคนติดตามบาทหลวง แล้วเขาจะมีหนังสือภาษาอังกฤษกลับบ้านในทุกๆวัน เป็นหนังสือเด็ก หน้าปกเป็นไม้ กระดาษข้างในเหลืองๆ กรอบๆ ข้างในก็จะมีการสอนอ่านเลขเป็นภาษาอังกฤษ One Two Three …เราก็พูดตามที่พ่อบอก คือคุณพ่อก็ไม่ได้เก่งนะ แต่เขาพยายามจะสอน เราก็จำการอ่านเลข เราก็เรียนโดยที่ไม่รู้ว่าภาษาจะให้โอกาสในชีวิตของเราอย่างไรบ้าง”
“พอได้รู้จัก เราก็รู้สึกเลยว่า เฮ้ย! ภาษานี้มันเลิศเนอะ ถ้าได้เรียนภาษานี้ชั้นต้องเลิศแน่ๆ ทำให้คิดอยากจะเรียนภาษาอังกฤษ อยากจะไปต่างประเทศ อยากจะรู้ว่าคนต่างชาติเขาทำอย่างไรกัน มันก็ปลูกฝังเรามาให้ชอบหาความรู้ภาษาอังกฤษ หาความรู้อะไรที่มันเป็นสากล จำได้ว่าเคยนั่งมอเตอร์ไซค์จากบ้านเข้าไปในตัวเมืองเพื่อซื้อหนังสือภาษาอังกฤษ เล่มแรกคือเล่มที่ชื่อว่า อีเมล์คืออะไร เพราะเราอยากจะรู้ว่าไอ้การส่งอีเมล์มันคืออะไร” ครูดิวเล่าความทรงจำเมื่อหลายสิบปีก่อน
“พอเขามหาวิทยาลัยก็เรียนมนุษย์ศาสตร์ ภาษาเยอรมัน ที่เลือกเรียนภาษาเยอรมัน เพราะเราคิดว่าภาษาอังกฤษเรารู้อยู่แล้ว เราเป็นอยู่แล้ว เราเรียนเองได้ เราก็คิดว่าจะดีกว่าถ้าเราเรียนภาษาที่ 3 ด้วย มันน่าจะทำให้เรามีทางเลือกมากยิ่งขึ้น”
ครูดิว บอกว่า ในช่วงนั้นเป้าหมายของตัวเองคือการเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หรือไม่ก็ทำงานโรงแรม โดยที่ไม่มีอาชีพติวเตอร์อยู่ในความคิดเลยแม้แต่น้อย เพราะคิดว่ามันไม่น่าจะยั่งยืนสักเท่าไร
“แต่พอปี 4 เราอยากจะหาเงิน ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยคือการเอาความรู้ไปสอนเด็กมัธยมฯ เราจึงเริ่มสอนให้กับเด็กมัธยมฯ ซึ่งพอได้สอนนี่แหละ เรารู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ที่ไม่ต้องแอ๊บแมน ใช้วิธีการพูดแบบกระเทยอย่างที่เป็นได้ เล่าเรื่องสนุกๆ น้ำเสียงสูงๆต่ำๆ ซึ่งนักเรียนก็ชอบนะ พอเขาชอบก็ไปชวนเพื่อนมาเรียน บอกกันปากต่อปากว่าพี่คนนี้สอนดี เราเองก็ชอบเพราะเรารู้สึกเป็นที่สนใจ ทุกคนมองเรา รู้สึกว่าตัวเองเด่น ทั้งที่คนเรียนแค่ 2-3 คนเองนะ (หัวเราะ) แต่มันเป็นโมเมนต์ที่ดี ชอบที่มีคนฟังเรา แต่ก็ยังคิดเหมือนเดิมว่าไม่ได้อยากสอนไปตลอด อยากทำตามความฝันเดิมมากกว่าคือไปเป็นสจ๊วต”
พอจบ ป.ตรี ถึงเวลาจะสมัครเป็นพนักงานต้อนรับบนสายการบินจริงๆ ชีวิตก็ไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง ถึงจะแตกฉานภาษาระดับหนึ่ง แต่ด้วยส่วนสูงและบุคลิกไม่ผ่านเกณฑ์ ทำให้ครูดิวต้องไปหางานอื่นๆเพื่อให้มีรายได้แบบที่บัณฑิตจบใหม่ในตลาดแรงงานต้องดิ้นรน
งานแรกเขาได้เป็น Sale Executive ของสถาบันสอนภาษา ซึ่งใช้คนที่เก่งภาษาอังกฤษ แต่ครูดิวทำงานนี้ได้ไม่นานก็ลาออกมาทำงานที่ 2 คือการเป็น Distributor Executive ที่ไปประสานงาน คุมศูนย์จำหน่ายสินค้าของบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งเขาก็ทำได้ประมาณ 1 ปี
“งานที่สอง ดีกว่างานแรก ได้เงินมากกว่า มีรถฟรีให้ใช้ ได้สวัสดิการ เบี้ยเลี้ยงดีกว่า แต่ก็คิดว่ามันยังไม่ใช่ เวลาเราไปคุยกับลูกค้า คุยกับหัวหน้า รู้สึกว่าเราต้องแอ๊บอยู่ตลอด กลัวคนจะรู้ว่าเป็นกระเทย และระหว่างที่ทำก็มีรายละเอียดที่ต้องจำเยอะมาก เราคิดว่ายังไม่ใช่ก็เลยลาออกมา”
ค้นฟ้าคว้าดาว วงการติวเตอร์
จะเรียกว่าเป็นการแสวงหา ค้นหาตัวเอง รอจังหวะที่ใช่ หรืออะไรก็แล้วแต่ เมื่อตกงานอีกครั้ง ครูดิว คิดถึงงานติวเตอร์ และเริ่มกลับเข้าสู่วงการด้วยการทำใบปลิวเป็นนามบัตรแล้วแจกหน้าโรงเรียนด้วยตัวเอง
“เรายิ้ม ทักทายทุกคน และวาดฝันว่าพอแจกใบปลิวไปต้องมีคนโทรมาแน่ๆ แต่เอาเข้าจริง มันไม่เป็นแบบนั้นแจกไปตั้งเยอะ เสียค่ากระดาษ ค่าพิมพ์ ลงแรงตัดเหมือนนามบัตรดีๆอันหนึ่ง แต่ไม่มีใครโทรมาเลย พอสัก 20 นาที เดินไปดู ใบปลิวของเราโดนทิ้งเกลื่อนไปหมด เต็มถังขยะ กลับห้องมานึกดูมันก็เป็นความจริงที่เราต้องยอมรับ เรามันเป็น Nobody จริงๆ ไม่มีคนรู้จักเราหรอก ไม่มีใครรู้ว่าเราทำได้ และเมื่อไม่มีใครโทรหาเรา เราก็ต้องหาวิธีอื่นก่อน เมื่อวิธีนี้ไม่เวิร์ค เคยมีคนบอกว่า Everybody has to start somewhere. เราเองก็คงต้องไปหาที่เริ่มก่อนเช่นกัน หาจุดเริ่มให้ได้ ก็ไปสมัครเป็นติวเตอร์พาร์ทไทม์ตามสถาบันกวดวิชา”
ถึงตรงนี้เปรียบง่ายๆให้เห็นภาพว่า สถาบันกวดวิชาเปรียบเสมือนร้านอาหารและติวเตอร์เป็นนักดนตรี ซึ่งทำหน้าที่คัดเลือกและถูกเลือกเพื่อทำการแสดงให้ผู้ใช้บริการประทับใจ เมื่อติวเตอร์แต่ละท่านออดิชั่นให้ผู้คัดเลือกเห็นศักยภาพแล้ว จากนั้นก็ลงชื่อทิ้งไว้ ซึ่งถ้ามีนักเรียนลงชื่อตามจำนวนแล้วถึงจะได้เริ่มสอน
“พอมีคนอยากเรียนภาษาอังกฤษเขาก็โทรเรียกเรา จำได้ว่าสอนครั้งแรกๆ เป็นโรงเรียนเล็กๆ ในหัวมุมแถวๆเอกมัย เราก็ตื่นเต้นมาก กลัวไปหมด กลัวทำได้ไม่ดี เพราะนี่คือครั้งแรกที่เราสอนเป็นจริงเป็นจัง ทำเป็นอาชีพ แต่เราก็จำได้ว่าเราก็ใส่เต็มที่ที่เรามี เอาความเป็นกระเทยใส่เข้าไป ใส่ความดี๊ด๊า แกรมม่า ศัพท์ อะไรที่เราคิดว่าดี สูตรไหนที่เข้าใจง่ายเราเอามาใช้หมด พอสอนจบ ปรากฎว่านักเรียนกลับมาเรียนซ้ำ เริ่มชวนเพื่อนมาเรียน มีคนชมว่าสอนดี พอไปสอนอีกที่เด็กก็ตามไปอีก เราสอนหลายที่ขึ้น แต่ละที่ห้องเรียนก็ใหญ่ขึ้น เด็กเอาไปแชร์กันว่าครูคนนี้สอนดีนะ แนะนำต่อๆกัน”
“ถึงตอนนี้เราสาวเต็มที่เลยนะ มีความดี้ด้า มีสีสัน เป็นตัวเราจริงๆ แล้วมันได้ผล เพราะการที่เรามีพลัง พยายามทำให้มันสนุกสนาน เด็กๆเลยชอบ อยากให้ครูคนนี้มาสอนอีก พอเราไปสอนที่แรกเสร็จ เราก็ไปสอนที่ที่สอง เด็กก็ชอบอีก ทีนี้เราก็รู้สึกว่า เรามาถูกทางแล้ว ก็สอนมาเรื่อยๆ จนคลาสเรียนมันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เด็กนักเรียนรีเควสมาเรื่อยๆว่า “อยากเรียนกับครูดิว” พอดังจากโรงเรียนนี้ โรงเรียนอื่นก็จ้างต่อ จำได้ว่าวันหนึ่งสอน 3-4 แห่ง บางวันเราสอน 12 ชั่วโมง ออกจากบ้านแต่เช้าถึงบ้าน 4 ทุ่ม เหนื่อยกายบ้าง แต่รู้สึกมีความสุข มันเป็นความรักในอาชีพ”
พอสอนภาษาอังกฤษทั่วไป จากนั้นเราก็มาสอนเน้นเฉพาะโทอิก (TOEIC) ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษา กลุ่มคนเริ่มทำงาน ก็มีคนติดต่อมาเรื่อยๆ ไปสอนตามมหาวิทยาลัยบ้าง เป็นคอร์สสั้นๆ ตามบริษัท เราก็รู้สึกดี รายได้ดีขึ้น ชีวิตดีขึ้น แต่เราก็คิดว่าเราสามารถทำได้ดีกว่านี้อีกนะ”
หยอดกระปุกทุนชีวิตเพื่อรอนำมาใช้
ในวงการติวเตอร์ ครูที่เด็กชอบคือจุดขายของโรงเรียน เด็กยิ่งเยอะ ยิ่งมีศิษย์เก่าประสบความสำเร็จในการสอบ เจ้าของโรงเรียนและครูยิ่งแฮปปี้ ได้รับความนิยมและความต้องการในตลาดกวดวิชา
นิยามของ “ครู” ใครจะพูดก็แตกต่างไปตามวัตถุประสงค์เป้าหมาย และครูดิวก็คือติวเตอร์ ที่อยากให้นักเรียนประสบความสำเร็จ รักในวิชาที่เรียน และใช้ความรู้ต่อยอดในการเรียน หรือทำรายได้กับสิ่งนี้ได้
“พยายามบอกทุกครั้งว่า อย่ามองแค่ผลลัพธ์ เพื่อนคนนี้ได้คะแนนดี ทำไมครูจำศัพท์ได้เยอะจัง อย่ามองแค่นั้น เพราะกว่าที่ครูจะมาสอนตอนเช้า เมื่อคืนครูเตรียมการสอนมา เตรียมศัพท์ที่นักเรียนต้องรู้ จัดลำดับการเล่าเรื่อง ดังนั้นความสำเร็จจะเล็กหรือใหญ่ในแต่ละวันและช่วงชีวิตล้วนมีเบื้องหลังความพยายาม”
ครูดิวเชื่อว่า ต้นทุนความสำเร็จก็เหมือนการหยอดกระปุก ระหว่างที่จะเอาดีเรื่องการเป็นติวเตอร์โทอิค เขาสะสมต้นทุนของความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไว้ ทั้งการรวมข้อสอบ การหาวิธีอธิบายแกรมม่าที่เข้าใจยากๆ การทำหลักสูตรในแบบของตัวเอง ทั้งนี้ยังรวมถึงการแต่งกลอน การแต่งเพลงที่ผู้เรียนสามารถเอาไปใช้ได้
“วันหนึ่งนั่งดูติวเตอร์ท่านหนึ่งสอนโทอิค นั่งดูก็เกิดการเปรียบเทียบว่า เราคิดว่าเราทำได้ดีกว่า วิเคราะห์เลยว่าเรื่องเดียวกัน หัวข้อเดียวกัน แต่ถ้าเส้นเรื่องต่างกัน คนเรียนก็เข้าใจได้ยากง่ายต่างกัน แล้วความรู้สึกตรงนี้ทำให้เราอยากเอาบ้าง บอกกับตัวเองว่าคอยดูนะชั้นจะสอนให้เข้าใจง่ายกว่านี้ ก็เริ่มทำคลิปของตัวเองบ้าง ถ่ายคนเดียว ใช้เวลา 4 ทุ่ม - ตี 1 ตี 2 หลังจากกลับมาบ้าน ถ่ายให้เห็นแต่กระดานไม่เห็นหน้า พอเอาลงยูทูป เอาลงแพลตฟอร์มสอนออนไลน์ ผลตอบรับดีเกินคาด คนอยากเห็นหน้าว่าครูดิวคือใคร”
“ทุกคนสอนได้ แต่พอดูถึงช่วงหนึ่ง เรารู้สึกว่า ถ้าพูดอย่างนี้คนเรียนอาจจะงง พูดอย่างชั้นเด็กจะเก๊ทกว่า เราวิเคราะห์โครงสร้าง รวรพูดอะไรก่อนหลัง จะเล่าเรื่องอย่างไร คิดกับมันตลอดเวลา เราร่างโครงสร้างเลยว่าแต่ละครั้งจะพูดแบบไหนก่อน จบลงตรงไหน เช่น ครูทั่วไปจะสอนว่า Present perfect คือ have, had + ช่อง 3 มีโครงสร้างแบบนี้ๆ แต่เราจะไม่เริ่มตรงนั้น เราจะเริ่มจากให้นักเรียนลองพูดภาษาไทยมาก่อนว่า ไหนลองพูดสิ่งที่ตัวเองเคยมา เช่น ฉันเคยไปต่างประเทศ เคยทำโน่น ทำนี้ แล้วก็จะบอกว่าไอ้คำว่า "เคย" ในภาษาอังกฤษมันมี Tense นี้ แล้วก็ถูกแทนว่า have, had พอเขาเข้าใจแล้วก็ให้เขาลองแต่งประโยค ก็พบว่าแบบนี้เด็กเข้าใจมากกว่า”
ครูดิวใช้เวลาทำคอร์สโทอิคของตัวเอง ทำหนังสือของตัวเองอยู่นานหลายเดือน จึงนำมาวางขายในช่องทางออนไลน์ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งจากนักเรียนเก่าและเด็กใหม่ ถึงตรงนี้จากติวเตอร์ Nobody เริ่มมีคนรู้จักเป็นกลุ่มเฉพาะ มีคนติดตามเป็นหลักพัน
ก่อนจะเป็น OpenDurian ซึ่งเป็น EdTech Startup แพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีการศึกษา ซึ่งกำลังมองหาติวเตอร์เพื่อที่จะทำหลักสูตรภาษาอังกฤษแทนคนเก่า จึงทำให้ครูดิวมาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์
“มันเป็นโอกาส เขากำลังมองหาคนที่สอนได้ดีและพร้อม และนั่นก็เป็นสิ่งที่เราเตรียมตัวมาแล้ว เป็นสิ่งที่เราหยอดกระปุกมาตลอด เราเคยถามว่าทำไมเขาถึงเลือกเรา ทั้งๆที่ครูสอนภาษามีเยอะแยะ เขาบอกเราว่า ทีมงานเคยเอาอาจารย์หลายๆคนมาเลือกดู ในห้องประชุม เพราะทุกคนมีความสามารถ มีหนังสือของตัวเองหมด แล้วมาเห็นวีดีโอที่เราสอนเด็กและกำลังร้องเพลง กำลังเต้น Twerk กับเด็กหน้าห้องเรียน เขาก็จิ้มเรา เพราะว่าเรามีทั้งวิธีการสอน การนำเสนอ หนังสือ ที่จะทำให้เด็กสนใจได้ แล้วเขาก็ให้ทีมวิชาการเขามาตรวจสอบและเซ็นสัญญา
จากนั้นก็เดาได้ไม่ยาก เพราะเมื่อติวเตอร์ที่มี Passion ในการสอนอย่างครูดิว มารวมกับแพลตฟอร์ม OpenDurian ที่เชี่ยวชาญเรื่องการทำธุรกิจแพลตฟอร์มการศึกษา ยิ่งทำให้ครูดิวโทอิค เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
“เราเลือกที่จะมีพาร์ทเนอร์นะ เราสอน เราทำเนื้อหา มันก็ได้ระดับหนึ่ง แต่พอได้พาร์ทเนอร์ที่มีแนวทางเดียวกับเรามาช่วย มาทำหลังบ้าน มาทำการตลาด มาช่วยเรื่อง Feedback ของผู้เรียน มันก็ทำให้เราเข้าถึงเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งถ้าย้อนเวลากลับไปถ้าเราไม่ทำคอร์สตัวเอง ไม่เตรียมตัว เราอาจจะเป็น Nobody ต่อไป”
สไตล์คลิปสอนภาษาแบบครูดิว
ในช่วงปี 63-64 ต้องถือว่าครูดิวพีคมากๆ มีผลงานและมีนักเรียนซื้อคอร์สให้ความสนใจอย่างก้าวกระโดด ซึ่ง ครูดิวมองว่า ยิ่งมีคนสนใจ ยิ่งต้องทำงานให้ดีมากยิ่งขึ้น และทุกวันนี้วางตัวเองเป็น Enabler ซึ่งหมายถึงการเป็นคนที่ช่วยคนทุกเพศ ทุกวัย ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านการทำคลิปสั้นในออนไลน์ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้แบบฟรีๆ และมีเป้าหมายที่จะทำสื่อการสอนให้เข้าถึงผู้คนมากที่สุด ในราคาที่คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้
อย่างแรกคือต้องสนุกสนาน เวลาออกกล้องเราต้องดึงสมาธิเด็กให้ได้ ต้องเล่นใหญ่และเข้าถึงสิ่งที่จะสื่อสารให้เร็ว ตรงประเด็น เวลาจะทำคลิปหนึ่งเราจะวางแต่ต้นจนจบว่าจะสอนอะไร 1 คลิป 1 หัวข้อพอ ไม่มากกว่านั้น
จากนั้นเราจะสมมติตัวเองเป็นนักเรียน และชี้ให้เห็นถึง Pain point (จุดบกพร่อง) ในการใช้ภาษาที่จะแก้ไข เช่น คำว่า “ขี้เหนียว” ไม่ใช่ Sticky (เหนียว) poo (อุจจาระ) จากนั้นก็ใช้ฟีลลิ่งเพื่อเล่าเรื่องเฉลยให้นักเรียนตลกและจำได้
“ในอดีตที่ต้องแอ๊บแมนมาเป็นส่วนใหญ่ วันนี้การเป็น LGBT กลายเป็นตัวขายนะ และสิ่งที่นำเสนอคือการเป็นกระเทยด้วยซ้ำ เล่นใหญ่ๆ ทำอะไรตลกๆ แต่มันก็คือส่วนหนึ่งของงาน ที่การเป็นตัวเองทำให้อธิบายดีขึ้น มีความสนุกสนาน แต่เวลากลับบ้าน ไปเป็นสมาชิกในครอบครัว เราก็ทำตัวธรรมดา ชีวิตจริงๆ ก็เป็นธรรมดา ไม่ได้ปกปิดแต่ไม่ได้เวอร์ขนาดนี้”
“ทุกวันนี้รู้สึกดีที่มีพ่อแม่มาบอกว่า คลิปของครูดิวทำให้ลูกสนใจภาษาอังกฤษมากขึ้น มีครูในโรงเรียนมาให้กำลังใจ และเราก็อยากเป็นตัวแทนของการนำเสนอแบบที่ไร้กรอบ ใช้เสียงดังๆ ทำอะไรตลกๆ เพราะในเมื่อเราไม่ได้อยู่ในระบบโรงเรียน เราไม่มีข้อจำกัด เราก็อยากให้ความรู้ของเราช่วยเปิดใจให้นักเรียนชอบภาษาอังกฤษ”
สำหรับตัวเอง เราก็เป็นคนหนึ่งที่ค้นหาตัวเอง และใช้ระยะเวลากว่าจะเจอสิ่งที่เราชอบ และมีรายได้ที่พอใจ ซึ่งเราต้องไม่หยุดคิด ไม่หยุดทำ อดทนรอเวลาที่จะเจอกับสิ่งนั้น สั่งสมประสบการณ์ให้มากในวันที่เจอโอกาสที่เหมาะสม
เปลี่ยนคนธรรมดา Nobody ที่ไม่มีใครรู้จัก ให้เป็นใครสักคนที่ถูกพูดในด้านที่ดี