ทำไม ‘หนังต่างประเทศ’ ถึงเกิดยากใน ‘ตลาดจีน’

ทำไม ‘หนังต่างประเทศ’ ถึงเกิดยากใน ‘ตลาดจีน’

ทางการจีนมีมาตรการเข้มงวดในการจัดจำหน่ายภาพยนตร์มากขึ้น ด้วยนโยบายควบคุมเนื้อหาในภาพยนตร์ การเซ็นเซอร์ที่เข้มงวด จำกัดปริมาณภาพยนตร์ที่จำเข้าฉาย รวมทั้งไม่ให้เข้าฉายในช่วงวัดหยุดยาว ทำให้ภาพยนตร์ต่างประเทศ โดยเฉพาะภาพยนตร์ฮอลลีวูดเข้าฉายในจีนได้ยากยิ่งขึ้น

โดยปรกติแล้วภาพยนตร์ต่างประเทศจะสามารถเข้าฉายในจีนได้ด้วยการติดต่อผ่านหน่วยงานกำกับดูแลที่เป็นรัฐวิสาหกิจของทางการจีน นั่นคือ “China Film Group” และ “Huaxia Film Distribution” อีกทั้งยังมีการลดโควตาให้ภาพยนตร์ต่างประเทศเหลือเพียงปีละ 34 เรื่องเท่านั้น ซึ่งจะมีทั้งภาพยนตร์ใหม่ที่เข้าฉายพร้อมกันทั่วโลกและภาพยนตร์เก่า 

สำหรับภาพยนตร์ใหม่จะมีการซื้อขายในรูปแบบการแบ่งรายได้ (Revenue-Share) โดยค่ายหนังจะได้ส่วนแบ่งรายได้จากรายได้จากการเข้าฉายของภาพยนตร์ใหม่ ขณะที่ภาพยนตร์เก่า จะเป็นรูปแบบการขายขาด (Buy-Out)

สัดส่วนภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่เข้าฉายในจีนเมื่อปีที่แล้วมีเพียง 39% ซึ่งลดลงจากปีที่ 2563 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 46% และปี 2562 ที่ 47% และมีเพียง 28% เท่านั้นที่เป็นภาพยนตร์ของปี 2564 ที่ได้เข้าฉายในจีน ที่เหลือจะเป็นภาพยนตร์เก่าที่เคยออกฉายในปีก่อนหน้า และ 1 ใน 10 เรื่องจะเป็นภาพยนตร์เก่าที่ฉากก่อนปี 2553

อีกทั้ง ยังห้ามฉายภาพยนตร์ต่างประเทศในช่วงเทศกาลหยุดยาวต่าง ๆ เช่น วันชาติ วันตรุษจีน ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างรายได้ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ออกมานี้เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ภาพยนตร์จีนเอง

จากรายงานของบ็อกซ์ ออฟฟิศ พบว่า รายได้ของภาพยนตร์ในประเทศจีนในปี 2564 มีมูลค่าสูงถึง 6,208 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าประเทศอื่น ๆ ในโลกรวมกันเสียอีก ซึ่งเป็นเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนักในหลายประเทศจนทำให้โรงภาพยนตร์เปิดทำการได้ปกติ แต่ขณะที่ประเทศจีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้และโรงภาพยนตร์สามารถเปิดทำการได้ปกติ

หลายปีที่ผ่านมา สตูดิโอผู้สร้างภาพยนตร์ของสหรัฐได้เรียกร้องให้ทางการจีนทบทวนต่อมาตรการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวดและการอนุมัติให้ภาพยนตร์เข้าฉายอย่างล่าช้า ซึ่งส่งผลกระทบให้ค่ายหนังมีเวลาไม่มากในการโปรโมทภาพยนตร์ก่อนที่จะเข้าฉาย ทำให้เสียเปรียบภาพยนตร์จากจีนที่มีเวลาโปรโมทและสร้างการรับรู้แก่ผู้ชมได้มากกว่าหลายเดือน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่แล้วที่มีการอนุมัติที่ล่าช้าเป็นอย่างมาก เพียงล่วงหน้าไม่กี่วันก่อนที่จะมีกำหนดการเข้าฉายที่แน่นอน ซึ่งทำให้ไม่สามารถทำการโปรโมทได้ทัน และในภาพยนตร์บางเรื่องไม่สามารถส่งไฟล์ภาพยนตร์ให้แก่โรงภาพยนตร์ได้ทันในวันเปิดตัว

แม้ว่าจีนจะเป็นตลาดภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ด้วยความล่าช้าดังกล่าวจึงทำภาพยนตร์ต่างประเทศทำรายได้ได้ไม่ดีและล้มเหลวเป็นอย่างมาก 67% ของภาพยนตร์นำเข้าจากต่างประเทศที่เข้าฉายในปีที่แล้ว ทำรายได้ไม่ถึง 50 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มี 61% และมีเพียง 24% เท่านั้นที่ทำรายได้มากกว่า 100 ล้านหยวน ลดลงจากปี 2562 ที่มี 33%

  • ภาพยนตร์ใหม่

ในปีที่แล้วมีภาพยนตร์ใหม่จากต่างประเทศ 67 เรื่องที่ได้เข้าฉายในประเทศจีน โดยมี 21 เรื่องที่เป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูด ทำรายได้รวมกันคิดเป็นราว 12.5% ของรายได้ทั้งหมด แม้จะเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากปี 2563 แต่ก็ลดลงเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ได้สัดส่วน 29% และยุคก่อนหน้าที่จีนจะมีมาตรการเข้มงวดในการนำเข้าภาพยนตร์ต่างประเทศ

เร็ว..แรงทะลุนรก 9” เป็นภาพยนตร์ต่างประเทศที่ทำรายได้สูงที่สุดในจีนเมื่อปีที่แล้ว โดยทำรายได้ไป 1,390 ล้านหยวน ส่วนรายได้ต่ำที่สุดคือ “The High Note ไต่หัวใจไปตามฝัน” ทำรายได้ไปเพียง 260,000 หยวนเท่านั้น ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนั้นจัดจำหน่ายในต่างประเทศโดย ยูนิเวอร์แซลสตูดิโอส์ 

ทำไม ‘หนังต่างประเทศ’ ถึงเกิดยากใน ‘ตลาดจีน’

เครดิตรูป: เพจเฟซบุ๊ค Fast & Furious

นอกจากนี้ 36% ของภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้าฉายในจีนเมื่อปีที่แล้ว เป็นภาพยนตร์ภาคต่อหรือเป็นส่วนหนึ่งในแฟรนไชส์ และไม่มีเรื่องใดเลยที่เป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ หรือ เรท R โดย 68% ของภาพยนตร์ทั้งหมดได้รับเรท PG-13 ที่ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี

แม้ว่าประเทศจีนไม่มีการจัดเรทติ้งภาพยนตร์อย่างเต็มรูปแบบ แต่หน่วยงานกำกับดูแลจะมีการเซ็นเซอร์เนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ ซึ่ง 8% ของภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดที่เข้าฉายในจีนเมื่อปีที่แล้ว ประสบปัญหาถูกตัดทอนเนื้อหา หรือเซ็นเซอร์บางอย่างออกไป

เมื่อมาดูในการแบ่งสัดส่วนรายได้ของค่ายหนังฮอลลีวูดบนบ็อกซ์ ออฟฟิศของจีนในปีที่แล้ว พบว่า ยูนิเวอร์แซลสตูดิโอส์ มีสัดส่วนที่ 32% จากภาพยนตร์เพียง 2 เรื่อง ตามมาด้วยวอร์เนอร์บราเธอส์ ที่ 31% จากภาพยนตร์ 6 เรื่อง อันดับ 3 คือ ทเวนตีท์เซนจูรีสตูดิโอส์ 18% ถัดมาคือ ดิสนีย์ 7.5% พาราเมาท์ 6.9% และโซนี่พิคเจอร์ส 4% ตามลำดับ 

อย่างไรก็ตาม มีเพียง 28% เท่านั้นที่เป็นภาพยนตร์ที่เข้าฉายในจีนก่อนสหรัฐ หรือฉายภายใน 3 วันหลังจากเปิดรอบปฐมทัศน์ที่สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่กำหนดการณ์ต่าง ๆ ถูกยกเลิกเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีสัดส่วนที่ 58%

 

  • ภาพยนตร์เก่า

ภาพยนตร์เก่าจากปีก่อน ๆ ที่เพิ่งเข้าฉายในประเทศจีนในปีที่แล้ว มีเพียง 42 เรื่อง ลดลงจากปี 2563 ที่เข้าฉาย 87 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ทำรายได้ได้ไม่ดีนัก เกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมดทำรายได้ได้น้อยกว่า 5 ล้านหยวน มีไม่ถึง 10 เรื่องที่ทำรายได้มากกว่า 100 ล้านหยวน

เมื่อรวมรายได้ของภาพยนตร์เก่าทั้งหมดคิดเป็นเพียง 2.7% ของรายได้ภาพยนตร์ทั้งหมดในบ็อกซ์ ออฟฟิศจีนปีที่แล้ว ลดลงจากปี 2563 ที่ 4.4% และ ปี 2562 ที่ 6.8%

ภาพยนตร์เก่าจากญี่ปุ่นได้ถูกนำมาเข้าฉายในจีนมากที่สุดถึง 11 เรื่อง ส่วนมากเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่น โดย “โดราเอมอน เพื่อนกันตลอดไป 2” เป็นภาพยนตร์เก่าที่ทำรายได้สูงสุดถึง 278 ล้านหยวน

ทำไม ‘หนังต่างประเทศ’ ถึงเกิดยากใน ‘ตลาดจีน’

เครดิตรูป: IMDb

ส่วนภาพยนตร์เก่าจากสหรัฐมีเพียง 4 เรื่องเท่านั้น ซึ่งในระยะหลังจีนเปิดรับภาพยนตร์จากหลากหลายประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ใช่เจ้าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็น อาร์เจนตินา ไอร์แลนด์, ปากีสถาน, เบลเยียม, โปแลนด์, เดนมาร์ก, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, เม็กซิโก, นอร์เวย์, ไทย, สเปน และฮังการี ด้วยเหตุผลเพื่อความสัมพันธ์ทางการทูต

หลายฝ่ายยังคงคาดการณ์ว่าในปี 2565 นี้ กระบวนการการอนุมัติการเข้าฉายภาพยตร์ต่างประเทศของทางการจีนจะยังคงเป็นไปอย่างล่าช้าเช่นเดิม ต้องมาดูกันว่าทางฝั่งฮอลลีวูดจะงัดกลยุทธ์ใดมาใช้เพื่อเร่งกระบวนการดังกล่าวอีก หลังจากที่ค่ายหนังหลายค่ายพยายามเอาใจจีนด้วยการเพิ่มตัวละครชาวจีน และใช้ภาษาจีนกลางมากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ผลมากนัก เห็นได้จาก "ชาง-ชี กับตำนานลับเท็นริงส์" ที่ยังคงไม่ได้ฉายในจีน เพราะจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด ถ้าทิ้งไปก็เท่ากับเสียโอกาสทำรายได้มหาศาล

 

ที่มา: Film Club, Variety