"YouTube" เล็งเลิกผลิต ออริจินัล คอนเทนท์ หันอัดฉีด "ครีเอเตอร์"
“กูเกิล” ประกาศยกเลิกผลิตคอนเทนท์ที่มีเฉพาะบน “ยูทูบ” ปิดฉาก “YouTube Originals” หลังพยายามปั้นมากว่า 6 ปี โดยจะนำเงินส่วนดังกล่าวไปใช้สนับสนุนยูทูบเบอร์ในการผลิตเนื้อหาแทน
วันนี้ (19 ม.ค. 2565) “โรเบิร์ต คินเคิล” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจของยูทูบได้ออกแถลงการณ์ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวถึงสาเหตุที่ต้องปิดแผนกยูทูบ ออริจินัลส์ เนื่องจากในปัจจุบันยูทูบมีคอนเทนท์ครีเอเตอร์กว่า 2 ล้านคน จึงไม่จำเป็นจะต้องผลิตคอนเทนท์เองอีกต่อไป ซึ่งในช่วง 3 ปีหลัง ยูทูบได้จ่ายเงินให้แก่เหล่าศิลปิน ผู้ผลิต และบริษัทผลิตคอนเทนท์ไปแล้วกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์
บริษัทจะตัดสินใจปิดแผนกยูทบ ออริจินัลส์ไป แต่จะนำเงินส่วนนั้นไปสมทบทุนในกองทุนต่าง ๆ เพื่อผลิตคอนเทนท์ที่มีคุณภาพออกมา ไม่ว่าจะเป็น “กองทุน ครีเอเตอร์ ชอร์ต” “กองทุน แบล็ก วอยส์” และ “กองทุน ยูทูบ คิดส์” ส่งผลให้ “ซูซาน แดเนียลส์” หัวหน้าฝ่ายยูทูบ ออริจินัลส์ ตัดสินใจลาออกจากบริษัท โดยมีผลในเดือนมี.ค. นี้
การผลิตคอนเทนท์ที่มีเฉพาะในยูทูบ หรือ ยูทูบ ออริจินัลส์ เปิดตัวครั้งแรกในปี 2559 เพื่อเป็นหนึ่งในจุดขาย ร่วมกับการดูคอนเทนท์แบบไม่มีโฆษณาคั่น และ “ยูทูบมิวสิค” บริการสตรีมมิงฟังเพลงออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งดึงดูดให้คนสนใจมาสมัครบริการ “ยูทูบ เรด” ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “ยูทูบ พรีเมียม”
ในระยะแรกนั้นคอนเทนท์ของยูทูบ ออริจินัลส์นั้นมีหลากหลายทั้งซีรีส์ ภาพยนตร์ สารคดี ก่อนที่ในปี 2561 ยูทูบได้ยกเลิกการผลิตคอนเทนท์ที่มีสคริปต์ทั้งหมด และเน้นไปที่คอนเทนท์ไม่มีสคริปต์อย่าง เพลง คอนเสิร์ต สารคดีของศิลปินและบุคคลมีชื่อเสียง รายการเพื่อการศึกษา ทำให้ซีรีส์ต่าง ๆ ที่ยูทูบเคยผลิตต้องย้ายไปอยู่กับแพลตฟอร์มอื่น ๆ แทน เช่น ซีรีส์ “Cobra Kai” ย้ายบ้านไปอยู่กับ “เน็ตฟลิกซ์” ขณะที่ “On Becoming a God In Central Florida” ได้ไปลงในช่อง “โชว์ไทม์”
สำหรับรายการที่มีชื่อเสียงที่สุดของยูทูบออริจินัลส์ คงจะหนีไม่พ้น “Justin Bieber: Seasons” สารคดีตามติดชีวิตของ "จัสติน บีเบอร์" นักร้องชื่อดัง ซึ่งเป็นออริจินัล คอนเทนท์ ที่มีผู้ชมสูงสุดบนยูทูบ นอกจากนี้ยังมีสารคดีของศิลปินคนอื่น ๆ อีก เช่น “บีทีเอส” “แบล็กพิงค์” “อารีอานา กรานเด” “อลิเซีย คีส์”
รวมถึงคอนเสิร์ตของศิลปินดัง ไม่ว่าจะเป็น “เทย์เลอร์ สวิฟต์” “พอล แม็กคาร์ตนีย์” “โคลด์เพลย์”
อย่างไรก็ตาม ยูทูบมักจะออกฟีเจอร์ใหม่ ๆ มาเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานอยู่เสมอ และไม่ให้ผู้ใช้งานหันไปใช้แอพพลิเคชั่นอื่น เช่น “YouTube Shorts” ที่มีรูปแบบคล้ายกับ “TikTok” ขณะที่ “YouTube Gaming” ก็เป็นการแคสต์เกมคล้ายกับ “Twitch” ส่วน “YouTube Stories” ก็คล้ายกับ “Snapchat” ส่วนยูทูบออริจินัลส์ มาในช่วงที่ธุรกิจสตรีมมิงกำลังขยายตัว แต่เมื่อทำสักพักแล้วไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะต้องปิดตัวไป
ที่มา: Ars Technica, Variety