3 ช่างภาพชื่อดัง เผยจักรวาลความประทับใจ Leica M11 ผ่านโจทย์ "ภาพถ่าย"
เผยโฉม “ไลก้า เอ็ม 11” ฟังจากปาก 3 ช่างภาพชั้นนำเมืองไทยวิเคราะห์นวัตกรรมกล้องดิจิทัล M โมเดลรุ่นแรกของ Leica ที่ใช้เซ็นเซอร์ฟูลเฟรม Triple Resolution ผ่าน “ภาพถ่าย” ในโจทย์ Legacy of Leica พร้อมเผยเทคนิคส่วนตัว
ได้เวลาเหล่าสาวกกล้องถ่ายรูปคลาสสิกระดับตำนาน ไลก้า (Leica) เติมเต็มประสบการณ์ถ่ายภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ล่าสุดของไลก้า ในตระกูล Leica M เมื่อ Leica Camera Thailand (ไลก้า คาเมร่า ไทยแลนด์) โดย ดนัย สรไกรกิติกูล เปิดตัวกล้องไลก้ารุ่นใหม่ Leica M11 (ไลก้า เอ็ม 11)
“ไลก้า เอ็ม 11” ได้รับการพัฒนาฟังก์ชั่นใหม่หมดจากรุ่นยอดนิยม Leica M10 ที่เปิดตัวอย่างฮือฮาไปเมื่อราว 5 ปีก่อน ส่งต่อมาถึง M11 ที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรมการถ่ายภาพสุดล้ำ ผสมผสานประสบการณ์ของการถ่ายภาพดั้งเดิมแบบ “เรนจ์ไฟน์เดอร์” เข้ากับเทคโนโลยีกล้องร่วมสมัย
นวัตกรรมดังกล่าวทำให้ผู้รักการถ่ายภาพได้สัมผัสกับที่สุดของความยืดหยุ่นในการถ่ายภาพจากเซ็นเซอร์แบบเฉพาะที่มี Triple Resolution พร้อมช่วง ISO ที่กว้างขึ้น หน่วยความจำคู่อีกทั้งแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนานกว่า และระบบเมนูที่ปรับเปลี่ยนใหม่ให้เข้าใจง่าย เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น
งานนี้ได้รับเกียรติจาก 3 ช่างภาพชื่อดังในฐานะ "ไลก้า ไทยแลนด์ แอมบาสเดอร์" นำโดย ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์, แอ๊ด-พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ และ ชัช-ชัชวาล จันทโชติบุตร ร่วมรังสรรค์ภาพถ่ายสวยผ่าน Leica M11 ในธีม Legacy of Leica สุดประทับใจ และให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำงานถ่ายภาพของกล้องรุ่นนี้จากประสบการณ์ส่วนตัวผ่านโจทย์การถ่ายภาพที่ได้รับ ซึ่งแต่ละคนก็ตีความโจทย์ต่างกันไป ทำให้เห็นภาพถ่าย 3 เรื่องราว แต่ละเรื่องราวมีอารมณ์และความสวยงามเฉพาะตัวแตกต่างกันไป
LEGACY OF LEICA by แอ๊ด-พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์
แอ๊ด-พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ หรือในวงการช่างภาพต่างรู้จักกันในชื่อ ADD CANDID เลือกสะท้อนมุมมองภาพถ่ายผ่านสถาปัตยกรรมไทยที่เต็มไปด้วยสีสันสะดุดตา โดยกล่าวว่า เสน่ห์ของ Leica M11 นอกจากรูปลักษณ์ที่ยังคงความเป็นไลก้า มีขนาดเหมาะมือ แล้วยังอยู่ที่ปุ่มกดที่เป็นฟังก์ชั่นพิเศษช่วยให้การซูมดูภาพได้ง่ายและชัดเจนขึ้น และสามารถปรับแต่งภาพให้มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงได้โดยสะดวก ซึ่งกล้องบางตัวมีข้อจำกัดในเรื่องนี้
“โจทย์ถ่ายภาพที่ได้รับมาในเรื่องของความเป็น Legacy หรือตำนานนั้น ผมนำมาตีโจทย์ต่อว่า ศิลปะมีความยืนยาว ต่อเนื่อง และสืบทอด อย่างกรุงเทพฯ อะไรคือแรงบันดาลใจตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน ซึ่งสีและความอ่อนช้อยถือเป็นเอกลักษณ์ของงานศิลปะไทย
ผมเลือกใช้เลนส์อาร์มาใส่ในบอร์ดี้เอ็ม เก็บภาพบรรยากาศความเป็นรัตนโกสินทร์ในแบบที่ตัวเองชอบ อย่างวัดพระแก้วผมชอบศิลปะการประดับกระจก ซึ่งภาพที่สะท้อนผ่านกระจกสวยงามแปลกตาดี สื่อสารความเป็นอดีตในมุมมองปัจจุบันได้โดยไม่บอกตรงๆ
หรืออย่างภาพวัดอรุณถ่ายผ่านซี่กรงรั้วก็เป็นมุมมองส่วนตัว ผมว่าการถ่ายภาพวัดสามารถเป็นได้ทั้งความคลาสสิกและภาพในมุมมองส่วนตัวในแบบร่วมสมัย” เจ้าของฉายา ADD CANDID เผย
LEGACY OF LEICA by ชัช-ชัชวาล จันทโชติบุตร
ช่างภาพหนุ่มผู้หลงใหลธรรมชาติ ชัช-ชัชวาล จันทโชติบุตร เลือกสะท้อนเลนส์คมของ Leica M 11 ผ่านภาพขาวดำที่เต็มไปด้วยมิติของเงาสะท้อนบนผืนน้ำ ด้วยตั้งใจสื่อถึงจุดเริ่มต้นของไลก้าในมุมมองขาวดำขณะที่ฟิล์มสียังไม่ถูกค้นพบมาใช้งาน
ชัชวาลกล่าว่า ในความเป็นไลก้านั้นสามารถตีความได้หลายมิติมาก ทั้งในเรื่องของตัวกล้อง ตำนานของคนที่นำไปใช้ รวมถึงเรื่องราวที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วเผยแพร่ต่อสาธารณชน จึงคิดว่าทำอย่างไรที่จะถ่ายทอดความเป็นไลก้าผ่านโจทย์ที่รับมาได้ดีที่สุด
“ผมชอบอยู่กับธรรมชาติ เลยนำสิ่งนี้มาตีความ ตอนอยู่ที่เขาหลัก จังหวัดพังงา ได้ไปเจอซีนหนึ่งเป็นกิ่งก้านไม้แห้งตายและพืชน้ำในทะเลสาบ ทำให้นึกถึงภาพหนึ่งของ René Burri ช่างภาพชาวสวิสเซอร์แลนด์ ชื่อ Former Summer Palace. Dead Lotus Flowers on Kunming Lake. Bejing, ที่ประเทศจีน ถ่ายไว้ตั้งแต่ปี 1964 ช่างภาพคนนี้ถ่ายภาพด้วยกล้องไลก้ามาตลอด จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผมถ่ายภาพชุดนี้ซึ่งตอบโจทย์ในสองมิติ
อย่างแรกพูดถึงตัวกล้องซึ่งเงาสะท้อนอันหนึ่งสื่อถึงไลก้าในอดีต ส่วนเงาสะท้อนอีกอันสื่อถึงไลก้า เอ็ม บางจุดที่น้ำกระเพื่อมก็เกิดความบิดเบี้ยว ผมพยายามสื่อออกมาในแง่มิติที่เป็นตำนานของไลก้ามากกว่าเรื่องกลไกเทคนิคการถ่ายภาพ” ช่างภาพหนุ่ม กล่าว
LEGACY OF LEICA by ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์
ปิดท้ายที่เซียนภาพถ่ายขาวดำ ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยถึงสัมผัสแรกกับ Leica M11 ว่า เสน่ห์ของ Leica M นั้นอยู่ที่การเป็นเรนจ์ไฟน์เดอร์ซึ่งแยกกับตัวรับภาพ ระยะห่างจากท้ายเลนส์ถึงเซ็นเซอร์สั้นมาก จึงช่วยลดการเดินทางของแสงไปยังเซ็นเซอร์ได้การสั่นสะเทือนหรือการเคลื่อนของแสงก็น้อยเมื่อเทียบกับรุ่นอื่นๆ จึงให้ภาพที่ได้ความคมชัดมากกว่า
ซึ่งต่อให้สปีดชัตเตอร์ต่ำก็ยังคงความคมชัดอยู่ หรือต่อให้เบลอก็เป็นความเบลอที่เป็นเสน่ห์ของไลก้า และเสน่ห์นี้ก็ยังคงมีอยู่ในตัว Leica M11 อย่างครบถ้วน
“โจทย์ที่ผมได้มาคือ Legacy เลยนึกถึง Leica M3 รุ่นออริจินัลที่สร้างมาเพื่อใช้กับเลนส์ 50 มม.
ผมเลยมองย้อนกลับไปสู่สปีดชัตเตอร์ต่ำ ภาพที่ออกมาจึงมีทั้งจุดและการเคลื่อนไหว อย่างภาพที่นำมาโชว์นี้ถ่ายที่เกาะยาวน้อย ภูเก็ต เป็นชุมชนชาวประมง ขณะเด็กๆ กำลังเล่นน้ำ ยิ่งขยายเข้าไปดูหรือพริ้นต์ออกมา ยิ่งเห็นรายละเอียด แต่ละภาพมีทั้งรูปที่เบลอ ไม่โฟกัส มีความบิด กระทั่งสปีดชัตเตอร์ต่ำที่เผยให้เห็นเม็ดน้ำที่กระเด็นกระจายรอบตัวเด็ก
ไลก้าเป็นเลนส์ไวแสงที่แอคทีฟกับไฮไลท์ของภาพเสมอ ถึงพูดกันว่าเลนส์ไลก้าเวลาถ่ายคนจะดูมีชีวิตมากกว่าเลนส์อื่นๆ แม้กระทั่งประกายตาซึ่งเล็กมากๆ ก็เก็บได้ ผมจึงเลือกถ่ายคนหรือสิ่งมีชีวิต และอยากโชว์ศักยภาพกล้องหลายๆ อย่าง ก็เลยดัน ISO ขึ้นไปสูงมาก ทำให้ภาพแทบไม่เห็น Noise ของภาพเลย ซึ่งเซอร์ไพรส์มากๆ เพราะปกติกล้องที่พิกเซลสูงๆ ก็จะมาพร้อมกับ Noise ที่สูงเช่นกัน
ปกติกล้องหลักของผมคือไลก้า MP 240, M10 R แล้วก็ SL รุ่นต่างๆ เหล่านี้เมื่อเทียบกับ M11 ความละเอียดคนละจักรวาลเลย จึงรู้สึกประทับใจมาก ถ้าอยากเลือกกล้องสักตัวที่จะใช้บันทึกความทรงจำ หรือสิ่งที่อยากให้อยู่ในความทรงจำกับเรา นี่คือกล้องที่ดีที่สุด และนั่นคือนิยามของ Legacy of Leica” ช่างภาพระดับแถวหน้าของเมืองไทย กล่าวทิ้งท้าย
ดนัย สรไกรกิติกูล
ดนัย สรไกรกิติกูล ผู้บริหาร ไลก้า คาเมร่า ไทยแลนด์ เผยว่า ไลก้า เอ็ม 11 ได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการถ่ายภาพดิจิทัล และยังเป็นกล้อง M-System ที่ยืดหยุ่นที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Leica อีกด้วย
“จุดเด่นที่เป็นหัวใจของกล้องรุ่นนี้ คือเซ็นเซอร์ BSI CMOS แบบฟูลเฟรมที่มาพร้อมเทคโนโลยี Triple Resolution ทำให้สามารถบันทึกไฟล์ภาพในรูปแบบ DNG และ JPEG ได้ที่ความละเอียด 60, 36 หรือ 18 ล้านพิกเซล โดยใช้เซ็นเซอร์เต็มพื้นที่ตลอดเวลา ตัวเลือกความละเอียดที่ 60 ล้านพิกเซลให้คุณภาพของภาพในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน
ขณะที่ฟิลเตอร์ตัดแสง IR + UV แบบพิเศษประกอบด้วยกระจกบางเฉียบสองแผ่นที่นำมาประกบเข้าด้วยกัน จึงสามารถปรับแก้สภาพแสงได้อย่างดีเยี่ยม แม้แต่กับแสงที่ตกกระทบจากมุมเฉียง
นอกจากนี้ยังมีชุดฟิลเตอร์สีแบบใหม่ที่ช่วยให้กล้องสามารถถ่ายทอดสีสันได้สมจริงและเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้นด้วย”
Leica M11
ที่สำคัญ Leica M11 ยังคงหน้าตาอันเป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับของกล้อง Leica M ไว้เช่นเดิม แต่สิ่งหนึ่งที่ต่างออกไปคือการตั้งใจถอด Base plate กล้อง ที่เคยมีมาแต่เดิมออก เพื่อให้ช่างภาพสามารถเข้าถึงแบตเตอรี่และช่องใส่การ์ด SD ได้ง่าย
นอกเหนือจากช่องใส่การ์ด SD แล้ว Leica M11 ยังมีพื้นที่จัดเก็บข้อมูลภายในความจุสูงถึง 64 กิกะไบต์ ทำให้ M11 เป็นกล้องโมเดล M รุ่นแรกที่บันทึกภาพลงบนสื่อจัดเก็บข้อมูลที่ต่างกันสองชนิดได้
ส่วนแบตเตอรี่ 1800mAh นั้นเก็บพลังงานได้มากขึ้น 64% เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า ซึ่งเมื่อรวมกับการทำงานที่ประหยัดพลังงานยิ่งขึ้นของกล้องรุ่นนี้แล้ว ช่างภาพจึงสามารถใช้กล้องต่อเนื่องได้นานขึ้นมากต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง และยังสามารถชาร์จแบตเตอรี่ของกล้องผ่านพอร์ต USB-C อเนกประสงค์ที่เพิ่มมาใหม่ได้โดยใช้ที่ชาร์จ USB-C ทั่วไป
* * * * * * * *
หมายเหตุ : ผู้สนใจการถ่ายภาพติดต่อสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Leica M11 ราคา 303,800 บาท ได้แล้ววันนี้ที่ Leica Store สาขา เกษรวิลเลจ ชั้น 2 โทร.0 2656 1102 และ สาขา ดิ เอ็มควอเทียร์ ชั้น เอ็ม โทร.0 2003 6068 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมทาง Line Official: @leicath
LEGACY OF LEICA by แอ๊ด-พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์
LEGACY OF LEICA by แอ๊ด-พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์
LEGACY OF LEICA by ชัช-ชัชวาล จันทโชติบุตร
LEGACY OF LEICA by ชัช-ชัชวาล จันทโชติบุตร
LEGACY OF LEICA by ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์
LEGACY OF LEICA by ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์