ความหมายของ “อาหารมงคล” "กินแล้วรวย" ตามความเชื่อของจีนโบราณ
“ตรุษจีน” ต้องกิน “อาหารมงคล” "กินแล้วรวย" เสริมโชคลาภ จากความเชื่อตามประเพณีจีนโบราณที่ทุกวันนี้ยังปฏิบัติอยู่ มีอาหาร 7 อย่าง
ชาวจีนเชื่อเรื่อง อาหารมงคล เมื่อถึงปีใหม่หรือ ตรุษจีน ต้องรับประทานอาหารที่มีความหมายดี ๆ ร่วมกับครอบครัว ญาติมิตร โดยความหมายของชื่ออาหารนั้น สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ กินแล้วรวย รวมถึงเป็นคำ “พ้องเสียง” ที่สื่อถึงความหมายดี ๆ และมี “รูปลักษณ์” สวยงาม สะท้อนถึงเงินทอง ทรัพย์สมบัติ
ส้ม ผลไม้โชคดี (ภาพ:wayfengshui.com)
เช่น ปลา ปอเปี๊ยะ เกี๊ยว เหนียนเกา (ขนมเข่ง) บัวลอย ฯลฯ ที่ทั้งกินอร่อย สวยงาม และแปลว่าอุดมสมบูรณ์ กินแล้วรวย เฟื่องฟู เสริมบารมี มีความสุข
7 อาหารมงคล กินแล้วรวย
ตามประเพณีโบราณของชาวจีน ที่ทุกวันนี้ยังคงปฏิบัติอยู่ มีอาทิ
ปลานึ่งทั้งตัว (ภาพ: g-freefoodie.com)
1 ปลา : ออกเสียง หยีว, หยู (鱼จีนกลางตัวย่อ) ปลาจะอยู่ในเมนูอาหารค่ำ และจะเริ่มกินในวันสิ้นปี (ก่อนวันขึ้นปีใหม่) เพราะเชื่อว่า เก็บความอุดมสมบูรณ์เอาไว้ เพื่อเริ่มต้นปีหน้าอย่างราบรื่น และพอถึงวันปีใหม่ มื้อเย็นก็มักทำ ปลานึ่งทั้งตัว กินในครอบครัว
เมนูปลาก็ต้องเลือกชนิดที่ยอดนิยมคือ ปลาคาร์พ (ปลาตระกูลปลาตะเพียน, ปลาไน) ไซส์ขนาดกลาง (Crucian carp) เรียกว่า จี้หยีว (鲫鱼) พ้องเสียงกับคำว่า จี๋ (吉) แปลว่า “โชคดี” หรือ Mud carp (ปลาตะเพียน) ออกเสียงว่า หลี่หยีว (鲤鱼) “หลี่” พ้องเสียงกับ 礼 ออกเสียงเหมือนกัน แปลว่า “ของขวัญ” ความหมายคือปีใหม่จะได้พบสิ่งดี ๆ เรื่องที่มุ่งหวังจะสมปรารถนา
ยังมี ปลาดุก ออกเสียงว่า เหนียนหยีว (鲶鱼) พ้องเสียงกับ เหนียนหยีว (年余) แปลว่า “เพิ่มพูน” กินปลาในวันสิ้นปีกับวันขึ้นปีใหม่จึงเท่ากับ “ทวีคูณ” ในทุกปี
(ภาพ: themayakitchen.com)
บางพื้นที่ในจีนมีวิธีกินปลาไม่เหมือนกัน เช่น ตอนเหนือของแม่น้ำแยงซี นิยมกินปลาเป็นจานสุดท้ายในวันปีใหม่ ในบางพื้นที่ไม่กินหัวกับหาง จนกว่าจะถึงวันขึ้นปีใหม่ หมายถึงความหวังกำลังเริ่มต้นและจะจบลงด้วยดี
บางบ้านวางจานปลาโดยหันหัวปลาไปทางแขกหรือผู้สูงอายุ เป็นการเคารพ เมื่อเริ่มต้นรับประทานจะให้ผู้สูงอายุ (หรือแขก) กินก่อน บางบ้านเชื่อว่าตอนกินปลาห้ามเลื่อนไปมา คนที่นั่งตรงด้านหัวกับด้านหางเมื่อกินเสร็จแล้วจะต้องร่วมดื่มด้วยกัน เชื่อว่าจะพบโชคดี ประเพณีนี้ยังมีอยู่ในบางท้องถิ่น สะท้อนว่าการกินอาหารร่วมกันสร้างความรื่นเริง ความยินดีปรีดา
(ภาพ: nyonyacooking.com)
เมื่อสมาชิกในครอบครัวร่วมกันกินปลา จะพูดคำว่า เหนียนเหนียนโหย่วหยีว 年年有余 แปลว่า สมหวังมากกว่าที่หวังในทุกปี ๆ
บ้างกล่าวคำว่า หยีวเยว่หลงเหมิน แปลว่า ประสบความสำเร็จสูงสุด ความหมายอีกนัยหนึ่งของ “ปลา” สืบเนื่องมาจากปลาในแม่น้ำต้องว่ายข้าม “ประตูมังกร” ฝ่าด่านกระแสน้ำไปวางไข่ในอีกที่หนึ่ง คล้ายปลาแซลมอนที่ต้องกระโดดข้ามกระแสน้ำไปวางไข่ในอีกที่หนึ่ง จึงหมายถึงผู้ที่พยายามฝ่าฟันอุปสรรค และประสบความสำเร็จ
เกี๊ยวรูปร่างเหมือนก้อนทองคำ (ภาพ: cinnamonsociety.com)
2 เกี๊ยว : หมายถึงความมั่งคั่ง ออกเสียงว่า เจี่ยวจือ (饺子) ช่วงนี้เห็นดาราจีนออกมาโพสต์รูปกิน “เจี่ยวจือ” กันตั้งแต่ยังไม่ขึ้นปีใหม่ ชาวจีนกินเกี๊ยวช่วงตรุษจีนมาตั้งแต่ 1,800 ปีก่อน ได้ชื่อว่าเป็นอาหารมงคล ยอดนิยมของคนจีนทุกภาค โดยเฉพาะคนภาคเหนือ แต่ เกี๊ยว ต้องทำเป็นรูปเหมือนก้อนเงินก้อนทอง หรือมีรูปร่างคล้ายเรือ หรือรูปทรงกลมเรียวคล้ายไข่ และปิดหัวท้าย ปีใหม่ยิ่งกินเกี๊ยวมากเท่าไหร่ก็หมายถึงมีเงินมากเท่านั้น
เกี๊ยวจะต้องห่อไส้หมูหรือเนื้อกับผัก ในแป้งเหนียวนุ่มเนื้อบาง ส่วนใหญ่นิยมห่อด้วยไส้หมูสับ กุ้ง ปลา ไก่บด เนื้อ และผัก ปรุงด้วยวิธีต้ม นึ่ง ทอด หรืออบก็ได้
(Credit ภาพ: asianinspiration.com.au)
คนจีนทุกบ้านทำเกี๊ยวเป็น แต่เมื่อถึง ตรุษจีน เกี๊ยว ต้องมีรูปร่างพิเศษหน่อย และมีข้อห้ามบางอย่าง เช่น ไม่ใส่ไส้ ผักดอง ในเกี๊ยว เพราะผักดองอ่านว่า “ซวานไช่” ซึ่งเป็นเกี๊ยวที่กินในวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ และหมายถึงความยากจนและอนาคตที่ยากลำบาก ในวันปีใหม่ต้องกินเกี๊ยวไส้เนื้อที่ชอบ และใส่ผักกะหล่ำและแรดิช (หัวผักกาดแดง)
เกี๊ยวแบบดั้งเดิม กินแล้วรวย ต้องไม่แบนไม่แฟบ จะหมายถึงความขาดแคลน บางบ้านใส่ด้ายสีขาวลงไปในชามเกี๊ยว และคนแรกที่กินจะมีอายุยืน บางครั้งก็ใส่เหรียญทองแดงลงไป ใครกินก็จะรวย และก่อนกินต้องเรียงให้สวยแต่ไม่เรียงเป็นรูปวงกลม เพราะหมายถึงชีวิตจะวนเวียนไม่ก้าวหน้า
เมื่อกินเกี๊ยวจะพูดว่า เจาไฉจิ้นเป่า (招财进宝) แปลว่า ยินดีกับความมั่งคั่งและทรัพย์สมบัติ ห่อเงินห่อทองได้ดังหวัง
ปอเปี๊ยะ (ภาพ: purewow.com)
3 ปอเปี๊ยะ : แปลว่า มั่งคั่ง ลักษณะของปอเปี๊ยะคล้ายกับเกี๊ยว คือการ “ห่อและคลุม” ออกเสียงว่า ชุนจ่วน (春卷 ) มีที่มาว่าชาวจีนนิยมกินปอเปี๊ยะในฤดูใบไม้ผลิ (ชุนแปลว่าฤดูใบไม้ผลิ) และเป็นอาหารมงคลตรุษจีน ด้วย โดยเฉพาะคนในภาคตะวันออก ได้แก่ เจียงซี, เจียงซู, เซี่ยงไฮ้, ฝูเจี้ยน, กว่างโจว, เสิ่นเจิ้น, ฮ่องกง ฯลฯ
ปอเปี๊ยะ เป็นอาหารกวางตุ้งรูปทรงกระบอกเหมือนรูปทองคำแท่ง ไส้ผักหรือเนื้อ และต้องเป็น ปอเปี๊ยะทอด เพื่อให้เป็นสีเหลืองทอง ตอนกินก็พูดว่า หวงจินว่านเหลี่ยง (黄金万两) แปลว่า ทองคำสองพันตัน
เหนียนเกา (ภาพ: purewow.com)
4 ขนมเข่ง : เหนียนเกา (年糕) คำว่า “เกา” พ้องเสียงกับความหมายว่า “สูง” หมายถึง ธุรกิจก้าวหน้า การงานสูงส่งยิ่งขึ้นทุกปี หมายถึงการศึกษาเล่าเรียนด้วย เหนียนเกา หรือ ขนมเข่ง ทำจากแป้งข้าวเหนียว น้ำตาล มีหลายสูตร จะใส่เกาลัด อินทผลัม เม็ดบัว ฯลฯ สูตรใครก็สูตรมัน เป็นขนมโชคดีปีใหม่ที่ทุกบ้านต้องกิน
เวลากินพูดคำว่า เหนียนเหนียนเกา (年年高) ชีวิตดี ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นทุกปี
บัวลอย (Cr.ภาพ: blog.busuu.com)
5 บัวลอย : ทางหยวน (汤圆) เป็นขนมประจำเทศกาลปล่อยโคม แต่คนจีนทางภาคใต้นิยมกินตลอดฤดูใบไม้ผลิ จากรูปกลม ๆ สื่อถึงความกลมเกลียว เป็นหนึ่งเดียวกัน เวลากินพูดว่า ถวนถวนหยวนหยวน แปลว่า กลม ๆ รวม ๆ กัน แปลว่า ครอบครัวสมัครสมานรักกัน
บะหมี่ตรุษจีนไม่ตัดเส้น (ภาพ: seriouseats.com)
6 บะหมี่ : สื่อถึงความสุขและอายุมั่นขวัญยืน เป็น อาหารมงคล ที่คนจีนทุกที่นิยมกินในช่วงปีใหม่ เรียกว่า ฉางโซ่วเมี่ยน (长寿面) ตรุษจีน ต้องกินบะหมี่ที่ยาว ๆ (ฉาง) สื่อความหมายว่าคนที่กินจะมีอายุยืน บะหมี่อายุยืนมีวิธีทำแตกต่างจากบะหมี่ทั่วไปคือ ไม่ตัดเส้น จะปรุงแบบต้มกินกับน้ำซุปหรือทำบะหมี่ผัดก็ได้
ส้มสีทอง (ภาพ: made-in-china.com)
7 ผลไม้แห่งความอุดมสมบูรณ์ : ผลไม้ตระกูล ส้ม ทั้งหลายเป็นผลไม้โชคดี กินช่วงตรุษจีนยิ่งโชคดี เช่น ส้มแมนดาริน ส้มเขียวหวาน ส้มโอ และต้องเลือกผลกลมเกลี้ยง ผิวสีเหลืองทอง สื่อถึงความร่ำรวย สุขสมบูรณ์
ส้มแต่ละชนิดเรียกชื่อแตกต่างกัน แต่ล้วนสื่อความหมายมงคล เช่น ส้มแทนจารีนเรียกว่า เฉิง (橙) พ้องเสียงกับคำว่า เฉิง (成) แปลว่า “สำเร็จ” ยังมีวิธีเขียนชื่อส้มอีกแบบว่า จวี๋ (桔) โดยในตัวอักษรประกอบด้วยคำว่า “จี๋” (吉) แปลว่า “มีโชค” ส้มโอ เขียนว่า โย่ว (柚) ออกเสียงใกล้เคียงคำว่า “โหย่ว” (有) แปลว่า “มี” และคำว่า โย่ว (又) หมายถึง “อีกครั้ง, ด้วย, ทั้งคู่”