อานิสงส์การ"สวดมนต์" ดีต่อชีวิตอย่างไร
ไม่ว่าจะเหตุผลใดที่"สวดมนต์"แต่เรื่องนี้มีอานิสงส์ทั้งทางโลกและทางธรรม จะเรียกว่า ดีต่อใจ ดีต่อชีวิต และดีต่อสัตว์โลกก็ว่าได้
การสวดมนต์ มีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ สำหรับชาวพุทธถือว่าเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต
โดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ สามเณร นักบวช นักบุญทั้งหลาย จะขาดข้อวัตร กิจวัตรส่วนนี้ไม่ได้เลย
โดยเฉพาะบทสวดตามวิถีพุทธ โดยมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์ศาสดา ได้กลั่นกรองคำสาธยายที่มีแต่ความเป็นสิริมงคล พร้อมด้วยพลานุภาพแห่งบุญกุศลในทุกถ้อยคำผ่านภาษาบาลี มีอานิสงส์พาชีวิตไปสู่ที่สูง ห่างไกลโรคภัย ป้องกันอุปสรรคอันตราย และสูงสุดคือตัดกิเลสให้ขาดสะบั้น จนมีดวงตาเห็นธรรม
บทสวดมนต์อันประเสริฐ
การสวดมนต์ จึงเป็นการทำสมาธิ ระหว่างการสวดมนต์ ใจจะจดจ่ออยู่กับบทสวดนั้นๆ หากเป็นบทสวดมนต์แปลจากภาษาบาลีเป็นไทย ยิ่งทำให้เข้าใจความหมายมากขึ้น ก็จะเข้าใจธรรมะอันลึกซึ้งได้ง่ายขึ้น
บทสวดแต่ละบทจะเรียกว่า พระปริตร แปลว่า เครื่องคุ้มครองอันประเสริฐ ประกอบด้วยบทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีทั้งบทสรรเสริญคุณแห่งพระรัตนตรัย,บทอวยชัยให้พร บางบทนำมาจากพระไตรปิฎก บางบทเป็นบทที่แต่งขึ้นใหม่ในภายหลัง
ในแต่ละบท แต่ละบาท ล้วนแล้วแต่มาจากพระโอษฐ์ อันประกอบด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ พระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้า
สวดมนต์เสมือนเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระเทพโพธิวิเทศ (ท่านเจ้าคุณวีรยุทธ์ วีรยุทโธ) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย กล่าวถึงการสวดมนต์ว่า พลังของการสวดมนต์ในพุทธสังเวชนียสถาน เสมือนเรานั่งอยู่แวดล้อมด้วยองค์พระอรหันต์และเทวดา
“การนำพระธรรมที่เป็นคำสอนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้ามาสวด และสาธยายเป็นกิจวัตร ก็ขึ้นชื่อว่าปฏิบัติต่อพระบรมพระศาสดาด้วยการเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยทุกประการ ขอท่านทั้งหลายจงสวดมนต์เสมือนหนึ่งเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทุกวัน”
ดร.พระมหาอ้าย ธีรปัญโญ วัดนาคปรก กล่าวถึงอานิสงส์ของการสวดมนต์ในทางธรรมไว้ว่า "ผลประโยชน์ของการสวดมนต์นั้นมีมากมาย แต่สรุปง่ายๆ ตามที่ครูบาอาจารย์บอกตรงกัน ก็คือ 1 ไล่ความขี้เกียจ 2 ได้รู้ความหมาย 3 จิตเป็นสมาธิ 4 ได้ปัญญา เข้าใจแก่นสาระของธรรม และ5 เปรียบเสมือนได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
“สำหรับผู้เริ่มต้น ก็ให้เริ่มจากนะโม 3 จบให้ได้ก่อน แล้วค่อยต่อพุทธัง สะระณัง คัจฉามิ แล้วต่อด้วยบทพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ 3 บทนี้ จำให้ติดปาก
ไม่ใช่การอ่านมนต์ เพราะถ้าอ่าน มันไม่มีอะไรเคลื่อนไหว สมองก็อยู่ที่เดิม ส่วนสถานที่นั้น สวดมนต์ที่ไหนก็ได้ ขอให้สวดด้วยใจก็พอแล้ว”
นายแพทย์วิโรจน์ ตระการวิจิตร ผู้อำนวยการสายงานแพทย์ โรงพยาบาลนครธน ผู้นำเอาธรรมปฏิบัติมาประยุกต์ใช้ในการรักษาผู้ป่วยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เคยเล่าถึงอานิสงส์การสวดมนต์ในทางการแพทย์ว่า
ปัจจุบันมีผลวิจัยออกมามากมายเกี่ยวกับการสวดมนต์ที่มีผลต่อสมองและร่างกาย ในวงการแพทย์ การสวดมนต์ ทำสมาธิ เจริญอานาปานสติ จะได้ผลอยู่ 3 อย่างหลักๆ คือ
1 เกิดภูมิต้านทานโรค โดยสร้างมาจากเซลล์สมองตัวหนึ่ง
2 ระบบฮอร์โมน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในสมองจะสร้างสมดุลให้กับร่างกาย
3 หัวใจและหลอดเลือด ความดันลดลง เป็นโรคหัวใจลดน้อยลง
“เพียงแค่สวดมนต์และทำสมาธิ วันละ 12 นาที นาน 8 สัปดาห์ จะมีเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นต่อเซลล์สมองของเราทันที”
สวดมนต์เพื่ออะไร
-สวดเพื่อสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้า
บทสวดบางบทที่ใช้สวดนั้น เช่น บทอิติปิ โส ฯลฯ ภควาติฯ ชาวพุทธในสมัยพุทธกาล ผู้ที่มีจิตเลื่อมใสต่อพระพุทธเจ้านิยมใช้สวดเพื่อสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้า
- สวดเพื่อเป็นต้นทุนเจริญศรัทธา
การสวดมนต์ก็เพื่อเพิ่มพูน พอกพูน เติมเต็มพลังแห่งศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใสที่มีต่อคุณพระรัตนตรัย ที่นับถือเคารพบูชาเป็นสรณะ
-สวดเพื่อแผ่จิตเมตตา
บทสวดมนต์แต่ละบทเป็นเสมือนตัวเชื่อมต่อส่งสัญญาณ แปรสภาพให้เป็นพลังงานพิเศษ เหมือนพลังงานทั่วไป ผ่านกระแสเสียงกระแสจิตจากจิตสู่จิต
ก่อให้เกิดเป็นบุญเป็นกุศล เป็นความรักความปรารถนาดี ความเมตตาปรานี ความสุข ความปลอดภัยส่งให้ มอบให้ อุทิศให้ แผ่ให้ เพื่อนร่วมโลกร่วมแผ่นดินทั้งมิตรและศัตรู ไม่เลือกชนชั้นวรรณะภาษา ขอให้อยู่ดีมีสุข
-การสวดมนต์เป็นการทำสมาธิ
ขณะสวดมนต์ จิตย่อมจดจ่อในบทสวด หรือที่จำไม่ได้ก็ใช้สายตาเพ่งมองตัวหนังสืออ่านบทสวดแต่ละอักขระ แต่ละวรรค แต่ละบท แต่ละตอน จิตในขณะนั้นย่อมรวมตัว ดับความฟุ้งซ่านลง เกิดเป็นสมาธิได้
-เพื่อฝึกความอดทน
เวลาที่สวดมนต์ ต้องใช้เวลานานพอสมควร ผู้สวดจึงต้องมีความอดทนอดกลั้นสูง ข่มทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะสวดไปจนจบ ไม่ใช่เป็นเรื่องธรรมดา การฝืนกาย ฝืนใจ บังคับกาย บังคับใจในขณะนั้น ย่อมทำให้ขันติธรรม
-เพื่อรักษาพระธรรม
บทสวดมนต์บางบท เป็นพระพุทธพจน์ที่สำคัญ เช่น บทพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นต้น เป็นหลักธรรมสำคัญ ที่จะต้องจดจำให้ได้ เพื่อรักษาไว้
โดยปกติแล้ว บทสวดมนต์แต่ละบท ที่จะนำมาสวดนั้นผู้สวดจะต้องท่องจำให้ได้ขึ้นใจ แล้วนำมาสวดสาธยาย เพื่อเป็นการทบทวนอยู่เป็นประจำ เพื่อกันลืม
-เพื่อกำจัดบาปอกุศล
ในการสวดมนต์แต่ละครั้ง ต้องข่มซึ่งนิวรณ์ธรรม มีกามฉันทะ ความติดในสุข พยาบาทความหงุดหงิดไม่พอใจ ความฟุ้งซ่านรำคาญ ความง่วงซึม หดหู่ ความลังเลสงสัย และกำจัดอกุศลธรรมต่างๆ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเห็นผิด ความถือตัวถือตน ความเกียจคร้านให้เบาบางจางหายหมดไปได้
เพื่อเป็นมงคลแก่ชีวิต
ขณะสวดมนต์ จิตเป็นสมาธิตั้งมั่น ตั้งใจสวด สวดด้วยความสงบ เรียกว่า สมาธิ ขณะสวดจิตน้อมนึกพิจารณาไปตาม เห็นความเป็นจริงของชีวิต
สวดมนต์ช่วยเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ
ตามหลักวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์ มีข้อควรสังเกตว่า คนที่ชอบสวดมนต์อยู่เป็นประจำ เวลามีทุกข์ ประสบปัญหาชีวิต มักทุกข์ไม่นานนัก แก้ไข หาทางออกได้รวดเร็ว ต่างจากคนที่ไม่ชอบสวดมนต์ ทุกข์ก็จะทุกข์อยู่นานหาทางออกไม่ได้.
......................
ข้อมูลบางส่วนจากhttps://www.watphramahajanaka.org/