“ไหว้ตรุษจีน 2565” สักการะ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ของไหว้ใดต้องห้าม

1 ก.พ. “ไหว้ตรุษจีน 2565” เปิดวิธีกราบขอพร “เจ้าแม่ทับทิม” แห่ง “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ของไหว้ที่ควรเตรียม ของไหว้ต้องห้าม การไหว้เรียงลำดับองค์เทพในศาลเจ้า ตรุษจีนนี้ไหว้ไม่ทัน ยังมี "วันห่วงเซียว" ให้ไหว้แก้ตัว
ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง เป็นศาลเจ้าเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ ไม่เฉพาะช่วงเทศกาล ตรุษจีน ผู้มีจิตศรัทธาจากหลายจังหวัดเดินทางมากราบสักการะมิได้ขาด
องค์เจ้าแม่ทับทิม ใน "ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง" มีอายุเก่าแก่ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงเวลาที่ชาวจีนโพ้นทะเลอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
นาย พุฒิพงศ์ เจืออุปถัมย์ กรรมการ "ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง" เล่าว่า จากบันทึกเท่าที่มีการสืบค้นได้ พบว่า ครอบครัวของนาย “จู๋ แซ่ตั้ง” ได้อพยพจากอำเภอเก๊กเอี๊ย เมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง เข้ามายังประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย โดยพี่ชายของนายจู๋ได้อพยพเข้ามาก่อน ทำงานรับจ้างทั่วไป และอาศัยอยู่แถวริมคลองบางรัก
อยู่มาวันหนึ่ง พี่ชายของนายจู๋เดินเลียบคลองบางรักออกไปทำงานตามปกติ ได้สังเกตเห็นว่าในคลองมีวัตถุบางอย่างลอยทวนน้ำมาหยุดอยู่ในจุดที่เป็นน้ำวน แต่ก็มิได้สนใจ เนื่องจากเห็นเป็นวัตถุลอยน้ำทั่วไป
ผ่านไปหลายวัน วัตถุนั้นก็ยังคงลอยวนอยู่บริเวณเดิมไม่ไปไหน พี่ชายนายจู๋จึงลงไปเก็บวัตถุนั้นขึ้นมา พบว่าเป็น องค์เจ้าแม่ทับทิม แกะสลักด้วยไม้ จึงอัญเชิญขึ้นมาเก็บรักษาไว้ที่บ้าน แต่มิได้คิดทำการใดต่อไป เนื่องจากมีภาระหน้าที่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ
เมื่อนายจู๋ แซ่ตั้ง อพยพตามพี่ชายมาขึ้นฝั่งที่ท่าน้ำราชวงศ์ เยาวราช เวลานั้นมีชาวจีนอยู่หนาแน่นแล้ว พื้นที่ก็ไม่เหมาะกับการเลี้ยงเป็ดที่เป็นอาชีพดั้งเดิมสมัยอยู่เมืองจีน
จึงมองหาสถานที่แห่งใหม่ละแวกนั้น และพบว่า ย่านสะพานเหลือง อำเภอปทุมวัน ซึ่งขณะนั้นยังเป็นทุ่งเป็นป่า เหมาะสำหรับเลี้ยงเป็ด จึงลงหลักปักฐานที่สะพานเหลือง
นายจู๋เลี้ยงเป็ดส่งขายตลาดเยาวราชและตลาดทั่วไป กิจการดีขึ้นเป็นลำดับ เป็นที่รู้จักของพ่อค้าชาวจีนในเยาวราชและย่านใกล้เคียงอย่างกว้างขวาง
พี่ชายของนายจู๋เห็นว่ากิจการเลี้ยงเป็ดของน้องชายเจริญเติบโตได้ดีพอสมควร และเห็นว่าน้องชายพอมีที่มีทาง จึงนำ องค์เจ้าแม่ทับทิม มามอบให้
เมื่อนายจู๋ได้รับมา ก็เห็นว่าควรจัดสถานที่บูชาให้เหมาะสม จึงสร้างศาลเจ้าเป็นเพิงเล็ก ๆ ให้องค์เจ้าแม่ทับทิมประทับและบูชามานับแต่บัดนั้น
หลังจากชาวบ้านในละแวกนั้นทราบเรื่อง จึงมากราบไหว้สักการะบูชา เมื่อประสบความสำเร็จตามที่บนบานไว้ ก็เกิดความนับถือและเป็นที่เลื่องลือกันต่อ ชาวบ้านในย่านปทุมวันจึงร่วมมือร่วมใจกันกับนายจู๋สร้างศาลเจ้าใหญ่ถาวรขึ้นเป็นศาลแรกนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ต่อมาบริเวณนั้นเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ ร่ำลือว่าเป็นการเผาไล่ที่ บ้านเรือนชาวบ้านที่ขนาบ ศาลเจ้าแม่ทับทิม วอดวายในกองเพลิงเป็นแถบ แต่ศาลเจ้าแม่ทับทิมอยู่รอดไม่ไหม้ไฟ
จากนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คิดพัฒนาที่ดินบริเวณศาลเจ้าแม่ทับทิมเป็นอาคารพาณิชย์ จึงมีกลุ่มชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในองค์เจ้าแม่ทับทิม นำโดย บริษัทสวนหลวงก่อสร้าง (ลิ้มคุงโหมว) ได้เจรจากับทางจุฬาฯ เพื่อขอพื้นที่สร้างศาลเจ้าแห่งใหม่ และเป็นผู้นำสร้างถวายเอง จึงได้สร้างศาลเจ้าใหม่ให้แก่ "องค์เจ้าแม่ทับทิม" จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2513 ใช้ชื่อตามเดิมว่า "ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง" เป็นศาลเจ้าหลังที่เห็นในปัจจุบัน แต่ไม่ใช่ศาลเจ้าสร้างใหม่ที่อยู่ใน ‘อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’
"ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง" ที่สร้างในปี พ.ศ. 2513 ขณะนี้อยู่ในการดูแลของทายาทผู้ดูแลศาลเจ้ารุ่นที่ 4 คือ เพ็ญประภา พลอยสีสวย ซึ่งกำลังถูกจุฬาฯ ฟ้องขอคืนพื้นที่อีกครั้ง เป็นคดีความอยู่ในขณะนี้
เพ็ญประภากล่าวว่า ในปี 2513 เมื่อ "ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง" สร้างเสร็จ ก็ได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่ทับทิมองค์ดั้งเดิมที่พบตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 และเทพองค์อื่นๆ ครบทุกองค์มาประดิษฐานยังศาลเจ้าแห่งนี้ รวมทั้งมีการสร้างองค์เจ้าแม่ทับทิมองค์ใหม่ในปีนั้นขึ้นอีกด้วย
วันตรุษจีน คนไทยและคนไทยเชื้อสายจีนในกรุงเทพฯ มีธรรมเนียมนิยมตระเวนไหว้ศาลเจ้าต่างๆ เหมือนคนไทยไหว้พระ 9 วัด "ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง" ก็เป็นศาลเจ้าในหมุดหมายแต่งการตามการสักการะด้วยแห่งหนึ่ง
สำหรับ “องค์เจ้าแม่ทับทิม” แห่งศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง คุณเพ็ญประภากล่าวว่า ผู้คนนิยมมาขอพรใน 3 เรื่องด้วยกันคือ
- อันดับแรก ขอพรให้มีลูก โดยเฉพาะครอบครัวที่อยากได้ “ลูกสาว” มักสมหวังกลับไปทุกราย
- เรื่องที่สองคือ หน้าที่การงาน
- เรื่องที่สามคือ สุขภาพ
ของไหว้ ที่คนส่วนใหญ่นิยมนำมาไหว้ "เจ้าแม่ทับทิม" คือ ผลไม้ 5 อย่าง หลักๆ เน้น ‘ส้ม’ ภาษาจีนเรียกว่า ‘ไตกิก’ พ้องเสียงกับคำที่มีความหมายว่า ‘สิริมงคล’ หรือของไหว้อื่นๆ ชื่อมงคล กินแล้วอร่อย ก็นิยมนำมาไหว้กัน
"ที่นี่ไม่ได้กำหนดเรื่อง เจ-ชอ, ชอ คือ หมู เป็ด ไก่ มีคนนำมาไหว้เจ้าแม่ทับทิมก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่ที่ห้ามคือ 'เนื้อวัว' อาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ประเภทอื่นได้หมด ยกเว้นเนื้อวัว บางคนเชื่อว่าต้องไหว้เจอย่างเดียวก็มี กลุ่มที่ไหว้ชอก็มี ประเพณีเดิมของศาลเจ้าเราไม่ได้กำหนดเจหรือชอ” พุฒิพงศ์ กล่าว
“บางคนก็นำเครื่องสำอางแบรนด์เนม น้ำหอม มาไหว้ก็มี เพราะเห็นว่าเจ้าแม่เป็นผู้หญิง” เพ็ญประภา กล่าว
นอกจากองค์เจ้าแม่ทับทิบ ภายใน “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ยังมีเทพให้กราบสักการะขอพรอีกหลายองค์ ดังนี้
- กวนอู (ปางบุ๊น) ด้วยความที่ชุมชนละแวกนี้ทำการค้าขาย จึงมีการสร้างองค์กวนอูเป็นเครื่องเตือนใจให้ทำการค้าด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีลักษณะเป็นปางบุ๊นถือคัมภีร์ นิยมขอพรเรื่องการศึกษาได้ด้วย
- จูแซเนี้ย ถือเป็นเทพลิขิตแห่งการเกิด จึงนิยมกราบขอพรเรื่อง การเกิด และ ขอให้มีลูก
- แชเหล่งเอี้ย (เทพเจ้ามังกรเขียว) ในความเชื่อดั้งเดิมของชาวจีนแต้จิ๋ว เชื่อว่าเป็นเทพประจำสายน้ำ ให้ไหว้ด้วย “ของสด” เช่น หมูดิบ ไข่ดิบ ไก่ดิบ เหล้าเซ่งชุน ผู้ศรัทธานิยมไหว้ขอพรด้านโชคลาภ โดยเฉพาะการเสี่ยงโชค
- แป๊ะกง เน้นกราบขอพรเรื่องการศึกษา เป็นที่ศรัทธาของนิสิตจุฬาฯ และนักเรียนที่ตั้งใจสอบเข้าจุฬาฯ ก็นิยมมาไหว้ขอพร ไหว้ดวยธูปเทียนปกติ ใครสะดวกอะไรก็นำมา ไม่สะดวกก็ยกมือไหว้ได้เหมือนกัน
ขั้นตอนการไหว้องค์เทพที่ "ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง" ปฏิบัติตามธรรมเนียมการไหว้เจ้า คือให้เริ่มไหว้ ทีกง เทพเจ้าฟ้าดินภายนอกศาลเจ้าก่อนเป็นอันดับแรก ไหว้ด้วยธูป 5 ดอก
เมื่อเข้ามาในศาลเจ้า จึงเริ่มไหว้ องค์เจ้าแม่ทับทิม (และ ‘หูทิพย์’ กับ ‘ตาทิพย์’ ซึ่งเป็นบริวารเจ้าแม่) เป็นอันดับแรก ตามด้วย องค์กวนอู จูแซเนี้ย เทพเจ้ามังกรเขียว แป๊ะกง ไหว้ด้วยธูปองค์ละ 3 ดอก จากนั้นไหว้ ตี่จูเอี้ย(เจ้าที่) ใช้ธูป 5 ดอก เจ้าประตู(ทวารบาล) ไหว้ด้วยธูปฝั่งละ 1 ดอก รวมทั้งหมด 33 ดอก/1 คน ทางศาลเจ้าจัดเตรียมห่อไว้ให้ครบเรียบร้อย
ภายใน “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ยังมี โบราณวัตถุ อีก 1 ชิ้นสำคัญ นั่นก็คือ กระถางธูปพระราชทาน สลักอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จปร ย่อจากคำว่า “มหาจุฬาลงกรณ์ปรมราชาธิราช” พระนามในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)
พ.ศ.2454 (ร.ศ. 129) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) โปรดให้สร้าง กระถางธูปมีตราพระปรมาภิไธย จปร ประดิษฐ์แบบอักษรจีน เป็นเครื่องสังเค็ดพระราชทานแก่ “ศาลเจ้าจีน” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
โดย “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ก็ได้รับพระราชทานกระถางธูปดังกล่าวด้วย และยังคงใช้เป็น “กระถางธูปประธาน” สำหรับสักการะองค์เจ้าแม่ทับทิมมาจนถึงปัจจุบัน
มีเรื่องเล่าต่อกันมาภายในครอบครัวของผู้ดูแลศาลเจ้าว่า สาเหตุที่ศาลเจ้าได้รับพระราชทานกระถางธูป เนื่องจาก รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์มาถวายพระราชสักการะ ณ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” โดยมิมีผู้ใดทราบ เนื่องจากเสด็จพระราชดำเนินอย่างสามัญชน
“เมื่อก่อนเราไม่เคยเปิดเผย แม่แฟนจะสั่งไว้ เฝ้าดีๆ อย่าให้ใครมายกกระถางและองค์อาม่าไป พอแม่เสียไปแล้ว แฟนเรานี่แหละสงสัย เขาก็เลยขัดกระถางธูปทุกใบ เลยพบอักษร จปร ถึงได้รู้ เพิ่งจะเมื่อสิบปีที่ผ่านมา” เพ็ญประภา กล่าว
วันตรุษจีน 1 ก.พ. “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” เปิดให้กราบสักการะองค์เจ้าแม่และองค์เทพได้ถึง เวลาสองนาฬิกา (02.00 น.) เนื่องจากหลังเที่ยงคืนไปแล้ว บางคนเชื่อว่าเป็น “วันดี” คือเริ่มวันแรกของปีใหม่ จึงทยอยไหว้องค์เทพไปตามศาลเจ้าต่างๆ
นอกจากนี้ ตามธรรมเนียมชาวจีน หลังตรุษจีน 15 วัน ยังมีประเพณีที่เรียกกันว่า ห่วงเซียว ปีนี้ตรงกับวันที่ 15 ก.พ. พอดี เนื่องจากวันตรุษจีนตรงกับวันที่ 1 ก.พ.
ในประเทศจีนสมัยก่อน ลูกหลานที่อยู่ห่างไกลบ้านเกิด กลับมาไม่ทันตรุษจีน ชาวจีนก็จะใช้ “วันพระแรก” เดือน 1 ตามปีปฏิทินจีน ให้ลูกหลานได้มีโอกาสไหว้ปีใหม่อีกหนึ่งวัน ถือเป็นตรุษจีนเล็ก เรียกว่า “วันห่วงเซียว” พ้น 15 วันหลังตรุษจีนไปแล้ว ถือว่าหยุดการฉลอง เพราะเริ่มทำงานกันแล้ว
ตามธรรมเนียมของไหว้ที่ชาวจีนนิยมนำมาไหว้ใน “วันห่วงเซียว” คือ เจดีย์น้ำตาล น้ำตาลที่ปั้นเป็นรูปเจดีย์ และ สิงโตถั่ว ขนมถั่วทำเป็นรูปสิงโต ไหว้เพื่อความเจริญก้าวหน้า ตลาดเยาวราชจะมีขายเต็มไปหมดหลังตรุษจีน 15 วัน
“ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ไม่มีการทำพิธีแก้ปีชงมาตั้งแต่เริ่มตั้งศาลเจ้า เนื่องจากเป็น “ศาลเจ้า” ไม่ใช่วัดจีนที่มีพระจำวัดทำพิธี เมื่อไม่เคยมีพิธีแก้ชง คณะกรรมการศาลเจ้าเห็นว่าอะไรที่ศาลเจ้าไม่เคยทำก็จะไม่ทำ แต่การไหว้เทพเจ้าขอพรขอให้ทุกข์คลายหายไป ก็ช่วยเรื่องจิตใจได้ส่วนหนึ่ง
ตรุษจีน 2565 จะเป็นปีสุดท้ายหรือไม่ที่ผู้มีจิตศรัทธาจะมีโอกาสกราบสักการะ "องค์เจ้าแม่ทับทิม" อายุนับ 100 ปี ณ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมดั้งเดิมแห่งนี้ ต้องรอฟังคำพิพากษาต่อไป
* * * * * * *
ภาพโดย : ศุภกฤต คุ้มกัน