พลังหนังอินดี้ที่เทศกาล Sundance Film Festival 2022

พลังหนังอินดี้ที่เทศกาล Sundance Film Festival 2022

สรุปผลรางวัลเทศกาล Sundance Film Festival 2022 หนังอินดี้อย่าง Nanny, The Exiles มีดีตรงไหนถึงคว้ารางวัล Grand Jury Prize ไปครอง พร้อมรีวิวเรื่องเด่นๆ ที่ได้ใจคนดูอย่าง After Yang หนังไซไฟที่ถ่ายทอดมุมมองความเป็นมนุษย์และ AI ได้อย่างละมุนละไม พร้อมเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย

เทศกาลหนัง Sundance Film Festival ซึ่งร่วมก่อตั้งโดยนักแสดงรุ่นใหญ่ Robert Redford มาตั้งแต่ ค.ศ. 1984 ขึ้นชื่อในเรื่องการสนับสนุนผลงานหนังอิสระหรือ ‘หนังอินดี้’ ทั้งจากฝั่งอเมริกาเอง และหนังเล็ก ๆ จากทั่วโลก เน้นการคัดเลือกหนังเรื่องแรก ๆ จากผู้กำกับหน้าใหม่มือใหม่คล้ายจะเป็นเวทีแจ้งเกิดก่อนที่แต่ละคนจะมีโอกาสได้ทำหนังในสเกลใหญ่ขึ้นต่อไป

 

เดิมทีเทศกาลนี้จัดขึ้นเป็นประจำในทุก ๆ ช่วงต้นปี ที่ Salt Lake รัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา แต่จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา COVID-19 จากสายพันธุ์เก่าสู่สายพันธุ์ใหม่ ทำให้เทศกาล Sundance Film Festival 2022 ต้องปรับรูปแบบมาจัดแบบออนไลน์ต่อเนื่องกันถึงสองปีแล้ว โดยในปี 2022 นี้ ก็จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-30 มกราคม และได้เชิญสื่อและผู้ร่วมงานจากนานาชาติเข้าร่วมงานแบบออนไลน์ ร่วมชมภาพยนตร์ และลุ้นผลรางวัลไปพร้อม ๆ กับผู้ชมจากฝั่งสหรัฐอเมริกา

หลังจากฉายหนังผ่านระบบ streaming ของเทศกาลอย่างต่อเนื่องตลอด 10 วัน ช่วงเช้าของวันเสาร์ที่ 29 มกราคม เวลาประเทศไทย ทางเทศกาลก็ได้ประกาศผลรางวัลของสายต่าง ๆ ผ่านช่องทาง Twitter โดยมีรายชื่อหนังเด่นหนังดีที่คว้ารางวัลและน่าจะเป็นที่จับตามองของวงการภาพยนตร์กันต่อไป ดังต่อไปนี้

 

สำหรับสายการประกวดที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในเทศกาลก็คงหนีไม่พ้นหนังสายอเมริกันอินดี้ที่ได้แยกการประกวดออกเป็นสาย Dramatic เน้นการเล่าเรื่องโดยใช้คนแสดง และสาย Documentary หรือสารคดี

 

พลังหนังอินดี้ที่เทศกาล Sundance Film Festival 2022

สำหรับหนังที่ได้รับรางวัล Grand Jury Prize สาย U.S. Dramatic ประจำปีนี้ ได้แก่ หนังสยองขวัญผิวสีที่เหมือนจะตามรอยความสำเร็จของหนังดังอย่าง Get Out (2017) และ Us (2019) เรื่อง Nanny ของผู้กำกับหญิง Nikyatu Jusu

 

พลังหนังอินดี้ที่เทศกาล Sundance Film Festival 2022

 

หนังยังคงเล่าถึงโครงสร้างซ้อนทับทางชนชั้นในแบบอเมริกันผ่านการแบ่งแยกผิวสี โดยมี Aisha คุณแม่ผิวสีจากประเทศเซเนกัลที่ต้องแอบหนีเข้าเมืองมาหางานทำเป็นพี่เลี้ยงเด็กให้ครอบครัวศิลปินผู้มั่งคั่งผิวขาว ณ อพาร์ทเมนต์ใหญ่ในแมนฮัทตัน

 

โดยเธอให้บริการสัญชาตญาณการเป็น ‘แม่’ คอยเลี้ยงดูบุตรสาวตัวน้อยให้เจ้านายในวิถีทางที่เธอมองว่าบรรดามารดาทั้งหลายในโลกควรทำ ตอกย้ำให้เห็นถึงความ ‘ทำอะไรไม่เป็น’ ของคุณแม่ผิวขาวยอดแย่ ที่แผ่ขยายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคุณแม่ตัวจริง กับคุณแม่รับจ้างคู่นี้ได้อย่างน่าคิด

 

หนังใช้จริตในแบบฉบับของงานสยองขวัญสร้างภาพหลอนที่เกิดขึ้นในอพาร์ทเมนต์หลังนี้เป็นจำนวนมากมาย ก่อนจะเฉลยในช่วงสุดท้ายว่ามูลเหตุสำคัญของอภินิหารเหนือจริงเหล่านี้มันมีที่มาจากเหตุการณ์ใดกันแน่ นับเป็นงานสยองขวัญผิวสีที่เล่นประเด็นกับเพศแม่ได้อย่างแตกต่างดี

 

ส่วนหนังรางวัล Grand Jury Prize สาย U.S. Documentary นี่ก็ต้องเรียกว่า ‘แซ่บ’ ไม่แพ้กัน นั่นคือเรื่อง The Exiles ของผู้กำกับ Ben Klein และ Violet Columbus

 

พลังหนังอินดี้ที่เทศกาล Sundance Film Festival 2022

 

หนังได้พาคนดูไปย้อนรอยการถ่ายทำสารคดีที่สร้างไม่เสร็จของผู้กำกับหญิงเชื้อสายจีนที่อพยพมาอาศัยอยู่ในสหรัฐเมริกา Christine Choy ผู้เคยมีผลงานเข้าประกวดที่เทศกาลหนัง Sundance และมีงานเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาสารคดีขนาดยาวยอดเยี่ยมมาแล้ว

 

โดยเมื่อปี 1989 หลังเกิดการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินประเทศจีน Christine Choy ได้ติดตามถ่ายสารคดีเล่าชีวิตของอดีตแกนนำการประท้วงในครั้งนั้น ที่สุดท้ายต้องหนีการจับกุมของรัฐบาลจีนอพยพลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และฝรั่งเศส โดยที่พวกเขายังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศจีนได้ แต่การถ่ายทำดันทุนหมดเสียก่อน โครงการจึงพับไป

 

ผู้กำกับรุ่นหลาน Ben Klein และ Violet Columbus จึงพยายามสานต่อด้วยการเชิญให้ Christine Choy มาเล่าประสบการณ์ในครั้งนั้น แล้วขุดเอา footage เก่า ๆ ที่เธอเคยถ่ายไว้มาสานต่อเรื่องราวใหม่ในสารคดีเรื่องนี้

 

สิ่งที่น่าชื่นชมมากที่สุดก็คือบุคลิกของ Christine Choy นักทำหนังและอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้มีความเป็น ‘มนุษย์ป้า’ ปัญญาชนในแบบที่ควรเป็น โดยเฉพาะในช่วงที่เธอบริภาษรัฐบาลจีนที่ลบหน้าประวัติศาสตร์สำคัญปิดข่าวความรุนแรงและหลักฐานทุกอย่างจนไม่เหลือร่องรอย เพียงเพื่อจะบอกว่า ไม่มีผู้ใดเสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงด้วยกองทัพรถถังคันใหญ่ในครั้งนั้น!

ทำให้ป้า Christine Choy ต้องมาฟื้นฝอยรื้ออดีตเพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ว่าเคยเกิดอะไร ไม่ปล่อยให้ฝ่ายรัฐบาลจีนปกปิดความผิดอันแสนอำมหิตของตัวเอง ซึ่งก็ดูจะเป็นที่ถูกอกถูกใจของคนดูชาวอเมริกัน แม้ว่าเนื้อหาของมันจะเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของจีนเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม

 

มาที่สายการประกวดสำหรับภาพยนตร์โลก หรือ World Cinema นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกา โดยเรื่องที่ได้รับรางวัล Grand Jury Prize ในสาย World Dramatic ไป เป็นหนังเล็ก ๆ จากโบลิเวีย เรื่อง Utama ของผู้กำกับ Alejandro Loayza Grisi

 

พลังหนังอินดี้ที่เทศกาล Sundance Film Festival 2022

 

หนังเล่าเรื่องราวง่าย ๆ เน้นการใช้บรรยากาศเกี่ยวกับคู่สามีภรรยาชาวชนบทห่างไกลที่อาศัยอยู่ท่ามกลางที่ราบสูงธรรมชาติซึ่งกำลังขาดน้ำลงทุกที ๆ กระทั่งหลานชายของพวกเขา เดินทางมาเพื่ออาสาพาคุณตาคุณยายย้ายไปอยู่ในเมือง และเพื่อรักษาอาการป่วยไข้ของคุณตา ทว่าพวกเขาก็ยืนกรานที่จะใช้ชีวิตยึดติดกับธรรมชาติ ไม่ว่าสังขารจะโรยราเท่าใด แต่นั่นก็เป็นวิสัยที่ดำเนินไปตามครรลองของชีวิต

 

ในขณะที่หนังในสาย World Documentary ที่ได้รางวัลเดียวกันเรื่อง All That Breathes ของผู้กำกับ Shaunak Sen จากอินเดีย ก็ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตของพี่น้องสองหนุ่มมุสลิม Saud และ Nadeem ในกรุงนิวเดลี ที่มีอาชีพเป็นหมออาสาคอยพยาบาลเหยี่ยวนิลที่ปีกหักเกินจะโบยบินหลังโดนมลพิษในเมืองใหญ่ โดยพวกเขามีเคสให้ต้องดูแลวันละมากมายหลายตัวกลายเป็นภาพแปลกตากับอาชีพที่มีความเฉพาะทางเช่นนี้

 

พลังหนังอินดี้ที่เทศกาล Sundance Film Festival 2022

แต่หนังก็มิได้สนใจเฉพาะวิหคดำเหล่านี้เพียงอย่างเดียว ทว่าได้ติดตามถ่ายชีวิตของสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกัน ให้บรรยากาศแบบสารคดีสัตว์ National Geographic ที่ไม่ได้ถ่ายในป่า ทว่าอยู่ในใจกลางเมืองหลวงของอินเดียกันเลยทีเดียว!

 

พลังหนังอินดี้ที่เทศกาล Sundance Film Festival 2022

 

นอกเหนือจากหนังสายประกวดแล้ว หนังสายอื่น ๆ ที่ผู้คนสนใจชมไม่แพ้กันก็ยังมีสาย Spotlight นำเอาหนังอิสระเด่นดังที่เคยฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลอื่น ๆ มาให้แฟน ๆ เทศกาลได้ดูกัน และเรื่องที่ได้รับความสนใจมากคือ หนัง Sci-Fi แสนอบอุ่นเรื่อง After Yang ของผู้กำกับ Kogonada โดยมี Colin Farrell ร่วมนำแสดง และได้ฉายในสาย Un Certain Regard ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เมื่อปีกลาย

 

 

หนังดัดแปลงจากเรื่องสั้น Saying Goodbye to Yang ของ Alexander Weinstein เล่าเรื่องราวในอนาคตของครอบครัวหลากผิวสี พ่อเป็นคนขายใบชาผิวขาว แม่เป็น working woman ผิวสี มีลูกเลี้ยงเป็นเด็กหญิงชาวจีน พวกเขาจึงต้องซื้อหุ่นยนต์มนุษย์ Yang เชื้อสายจีนมาเลี้ยงเป็นพี่ชายที่แสนดีของหนูน้อยคนนี้

แต่เมื่อกลไกของ Yang เกิดลัดวงจรจนหยุดทำงาน สมาชิกในครอบครัวจึงรู้สึกว่าพวกเขาไม่สามารถนิ่งเฉยได้เพราะ Yang ได้กลายเป็นสมาชิกคนสำคัญในครอบครัวราวกับเป็นบุตรของพวกเขาจริง ๆ ซึ่งสิ่งนี้เองที่ทำให้ After Yang แตกต่างจากหนัง Sci-Fi โลกอนาคตเรื่องอื่น ๆ โดยทั่วไป เพราะมันสามารถวิเคราะห์มิติความเป็นมนุษย์ของหุ่นยนต์และ AI ได้อย่างละมุนละไมดีเหลือเกิน

 

ส่วนอีกเรื่องในสายนี้ที่เป็นที่นิยมไม่แพ้กันคือ Happening หนังฝรั่งเศสชนะรางวัลสิงโตทองคำเทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิสเมื่อปีกลายของผู้กำกับหญิง Audrey Diwan ดัดแปลงจากหนังสือบันทึกประสบการณ์ชีวิตของ Annie Ernaux เล่าเรื่องราวการตัดสินใจทำแท้งของ Anne หลังพลาดตั้งครรภ์กับแฟนหนุ่มในช่วงปี 1963 ซึ่งการทำแท้งยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

 

พลังหนังอินดี้ที่เทศกาล Sundance Film Festival 2022

หนังเล่าทุกอย่างอย่างสมจริง จนกลายเป็นงานดราม่าที่ให้อารมณ์คล้ายงานสยองขวัญ พร้อมด้วยฉากการพยายามทำแท้งด้วยตัวเองของหญิงสาวที่ดูแล้วต้องชวนให้ขนลุกจนไม่น่าแปลกใจที่ความแรงของมันจะทำให้หนังชนะรางวัลใหญ่ที่เวนิสมาแล้ว

 

ในส่วนของสาย NEXT สำหรับมุมมองของผู้กำกับหน้าใหม่ ๆ ก็มีหนังกึ่งสารคดีที่ใช้คนแสดงร่วมเรื่อง Framing Agnes ของผู้กำกับ Chase Joynt ที่ย้อนรอยประวัติศาสตร์หน้าสำคัญด้าน gender ของสหรัฐอเมริกา

 

 

เมื่อเขาได้กลับไปค้นเอกสารทางการแพทย์ของกรณีการผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิงของ Agnes ผู้ใช้นามสมมติเป็นรายแรกในช่วงปี 1960s แล้วนำมาบอกเล่าผ่านการสัมภาษณ์รายการโทรทัศน์จำลองโดยให้นักแสดง trans จริง ๆ มาร่วมรับบทบาท ประกาศจิตวิญญาณทั้งหลายทั้งมวลของเหล่า trans ในยุคบุกเบิกที่ความเลื่อนไหลทางเพศยังเป็นสิ่งผิดบาปและน่ารังเกียจ แม้แต่ในสังคมอเมริกันเอง!

 

ถึงแม้หนังจะถ่ายทำแบบง่าย ๆ ไม่ได้ลงทุนในส่วนโปรดักชันอะไรมากนัก แต่สิ่งที่ได้รับการบอกเล่าจากปากตัวละครซึ่งหยิบยืมมาจากคำให้การจริง ล้วนพลิกมุมมองได้อย่างน่าฟัง จนแทบไม่น่าเชื่อว่ากลุ่มคน trans รุ่นเดอะเหล่านี้เขาเคยพบเจออะไรมาบ้างในช่วงเวลาที่ย้อนกลับไปไม่ถึงหนึ่งร้อยปี

 

สำหรับหนัง LGBTQ เรื่องอื่น ๆ ของเทศกาลส่วนใหญ่จะไปอยู่ในกลุ่มหนังสั้น โดยสองเรื่องเด่นในสายนี้ก็มีเรื่อง Makassar Is a City for Football Fans กำกับโดย Khozy Rizal จากอินโดนีเซีย ความยาว 20 นาที ที่เล่าถึงความกดดันในชีวิตของ Akbar เกย์หนุ่มหุ่นหมีที่ไม่เปิดเผยตัวตน แต่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางกลุ่มเพื่อนผู้ชายแท้ ๆ ที่บ้าคลั่งการเชียร์ฟุตบอลและผลัดกันอวดประสบการณ์ทางกามกับผู้หญิง โดยที่ Akbar ไม่สามารถปริปากพูดอะไรได้เลยว่าเขาแอบมีใจให้เพื่อนหนุ่มในก๊วนเดียวกัน

 

พลังหนังอินดี้ที่เทศกาล Sundance Film Festival 2022

 

สะท้อนภาพสังคมวัยรุ่นชายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถเปิดรับความหลากหลายทางเพศในกลุ่มแก๊งค์ของตัวเองได้อยู่ดี

 

ส่วนเรื่อง Warsha จากเลบานอนของผู้กำกับหญิง Dania Bdeir ความยาว 16 นาที ก็เล่าถึงห้วงเวลาชีวิตของแรงงานก่อสร้างหนุ่มมุสลิมผู้อพยพมาจากซีเรีย และได้เข้ามาทำงานสร้างตึกระฟ้าแห่งใหม่ในกรุงเบรุต เขาได้อาสารับหน้าที่ควบคุมเครนยักษ์บนยอดตึกสูงเสียดฟ้า เพียงเพื่อจะได้มีอิสระในการออกลีลาวาดลวดลายกรีดกรายประกอบเพลงเต้นรำ ณ ห้องควบคุมที่จะไม่มีผู้ใดเห็นในชุดเดรสสีแดงเพลิง!

 

พลังหนังอินดี้ที่เทศกาล Sundance Film Festival 2022

 

สะท้อนการปลดปล่อยตัวตนในสังคมที่เขาไม่อาจบอกใครได้เลยว่าแอบเก็บอะไรไว้ในใจ ซึ่งก็ต้องถือว่าน่าใจหายที่ต่อให้เป็นยุคนี้สมัยนี้แล้ว ผู้คน LGBTQ ในหลาย ๆ พื้นที่ก็ยังจำเป็นต้องแอบซ่อนตัวตนในสังคมที่ไม่พร้อมจะทำความเข้าใจอิสรภาพแห่งวิถีเพศเหล่านี้ได้อยู่ดี