เปิดที่มา “ดอกป๊อปปี้” สัญลักษณ์ของ “วันทหารผ่านศึก” 3 กุมภาพันธ์
3 กุมภาพันธ์ ของทุกๆ ปี คือ "วันทหารผ่านศึก" ชวนหาคำตอบกันว่าทำไม "ดอกป๊อปปี้" จึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในวันสำคัญดังกล่าว
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ในแต่ละปี คนไทยจะคุ้นเคยกับภาพที่หน่วยงานของรัฐต่างๆ ออกมาจำหน่าย "ดอกป๊อปปี้" กันอยู่ทั่วไป เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ของ "วันทหารผ่านศึก" ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะนำรายได้จากการจำหน่ายดอกป๊อปปี้ไปเป็นทุนช่วยเหลือสงเคราะห์ทหารผ่านศึก
ว่าแต่.. ทำไมต้องใช้ "ดอกป๊อปปี้" เป็นสัญลักษณ์ของ "วันทหารผ่านศึก" ด้วยล่ะ? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ชวนรู้จักต้นกำเนิดและที่มาเกี่ยวกับดอกไม้ชนิดนี้ไปพร้อมกัน
- "วันทหารผ่านศึก" สำคัญอย่างไร?
ครั้งหนึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2488 สมัยนั้นเป็นสมัยที่ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ของประเทศไทย ซึ่งท่านได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหม เป็นผู้พิจารณาดำเนินการช่วยเหลือ "ทหารผ่านศึก" โดยจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณากองทุน หาทางช่วยเหลือทหารผ่านศึก
ด้วยตระหนักถึงคุณความดีของทหารหาญเหล่านั้น ที่เป็นกองกำลังในการปกป้องอธิปไตยของประเทศ พร้อมเผชิญหน้ากับศัตรูอย่างไม่หวั่นเกรงต่ออันตรายใดๆ ทหารทุกคนต่างสละได้ทุกสิ่ง ไม่เว้นแม้แต่ร่างกายและลมหายใจ
ในที่สุด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2538 คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้มีมติเห็นชอบให้จัดงาน "วันทหารผ่านศึก" เพื่อสดุดีวีรกรรมทหารผ่านศึก ทหารกล้าผู้ที่เสียสละเพื่อรักษาประเทศชาติ และได้ "สถาปนาองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก" ขึ้นมา ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491
โดยรัฐบาลกำหนดให้วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ดังกล่าวถือเป็น "วันทหารผ่านศึก" ของทุกปี เพื่อให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของทหารผ่านศึก รวมถึงให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ แก่ทหารผ่านศึก เนื่องจากทหารผ่านศึกบางคนได้รับบาดเจ็บจนต้องทุพพลภาพ เสียแขน ขา หรืออวัยวะที่สำคัญบางอย่างทำให้ไม่สามารถจะประกอบอาชีพได้เหมือนกับคนปกติ และไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานและสังคม
- องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ช่วยเหลือทหารยังไงบ้าง?
"องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก" เป็นหน่วยงานถาวรที่จะทำหน้าที่ในการดูแลให้การสงเคราะห์แก่ ทหารผ่านศึกและครอบครัวทหารผ่านศึกโดยตรง ซึ่งได้ขยายการสงเคราะห์ให้ครอบคลุมไปถึงทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน และพลเรือน ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ส่วนความช่วยเหลือนั้น รัฐได้มีการสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึกนอกประจำการ ด้วยการสงเคราะห์ด้านสวัสดิการทั่วไป ด้านอาชีพ มีการจัดอบรมอาชีพสำหรับทหารที่ทุพลภาพ ด้านเกษตรกรรม ด้านการรักษาพยาบาล ด้านส่งเสริมสิทธิและเกียรติ
- ทำไมใช้ "ดอกป๊อปปี้" เป็นสัญลักษณ์ "วันทหารผ่านศึก"
ต้นกำเนิดของ "ดอกป๊อปปี้" ที่ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ "วันทหารผ่านศึก" เกิดขึ้นเมื่อสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 1 เมื่อสงครามสงบลงเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 (พ.ศ. 2461) โดยฝ่ายพันธมิตรเป็นผู้มีชัยในสงคราม จอมพล เฮก มีความห่วงใยถึงทหารที่ร่วมเป็นร่วมตาย สละชีวิตเลือดเนื้อเพื่อประเทศชาติ จึงได้ก่อตั้ง "สันนิบาตสงเคราะห์ทหารผ่านศึก" ขึ้นในอังกฤษ และได้ถือเอาวันที่ 11 พฤศจิกายน เป็น "วันระลึกทหารผ่านศึก" เพราะตรงกับวันสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้สงบลงนั่นเอง
ต่อมา จอมพล เฮก ได้มีความคิดอีกว่าควรจะได้มีสัญญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงทหารที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในที่สุดจึงตัดสินใจใช้ "ดอกป๊อปปี้สีแดง" เป็นสัญญลักษณ์ของทหารผ่านศึกทั่วประเทศอังกฤษ เพราะในทางสากลแล้ว ดอกป๊อปปี้สื่อความหมายถึง "ทหารผ่านศึกผู้พลีเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อปกป้องมาตุภูมิอันเป็นที่รัก"
จากนั้นในปีถัดมา ก็เริ่มมีการประดิษฐ์ดอกป๊อปปี้ออกมาขายใน "วันทหารผ่านศึก" เพื่อขอรับการสนับสนุนจากประชาชน โดยเงินรายได้ทั้งหมดนำไปเป็นทุนช่วยเหลือสงเคราะห์ทหารผ่านศึก วันทหารผ่านศึกจึงถูกเรียกอีกอย่างว่า “วันป๊อปปี้” (POPPY DAY)
- 3 กุมภาพันธ์ "วันทหารผ่านศึก" ในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย กำหนดให้วันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น "วันทหารผ่านศึก" และมีการจัดทำ "ดอกป๊อปปี้" เพื่อจำหน่ายในวันทหารผ่านศึกเช่นกันกับต่างประเทศ โดยเกิดจากดำริของ ท่านผู้หญิง จงกล กิตติขจร ประธานมูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก ที่ต้องการจะดำเนินการหาทุนมาช่วยเหลือทหารและครอบครัวทหารผ่านศึก ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันประเทศ
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ส่งทหารเข้าร่วมรบในสงครามต่างๆ ในต่างแดนมาแล้ว โดยมีอนุสาวรีย์เชิดชูเกียรติปรากฏเป็นอนุสรณ์อยู่ วีรกรรมของนักรบไทยในการรบได้ขจรขจายไปทั่วปรากฏต่อสายตาชาวโลก ฉะนั้นเพื่อระลึกถึงเกียรติภูมิของนักรบกล้าหาญ จึงได้กำหนดให้ "ดอกป๊อปปี้" เป็นดอกไม้ที่ระลึกสำหรับทหารผ่านศึกไทย เช่นเดียวกันในต่างประเทศ และมีการจำหน่ายในวันที่ระลึกทหารผ่านศึกตั้งแต่ ปี 2511 เป็นต้นมา
- กิจกรรมในวันทหารผ่านศึก
กิจกรรมในวันทหารผ่านศึก ที่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดถือปฏิบัติเป็นประจำในทุกๆ ปี ได้แก่
- จัดจำหน่ายดอกป๊อปปี้ เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือทหารผ่านศึก รวมถึงนำสินค้าของทหารมาจำหน่ายกับประชาชน ถือเป็นการร่วมบริจาคช่วยเหลือทหารผ่านศึก
- จัดงานรำลึกทั่วประเทศ และจัดนิทรรศการเผยแพร่วีรกรรมของเหล่าทหารกล้า เพื่อเชิดชูเกียรติ ยกย่อง และเคารพในความกล้าหาญ ที่เหล่าทหารสามารถปกป้องผืนแผ่นดินไทยนี้ไว้ได้
- วางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และบำเพ็ญกุศลให้กับนักรบผู้ยิ่งใหญ่ ที่เสียสละชีวิตเพื่อความสงบสุขของประเทศชาติ ซึ่งในวันทหารผ่านศึกของทุกปี องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจะจัดพิธีวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเป็นการแสดงความคารวะต่อดวงวิญญาณของเหล่านักรบผู้กล้า
----------------------------------------
อ้างอิง ffwv.or.th/