สพลเชษฐ์ แสนโกศิก : NFT เครื่องมือการตลาดไร้ขอบเขต
"เอ็นเอฟที มีสิ่งที่เรียกว่า smart contract มันจะเปลี่ยนวงการ ‘ขายต่อ’ โดยสิ้นเชิง" สพลเชษฐ์ แสนโกศิก หนุ่มสถาปัตย์ผู้ตัดสินใจเปิดบริษัทบุกสู่ความเป็น Tech Company หาเม็ดเงินจากการคอลลาบอเรตทุกวงการ
ในตลาด คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) มี “เหรียญ” ประเภทหนึ่งกำลังได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก เรียกชื่อกันสั้นๆ ว่า NFT หรือ Non-Fungible Token ใช้แสดง ‘ความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัล’ เพียงหนึ่งเดียวที่คนๆ นั้นอยากครอบครองสิทธิ์ นิยมใช้กับสินทรัพย์ที่มี ‘ความเฉพาะตัวสูง’ อาทิ ภาพวาด เกมส์ ของสะสม
ในเมืองไทย ‘วงการศิลปะ’ เปิดรับกระแส NFT กันอย่างคึกคัก เป็นแพลตฟอร์มใหม่ของคนทำงานศิลปะทุกแขนง ทั้งช่วยเพิ่มช่องทางให้ผลงานเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้างในระดับโลก และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชิ้นงานศิลปะ
แต่ NFT เป็นได้มากกว่านั้น หนึ่งในคนรุ่นใหม่ผู้กำลังบุกเบิกเส้นทางสายนี้ในไทยคือ อินดี้-สพลเชษฐ์ แสนโกศิก ชายหนุ่มที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ จาก Architectural Association School of Architecture (AA) สถาบันทางสถาปัตยกรรมแห่งแรกของสหราชอาณาจักร ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสถาบันทางสถาปัตยกรรมที่ทรงเกียรติและมีอัตราแข่งขันสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
หลังสำเร็จการศึกษาดที่ AA เป็นช่วงเวลาที่ โควิด-19 ระบาดอย่างหนักในอังกฤษ สพลเชษฐ์ตัดสินใจเดินทางกลับมาเมืองไทยและพบโอกาสในการบุกตลาด NFT จึงเปิด บริษัท คราวน์เอ็กซ์ จำกัด นั่งบริหารงานในตำแหน่ง Chief Innovation Officer at Crownex หรือ กรรมการผู้จัดการ ด้านการลงทุนและนวัตกรรม พิสูจน์ฝีมืองานแรกด้วยการเปิดตัว ‘การ์ด NFT มิส ยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ 2021’ จำนวน 100,000 ใบ ประสบความสำเร็จถล่มทลาย ใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์ก็ซื้อขายกันใบละ 30,000 บาท
สพลเชษฐ์ แสนโกศิก ผู้บริหาร Crownex
จุดเริ่มต้นของ Crownex
“หลังจบ ม.1 สาธิตปทุมวัน ผมไปเรียนต่อไฮสคูลที่อังกฤษ Kingswood School เมืองบาธ (Bath) ห่างจากลอนดอนสองชั่วโมงครึ่ง เทียบเท่า ม.6 ก็เข้ามาลอนดอนเรียนสถาปัตย์อีก 3 ปี จบช่วงโควิดพอดี ก็กลับมาประเทศไทย ฝึกงานที่ ‘ไทย โพลีคอนส์’ แผนกสถาปัตย์
พอดีมีงานมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ (Miss Universe Thailand 2021-MUT) ผมก็เลยทักเพื่อนที่เคยอยู่อังกฤษ ไม่ได้เรียนโรงเรียนเดียวกัน แต่รู้จักกัน เขาทำงานเต็มเวลาที่ Bitkub ผมทักไปว่า MUT สามารถคอลลาบอเรตกับ Bitkub อย่างไรได้บ้าง
พอโปรเจคเปิดขึ้น เราก็จดทะเบียนบริษัทใหม่เลย สองเดือนก่อนการจัดประกวด MUT 2021 เพื่อต่อยอดในด้านอื่น เราไม่ได้ทำเฉพาะบริบทนางงามอย่างเดียว แต่เราสามารถคอลลาบอเรตกับแบรนด์ไหนก็ได้”
ขยายความการคอลลาบอเรตของ “คราวน์เอ็กซ์” กับแบรนด์อื่น
“เราอยากเป็น เทค คอมพานี (Tech Company) เราเกิดขึ้นจาก TPN Global คอลลาบอเรตกับ Bitkub เราเริ่มจากการได้รับสิทธิ์จากมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์นำคอนเทนต์มาเปลี่ยนเป็น digital asset (สินทรัพย์ดิจิทัล)ในโลกคริปโทเคอร์เรนซี คือจุดเริ่มต้น
แต่เราก็มองว่าคราวน์เอ็กซ์ไม่ได้อยู่ในแวดวงนางงามเท่านั้น การนำคอนเทนต์มาเป็นดิจิทัลแอสเซต เรามองว่าเป็น marketing tool ชิ้นใหม่ ที่อยู่ในโลกของบล็อกเชน
เหมือนเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ที่เป็นโซเชียลมีเดีย แต่คราวน์เอ็กซ์มองว่า เอ็นเอฟที มาร์เก็ตเพลส เป็นมาร์เก็ตติ้งทูลล์อันใหม่ที่ไม่มีขอบเขต หมายความว่า แบรนด์ไหนก็ตาม อาร์ติสคนไหนก็ตาม สามารถปล่อยโปรดักต์ตัวเองขึ้นไปให้โลกบล็อกเชนให้เห็นได้ คือไม่ได้อยู่เฉพาะในประเทศไทย เพราะมาร์เก็ตเพลสไปทั่วโลกได้ คุณอยู่ไทยก็สามารถลิสต์ (list) โปรดักต์ขายได้ที่อเมริกา หรือที่ไหนก็ได้ เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงมาร์เก็ตเพลสนั้นได้ง่าย
เหมือนการยิงโฆษณา แต่อันนี้เหมือนเป็นการสื่อสารอีกวิธีหนึ่ง ผ่านรูปแบบของ ‘อาร์ตเวิร์ค’ ที่เป็นไฟล์อะไรก็ได้ ที่จะขึ้นไปในลิสต์ขายในนั้น
ยกตัวอย่าง ‘มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2021’ เราทำการเหมือนว่าเอาคอนเทนต์มาแปลงเป็น การ์ดสะสม คือเป็นได้หลายรูปแบบ ไม่มีสิ่งตายตัวว่าต้องเป็นอย่างไรสำหรับเอ็นเอฟที แต่สำหรับการ์ดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ เราใส่ gimmick เข้าไปด้วย เราทำมา 7 drop เรียกเป็น ‘ดรอป’ เพราะเราแจกฟรี
ดรอปที่ห้ากับดรอปที่หก เราให้สำหรับเฉพาะท็อปโหวตเตอร์เท่านั้น ท็อปโหวตเตอร์ที่มากดรับการ์ดจะได้รับสิทธิพิเศษ ผมไม่อยากให้คนเข้าใจว่า ‘เอ็นเอฟที’ เป็นแค่การขายรูปภาพบนโลกดิจิทัล แต่เราสามารถพ่วงอะไรในโลกความเป็นจริงได้ สำหรับท็อปห้าโหวตเตอร์ใครมีการ์ดนี้มีสิทธิมารับประทานอาหารกับผู้เข้าประกวดที่ได้รับตำแหน่งห้าคนสุดท้าย”
นอกจาก MUT, รูปแบบธุรกิจยังมีลักษณะใดได้อีก
“รูปแบบธุรกิจ (business model) ของคราวน์เอ็กซ์ คือการเปลี่ยนคอนเทนต์มาเป็นดิจิทัลแอสเซต อีกโมเดลคือ เราต้องการไปคอลลาบอเรตกับแบรนด์ต่างๆ ไม่เฉพาะงานศิลปะ ผมว่าเป็น ไลฟ์สไตล์ ตอนนี้เราก็คุยกับ ฮอตโตะ บัน (Hotto Bun) เขาอยากทำเอ็นเอฟทีกับเรา ออตโตะบันจะคิดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ออกมา เช่น ถ้ามาที่ร้าน โชว์เอ็นเอฟทีตัวนี้ ซื้อสินค้าเอ ได้รับสินค้าบีฟรีทันที
แต่รูปแบบเอ็นเอฟทีก็ยังเป็นศิลปะอยู่ คือยังทำออกมาในธีมมิสยูนิเวิร์ส แต่ ‘ฮอตโตะ บัน’ มีคาแรคเตอร์ของเขา ผมก็เหมือนนำเรื่องราวของเขามาเล่าผ่านคราวน์เอ็กซ์
ยกตัวอย่างนะครับ ทีแรก ฮอตโตะ คุง (Hotto Kung) เป็นสติกเกอร์ในไลน์ของแบรนด์ฮอตโตะบัน เราจะนำตัวนี้มาปั้นเป็น ‘3 ดี โมเดล’ แบบดิสนีย์ พิกซา ให้เขามีตัวตนในโลกสามมิติผ่านเมตาเวิร์ส
ฮอตโตะบันเขามองว่า อันนี้เป็นพีอาร์แวลู (public relations value) เหมือนไปจ่ายอินฟลูเอนเซอร์ แต่คุณยังสามารถขายสินค้านี้ต่อ คือเป็นการลดราคาชนิดหนึ่ง ฮอตโตะบันก็สามารถขายเอ็นเอฟทีต่อได้ และได้พีอาร์แวลูด้วย”
‘คราวน์เอ็กซ์’ จะมีรายได้อย่างไร
“คราวน์เอ็กซ์มีรายได้จากโมเดลหลายแบบ อันแรกคือการขายเอ็นเอฟที ได้รายได้โดยตรง
แต่ด้วยเอ็นเอฟทีมีสิ่งที่เรียกว่า smart contract (สัญญาอัจฉริยะ) มันจะเปลี่ยน วงการ ‘ขายต่อ’ โดยสิ้นเชิง สมมุติผมเป็นคนลิสต์สินค้าขึ้นไป ขายให้นายเอ นายเอขายสินค้าผมไปให้นายบีอีกต่อ สิ่งที่เรียกว่าสัญญาอัจฉริยะคือ เราสามารถกำหนดได้ว่า ‘การขายต่อ’ เราจะได้กี่เปอร์เซ็นต์
ถ้าเราสร้างแบรนดิ้งที่แข็งแกร่ง ผลิตโปรดักต์ของเราออกมาเรื่อยๆ จะมีการ ‘ขายต่อ’ ไปเรื่อยๆ แล้วเราก็จะได้สิบเปอร์เซ็นต์ สิบเปอร์เซ็นต์ ไปตลอดชีวิตจากตรงนั้น
อีกโมเดล คือการคอลลาบอเรตกับแบรนด์ต่างๆ เขาก็จ่ายเป็น ค่า fee สำหรับการแปลงคอนเทนต์เป็นดิจิทัลแอสเซต เรียกค่า Minting (มิ้นติ้ง) เราก็จะมีเซอร์วิสด้วยที่เราพาร์ทเนอร์ เช่น ซื้อเอ็นเอฟที ได้สิทธิพิเศษ ซึ่งเรากำลังร่วมมือกับ World Reward Solution ซึ่งเชี่ยวชาญด้านบริการ
ตอนนี้เรากำลังจะเข้าสู่ วงการดิจิทัลแฟชั่น ด้วย จะเล่าเรื่องราวผ่าน เมตาเวิร์ส แต่เราก็สามารถแปลงมาเป็น physical product ได้ เช่น เรากำลังจะปั้นแอนชิลี (มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2021) สมมุติผมทำมา 100 ก็อปปี้ ถ้าคุณซื้อไป คุณจะได้เสื้อฮู้ดดี้ลิมิเต็ดอิดิชั่นอวตารแอนชิลีพริ้นต์อยู่ด้วย เป็นการสร้าง supply demand แบบใหม่ทันที เพราะปกติ..เสื้อผ้าเวลาทำออกมาเป็นพันชิ้น แต่อันนี้เป็นลิมิเต็ดสุดๆ มีแค่ 100 ชิ้น และคุณต้องซื้อเอ็นเอฟทีเท่านั้นคุณถึงจะได้ฮู้ดดี้
เป็นอะไรที่ใหม่มาก และเราจะเป็นเจ้าแรกที่ทำอะไรแบบนี้ เหมือนเราจะครีเอทไฮสตรีทแฟชั่นอีกรูปแบบหนึ่งผ่านเอ็นเอฟที”
* * * * * * * * *
ภาพ : กอบภัค พรหมเรขา