“เทศกาลหยวนเซียว” กินขนม-ชมโคมไฟ จะโชคดีมีสุข
“เทศกาลหยวนเซียว” (元宵节) หรือ “เทศกาลแขวนโคมไฟ” ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน วันนี้คนออกมาชมโคมไฟและกินขนมหยวนเซียว บ้างก็ว่าเป็นวัน “วาเลนไทน์” ของจีน
ชาวจีนมี วันแห่งความรัก หรือ วันชีซี ตรงกับวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7 ตามตำนานสาวทอผ้ากับหนุ่มเลี้ยงวัว ส่วน เทศกาลหยวนเซียว หรือ เทศกาลแขวนโคมไฟ เป็นวันสุดท้าย (วันที่ 15) ของ เทศกาลตรุษจีน และเป็นคืนแรกของปีใหม่ที่เห็นพระจันทร์เต็มดวง ปีนี้ตรงกับวันที่ 15 กุมภาพันธ์
เทศกาลแขวนโคมไฟ (ภาพ: scmp.com)
คืนที่สว่างสดใสนี้ยิ่งกระจ่างมากขึ้น ด้วย ประเพณีแขวนโคมไฟ เดินเที่ยวชมโคมไฟ และกิน ขนมหยวนเซียว หรือบัวลอยลูกกลม ๆ แป้งเหนียวนุ่ม ไส้ชนิดต่าง ๆ
เทศกาลหยวนเซียว (ภาพ: tasmeemme.com)
ถ้าดูในหนังหรือซีรีส์จีน ตัวละครจะออกมาเที่ยวชมโคมไฟ เล่นทายปริศนาโคมไฟ แล้วแวะกินขนมก่อนซื้อโคมไฟกลับบ้าน
Cr. studycli.org
ชาวจีนโบราณเชื่อว่าเป็น วันแห่งความรัก ด้วย เพราะผู้หญิงจีนสมัยก่อนเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน เมื่อถึงเทศกาลชมโคมไฟ พวกเธอก็มีโอกาสออกจากบ้าน ไปชมโคม ไปเจอคน...เด็ก ๆ ได้ออกมาเที่ยวเล่น และนิยมให้เด็ก ๆ ถือโคมไฟรูปสัตว์ต่าง ๆ เชื่อว่าจะโชคดี และวันนี้แม่สื่อจะทำงานหนักเป็นพิเศษ...
Cr.chinadailyhk.com
คำว่า “หยวน” (元) แปลว่า ความก้าวหน้า, ที่หนึ่ง “เซียว”(宵) แปลว่า กลางคืน "เจี๋ย" (节) แปลว่า เทศกาล
เทศกาลหยวนเซียว หรือ Chinese Lantern Festival ถือเป็นประเพณีสำคัญของชาวจีน มีมากว่า 2,000 ปีแล้ว โดยฮ่องเต้ฮั่นหมิงตี้ (ค.ศ.28-75) แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ.25-220) ในรัชสมัยของพระองค์ พุทธศาสนานิกายมหายาน เริ่มเผยแผ่เข้าสู่จีน ต่อมาได้ส่งคณะทูตไปอินเดียเพื่ออัญเชิญ “พระไตรปิฎก”
Cr.easytourchina.com
และเมื่อทรงทราบว่าพระสงฆ์จะจุดโคมไฟในวัดเพื่อสักการะพระพุทธเจ้าในวันนี้ พระองค์จึงสั่งให้วัดต่าง ๆ รวมถึงบ้านเรือน จุดโคมไฟในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย เพื่อเป็นพุทธบูชา และเพื่อประกาศว่ารัชสมัยของพระองค์ ได้รับพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่แผ่นดินจีน
Cr.atlanticstation.com
ในพระราชวัง วัดวาอาราม ถนนหนทาง และบ้านเรือนราษฎร ล้วนแขวนโคมไฟ “สีแดง” แสดงถึงความโชคดี โคมไฟ ออกเสียงว่า เติง (灯) คล้ายกับคำว่า “ติง” (丁) หมายถึง “ทารก” สื่อถึง การกำเนิดใหม่ และแสงสว่างแห่งอนาคต ชาวบ้านเชื่อว่าเมื่อขอพรให้มีลูกใต้โคมไฟใน เทศกาลหยวนเซียว แล้วจะสมหวัง
โคมไฟสีแดง เป็นสัญลักษณ์ที่เป็นสิริมงคล เวลาต่อมา “โคมไฟ” ก็เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ในเทศกาลแห่งความสุข เช่น เทศกาลไหว้พระจันทร์ งานมงคลต่าง ๆ
นอกจากชมโคมไฟ แสงสีสวยงามที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เช่น ประดิษฐ์โคมไฟรูปแบบต่าง ๆ มีสารพัดสี มีการแสดงเชิดสิงโต งานรื่นเริง แต่อย่างหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนคือกิน ขนมหยวนเซียว (元宵) หรือ ทังหยวน (湯圓) ซึ่งคือ บัวลอย แต่ของจีนลูกใหญ่กว่า
ขนมหยวนเซียว (ภาพ: easytourchina.com)
หยวนเซียว ลูกกลม ๆ ใส่ในชามกลม ๆ สื่อถึง การอยู่ร่วมกัน ความสมัครสมานกลมเกลียว ซึ่งเป็นขนมมงคลในเทศกาลต่าง ๆ ด้วย
ในประเทศจีน ฮ่องกง ไต้หวัน ยังคงประเพณี เทศกาลหยวนเซียว ชมโคมและกินขนม
Cr. thebeijinger
ขนมหยวนเซียว ทำจากแป้งข้าวเหนียวปั้นเป็นลูกกลม ๆ ข้างในมีไส้งาดำ หรือไส้ถั่วแดง หยวนเซียว ต่างจาก ทังหยวน คนจีนบอกว่า หยวนเซียว วิธีทำซับซ้อนกว่าหน่อย แป้งจะเหนียวหนุบกว่า (จากกรรมวิธีทำ) และใส่กลิ่นของ “ดอกหอมหมื่นลี้” น้ำก็จะข้นกว่าและหอมกลิ่นข้าว ส่วนไส้มักเป็นงาดำ รสชาติหวาน คนจีนบอกว่า เทศกาลรื่นเริงต้องกินขนมหวาน ๆ กลม ๆ จะโชคดี
ทังหยวน (ภาพ: CGTN)
ขนมหยวนเซียว สูตรดั้งเดิมมาจากภาคเหนือ ส่วน ทังหยวน วิธีทำเหมือนทำติ่มซำ ปั้นแป้งข้าวเหนียวที่นวดอย่างดีเป็นก้อนกลม ๆ แล้วยัดไส้ สูตรดั้งเดิมไส้มันหมู ต่อมาพัฒนาเป็นไส้งาดำ ถั่วแดง ถั่วผสมเนย และมีหลายสี บางคนก็ทำเป็นรูปหมู รูปหมีแพนด้า บางสูตรก่อนกินเหยาะแยมโกจิเบอร์รี่ หรือแยมดอกหอมหมื่นลี้
ทังหยวนแบบคาว (ภาพ: thewoksoflife.com)
ทังหยวนแบบคาว เริ่มมาจากชาวฮากกา หน้าตาก็เหมือนบัวลอยลูกใหญ่ ๆ แต่ไส้ทำจากหมูหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เห็ดหอมแห้งแช่น้ำให้นิ่มตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ หัวผักกาดเค็ม กุ้งแห้ง หั่นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้วผัดคลุกเคล้ากัน ปรุงรสเค็มมีหวานนิดหน่อย ทำเป็นไส้ในบัวลอยแล้วลงต้ม ก่อนเสิร์ฟโรยผักชีต้นหอม นิดหน่อย
กินขนม ชมโคม แล้วแหงนชมจันทร์ รับปีใหม่อย่างมีความสุข...
อ้างอิง : www.thebeijinger.com, www.chinadaily.com, www.jeenthainews.com