ถึงเวลาเปลี่ยน “การศึกษาแบบใหม่” ต้องสร้างคนให้ทันโลก
โลกเปลี่ยนแปลงไป “ระบบการศึกษา” ก็ต้องเปลี่ยนตาม เพื่อตอบสนองโลกยุคดิจิตอลที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิม เด็กๆ ต้องก้าวต่อไปอย่างรู้เท่าทันโลก
กลายเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูหลักสูตรของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า อาจมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์และสถาบัน
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงการณ์ต่อสาธารณชนยืนยันว่า โรงเรียนสอนให้เด็กรู้จักคิด เคารพความหลากหลาย เพราะปรัชญาของโรงเรียนคือ "การเรียนรู้ที่ดี เป็นสิ่งประเสริฐสุดของชีวิต" โรงเรียนมีองค์ประกอบที่จะพัฒนาเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ
- ตอบคำถามการเรียนรู้ของเด็ก
อาจารย์ปฎิพัทธ์ สถาพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกระบวนการเรียนรู้มัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนสาธิตฯ มธ. กล่าวในงานเสวนา "การศึกษาเเบบใหม่กับความท้าทายในระบอบสังคมเดิม" เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ผ่านทาง Facebook Live เพจก่อการครู เเละ Mappa ว่า
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้หลายเรื่อง ตั้งแต่รู้เท่าทันสื่อ ได้เห็นบทบาทหน้าที่ของคนในสังคม มีเด็กมาถามว่าตกลงเราอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงไหนครับ กระทรวงศึกษาธิการหรือกระทรวงอุดมศึกษากันแน่ ได้เห็นความคิดเด็กที่มีต่อเรื่องราวในสังคม ไม่มีอะไรต้องปิดบังสิ่งที่เราสอนในโรงเรียน แต่ไม่ใช่การล้างสมองแน่นอน”
Cr.โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขณะที่ อาจารย์อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนสาธิตฯ มธ. กล่าวว่า เรากำลังสร้างสิ่งใหม่ที่อยู่ในฐานระบบสังคมเดิม
“คนที่มี Mindset (กรอบความคิด) แบบเดิม ไม่เข้าใจ กลัวการเปลี่ยนแปลงจะมาคุกคามคุณค่าบางอย่างที่เขายึดถือเอาไว้ เราต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน
เพราะการเปลี่ยนแปลงคือธรรมชาติของโลก สรรพสิ่งไม่มีอะไรที่หยุดนิ่ง การศึกษาถ้าไม่เปลี่ยนมันจะตาย น้ำนิ่งคือน้ำที่ตาย ต้องขับเคลื่อนไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลกของสังคม”
Cr.โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- การศึกษาแบบเดิมไม่ตอบโจทย์
ดร.นาฎฤดี จิตรรังสรรค์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนสุจิปุลิ มีความคิดเห็นว่า โลกในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว
“ในอนาคต เด็กไม่ได้เรียนไปเพื่อสอบ แต่เรียนเพื่อเอาความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันในอนาคต ต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับงานที่ยังไม่มีในวันนี้ เพื่อใช้เทคโนโลยีที่ยังไม่เกิด เพื่อแก้ปัญหาที่ยังไม่รู้ว่าคืออะไร ในโลกที่ไม่แน่นอน
ไม่รู้ว่าวันนี้จะเรียนออนไลน์หรือออนไซต์ เขาต้องเปลี่ยนแปลงยืดหยุ่นตลอดเวลา ดังนั้นชุดความรู้แบบเดิม วิธีการแบบเดิม ที่รอให้คุณครูมาสอน แล้วอ่านหนังสือไปสอบ ไม่มีประโยชน์ในอนาคตแล้ว ทุกคนต้องลุกขึ้นมาเรียนรู้ในสิ่งตัวเองถนัด"
Cr.โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขณะที่ อาจารย์อธิษฐาน มองว่า การศึกษาระบบเดิม มีการเรียนรู้ที่ไม่ทันสมัย
“เด็กมีคำถามตลอดเวลา เรียนอันนี้ไปทำไม ไม่สัมพันธ์กับสิ่งที่เขาเรียนรู้ ในเรื่องการศึกษา ไม่มีอะไรเป็นคำตอบสุดท้าย
ตัวหลักสูตรร.ร.สาธิตที่เราทำอยู่ ไม่ได้ทิ้งของเก่า เราดูเชิงวัฒนธรรม การอยู่ร่วมกันของคนในโรงเรียนด้วย มายน์เซ็ตของครู การทำงานกับพ่อแม่ สร้างสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการเติบโตของเด็ก แก่นการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละช่วงวัย
ถ้าเด็กไม่รู้สึกปลอดภัย แม้บทเรียนนั้นจะเลิศหรูแค่ไหน ก็ไม่เข้าไปในตัวเด็ก เราดูทุกมิติ คลายปมปัญหาที่มันติดขัด ถอดบทเรียนอยู่ตลอดเวลา
ครูในโรงเรียนมีวัฒนธรรมสะท้อนตัวเองหลังการเรียนการสอน ปรับหลักสูตรทุกๆ 4-5 ปี เพราะโลกเปลี่ยนไปทุกปี เด็กคือผู้ได้รับผลของการใช้หลักสูตรนั้น แล้วให้พื้นที่กับเด็กๆ ได้มีโอกาสร่วมสร้างสรรค์เรียนรู้กับครูด้วย"
Cr.โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผลกระทบจากระบบการศึกษาแบบเก่า
อ.อธิษฐาน พบว่า มีเด็กเจ็บป่วยมากขึ้นจากระบบการศึกษาแบบเดิม
“มีเด็กจำนวนมากรู้สึกว่า ตัวเองเป็นผู้แพ้ ดีไม่พอ บางคนรู้สึกว่าพื้นที่ในโรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย แค่อยู่ให้ชีวิตรอด เรียนๆ ไปให้จบๆ
พอถามว่า ชอบและถนัดอะไร บางคนตอบไม่ได้ เรียนให้จบตามที่พ่อแม่บอก เรียนตามที่สังคมบอก แต่เรียนแล้วไม่เจอเป้าหมายชีวิต ไม่เจอตัวเอง
เด็กซึมเศร้ามากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ระดับมัธยม มีเด็กเสียชีวิตเพราะฆ่าตัวตายเยอะขึ้น ถ้าเราเมินเฉยปัญหานี้มันจะรุนแรงขึ้น
เราทำงานไม่ใช่แค่ให้ความรู้ แต่ต้องดูแลชีวิตจิตใจของเขาด้วย ทำให้เขารู้สึกว่า เขามีคุณค่า ไม่ว่าเขาจะแตกต่างหรือไม่ถนัดบางอย่าง ไม่เก่งวิทย์ ไม่เก่งคณิต แต่มีคุณค่า มีความเก่งเชี่ยวชาญในมุมอื่น เป็นโรงเรียนที่เปิดพื้นที่ให้กับความแตกต่างหลากหลาย
การศึกษาแบบเดิมมี การแข่งขัน เชิดชูคนเก่ง บ่มเพาะค่านิยม ถ้าเธอไม่เก่ง เธอไม่มีที่ยืน ถ้าไม่มีรูปโชว์หน้ารั้วโรงเรียน แปลว่า ยังดีไม่พอ
ทางโรงเรียนเรารื้อรูปพวกนี้ออกหมดเลย สร้างพื้นที่ของความร่วมมือ ยอมรับความแตกต่าง ไม่มีลำดับที่ว่าใครสอบได้ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม...
Cr.โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ส่วน ดร.นาฎฤดี มองว่า การเรียนในระบบการศึกษาเดิม จะทำให้เด็กๆ ไม่รู้จักตัวเอง
“เคยถามเด็กประถมว่า รู้ไหมว่าเรียนไปทำไม เด็กตอบว่า เรียนไปเพื่อสอบ เรียนไปเพื่อพ่อแม่ เรียนเพื่อโตขึ้นจะได้ทำงานดีๆ
เคยเจอเด็กที่ไม่กล้าเขียน ไม่กล้าตอบ เพราะกลัวว่าจะตอบผิด ถามอะไรก็บอกไม่รู้ ปิดกั้นป้องกันตัวเอง แล้วก็เจอเด็กทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ได้เกรดดีๆ
การศึกษาแบบใหม่ เด็กเรียนแล้ว เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ พัฒนาตัวเองให้เก่งได้ รู้ตัวเองว่าชอบอะไร ถนัดแบบไหน มีศักยภาพอะไร สามารถดูแลตัวเอง มีสุขภาวะร่างกายจิตใจดี ยืนหยัดได้เวลาพ่ายแพ้หรือล้มเหลว เราต้องยืดหยุ่น เพราะโลกมันเปลี่ยนแปลงไปเสมอ
เราเน้นความพยายามสำคัญกว่าชัยชนะ มีวงกลมอยู่สองวง วงกลมที่เราควบคุมได้ กับวงกลมที่ควบคุมไม่ได้ ถ้าเราทำทุกอย่างเต็มที่ในสิ่งที่เราควบคุมได้ในวงกลมของเราหมดแล้วไม่ได้ ไม่ต้องเสียใจ
เพราะมีสิ่งที่ควบคุมไม่ได้คือ ใครจะว่าเรา หรือคนอื่นเขาไม่เปลี่ยนแปลง ระบบไม่เปลี่ยน ถ้าเราไปทุกข์ทรมานกับมัน เราก็จะใช้ชีวิตอย่างไม่มีความสุข"
Cr.โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ระบบการศึกษาใหม่ เรียนตามความสนใจ
อาจารย์ปฏิพัทธ์ มองว่า การศึกษาแบบใหม่ ไม่มีสูตรสำเร็จ เป็นไปตามความสนใจของเด็กแต่ละคน
“เรามีคำพูดว่า มัธยมต้นหลากหลาย มัธยมปลายลงลึก รูปแบบการเรียนแบบใหม่ ไม่มีสูตรสำเร็จ มัธยมต้น ให้เขาสำรวจวิชาพื้นฐานให้ครบทุกด้าน ให้เลือกชมรมเอง เปลี่ยนไปทุกเทอม ดูว่าความสนใจของตัวเองอยู่ที่ไหน
พอ มัธยมปลาย ไม่มีสายวิทย์ สายศิลป์ เด็กๆ ต้องวางเป้าหมายของตัวเองว่าจะเลือกเรียนต่อหรือว่าประกอบอาชีพ
เริ่มเรียนวิชาเฉพาะทางที่ผสมได้หลายกลุ่ม ไม่จำกัดว่าสนใจหมอแล้วต้องเรียนแต่ชีววิทยา อาจไปเรียนศิลปะวาดภาพก็ได้ การศึกษาแบบใหม่ตอบสนองความสนใจของเด็กๆ ที่ต้องวางแผนด้วยตัวเองแล้วมีคุณครูคอยสนับสนุน
Cr.โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร.นาฏฤดี บอกว่า การศึกษาแบบใหม่ไม่ได้บอกว่า ของเก่าไม่ดี
“ของเก่าไม่ได้ล้าสมัยไปทั้งหมด ยังมีของเก่าที่ดีทันสมัย เราเอามาต่อยอดเป็นแนวคิดระดับสากล พัฒนาศักยภาพของเขาไปให้ถึงขีดจำกัด ถ้าเขาได้ทำงานที่เขารัก เวลาเจอปัญหาก็คือความท้าทาย
ทำให้อยู่ในโลกอนาคตได้อย่างมีความสุข ส่งเสริมการทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ไม่ได้เรียนรู้เพื่อตัวเองอย่างเดียว แต่เรียนเพื่อสังคม คนรอบข้าง และโลกใบนี้ เราก็จะได้พลเมืองที่ดี”
ขณะที่ อ.อธิษฐาน มองว่า เปลี่ยนจากครูเป็นผู้รู้ทุกอย่าง มาเป็นผู้ที่เขาไว้วางใจได้
“การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก เปลี่ยนบทบาทจากครูเป็นผู้รู้ทุกอย่าง มาเป็นครูที่ร่วมเรียนรู้กับเด็ก เขาจะไว้วางใจ เวลาเจอปัญหาที่คุยที่บ้านไม่ได้ เขาก็มีครูที่ฟังเขาโดยไม่ตัดสิน ช่วยเหลือได้
ทำให้เด็กมีคุณภาพ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน รักชาติ มีระเบียบวินัย ด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะเราเปลี่ยนใครไม่ได้ แต่เราจะทำให้เด็กได้รับการศึกษาที่ดี เติบโตขึ้นเป็นคนที่มีคุณภาพ"