เกร็ดประวัติศาสตร์ 50 ปี หนังในตำนาน “The Godfather”
กว่าจะมาเป็นหนังที่ยิ่งใหญ่ เป็นตำนานของวงการภาพยนตร์ ผู้กำกับ และนักแสดง “The Godfather” ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ตามอ่านกันได้ในเกร็ดประวัติศาสตร์ของหนังเรื่องนี้
ในวันที่ 15 มีนาคม 2565 ที่กำลังจะถึง ภาพยนตร์เรื่อง The Godfather (เดอะ ก๊อดฟาเธอร์) ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “หนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยสร้างกันมา” จะมีอายุครบ 50 ปีบริบูรณ์
พาราเมาท์ พิคเจอร์ส ได้ทำการบูรณะฟิล์มขึ้นมาใหม่อย่างพิถีพิถันโดยใช้เวลานานถึง 3 ปี ก่อนจะนำ The Godfather ออกฉายในระบบ 4K Ultra HD เป็นครั้งแรกตามโรงภาพยนตร์ทั่วโลก แต่เป็นการฉายแบบจำกัดโรงภายในระยะเวลาไม่นานเท่านั้น
สำหรับบ้านเรา ยูไอพี ประเทศไทย (UIP Thailand) ได้นำ The Godfather ฉบับที่ผ่านการบูรณะแล้ว มาฉายแบบจำกัดโรงภาพยนตร์เป็นเวลาเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้
โดยมีโรงหนังที่เข้าฉายตามรูปนี้
เพื่อเป็นการต้อนรับการกลับมาของภาพยนตร์สุดคลาสสิก เราได้นำเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของ The Godfather มาให้รับรู้กันว่าทำไมภาพยนตร์เรื่องนี้มีความยิ่งใหญ่ขนาดใหญ่ และทำไมถึงกลายเป็นตำนานของวงการภาพยนตร์
-
The Godfather สร้างจากอาชญนิยายของ “มาริโอ พูโซ” กำกับโดย “ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา” ได้รับเสียงชื่นชมว่าคัดเลือกตัวนักแสดงมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ (perfect cast) ได้แก่ มาร์ลอน แบรนโด, อัล ปาชิโน, ไดแอน คีตัน, เจมส์ คาอัน, โรเบิร์ต ดูวัลล์
-
The Godfather ได้เข้าชิงออสการ์ 11 สาขา ในปี 2516 ชนะไป 3 สาขา คือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (มาร์ลอน แบรนโด), บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (มาริโอ พูโซ, ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา)
-
ในตอนแรก พาราเมาท์ พิคเจอร์ส ตั้งใจจะสร้าง The Godfather เป็นหนังแก๊งสเตอร์ต้นทุนต่ำ เน้นการยิงกันสนั่นหวั่นไหว แต่ผู้กำกับไม่เห็นด้วยเพราะไม่อยากให้ความสำคัญกับแก๊งมาเฟียมากไป จึงมีการปรับแก้บทใหม่จนกลายมาเป็นเวอร์ชั่นที่ได้ดูกัน
-
“ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา” ไม่ใช่ตัวเลือกแรก แต่ผู้กำกับหลายคนที่ทางค่ายติดต่อไปปฏิเสธหมด เลยทำให้เขาได้นั่งแท่นผู้กำกับ ทว่า ช่วงแรกที่ถ่ายทำ สถานะของคอปโปลาก็ยังไม่มั่นคง เพราะพวกผู้บริหารมองว่าหนังของเขาเยิ่นเย้อ ตัวละครพูดกันเยอะไป จนกระทั่งถ่ายทำถึงฉากที่ไมเคิลลงมือฆ่าซอลลอสโซกับแมคคลัสกี้ พวกผู้บริหารเหล่านั้นถึงเปลี่ยนใจ
-
พวกผู้บริหารยังต้องการให้คอปโปลาเปลี่ยนบท The Godfather เป็นหนังแอ็คชั่นสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในปี 1972 และถ่ายทำในแคสซัส ซิตี้แทน เพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่คอปโปลายืนกรานว่าต้องเป็นหนังย้อนยุค เกิดขึ้นในนครนิวยอร์ก ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตรงตามต้นฉบับในหนังสือเท่านั้น
-
คอปโปลาต้องงัดข้อกับผู้บริหารของพาราเมาท์แทบจะทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นโลเคชั่น งบประมาณ นักแสดง การถ่ายทำที่ล่าช้ากว่ากำหนด เพลงประกอบ ฯลฯ จนถึงขนาดที่คิดว่าตัวเองอาจถูกไล่ออกได้ตลอดเวลา ขณะที่มีข่าวว่าทางค่ายเองก็ถึงขั้นเตรียมหาผู้กำกับสำรองไว้แทนคอปโปลาแล้วด้วยเช่นกัน
-
มาร์ลอน แบรนโด ก็ออกมาช่วยด้วยการบอกว่าถ้าคอปโปลาถูกไล่ออก เขาก็จะออกด้วย จึงทำให้แรง กดดันเบาลง
-
“มาร์ลอน แบรนโด” เป็นอีกคนที่ทางพาราเมาท์ไม่ต้องการให้มาเล่น ถึงขนาดตั้งเงื่อนไขเอาไว้ 3 ข้อว่า แบรนโด (ซึ่งเป็นดาราใหญ่มากแล้วในตอนนั้น) จะต้องมาแคสบทก่อน, หากแคสผ่านก็จะได้ค่าตัวที่ถือว่าน้อยมาก, แบรนโดต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกันความเสียหายที่เขาอาจก่อให้เกิดขึ้น เนื่องจากเขามี “ชื่อเสีย” ว่ามีพฤติกรรมไม่ค่อยดีในกองถ่าย
-
พูโซ และคอปโปลาที่ปักธงเอาไว้ในใจแล้วว่าต้องเป็นแบรนโดเท่านั้น ได้หลอกเขาให้มาทำ makeup test แต่จริงๆ แล้วเป็นการเทสต์หน้ากล้อง ก่อนจะส่งไปให้ทางค่ายดู ปรากฎว่าพวกผู้บริหารชอบมากจนยอมให้แบรนโดเล่น โดยยกเลิกเงื่อนไข 2 ข้อหลังที่ตั้งเอาไว้ทิ้งไป
-
“อัล ปาชิโน” ผู้รับบท “ไมเคิล คอร์ลิโอเน” ก็ไม่เข้าตาค่ายที่อยากได้ โรเบิร์ต เรดฟอร์ด, ไรอัน โอนีล มารับบทนี้ นอกจากนี้ยังมีนักแสดงดังคนอื่นๆ เช่น มาร์ติน ชีน มาแคสด้วยเช่นกัน แต่คอปโปลายืนกรานว่าต้องเป็น อัล ปาชิโน เท่านั้น
-
โรเบิร์ต เดอ นิโร มาแคสบท “ซันนี่” ลูกชายคนโต แต่คอปโปลาเห็นว่าบุคคลิกของเขาแรงเกินกว่าบทนี้เลยไม่ได้เล่น สุดท้ายเขาได้ไปเล่นเป็น “ดอน คอร์ลิโอเน” วัยหนุ่มใน The Godfather: Part II ซึ่งปรากฎว่าประสบความสำเร็จถึงขนาดคว้าออสการ์ สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ไปครองเลยทีเดียว
-
ฉากงานแต่งลูกสาว ดอน คอร์ลิโอเน ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ คอปโปลาปล่อยให้นักแสดงเล่นกันอย่างอิสระ โดยตัวเขาใช้ยุทธวิธีแบบกองโจร ตามถ่ายมุมต่างๆ เอาเอง ปรากฎว่าได้ผลงานที่ออกมาเป็นธรรมชาติมาก
-
ฉาก “ดอน คอร์ลิโอเน” กับแมว ถือเป็น “ซีนจำ” ซีนหนึ่งในหนัง เพราะมันให้ภาพที่ขัดแย้งกันอย่างสุดขั้ว เมื่อ “ดอน” ผู้ยิ่งใหญ่ พูดขู่คนๆ หนึ่งหน้าตาเฉย พร้อมกับลูบแมวอย่างอ่อนโยนไปด้วย
-
แมวตัวนั้นเป็นแมวจรจัดที่หลงเข้าไปในกองตอนที่กำลังถ่ายทำกันอยู่ คอปโปลาเห็นเข้า แทนที่จะสั่งให้ไล่ไป เขากลับอุ้มแมวไปให้แบรนโด แล้วบอกให้ “ด้นสด” โดยมีแมวตัวนี้อยู่ในฉากด้วย ซึ่งปรากฎว่าเจ้าแมวตัวนั้นก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี นอนนิ่งๆ อยู่บนตักของแบรนโดตลอดทั้งวันที่ถ่ายทำกัน
-
หัวม้าที่ถูกตัดในหนังเป็นของจริง ฝ่ายพร็อพไปหามาได้จากบริษัทผลิตอาหารสุนัขแห่งหนึ่งในท้องถิ่น
-
ด้วยความที่หนังยาวเกือบ 3 ชั่วโมง (175 นาที) ซึ่งถือว่ายาวเกินมาตรฐานฮอลลีวู้ด ตอนแรกทีมผู้สร้างคิดจะให้มีช่วงพักครึ่ง (intermission) โดยวางเอาไว้ว่าเป็นหลังฉากที่ยิงโซลอสโซกับแมคคลัสกี้แล้ว แต่สุดท้ายก็ยกเลิกความคิดนี้ไปเพราะกลัวว่าจะเป็นการขัดอารมณ์ ทำให้ดูหนังไม่ต่อเนื่อง
-
ตอนที่แคสบท “ดอน คอร์ลิโอเน” มาร์ลอน แบรนโด ใช้สำลียัดกระพุ้งแก้ม ให้หน้าของเขาดูถมึงทึงคล้ายกับ “บูลด็อก” ตามบท แต่พอถ่ายทำจริง ทันตแพทย์ได้ทำอุปกรณ์พิเศษมาให้เขาใส่ไว้ในปาก จนทำให้ได้ลุคอย่างที่เราเห็นกันในหนัง
-
เพื่อให้เข้าถึงบทบาท คอปโปลาได้มอบเทปการสอบปากคำมาเฟียตัวจริงให้มาร์ลอน แบรนโดไปฟังเพื่อศึกษา ปรากฎว่าแบรนโดเลือกที่จะพูดพึมพำ เหมือนคนอมอะไรไว้ในปาก เลียนแบบสำเนียงของ Joseph Valachi มาใช้กับการพูดของ “ดอน คอร์ลิโอเน”
-
ถึงแม้ผู้บริหารของพาราเมาท์บางคนจะไม่เห็นด้วยกับการพูดแบบนั้น โดยให้เหตุผลว่าฟังยากเกินไป แถมยังเล่นมุกว่าอาจจะต้องใส่ซับไตเติลเข้าไปในหนังเพราะคนดูฟัง “ดอน คอร์ลิโอเน” พูดไม่รู้เรื่อง แต่ปรากฎว่าพอหนังออกฉาย กลับได้รับเสียงชมเป็นอย่างมาก
-
The Godfather เผชิญดรามาจากหลายฝ่ายตั้งแต่เริ่มสร้าง กลุ่มแรกคือชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาลีในนิวยอร์กที่เป็นห่วงว่า หนังเรื่องนี้จะทำให้ภาพลักษณ์ของพวกเขาดูไม่ดี และถูกแปะป้ายว่าเป็นพวกมาเฟีย
-
ในขณะที่พวกมาเฟียอิตาลีในนิวยอร์กเองก็จับตาดูหนังเรื่องนี้ด้วยความกังขา และกระทำการขู่ทางกองถ่ายเล็กๆ หลายครั้ง เช่น ยิงรถเลขาส่วนตัวของโปรดิวเซอร์คนหนึ่งที่จอดทิ้งไว้
-
สุดท้ายมีการทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการโชว์ให้เห็นด้านมืดของวิถีแก๊งสเตอร์ มากกว่าการเสนอมุมมองที่เป็นการเชิดชูพวกเขา, ห้ามมีคำว่า “มาเฟีย” ปรากฎในบทหนังเด็ดขาด
-
ทางกองถ่ายได้ว่าจ้างคนของแก๊งมาเฟียมาช่วยงาน เป็นตัวประกอบ หรือไม่ก็ทีมงาน เพื่อลดความตึงเครียดระหว่างกลุ่มต่างๆ แต่พอการถ่ายทำเริ่มขึ้น ได้เห็นว่าหนังเรื่องนี้เป็นอย่างไรกันแน่ พวกที่เคยกังขาก็เข้าใจ และไม่ต่อต้านอีก