รำลึกถึงครู"เขมานันทะ"ผู้ให้ชีวิตทางธรรม
ศิษย์ขอเขียนถึงครู เนื่องในวันคล้ายวันเกิด"เขมานันทะ"หรือโกวิท เอนกชัย นักเขียน ศิลปินแห่งชาติด้านวรรณศิลป์ ที่มีผลงานเขียนและภาพวาดที่่ให้แง่คิดทางธรรมไว้มากมาย
วันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2565) เป็นวันศิลปินแห่งชาติ และเป็นวันคล้ายวันเกิดของครูผู้ให้ชีวิตทางธรรมกับดิฉัน อ.โกวิท เขมานันทะ (24 กุมภาพันธ์ 2481-13 มกราคม พ.ศ.2562)
ถ้าอ.โกวิทยังมีชีวิตถึงวันนี้ท่านจะมีอายุได้ 83 ปี แต่ท่านสิ้นอายุในชาติภพนี้ไปเมื่อปี 2562 ครั้งอายุได้ 80 ปี
สำหรับคนรุ่นปัจจุบัน เรื่องอายุของอ.เขมานันทะนั้น อาจเป็นเรื่องสับสน งุนงงมิใช่น้อย เนื่องด้วยตามวันเกิดของท่านในปี 2481 และตายในปี 2562 ท่านน่าจะมีอายุ 80 ปี 10 เดือน ในวันที่ท่านจากไป
และในวันนี้ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ถ้าอ.โกวิทยังมีชีวิตอยู่ ดูเหมือนท่านน่าจะมีอายุได้ 84 ปีเต็ม
แต่ทำไมดิฉันกลับกล่าวไว้ว่า ถ้าครูยังอยู่ ครูจะมีอายุได้ 83 ปีเต็ม
อายุของครูเขมานันทะ หายไปไหน 1 ปี ?
การจะตอบคำถามนี้ได้ เราต้องเข้าใจถึง การเปลี่ยนวันปีใหม่ เปลี่ยนพุทธศักราชของไทย เมื่อ 80 กว่าปีก่อนด้วย
ถ้าเรากระจ่างในเรื่องนี้ เราจะเข้าใจในเรื่องการนับอายุของคนรุ่นพ่อ แม่ ปู่ย่า ของเราได้ชัดเจนขึ้น
แต่เดิมมา ช่วงที่พ่อดิฉัน(อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว) เกิดในปี พ.ศ.2479 และแม่ดิฉันกับอ.โกวิทเกิดในปี พ.ศ.2481 ห้วงเวลานั้น วันปีใหม่ของไทยยังอยู่ในวันที่ 1 เมษายน
การเปลี่ยนพุทธศักราชก็จะเปลี่ยนในวันที่ 1 เมษายนของทุกปี มิใช่เปลี่ยนพุทธศักราชใหม่ในวันที่ 1 มกราคม ดังปรากฏในยุคปัจจุบัน
แต่เมื่อถึงปีพ.ศ. 2483 วันปีใหม่ไทยได้ขยับร่นเข้ามา คือไปเปลี่ยนในวันที่ 1 มกราคม มิใช่วันที่ 1 เมษายนอีกแล้ว โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2483 ประกาศให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ แทนวันที่ 1 เมษายน
ดังนั้นจึงทำให้ปีพ.ศ.2483 มีแค่ 9 เดือน คือเมษายน-ธันวาคม ไม่มีเดือนมกราคม-มีนาคม (คือหายไป 3 เดือน) เพราะเมื่อถึงเดือนมกราคม ก็เปลี่ยนเป็น 1 มกราคม 2484 ไปแล้ว
ขอย้ำให้เห็นชัดๆอีกทีว่า เมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2483 แล้ว ประเทศไทยได้ไปขึ้นปี 2484 ในวันที่ 1 มกราคม ต่อจากนั้นเลย
นั้นทำให้คนรุ่นปัจจุบัน เข้าใจว่า อ.เขมานันทะ ผู้เกิดวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2481 (ถ้านับแบบปัจจุบันคือพ.ศ.2482) และสิ้นชีวิตในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2562จะมีชีวิตอยู่ 80 ปี 10 เดือน แต่ความจริงก็คือ ในวันสิ้นชีวิต เขมานันทะ กำลังจะมีอายุได้ 80 ปี
เพราะถ้านับตามการเปลี่ยนศักราชในโลกตะวันตกที่ถือเอาวันที่ 1 มกราคมเป็นวันเปลี่ยนศักราช อ.เขมานันทะจะเกิดวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1939 และสิ้นชีวิตไปในวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 2019
และถ้ามีอายุถึงวันนี้ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2022 อ.เขมานันทะจะมีอายุได้ 83 ปีเต็ม
ครบรอบวันเกิดครูเขมานันทะ
ในวันครบรอบวันเกิดของครูเขมานันทะ ในปีพ.ศ.2565 นี้ ดิฉันขอกราบคารวะครูผู้ให้ชีวิตทางธรรมกับดิฉัน มาด้วยความเคารพยิ่ง
ฃและขอนำข้อเขียนบางส่วนถึงครู ที่ดิฉันบันทึกไว้มาแบ่งปันเพื่อนๆในหน้าเพจนี้ ดังที่อ.เขมานันทะ เคยกล่าวกับดิฉันเมื่อกลางปีพ.ศ.2542 ว่า
“ความหวังคือความเชื่อ เชื่อว่าชีวิตต้องมีคำตอบให้ แม้บางครั้งเราจะคิดไปในทางลบ
เช่นว่า ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม แต่ลึก ๆ จริง ๆ นี่ เราเชื่อว่า เราจะอยู่ แต่เรายังไม่มีคำตอบว่าอยู่ไปทำไม
แต่เราเชื่อการอยู่นะครับ ดังนั้นนี่เป็นคำถามที่ต้องการจะใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของตัวมันเอง
สำหรับความสิ้นหวัง ผมจำได้ว่า เมื่อเราถูกปฏิเสธความรัก ความไว้วางใจมาก ๆ เราจะเกิดการสิ้นหวัง
ความสิ้นหวังคือการเป็นอัมพาตทางอารมณ์ ผมเคยอยากตาย เพราะถูกพ่อตี ปกติพ่อแสดงความรักผมอยู่เรื่อยนะครับ โดยผมรู้ได้
ทีนี้วันหนึ่ง ผมเล่นกับน้องแรงเกินไป พ่อคงไม่ค่อยสบายอารมณ์อยู่แล้ว พ่อเลยซัดผมเปรี้ยง ผมรู้สึกอยากตายขึ้นมา ไปหลบซ่อนอยู่ใต้บันได แอบซุกนอนไม่ให้คนเห็น ข้าวไม่กิน รู้สึกว่าอยากจะเข้าไปสู่โลกซึ่งมืดกว่านี้
อะไรทำนองนั้น เพื่อหลบลี้หนีหน้าจากพ่อ ซึ่งเป็นความหวัง เพราะความหวังคือความเชื่อ สำหรับผม ผมเชื่อพ่อมากกว่าคนอื่น แล้วก็หวัง ความเชื่ออันนั้นทำให้หวังว่าพ่อจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย
พอพบการเปลี่ยนแปลงของพ่อ ผม paralyze เลย แต่ตอนนั้นผมโตพอที่จะทำความเข้าใจว่าเป็นเพราะผมรังแกน้อง ถึงต้องโดนแบบนี้ ความเข้าใจอันนี้ก็เลยพยุงผมไว้ได้
และผมก็ไม่ได้ทำอะไรรุนแรงเกินกว่าซ่อนตัวอยู่พักหนึ่งช่วงสั้น ๆ ในที่มืด เพียงเพื่อให้พ่อได้สำนึกว่า ผมอาจจะจากไปได้นะ นั่นเป็นการประท้วงเงียบ ๆ แต่ที่จริงตอนนั้นผมโตมากแล้ว ใช้เหตุผลตรองเป็นแล้ว
แต่โดยย่อผมอยากจะบอกว่า ลึก ๆ จริง ๆ มนุษย์เต็มไปด้วยความหวัง เว้นไว้แต่ความหวังนั้นถูกชักลากด้วยความคิดชนิด fantasy ไอ้อันนี้นี่มันทำให้เสียเวลาเปล่า”
ชีวิตและความหวัง
“แล้วการหวังถึงการบรรลุสภาวะบางอย่างนี่ล่ะคะ มันคืออะไร”
“คือศรัทธานั่นเอง” อาจารย์ให้คำตอบในทันที
“แต่มันเป็นความทารุณอย่างถึงที่สุดที่เคยได้รับเลยนะอาจารย์ การอยากรู้จักสภาวะสูงสุด แต่หาเท่าไหร่ก็ไม่พบ”
“เป็นความตรากตรำครับ อย่าใช้คำว่า"ทารุณ" เลยนะ มันตรากตรำ มันเหมือนต้นไม้อายุนานร้อยปี มันผ่านการตรากตรำ ตะปุ่มตะป่ำบนต้นไม้นั้นอย่าคิดว่าไม่มีค่า
ถ้าใช้ทารุณกรรมดูจะเป็นทางลบ เป็นnegative มากเกินไป ผมรู้สึกว่าผมก็เป็นอย่างนั้น คาดหวังในตัวเอง ในสังคม ในคนที่เรารักมาก แล้วมันสร้าง จะเรียกว่าบาดแผลก็ไม่เชิง รอยช้ำ มันไม่ถึงบาดแผล มันเป็นรอยช้ำ
แต่ในที่สุดมันก็กลายเป็นตะปุ่มตะป่ำขึ้นมา แล้วมันก็งามดีเมื่อเราผ่านฤดูกาลตรากตรำนั้นมา ต้นไม้ที่ผ่านฤดูกาลตรากตรำ แกร่งทั้งนั้น ข้อสำคัญอย่าให้ความเกลียดหรือความกลัวเข้ามาสิงสู่ในชีวิตของเรานะ”
“แล้วทำอย่างไรคะอาจารย์ ทำอย่างไรถึงจะป้องกันความกลัว ความเกลียดไม่ให้มาสิงสู่ในใจเรา พลังด้านลบเหล่านี้ ดูมันคอยจะวิ่งสวนเข้ามายึดครองพื้นที่ในหัวใจเราอยู่ตลอดเวลา”
“อันที่จริงความเกลียดไม่น่าจะเข้ามาได้เลยนะ มันเหมือนกลิ่นที่ไม่สะอาด เราไม่อยากหายใจ ถึงกับอุดจมูกหนีก็มี ความเกลียดนี่ ชื่อมันก็บอกแล้วว่ามันไม่น่าพิสมัย”
อาจารย์ตั้งข้อสังเกตให้ฟังเป็นการเริ่มต้น ชวนให้ดิฉันถามต่อไปว่า มนุษย์เราควรใช้ความเข้าใจเช่นใด ต้องป้องกันอย่างไร ไม่ให้ความเกลียดเข้ามามีอิทธิพลกับใจเราได้ เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมา ดิฉันได้ซาบซึ้งถึงกึ๋นมาหลายครั้งแล้ว
จนแม้บางที เราจะเข้าใจในเหตุที่มาแห่งเรื่องร้ายๆแสบๆ ว่าทำไมเหตุการณ์เช่นนี้ถึงบังเกิดขึ้น หรือกระทั่งดิฉันเองศึกษาดาราศาสตร์โบราณ ศึกษาโหราศาสตร์มายาวนานให้ประจักษ์ได้ว่า
สิ่งที่มนุษย์บางคนปฏิบัตินั้น มันไม่ได้เกิดเพราะเขาตั้งใจมาเข่นมาล้างผลาญเราสักน้อย แต่มีเงื่อนไขหลายอย่างที่ผลักไสเราและเขาให้เข้าสู่ “ชะตากรรม” ร่วมกันเช่นนั้น จะโยนให้เป็นเรื่องของ “เวร”, “วิบาก” , “กรรมเก่า” ก็เอาเถอะ
แล้วแต่จะปลอบประโลมให้สามารถตรากตรำทนอยู่ทนสู้เผชิญทุกข์ต่อไปได้ไหว พร้อมกับปลอบใจตัวเองว่า ทุกข์นั้นแหละดี ยิ่งทุกข์ยิ่งดี จะได้หายโง่ จะได้มีสติปัญญาไว้แก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ จะเอาความสุขไปทำไมล่ะ
เพราะความสุขให้ได้แต่กำลังใจ ไม่เคยให้สติปัญญากับใครเขา ความสุขเสมอด้วยของหวานเคลือบอยู่บนยาพิษ พาให้เราเหลิงระเริง กระทั่งประมาทกับชีวิต...ไปได้ง่ายๆ
ข้อความข้างต้นที่ดิฉันบันทึกไว้นี้ ตัดตอนมาจากบทความ “ชีวิตกับความหวัง” ที่ดิฉันสนทนากับอ.โกวิท และเขียนเป็นบทความยาว 17 หน้า
เคยตีพิมพ์ในคอลัมน์ในหน้าหนังสือพิมพ์บางฉบับเมื่อนานมาแล้ว หากมีโอกาสดิฉันจะนำมารวมเล่ม เป็นงานเขียนเฉพาะเกี่ยวกับอ.โกวิท
แต่ที่ดิฉันซาบซึ้งและจดจำได้แม่นยำยิ่ง คือถ้อยคำที่อ.เขมานันทะ สื่อสารไว้กับดิฉัน ในช่วง 6 เดือนก่อนท่านสิ้นไป คราวที่ดิฉันไปเยี่ยมท่านเป็นครั้งสุดท้ายที่บ้านเชียงราย
วันนั้นอ.เขมานันทะพูดไม่ได้ หากมองลึกในดวงตาและดวงจิตดิฉัน ท่านฝากไว้ 2 คำสุดท้ายให้ดิฉันใช้ในการเผชิญกับทุกเรื่องในชีวิต
นั้นคือคำว่า “รู้สึกตัว” และ “ไม่เป็นไร”
กระทั่ง 10 กว่าวันก่อน ขณะดิฉันเอนตัวนอนดูหนังประวัติศาสตร์เกาหลี “ทงอี” อย่างเพลิดเพลิน ภาพของอาจารย์เขมานันทะยามแก่เฒ่าก็แทรกเข้ามา ดวงหน้าท่านแช่มชื่นผ่องใส และท่านบอกกับดิฉันคำหนึ่ง คำเดียว“วางใจ”
“วางใจ” นี้แหละ สำคัญที่สุด ในทุกสิ่งที่ทำด้วยเหตุดีนั้นแล้ว ยิ่งทำบนฐานของสัจจะ ความจริง ไม่ต้องเร่งรีบ เร่งร้อน เพราะผลที่เกิดไม่ใช่เพียงปรากฏการณ์ตรงหน้า แต่เวลาจะเปิดเผยสิ่งต่างๆ จากความจริงหลากมิติ...ออกมาให้เราได้เห็นได้เอง
ไม่มีสิ่งใดน่ากังวล ครูมาบอกดิฉันด้วยถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์นี้ “วางใจ”
ในวาระครบรอบวันเกิดของครูเขมานันทะที่ดิฉันรักเคารพยิ่งในวันนี้ ดิฉันขอมอบต้นเรื่อง “ชีวิตกับความหวัง” ไว้เสมือนพวงดอกไม้กราบบูชาครู และขอแบ่งปันให้กับเพื่อนๆ อันเป็นคติชีวิตมีค่ายิ่งจากคุรุท่านนี้
ศิษย์ดื้อ ขอกราบครูมาด้วยรักและอาลัยยิ่ง