รู้ไหม...สรรพสัตว์รับรู้"ภัยธรรมชาติ"สึนามิ แผ่นดินไหว เร็วกว่ามนุษย์
เมื่อเกิด“แผ่นดินไหว” คลื่นสึนามิ เหล่าสัตว์จะหนีภัยก่อนที่มนุษย์จะรู้ตัว เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การสังเกต มีงานวิจัยหาที่มาที่ไป อาทิ ประสาทสัมผัสที่ไวต่อภัยธรรมชาติ และอีกหลายเรื่อง
ทุกคนคงจำได้ดีถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่มีความรุนแรงถึง 9.1 แมกนิจูด และมีจุดศูนย์กลางลึกลงในมหาสมุทรอินเดีย ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เกิดคลื่นสึนามิสูงประมาณ 30 เมตรเข้าถล่มและทำลายบ้านเรือนตามแนวชายฝั่งโดยรอบมหาสมุทรอินเดีย รวมทั้งประเทศไทยด้วย
ประมาณการว่า มีผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ มากกว่า 225,000 คน และจัดได้ว่า เป็นหนึ่งในภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลกเลยทีเดียว ประเทศที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดได้แก่ อินโดนีเซีย ตามมาด้วยศรีลังกา อินเดีย และไทย
เกิดคลื่นสึนามิ ควายวิ่งหนี คนวิ่งตาม
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากคือ ในหลายๆ ประเทศไม่มีระบบเตือนภัยเกี่ยวกับแผ่นดินไหวและสึนามิ
หรือถ้ามีการวางระบบเตือนภัยไว้ ก็ไม่ได้รับการดูแลรักษาทำให้ใช้งานไม่ได้ในหลายที่ เมื่อมีการส่งข้อความเตือนภัยทางโทรศัพท์มือถือ แต่ก็ไม่มีใครอ่านหรือสนใจ
แต่ในช่วงระยะเวลาก่อนเกิดคลื่นสึนามิในครั้งนั้น ดูเหมือนว่า สัตว์หลายชนิดจะรู้สึกได้ถึงเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นและพยายามจะหนี มีหลายคนเล่าว่า เห็นช้างวิ่งหนีขึ้นสู่พื้นที่สูง นกฟลามิงโกละทิ้งรังที่อยู่ในพื้นที่ต่ำ
ในไทยควายที่หากินอยู่ริมทะเลพากันหยุดกินหญ้าอย่างกะทันหัน ทำหูตั้งและจ้องมองไปในทะเล หลังจากนั้นพวกมันแย่งกันวิ่งขึ้นไปเนินเขาสูงด้านหลัง
ชาวบ้านที่เห็นก็วิ่งตามฝูงควายไปและรอดชีวิตจากคลื่นสึนามิ ส่วนที่จังหวัดภูเก็ต สุนัขก็พากันวิ่งขึ้นสู่ที่สูงเช่นเดียวกัน
ที่ศรีลังกา ผู้คนต่างแปลกใจที่สุนัขของพวกเขาไม่ยอมออกจากบ้าน เพื่อเดินเล่นในตอนเช้า ที่ตอนใต้ของอินเดียทางใต้ ฝูงควาย แพะ สุนัขและนกฟลามิโกก็พากันหนีขึ้นสู่พื้นที่สูง
อิริน่า รา-ฟลิอานา นักวิจัยของสถาบันพัฒนาเยอรมัน ซึ่งเคยทำงานในคณะที่ปรึกษาของสำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า
“มีรายงานว่า ก่อนเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ มีผู้เห็นสัตว์หลายชนิดเช่น วัว แพะ แมวและนกวิ่ง และบินห่างจากชายฝั่งเข้าสู่พื้นที่ด้านใน ผู้คนรอดชีวิตเพราะวิ่งตามสัตว์พวกนั้นไป”
รา-ฟลิอานา เล่าต่อว่า มีรายงานว่าก่อนเกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิถล่มใกล้เกาะสุมาตราในปี 2553 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเกือบ 500 คน ช้างบนเกาะเมนตาวาอิในทะเลแถบนั้น ก็มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปเหมือนจะรู้ล่วงหน้าว่า จะมีเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้น
“2 วันก่อนเกิดเหตุภูเขาไฟระเบิดที่ประเทศตองกาเมื่อเดือนมกราคมในปี 2565 บรรดาเต่าที่ถูกปล่อยให้กลับสู่ท้องทะเลก็พากันว่ายกลับเข้าสู่ฝั่งอย่างไม่รู้สาเหตุ”
สัญชาติญาณสัตว์ก่อนแผ่นดินไหว
จริงๆ แล้ว มีการบันทึกเรื่องราวที่บรรดาสัตว์มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปก่อนเกิดภัยธรรมชาติมานานแล้ว ทิวซิดิดีส นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกเคยบันทึกไว้เมื่อปี 373 ก่อนคริสตศักราช บรรดาหนู สุนัข งูและตัววีเซิลพากันหนีออกจากเมืองเฮลิสไม่กี่วันก่อนเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่
นอกจากนี้ ก่อนเกิดแผ่นดินไหวในเมืองเนเปิ้ลในปี 2348 พวกวัว แกะ สุนัขและห่านพากันส่งเสียงร้องอย่างดังพร้อมกัน
ในปี 2449 ก่อนเกิดแผ่นดินไหวในเมืองซานฟรานซิสโก ก็มีรายงานว่า พวกม้าพากันวิ่งอย่างแตกตื่นอลหม่าน
นักวิจัยในหลายประเทศสนใจปรากฏการณ์เรื่องนี้มาก พวกเขาสงสัยว่า สัตว์ต่างๆ อาจจะมีระบบภายในตัว พวกมันที่สามารถเตือนภัยล่วงหน้า และจะเป็นไปได้ไหมที่พวกมันจะช่วยเตือนภัยให้พวกมนุษย์อย่างเราๆ
บรรดาเทคโนโลยีที่มนุษย์มีในปัจจุบัน เช่น เซนเซอร์วัดระดับแผ่นดินไหว ก็จะทำงานเมื่อเกิดแผ่นดินไหวเท่านั้น ไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้
มาร์ติน วิเคลสกี้ หนึ่งในทีมนักวิจัยของสถาบันศึกษาพฤติกรรมสัตว์ แม็กซ์ แพลงค์ในเยอรมัน ได้ทำการศึกษาโดยติดปลอกคอพร้อมชิปไว้ที่สัตว์หลายชนิดของฟาร์มแห่งหนึ่งในแคว้นมาร์เค ตอนกลางของอิตาลี ชิปจะส่งข้อมูลทุกการเคลื่อนไหวของสัตว์ไปที่คอมพิวเตอร์กลาง
ในระหว่างการศึกษาระหว่างเดือนตุลาคม 2559-เมษายน 2560 มีรายงานการเกิดแผ่นดินไหว 18,000 ครั้ง ความรุนแรงตั้งแต่ 0.4 – 4 แมกนิจูด รวมทั้งที่เกิดในเมืองนอร์เซียที่มีความรุนแรงถึง 6.6 แมกนิจูดด้วย
ทีมนักวิจัยพบหลักฐานว่า บรรดาสัตว์ในฟาร์มเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมประมาณ 20 ชั่วโมงก่อนเกิดแผ่นดินไหวแต่ละครั้ง
เมื่อใดก็ตามที่สัตว์ที่ใส่ปลอกคอมีพฤติกรรมที่แปลกไปประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์เป็นเวลา 45 นาทีติดต่อกัน นักวิจัยทำนายว่า จะเกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงมากกว่า 4.0 แมกนิจูด การทำนายถูกต้อง 7 ครั้งจาก 10 ครั้ง
พฤติกรรมสัตว์ที่มีต่อภัยธรรมชาติ
เมื่อการศึกษาเรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยในปี 2563 วิเคลสกี้กล่าวว่า “ยิ่งพวกสัตว์อยู่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว (ที่กำลังจะเกิด) มากขึ้นเท่าใด พวกมันจะเปลี่ยนพฤติกรรมเร็วมากขึ้นเท่านั้น”
วิเคลสกี้ ยังทำการศึกษาพฤติกรรมของแพะที่ราบเชิงเขาภูเขาไฟเอตนา บนเกาะซิซิลี ในอิตาลี ที่มีความสูง 3,350 เมตร ภูเขาไฟลูกนี้เป็นภูเขาไฟที่มีพลังมากที่สุดในยุโรป และมีทำให้เป็นภูเขาไฟขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป นักวิจัยใส่ปลอกคอที่มีชิปให้แพะเช่นเดียวกัน
วิเคลสกี้กล่าวว่า ดูเหมือนว่า พวกมันรู้สึกล่วงหน้าว่า ภูเขาไฟเอตนาจะเกิดการปะทุ ส่วนเรเชล แกรนท์ นักนิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรมซึ่งตอนนี้ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยเซาธ์แบงค์ เคยทำวิจัยในเรื่องนี้ในทวีปอเมริกาใต้ก็ได้ผลเช่นเดียวกัน
เธอติดตั้งกล้องจับภาพเคลื่อนไหวภายในอุทยานแห่งชาติยานาชาก้า ประเทศเปรูในช่วงระยะเวลาที่เกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรง 7.0 แมกนิจูดที่เมืองคอนตามานาในปี 2554
“จำนวนสัตว์ที่กล้องจับได้เริ่มน้อยลงประมาณ 23 วันก่อนเกิดแผ่นดินไหว และจำนวนยิ่งน้อยลงมากขึ้นไปอีกประมาณ 8 วันก่อนเกิดเหตุการณ์” แกรนท์กล่าวในรายงานผลการศึกษา และบอกว่า
“ในวันที่ 10, 6, 3 และ 2 ก่อนเกิดแผ่นดินไหว เราไม่พบการเคลื่อนไหวของสัตว์เลย ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติอย่างมาก”
การรับรู้ของสัตว์ต่อแผ่นดินไหว
ส่วน แมทธิว แบล็คเก็ต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์กายภาพและภัยธรรมชาติของมหาวิทยาลัยโคเวนทรีกล่าวว่า ทฤษฎีของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง คือ สัตว์ต่างๆ สามารถพัฒนากลไกการหลบหนีจากแผ่นดินไหว
"บางทีพวกมันอาจตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของสนามไฟฟ้าเมื่อชั้นหินเริ่มบีบอัดได้ ในตัวสัตว์มีธาตุเหล็กซึ่งจะไวต่ออำนาจแม่เหล็กและสนามไฟฟ้า"
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อว่า พวกสัตว์มีระบบตรวจจับที่สามารถอ่านสัญญาณทางธรรมชาติได้
จึงเป็นไปได้ว่า สัตว์บางชนิดอาจจะสามารถจับสัญญาณการเกิดแผ่นดินไหวได้จากกลิ่นสารเคมี คลื่นความถี่ต่ำ เป็นต้น
จีนมีการจัดตั้งระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวที่เมืองหนานหนิง โดยติดตามพฤติกรรมสัตว์ โดยเฉพาะงูในฟาร์มในภูมิภาคที่มักเกิดแผ่นดินไหว งูมีกลไกการตรวจจับการเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อยในสิ่งแวดล้อมที่พวกมันอยู่
ในปี 2518 ทางการของเมืองไห่เฉิง แคว้นหนานหนิงของจีนตัดสินใจอพยพประชาชนเมื่อสังเกตว่า งูและสัตว์อื่นๆ มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลังอพยพไม่นานก็เกิดแผ่นดินไหว ซึ่งแน่นอนว่า การอพยพสามารถช่วยชีวิตคนไว้ได้จำนวนมาก
เจียง เว่ยซอง ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการของสำนักงานหนานหนิงให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี่ในปี 2549 ว่า ในบรรดาสัตว์บนโลกนี้ งูน่าจะไวต่อการเกิดแผ่นดินไหวมากที่สุด เมื่อจะเกิดแผ่นดินไหว งูจะอพยพออกจากรังแม้แต่ในตอนกลางฤดูหนาวก็ตาม
นอกจากงูแล้ว นกก็มีความไวต่อการเกิดภัยธรรมชาติเช่นเดียวกัน ในปี 2557 นักวิทยาศาสตร์ที่เฝ้าติดตามนกกระจิบปีกสีทองเห็นการอพยพครั้งใหญ่ของพวกมัน อยู่ดีๆ นกพันธุ์นี้ก็อพยพจากแหล่งเพาะพันธุ์ในทางตะวันออกของรัฐเทนเนสซี่ สหรัฐอเมริกา
และบินหนีออกไปไกลกว่า 700 กิโลเมตรถึงแม้ว่าเพิ่งบินอพยพมามากว่า 5,000 กิโลเมตร จากอเมริกาใต้ก็ตาม หลังจากนั้นไม่นาน พื้นที่นั้นก็โดนทอร์นาโดกว่า 80 ลูกถล่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 35 คนและทรัพย์สินเสียหายกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
นี่แสดงให้เห็นชัดว่า นกรับรู้ล่วงหน้าว่า จะมีการเกิดทอร์นาโดแม้จะอยู่ห่างไปถึง 400 กิโลเมตรก็ตาม
ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งไม่เชื่อว่า ระบบการเตือนภัยของสัตว์เป็นตัวเลือกที่เป็นไปได้ในการทำนายการเกิดภัยพิบัติ ถึงแม้ว่า จะช่วยได้ก็ตาม พฤติกรรมของพวกมันอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ
มนุษย์ต้องใช้การเตือนภัยล่วงหน้าในหลายรูปแบบเพื่อให้เกิดภาพรวมอย่างแท้จริง พวกเราก็คงต้องให้ความสำคัญกับพฤติกรรมและการเตือนภัยล่วงหน้าของบรรดาสรรพสัตว์ให้มากยิ่งขึ้น
....................
ที่มา : เรื่องและรูป บีบีซี, เว็บไซท์สถาบันศึกษาพฤติกรรมสัตว์ แม็กซ์ แพลงค์