เปิด 5 อันดับ แฟรนไชส์สื่อที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก
ในปัจจุบันธุรกิจสื่อ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่สื่อชนิดเดียวอีกต่อไป แต่มีการขยายไปยังสื่ออื่น ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้มากยิ่งขึ้น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ชวนส่อง 5 อันดับ แฟรนไชส์สื่อที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก
เมื่อเร็ว ๆ นี้ “โปเกมอน” (Pokémon) เกมสุดฮิตขวัญใจคนทั้งโลกได้ประกาศออกเกมภาคใหม่ล่าสุดในชื่อ “Pokemon Scarlet and Violet” พร้อมเปิดตัว 3 โปเกมอนสตาร์ทเตอร์สุดน่ารัก ได้แก่ “เนียโอฮา” (Sprigatito) โปเกมอนแมวธาตุพืช “โฮเกตะ” (Fuecoco) โปเกมอนจระเข้ธาตุไฟ และ “คุวัตสึ” (Quaxly) โปเกมอนลูกเป็ดธาตุน้ำ โดยมีกำหนดวางจำหน่ายภายในปีนี้ นอกจากนี้ โปเกมอน ยังครองตำแหน่ง แฟรนไชส์สื่อที่มีมูลค่าสูงสุดในโลกอีกด้วย
เทรลเลอร์ “Pokemon Scarlet and Violet” โปเกมอนภาคใหม่
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ได้รวบรวม 5 แฟรนไชส์สื่อที่มีมูลค่าสูงสุดในโลก โดยที่แฟรนไชส์สื่อ (Media Franchise) เหล่านี้ อาจจะเริ่มต้นจากหนังสือ ภาพยนตร์ วิดีโอเกม หนังสือการ์ตูน แอนิเมชัน หรือรายการโทรทัศน์ ก่อนที่จะขยายไปยังสื่ออื่น ๆ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้ นำมาจาก Statista.com เว็บไซต์ที่รวบรวมสถิติต่าง ๆ รวบรวมข้อมูลมาจากรายได้ที่แต่ละบริษัทเปิดเผยต่อสาธารณชน มาจากตั๋วภาพยนตร์ ความบันเทิงภายในบ้าน วิดีโอเกม สินค้าลิขสิทธิ์ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับแฟรนไชส์อื่น ๆ โดยทั้ง 5 อันดับมีดังนี้
1. Pokémon (เปิดตัวครั้งแรกปี 2539)
“โปเกมอน” (Pokémon) แฟรนไชส์สื่อจากญี่ปุ่น สร้างโลกที่มีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าโปเกมอน โดยมนุษย์ในโลกนั้นที่เรียกว่า โปเกมอนเทรนเนอร์ สามารถจับโปเกมอนมาฝึกเพื่อต่อสู้กับเทรนเนอร์คนอื่น ๆ ได้ วิดีโอเกมโปเกมอนภาคแรกปล่อยออกมาในปี 2539 ด้วยฝีมือการออกแบบของ “ซาโตชิ ทาจิริ” (Satoshi Tajiri) จัดจำหน่ายโดย Pokemon Company ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนได้ขยายไปยังสื่อต่าง ๆ ทั้งหนังสือการ์ตูน การ์ตูนแอนิเมชัน ภาพยนตร์ เกมการ์ดและเทรดดิงการ์ด ตลอดจนสินค้าลิขสิทธิ์ และการขายลิขสิทธิ์ต่าง ๆ
ในปัจจุบัน จักรวาลโปเกมอนได้ขยายออกไปกว้างใหญ่ มีโปเกมอนทั้งสิ้น 898 สายพันธุ์ (ไม่นับรวมโปเกมอน 3 ตัวจากภาคใหม่ที่พึ่งประกาศไป) จากทั้งหมด 8 ภูมิภาคหลัก โดยในแต่ละภูมิภาคนั้นได้รับแรงบันดาลใจมากจากพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก ซึ่งโปเกมอนมีแอนิเมชันทั้งสิ้น 24 ซีซัน และภาพยนตร์อีก 23 เรื่อง ที่เป็นเรื่องราวของ “ซาโตชิ” (Ash Ketchum) เด็กอายุ 10 ขวบ มีความฝันจะเป็นโปเกมอนมาสเตอร์ จึงเดินทางดินทางไปทั่วโลกเพื่อฝึกฝนฝีมือ และค้นพบโปเกมอนใหม่มากมาย
เทรลเลอร์ "Pokémon Journeys" แอนิเมชันซีซันล่าสุดจากจักรวาลโปเกมอน
นอกจากนี้ โปเกมอนยังมีเกมออกมามาถึง 122 เกม ทำยอดขายรวมกันได้มากกว่า 380 ล้านยูนิต ซึ่งมีทั้งในรูปแบบของวิดีโอเกม นิเทนโด เกมคอมพิวเตอร์ ตลอดจน เกมออนไลน์ และเกมสมาร์ทโฟน โดยหนึ่งเกมที่โดดเด่นที่สุดของโปเกมอน คือ “โปเกมอน โก” (Pokémon Go) ที่เปิดตัวในปี 2559 สร้างปรากฏการณ์ไปทั่วโลก มีผู้ดาวน์โหลดเกมกว่า 1,000 ล้านครั้ง ทำรายได้ไปแล้วกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ และแม้ว่าในปัจจุบันจะยังมีผู้เล่นไม่มากเท่ากับตอนที่เกมปล่อยออกมาในช่วงแรก แต่โปเกมอน โก ยังคงเป็นหนึ่งในเกมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเช่นเดิม โดยในปีที่แล้วทำรายได้ไปถึง 1,200 ล้านดอลลาร์ มากที่สุดตั้งแต่ปล่อยเกมมา และเป็นอันดับ 6 เกมมือถือที่ทำรายได้มากว่า 1 พันล้านดอลลาร์
"Pokémon Go" ปล่อยโปเกมอนใหม่จากภูมิภาค Alola ซึ่งเป็นโปเกมอนเจเนเรชันที่ 7 ของแฟรนไชน์เป็นครั้งแรก
สำหรับ เทรดดิงการ์ดเกม (Pokémon Trading Card Game) ทำยอดขายไปได้มากกว่า 34,100 ล้านใบ จากการวางขายใน 76 ประเทศทั่วโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในปัจจุบันเทรดดิงการ์ดไม่ได้เอาไว้สำหรับเล่นเป็นเกมเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นของสะสมที่คุณค่าทางจิตใจ ยิ่งใบที่หายากจะยิ่งมีราคาสูงขึ้น โดยการ์ดที่มีราคาสูงสุดในประวัติศาสตร์คือ การ์ด “Illustrator CoroCoro Comics Promo (Pikachu illustrator card)” ที่เป็นรูปพิกาจู ตัวละครยอดฮิตที่สุดของโปเกมอนถือพู่กัน ซึ่งมีไม่ถึง 20 ใบในโลก ทำให้ถูกประมูลไปในราคา 900,000 ดอลลาร์
Illustrator CoroCoro Comics Promo (Pikachu illustrator card) เทรดดิงการ์ดเกมที่แพงที่สุดในโลกด้วยราคา 900,000 ดอลลาร์
2. Hello Kitty (เปิดตัวครั้งแรกปี 2517)
“Hello Kitty” ตัวละครสุดน่ารักจาก “Sanrio” นี้มีชื่อจริงว่า “คิตตี้ ไวท์” (Kitty White) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 อาศัยอยู่ในชานเมืองลอนดอน กับพี่น้องฝาแฝด โดยคิตตี้มีรูปลักษณ์คล้ายแมวหางกุดญี่ปุ่น (Japanese Bobtail) เป็นแมวประจำชาติญี่ปุ่น ผูกโบสีแดง และไม่มีปาก แม้คิตตี้จะมีรูปลักษณ์ที่คล้ายแมว แต่ “ยูโกะ ชิมิซึ” (Yuko Shimizu) ผู้ออกแบบ ยืนยันว่าเธอเป็นมนุษย์ไม่ใช่แมว และที่ต้องอยู่ในอังกฤษ เพราะวัฒนธรรมอังกฤษได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงที่คิตตี้ได้ถือกำเนิดขึ้น
มิมมี่และคิตตี้ คู่พี่น้องฝาแฝด
Hello Kitty ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2517 ปรากฏตัวครั้งแรกบนกระเป๋าใส่เหรียญที่วางจำหน่ายในญี่ปุ่น และกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในปี 2553 ไม่เพียงแต่ Hello Kitty จะได้รับความนิยมในกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มเด็กผู้หญิง แต่ว่า ยังได้รับความนิยมในหมู่ผู้ใหญ่อีกด้วย ทำให้ Hello Kitty ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ “ความน่ารัก” (Kawaii Segment) ในวัฒนธรรมร่วมสมัยของญี่ปุ่น
ในปัจจุบัน Hello Kitty มีมูลค่ากว่า 88,500 ล้านดอลลาร์ โดยรายได้เกือบทั้งหมดมาจากสินค้าและการขายลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องประดับ อัญมณี ของเล่น ตลอดจนภาพยนตร์ แอนิเมชัน หนังสือการ์ตูน และวิดีโอเกม
3. Mickey Mouse & Friends (เปิดตัวครั้งแรกปี 2471)
อันดับที่ 3 นี้เป็นแฟรนไชส์ตัวการ์ตูนยอดนิยมตลอดกาลของดิสนีย์ คือ “มิกกี้ เมาส์ และผองเพื่อน” (Mickey Mouse & Friends) ที่ประกอบไปด้วย “มิกกี้ เมาส์” หนูสีดำ สวมเอี๊ยมสีแดง “มินนี่ เมาส์” แฟนสาวของมิกกี้ เมาส์ “โดนัลด์ ดั๊ก” เพื่อนของมิกกี้ เมาส์ “เดซี่ ดั๊ก” แฟนสาวของโดนัลด์ ดั๊ก “กูฟฟี่” เพื่อนสนิทของมิกกี้ และ “พลูโต” สุนัขของมิกกี้ เมาส์
(จากซ้ายไปขวา) พลูโต, เดซี่ ดั๊ก, มิกกี้ เมาส์, มินนี่ เมาส์, กู๊ฟฟี่ และ โดนัลด์ ดั๊ก
มิกกี้ เมาส์ปรากฏตัวครั้งแรกในแอนิเมชันฉายทางโทรทัศน์ในปี 2471 ชื่อเรื่องว่า “Micky Mouse” และฉายต่อเนื่องจนถึงปี 2496 ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนมีการสร้างแอนิเมชันซีรีส์ของตัวละครแต่ละตัวแยกออกไป รวมถึงมีการสร้างภาพยนตร์ การ์ตูนคอมมิค และเกมรูปแบบต่าง ๆ รวมแล้วกว่า 100 เวอร์ชั่น จนขยายเป็นจักรวาลมิกกี้ เมาส์
มิกกี้ เมาส์ และผองเพื่อน ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของดิสนีย์ ในปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 82,900 ล้านดอลลาร์ โดยกว่า 82,100 ล้านดอลลาร์ มาจากการขายสินค้าลิขสิทธิ์
4. Winnie the Pooh (เปิดตัวครั้งแรกปี 2509)
“วินนี่ เดอะ พูห์” (Winnie the Pooh) หรือที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในนาม “หมีพูห์” ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์สั้นครั้งแรกโดย วอลต์ ดิสนีย์ ในปี 2509 ในชื่อ “Winnie the Pooh and the Honey Tree” ดัดแปลงมาจากหนังสือเรื่อง “Winnie-the-Pooh” แต่งโดย “เอ. เอ. มิลน์” (A. A. Milne) และ “อี. เอช. เชปเพิร์ด” (E. H. Shepard) จากนั้นมีการสร้างภาพยนตร์อีก 6 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือภาพยนตร์ฉบับคนแสดง “Christopher Robin” ในปี 2561
นอกจากนี้ วินนี่ เดอะ พูห์ ยังถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์ ภาพยนตร์สั้น ละครเวที และวิดีโอเกมอีกหลายต่อหลายครั้ง แต่ที่ทำรายได้แก่ให้วินนี่ เดอะ พูห์ จนกลายเป็นแฟรนไชส์ที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 4 ด้วยมูลค่ากว่า 81,000 ล้านดอลลาร์ มาจากการขายสินค้าลิขสิทธิ์ในรูปแบบต่าง ๆ
5. Star Wars (เปิดตัวครั้งแรกปี 2520)
จักรวาล “สตาร์ วอร์ส” มหาสงครามระหว่างดวงดาวที่ยิ่งใหญ่นี้มีจุดเริ่มต้นมาจากภาพยนตร์เรื่อง “Star Wars” ที่ออกฉายในปี 2520 โดย "จอร์จ ลูคัส" (George Lucas) ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนมีการสร้างภาคต่อมาเรื่อย ๆ มาจนถึงปัจจุบันมีแล้วทั้งหมด 9 ภาค ซึ่ง “Star Wars: Episode VII - The Force Awakens” (2558) ทำรายได้ไปถึง 2,069 ล้านดอลลาร์ กลายเป็นอันดับ 4 ของภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาล นอกจากนี้ยังสร้างภาพยนตร์ภาคแยกในจักรวาลสตาร์ วอร์ส ที่เล่าเรื่องตัวละครอื่น ๆ อีก 3 เรื่อง คือ “Rogue One” (2559), “Solo” (2561) และ “Rogue Squadron” ยังไม่มีกำหนดฉาย รายได้รวมของภาพยนตร์ทุกเรื่องกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์
สตาร์ วอร์ส ไม่เพียงแต่เพียงแค่ภาพยนตร์เท่านั้น แต่จักรวาลของสตาร์ วอร์ส ยังมีซีรีส์ที่ฉายทางสถานีโทรทัศน์และผู้ให้สตรีมมิงต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบของแอนิเมชันและคนแสดง อีกทั้งหมด 21 เรื่อง ที่เล่าเรื่องราวในแต่ละดวงดาว ในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไป
The Book of Boba Fett ซีรีส์เรื่องล่าสุดในจักรวาลสตาร์ วอร์ส
สำหรับ วิดีโอเกมและเกมมือถือนั้นมีสร้างรวมกันกว่า 100 ร้อยเกม จากสตูดิโอเกมที่ชั้นนำทั่วโลก มียอดจำหน่ายกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ยอดขายสินค้าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ 42,000 ล้านดอลลาร์ รวมมีมูลค่าทั้งแฟรนไชส์กว่า 69,400 ล้านดอลลาร์
ที่มา: Dexerto, LA Times, Statista, Techno Sports, TitleMax
กราฟิก: ชณิตนันท์ เหมืองจา