จากจักรวาลนฤมิต สู่ Bangkok และ KrungThep "ราชบัณฑิต" บัญญัติศัพท์อย่างไร?
เมื่อภาษาย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ชวนรู้หลักการบัญญัติศัพท์ของ "ราชบัณฑิต" ที่ไม่ใช่ว่านึกจะแก้ก็แก้ หรือบัญญัติศัพท์ใหม่ได้ทันที แต่ในความเป็นจริงต้องผ่านการพิจารณาหลายขั้นตอน
คนไทยน่าจะยังจำกันได้กับกรณีดราม่าเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงของไทย จาก "Bangkok" ไปเป็น "KrungThep Maha Nakhon" ที่หลังจาก "ราชบัณฑิต" ประกาศออกมาไม่ทันไร ก็เกิดกระแสต่อต้านแทบจะทันที
โดยส่วนใหญ่ประชาชนเห็นว่าชื่อเดิมสั้นกระชับดีอยู่แล้ว หากเปลี่ยนไปใช้ชื่อใหม่ การทำเอกสารราชการต่างๆ ก็จะยิ่งสร้างความสับสนวุ่นวายมากกว่าเดิม ต่อมาวันที่ 16 ก.พ. 2565 ราชบัณฑิตยสภาได้ออกมาชี้แจ้งอีกครั้ง ระบุว่า “กรุงเทพมหานคร” สามารถใช้ภาษาอังกฤษเป็นคำว่า KrungThep Maha Nakhon หรือยังคงใช้ Bangkok ได้เช่นเดิม
นอกจากนี้ หากย้อนกลับไปช่วงปลายปีที่ผ่านมา "ราชบัณฑิตยสภา" ก็ได้จุดกระแสสังคมด้วยการอัปเดตข้อมูลคำศัพท์สุดฮิตในช่วงเวลานั้นขึ้นมา นั่นคือ การบัญญัติศัพท์คำว่า "Metaverse" ให้เป็นภาษาไทยว่า จักรวาลนฤมิต, เมตาเวิร์ส (จัดทำในพจนานุกรมศัพท์นิเทศศาสตร์ร่วมสมัย) ซึ่งมีมติเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2564
ว่าแต่.. การจะบัญญัติคำศัพท์ใหม่ๆ ในภาษาไทยแต่ละครั้ง ราชบัณฑิตยสภามีอำนาจที่จะทำได้ทันทีหรือไม่? หรือต้องมีขั้นตอนอย่างไรในการบัญญัติศัพท์ใหม่? รวมถึงชวนย้อนดูคำศัพท์ในสาขาไอที ที่เคยมีการเผยแพร่จนเป็นไวรัลในอดีต ทั้งๆ ที่ "ราชบัณฑิต" ไม่ได้เป็นผู้บัญญัติขึ้นมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
1. ราชบัณฑิตสภา Vs ราชบัณฑิตยสถาน ต่างกันหรือไม่?
เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2469 รัชกาลที่ 7 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศให้จัดตั้ง “ราชบัณฑิตยสภา” ขึ้น ต่อมาสภาผู้แทนราษฎร ได้ถวายคำปรึกษาแด่พระองค์ว่า สมควรจัดตั้งราชบัณฑิตยสถาน เพื่อกระทำการค้นคว้าหาความรู้นำมาเผยแพร่แก่ประชาชน และสร้างตำรับตำราให้แพร่หลาย พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วย "ราชบัณฑิตยสถาน" ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476 และให้ยกเลิกประกาศตั้งราชบัณฑิตยสภา ฉบับลงวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2469
ต่อมาในปี 2556 ราชบัณฑิตสภาโดยสภาราชบัณฑิต เห็นสมควรเปลี่ยนชื่อ “ราชบัณฑิตยสถาน” เป็น “ราชบัณฑิตยสภา” อีกครั้ง อันเป็นชื่อเดิมที่รัชกาลที่ 7 ได้ทรงสถาปนาขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาส 120 ปี พระบรมราชสมภพ
รวมทั้งปรับปรุงอำนาจหน้าที่และการบริหารงานวิชาการของราชบัณฑิตยสภา ให้แพร่หลายแก่วงวิชาการของประเทศและประชาชนทั่วไปมากขึ้น ประกอบกับให้มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการสมาชิกราชบัณฑิตยสภา เพื่อเป็นประโยชน์แก่สมาชิกเพิ่มเติมเข้ามา
ในปี 2558 รัชกาลที่ 9 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยราชบัณฑิตยสถาน และให้ตราพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2558 โดยประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ชื่อหน่วยงาน “ราชบัณฑิตยสถาน” จึงเปลี่ยนเป็น “สำนักงานราชบัณฑิตยสภา” และ “สภาราชบัณฑิต” จึงเปลี่ยนเป็น “ราชบัณฑิตยสภา”
2. บทบาทหน้าที่ของ "ราชบัณฑิตยสภา" คืออะไร?
บทบาทหน้าที่สำคัญของราชบัณฑิตในยุคแรกๆ คือ งานชำระพจนานุกรม, งานสารานุกรม, งานบัญญัติศัพท์ภาษาไทย, งานอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ และ งานจัดทำหลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน
ในยุคต่อๆ มา ได้ปรับการดำเนินงานในรูปแบบของ "คณะกรรมการวิชาการ" เพื่อจัดประชุมพิจารณาศัพท์ บัญญัติศัพท์ จัดทำคำอธิบายศัพท์ในสาขาวิชาต่าง ๆ ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์ทางภาษา แล้วนำองค์ความรู้เหล่านั้น เผยแพร่สู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง และมีการรับฟังความความคิดเห็น เพื่อนำมาปรับปรุงการให้การบริการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3. หลักการบัญญัติศัพท์ใหม่ มีขั้นตอนอย่างไร?
มาถึงข้อสำคัญที่ควรรู้ เกี่ยวกับการบัญญัติศัพท์โดยราชบัณฑิตยสภา ซึ่งจะต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณามากมาย ดังนี้
- ต้องพิจารณาว่าคำศัพท์นั้นๆ เป็นศัพท์ในศาสตร์แขนงใด สาขาใด
- ราชบัณฑิตยสภาจะแต่งตั้ง "คณะกรรมการ" ขึ้นมา ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในศาสตร์แขนงนั้นๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- มีการแต่งตั้ง 2 ลักษณะ คือ 1)แต่งตั้งเป็นผู้แทนของหน่วยงาน และ 2)แต่งตั้งตัวบุคคลโดยตรง โดยมีเจ้าหน้าที่ของราชบัณฑิตยสภาทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ
- จากนั้นคณะกรรมการก็จะมีการประชุมหารือกัน เสนอคำศัพท์ที่สมควรบัญญัติขึ้นในภาษาไทย โดยอิงจากศัพท์ในภาษาอังกฤษเป็นหลัก
- คำศัพท์ที่เสนอมาเหล่านั้น จะเริ่มนำไปทดลองใช้เป็นการภายในจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อดูว่าใช้งานได้เหมาะสมหรือไม่?
- เมื่อผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการแล้ว ก็จะมีการเสนอให้ฝ่ายบัญญัติศัพท์ภาษาไทยของ "ราชบัณฑิตยสภา" พิจารณาอีกเป็นครั้งสุดท้าย
- เมื่อคำศัพท์นั้นๆ พิจารณาผ่านแล้ว จะถูกประกาศใช้และเผยแพร่ต่อไป
ทั้งนี้ คำศัพท์บัญญัติใหม่ที่เผยแพร่ไปแล้ว หากไม่ติดตลาด หรือมีผู้ท้วงติงว่าไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ก็จะมีการนำมาพิจารณาแก้ไขกันใหม่
4. ย้อนดูศัพท์ไอที ที่ "ราชบัณฑิต" ไม่ได้บัญญัติ
นอกจากนี้ ยังเคยมีประเด็นคำศัพท์สาขาไอทีและคอมพิวเตอร์ ที่มีการแปลเป็นภาษาไทยด้วยคำที่แปลกประหลาดอยู่หลายคำ ต่อมาทาง "ราชบัณฑิต" ได้ออกมาชี้แจงว่าคำศัพท์เหล่านั้นไม่ได้ถูกบัญญัติโดยราชบัณฑิต เช่นคำว่า
- Software = ละมุนภัณฑ์
- Hardware = กระด้างภัณฑ์
- Microsoft = จิ๋วระทวย
- Joystick = แท่งหรรษา
- Power Point = จุดอิทธิฤทธิ์
- Multitasking = พหุภาระ
แต่มีบางคำที่ "ราชบัณฑิต" ได้มีการบัญญัติเป็นภาษาไทยจริงๆ แต่บัญญัติด้วยคำศัพท์อื่น ไม่ใช่คำศัพท์จากข้างต้น โดยค้นเจอการบัญญัติไว้ 3 คำคือ
- Software = ส่วนชุดคำสั่ง, ซอฟต์แวร์
- Hardware = ส่วนเครื่อง, ส่วนอุปกรณ์, ฮาร์ดแวร์
- Joystick = ก้านควบคุม
----------------------------------------
อ้างอิง : เรื่องน่ารู้การบัญญัติศัพท์-สมศีล ฌานวังศะ, ราชบัณฑิตยสภา, ประวัติราชบัณฑิต, kafaak.blog, ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตฯ