เบื้องหลังภารกิจส่ง "ผัดกะเพรา" ขึ้นฟ้า และวันข้างหน้าของไทยในอวกาศ
สนทนากับ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ถึงโปรเจคเบื้องหลัง "กะเพราอวกาศ" ที่กลายเป็นไวรัล และเป้าหมายในอนาคตของ "กิจกรรมทางอวกาศ" ของไทยในบริบทปัจจุบัน
2-3 สัปดาห์ก่อน คุณน่าจะคุ้นกับข่าวภารกิจ “กะเพราอวกาศ” ซึ่งได้ส่งเมนูเด็ดของไทย “ผัดกะเพรา” ขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ โดยใช้บอลลูนบรรจุแก๊สฮีเลียมผูกติดกับอาหาร ก่อนจะปล่อยลอยสู่ฟ้าและตกลงมา เพื่อทดสอบเรื่องการเปลี่ยนแปลงของอาหารเมื่ออยู่ในชั้นบรรยากาศ
คลิปดังกล่าวกลายเป็นไวรัลและถูกแชร์หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งนอกจากเรื่องสีสันอย่าง "ข้าวกะเพราไข่ดาว” แล้ว เนื้อหาในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนได้ถูกพูดถึงอีกครั้ง
การทดลองส่งผัดกะเพราขึ้นชั้นบรรยากาศ
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA สนทนาถึงเบื้องหลังของภารกิจที่หลายคนสนใจ รวมถึงอัพเดทความเป็นไปว่าด้วยกิจกรรมทางอวกาศของประเทศไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน
- เมื่อไม่นานมานี้ หลายคนได้ดูคลิปวิดีโอส่ง "กะเพราไทย" ขึ้นบอลลูน และกลายเป็นไวรัลในออนไลน์ เรื่องนี้ GISTDA เกี่ยวข้องอย่างไร?
GISTDA ช่วยอำนวยความสะดวก จากการที่คริส พาร์คเกอร์ ยูทูบเบอร์เจ้าของช่อง รายการ Retired working for you (RW4U) ซึ่งผลิตคอนเทนท์เกี่ยวกับการส่งบอลลูนขึ้นไปในอากาศ และเมื่อทีมงานมาในประเทศไทยก็เลือกอาหารที่ขึ้นชื่ออย่าง ‘ผัดกะเพรา’
จุดมุ่งหมายของเนื้อหาที่ยูทูบเบอร์ต้องการ คือ ดูว่าเมื่อปล่อยขึ้นไปแล้ว อาหารที่ว่านี้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพหรือไม่
ซึ่งการจะขึ้นไปเลยคงทำไม่ได้ในทันที่ ต้องมีการขออนุญาต มีการประสานงานต่างๆ อีกหลายขั้นตอน และก็เป็น GISTDA ซึ่งช่วยในส่วนนี้ เพราะเราเห็นว่าการทดลองนี้เชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่น่าจะสร้างความสนใจให้กับเด็กนักเรียนได้ จึงขอใช้พื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ทางธรรมชาติบึงบอระเพ็ด แหล่งท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อทำการทดลอง
แต่ขั้นตอนการบริหารงาน การจัดทำคอนเทน์และค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นของยูทูบเบอร์ทั้งหมด
- เป็นโปรเจคของเอกชนที่ GISTDA เห็นว่าสร้างแรงบันดาลใจ จึงขอเข้าร่วมด้วย?
ใช่ครับ, เมื่อเขาเข้ามาขอให้ GISTDA ประสานงาน เราก็คิดว่ากิจกรรมนี้น่าจะมีประโยชน์ เราต้องการจะบอกนักเรียนไทยว่า การทดลองอะไรแบบนี้ การส่งบอลลูนขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ คนไทยสามารถทำได้นะ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย และสามารถทำให้สนุกได้ด้วย
เวลาเราพูดเรื่องอวกาศ แต่เดิมเราก็อาจจะนึกภาพว่ามีแต่ภาพของเรื่องทหาร ความมั่นคง แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่แล้ว เด็กนักเรียนหรือนักศึกษามหาวิทยาลัยในต่างประเทศเริ่มที่จะสร้างดาวเทียม แบบคิวแซท (Qsat) ส่งไปที่อวกาศได้เอง มีการให้เงินทุนสนับสนุนงานวิจัย เราจึงเห็นว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะให้เด็กเห็นประโยชน์จากการใช้อวกาศนี้
โปรเจคผัดกะเพรา GISTDA เหมือนเป็นโปรโมเตอร์ที่จะช่วยส่งเสริม และแสดงให้เห็นว่าการทดลองนี้เป็นเรื่องหนึ่งในการทดลองสู่อวกาศ เราเลยให้เด็กไทยเห็นว่าการทดลองสามารถทำได้ และไม่ยากเกินไปนักที่จะทำ
- พอคนได้ยินว่าส่งกะเพราไทยขึ้นไปก็ได้รับความสนใจมาก?
มีทั้งมองด้านบวกและด้านที่สนุกสนาน ตื่นเต้น พอมีเรื่องผัดกะเพราก็สร้างความสนใจได้ แต่สำหรับ GISTDA ในเชิงเนื้อหาเราไม่ได้หวังผลในการทดลองมากนัก แต่ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่คนไทย เด็กไทยจะสามารถทำได้
ที่เราตัดสินใจที่จะร่วมในโปรเจคของยูทูบเบอร์ท่านนี้ เพราะเราเห็นว่าเนื้อหาของเขาเชื่อมโยงกับงานของเรา โดยแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยด้วยบอลลูน ที่เรียกว่า High-Altitude Experiment Platform เป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยในอวกาศ (Space Experiment Platform) ของ GISTDA เพิ่มเติมจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการให้บริการส่งงานวิจัยไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS และห้องปฏิบัติการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Micro-X) ในพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ
การทดลองครั้งนี้ นอกจากจะสร้างรูปแบบการศึกษาวิจัยที่ไม่ได้อยู่ในห้องแลปหรือบนพื้นโลกแล้ว ยังเป็นต้นแบบการพัฒนาใช้ประโยชน์ห้วงอากาศที่มีความสูงที่เลยเพดานบินขึ้นไปและไม่ถึงอวกาศ คืออยู่ระหว่าง 30-100 กิโลเมตรจากพื้นโลก
- เรื่องอวกาศกับประเทศไทย คนทั่วไปอาจไม่ค่อยคุ้นชินนัก ช่วยอัปเดตหน่อยว่า ตอนนี้ไทยเราโฟกัสเรื่องอะไรอยู่ และอยู่ในระดับไหนแล้วเมื่อเทียบกับต่างประเทศ?
เกี่ยวกับ "อวกาศ" ถ้าในภาพรวมทั้งหมด ถือว่าเราอยู่ในระดับต้นๆ ในแถบอาเซียน คือในภาพรวมเราถือว่ามีความพร้อมมากกว่า มีสถานีภาคพื้นดิน (Ground Stations) และเราเองก็มีประสบการณ์ในด้านเทคโนโลยีอวกาศมากว่า 40 ปี และยังมีจุดแข็งในเรื่องภูมิศาสตร์ เป็นจุดศูนย์กลางในแถบนี้ ซึ่งประเทศต่างๆก็จะมาใช้ประโยชน์และเชื่อมโยงกับประเทศไทย
ส่วนในการทำงานเราพยายามใช้ประโยชน์จากอวกาศให้มากที่สุด และตอนนี้มีโอกาสอยู่มากมายในอวกาศ ไม่ได้จำกัดเฉพาะกับภาครัฐอย่างเดียว แต่เรากำลังพูดถึงการใช้ดาวเทียมเพื่อถ่ายภาพ ทำการวิจัย การสื่อสาร สร้างประโยชน์จากกิจกรรมทางอวกาศให้กับประเทศมากที่สุด
- ประโยชน์จากกิจกรรมทางอวกาศที่ว่านี้คืออะไร แล้วทำไมต้องมี?
อธิบายง่ายๆว่า เมื่ออยู่บนอวกาศเราก็สามารถมองเห็นโลกได้ทั้งใบ มองเห็นประเทศได้จากภาพมุมสูง และประโยชน์จากตรงนั้นเราก็จะใช้ในหลายเรื่อง เช่น หนึ่ง ในเรื่องความมั่นคง การติดตาม ติดต่อสื่อสาร ประเทศชาติ
สอง เราใช้ข้อมูลเพื่อสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อวิเคราะห์น้ำ ชั้นบรรยากาศสำหรับการทำเกษตร
สามคือเรื่องการสื่อสารซึ่งเมื่อมีดาวเทียมที่เพิ่มมากขึ้นนั้นหมายถึงความสะดวกสบายในการติดต่อ ง่ายขึ้น แม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และสี่เราพูดถึงการทดลองระยะยาว ที่การมีสถานีเซ็นเซอร์ต่างๆ จะช่วยให้เราประมวลผลข้อมูลมาใช้ประโยชน์มากขึ้น
วันนี้เราพูดถึง New space economy ซึ่งไม่ใช่แค่ Digital economy หรือ Space economy ถ้าศึกษาข้อมูลจะพบว่าในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น กำลังเป็นคำที่ไปไกลมาก ประเทศไทยจะช้าไม่ได้
พอมีเป้าหมายแล้วต้องหาพาร์ตเนอร์ทั้งภาครัฐและเอกชนทันที เราตั้งใจร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อพัฒนาเรื่องนี้ ทั้งกระทรวงดีอี กองทัพอากาศ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ ภาคการศึกษา กสทช. และจะร่วมกับภาคเอกชน
เช่น การส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศน่าสนใจ มีอุตสาหกรรมอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง เช่น ก่อสร้าง พลังงาน การท่องเที่ยว ฐานปล่อยจรวดอาจจะใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต หรือด้านสิ่งแวดล้อม และการสร้างกำลังคนเพื่อเตรียมพร้อมและรองรับให้ถึงจุดนั้น
GISTDA วางบทบาทเป็น facilitator เป็นผู้ประสานงาน เชื่อมโยง และผลักดัน เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมอวกาศ บางอย่างจะเป็นการลงทุนโดยภาคเอกชน บางอย่างลงทุนโดยภาครัฐ หรืออาจใช้แนวทางการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชน
อะไรก็ได้ ที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสร้างอุตสาหกรรม เพื่อสร้างงานในอนาคต เพื่อส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมอวกาศ นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า New space economy
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
- ก่อนหน้านี้เราเคยได้ยินความพยายามที่จะไปดวงจันทร์ ความฝันนี้ยังถูกสานต่อหรือไม่?
เป็นความร่วมมือของโครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium : TSC) ซึ่งบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีระดับความพร้อมทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีในระดับสูง GIDTDA ก็เป็นหนึ่งในนั้น โปรเจคนี้จะเป็นการสำรวจอวกาศที่ใหญ่ที่สุดของไทย เป็นการโคจรรอบดวงจันทร์ในอีก 7 ปีข้างหน้า
การไปสำรวจอวกาศของไทยจะเริ่มโครงการอวกาศนอกจากส่งดาวเทียมโคจรรอบโลก เราจะสำรวจอวกาศที่ห้วงลึก (Deep space) จุดแรก คือ ดวงจันทร์ และเป้าหมายต่อไป คือ ดาวอังคาร ซึ่งเป้าหมายคือการค้นหา วิเคราะห์ทรัพยากร มีการติดตั้งอุปกรณ์การถ่ายภาพ ไฮเปอร์สเปกตรัม (Hyper-spectral imaging) ซึ่งจะช่วยพิจารณาข้อมูลในประเทศได้แม่นยำ เช่น สามารถใช้บ่งชี้การเพาะปลูกและการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สามารถจำแนกประเภทวิเคราะห์แก้ปัญหาของพืชได้
นอกจากนี้เราจะรู้ถึงทรัพยากรใต้พื้นโลก เป็นข้อมูลสำคัญการกระจายตัวทรัพยากร แหล่งน้ำ การเพาะปลูก
- อาชีพนักบินอวกาศ หรือผู้ที่ทำงานด้านอวกาศเป็นความฝันของเด็กหลายยุคหลายสมัย GISTDA จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทยได้อย่างไร?
ผมว่าทุกวันนี้ อวกาศมันเป็นไปได้นะ เราพยายามจะสื่อสารงานวิจัย หรือหาโครงการที่คนสนใจ เช่น การเชื่อมโยงในเรื่องโปรเจคผัดกะเพราหรือในเชิงรูปธรรมเราทำโครงการอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (Space Krenovation Park: SKP) เป็นอุทยานวิทยาศาสตร์อวกาศ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาพื้นที่สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมไทยโชต ณ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ให้เป็นศูนย์ปฏิบัติงานหลักของ GISTDA ซึ่งตรงนี้จะมีเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลางและระดับอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการพัฒนาธุรกิจบนฐานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมในภูมิภาคอาเซียนต่อไป
ผมอยากย้ำว่าอวกาศไม่ใช่แค่เรื่องดาวเทียม แต่เป็นภาพรวมถึงการมุ่งเน้นในการนำข้อมูลจากอวกาศมาใช้ประโยชน์กับสังคมให้มากที่สุด