เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ เผยโฉม “แทรมขอนแก่น” เมดอินขอนแก่น ผลิตโดยคนไทย 100%

เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ เผยโฉม “แทรมขอนแก่น” เมดอินขอนแก่น ผลิตโดยคนไทย 100%

คนขอนแก่นชื่นชม "แทรมขอนแก่น" ในงาน “เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2565” ผลิตโดยคนขอนแก่น วัสดุในประเทศไทย เตรียมทดสอบระบบกลางปี 65 ก่อนต่อยอดเชื่อมไฮสปีดเทรนจากกรุงเทพฯ สู่ "บึงแก่นนคร" ลุยเชื่อม 5 เส้นทางขอนแก่นเหนือ-ใต้ ออก-ตก สร้างเศรษฐกิจชุมชน

เผยโฉมแล้ว ตู้โดยสารรถไฟฟ้ารางเบา หรือ Tram ฝีมือการผลิตโดยบริษัทคนไทย วัสดุทุกชิ้นและเครื่องยนต์กลไกศึกษาวิจัยและผลิตขึ้นโดยคนไทยและผลิตภายในประเทศไทยทั้งหมด โดยเฉพาะเป็นการผลิตขึ้นภายในจังหวัดขอนแก่นอีกด้วย

นำออกแสดงให้ผู้สนใจได้ชมในงาน เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2565 หรือ Isan Creative Festival 2022 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 ก.พ.-6 มี.ค.2565 บริเวณป้ายรถเมล์ หน้าโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จ.ขอนแก่น ผู้เข้าชมสามารถเดินเข้าไปชมภายใน “ตู้โดยสารรถไฟฟ้ารางเบา” หรือ “โบกี้” ได้อย่างใกล้ชิด เพียงแต่ยังไม่ได้ติดตั้งเก้าอี้และมือจับ
 

“ตู้โดยสารรถไฟฟ้ารางเบา” เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการรถไฟรางเบา LRT ต้นแบบ (Light Rail Transport) ซึ่งภาคนักธุรกิจในจังหวัดขอนแก่นซึ่งรวมตัวทำงานกันในชื่อ “กลุ่มขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด” ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในขอนแก่น คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น (มทร.อีสาน) และภาคราชการส่วนท้องถิ่น วางแผนพัฒนาเมืองร่วมกัน โดยไม่รองบประมาณหลักจากรัฐบาล

การร่วมมือกันครั้งนี้ คณะทำงานศึกษาข้อมูลและมีความเห็นตรงกันว่า ระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมเมือง เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาและสร้างเศรษฐกิจชุมชน
 

เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ เผยโฉม “แทรมขอนแก่น” เมดอินขอนแก่น ผลิตโดยคนไทย 100% “แทรมขอนแก่น” ผลิตโดยคนไทย 100%

“รถไฟฟ้าคันนี้ซึ่งเป็นต้นแบบ จะทดลองวิ่งใน มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ซึ่งกลางปีนี้ก็น่าจะวิ่งได้” นายธีรศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นากยกเทศมนตรีนครขอนแก่น ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันทำพิธีเปิดงาน “เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2565”

นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวด้วยว่า หากการทดลองวิ่งใน มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ประสบความสำเร็จ เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมภาคประชาชนเรียนรู้ระบบรางซึ่งอยู่บนพื้นผิวจราจรร่วมกับรถทั่วไป ก็จะนำระบบรางนี้ไปทดลองทำรอบ บึงแก่นนคร เป็นลำดับต่อไป และวันข้างหน้าโครงการรถไฟฟ้ารางเบาของเทศบาลที่วางไว้ก็ที่จะเกิดขึ้นผ่านกระบวนการเป็นขั้นเป็นตอน

เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ เผยโฉม “แทรมขอนแก่น” เมดอินขอนแก่น ผลิตโดยคนไทย 100% ดร.ไพวรรณ เกิดตรวจ

ดร.ไพวรรณ เกิดตรวจ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น หนึ่งในคณะทำงานผลิตและศึกษาวิจัย โครงการรถไฟรางเบา LRT ต้นแบบ กล่าวว่า จุดประสงค์ในนการวางระบบรางรอบบึงแก่นนคร คือเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อป้อนคนจากรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งเชื่อมจาก แกรนด์ สเตชั่น ไฮสปีดเทรน ที่วิ่งมาจากกรุงเทพฯ เข้าสู่ตัวเมืองขอนแก่น และมาท่องเที่ยวรอบ บึงแก่นนคร ซึ่งมีวัดและจุดท่องเที่ยวหลายแห่งบนระยะทางรอบบึงกว่า 4 กิโลเมตร

ลักษณะโบกี้ของ รถไฟฟ้ารางเบา LRT ต้นแบบ มีความสูงจากพื้นถึงหลังคา 3.5 เมตร ขณะนี้อาจดูสูง แต่เมื่อติดตั้ง “ราวมือจับทรงตัว” ก็จะเป็นความสูงตามมาตรฐาน ผู้โดยสารยืนจับได้ปกติ 

“มิติที่เราออกแบบคือเป็นขนาดมาตรฐานสากล เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย, pantograph (แหนบรับไฟฟ้า) ยื่นขึ้นไปถึงระบบสายไฟฟ้า สูง 5.15 เมตร ถ้าต่ำกว่านี้ก็จะมีเรื่องของระยะปลอดภัย รถแทรม (tram)ทั้งญี่ปุ่นและยุโรป ก็เป็นความสูงระดับนี้ทั้งหมด” ดร.ไพวรรณ กล่าว

เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ เผยโฉม “แทรมขอนแก่น” เมดอินขอนแก่น ผลิตโดยคนไทย 100% ด้านหน้า "แทรมขอนแก่น" และภายในโบกี้

แนวทางศึกษาและผลิต รถไฟฟ้ารางเบาขอนแก่น คณะทำงานศึกษาและวิจัยจากระบบ Tram ของประเทศในยุโรปและ ฮิโรชิมะ แทรม (Hiroshima tram) ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นระบบแทรมที่ให้บริการวิ่งไปตามถนนร่วมกับรถยนต์ทั่วไป รถมอเตอร์ไซค์ และใช้ระบบไฟจราจรเดียวกับรถยนต์ ประชาชนสามารถเดินไปตามราง หรือเดินข้ามไปมาได้เลยช่วงที่รถไฟฟ้าไม่ได้วิ่งมา

“การวางระบบราง เราใช้วิธีเปิดผิวการจราจรขึ้นก่อน วางรางบนผิวจราจร แล้วเทคอนกรีตทับ ร่องที่ล้อลงนิดเดียวเอง รถจักรยาน รถมอเตอร์ไซค์ หรือคนเดินผ่านก็ข้ามได้หมด นี่คือข้อดีของรถไฟรางเบา คือใช้ผิวจราจรร่วมกับรถยนต์ได้เลย” ดร.ไพวรรณ กล่าว

รูปลักษณ์ โบกี้แทรมขอนแก่น เป็นทรงโมเดิร์น ดร.ไพวรรณกล่าวว่า พัฒนามาจากรถ "แทรม" ที่ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เคยได้รับมาจากเมืองฮิโรชิมะ จำนวน 1 ขบวน เป็นรถรุ่นหลังสงครามโลก แต่ยังใช้งานได้ 

“ทีมของผมเป็นอาจารย์ก็ศึกษาและค้นคว้าวิจัยจากคันนั้น แต่พอสร้างจริงก็สร้างเป็นโมเดิร์นเพื่อให้เป็นสมัยใหม่ และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาทั้งหมด ระบบขับเคลื่อนบนหลังคาเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่เช่นเดียวกัน”

เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ เผยโฉม “แทรมขอนแก่น” เมดอินขอนแก่น ผลิตโดยคนไทย 100% ช ทวี ร่วมพัฒนา ผลิต และปรับปรุง "แทรมขอนแก่น"

หนึ่งในภาคเอกชนที่มีส่วนสำคัญในการผลิต “แทรมขอนแก่น” จนประสบความสำเร็จครั้งนี้คือ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) สนับสนุนทั้งทุนวิจัย ออกแบบ ผลิตชิ้นส่วน ประกอบตัวถัง-โบกี้ ประกอบขบวนรถไฟฟ้ารางเบา ทดสอบการทำงาน เพื่อปรับปรุงคุณภาพให้สามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่การผลิตรถไฟฟ้ารางเบาเพื่อเชิงพาณิชย์ในอนาคต

โรงงาน ช ทวี ตั้งอยู่ในขอนแก่น จดทะเบียนบริษัทมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2511 เป็นบริษัทเก่าแก่ของจังหวัดขอนแก่น มีเทคโนโลยีและประสบการณ์ผลิตรถพ่วง, รถบัส, catering car ในสนามบิน รวมทั้งเคยทำงานให้กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย

เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ เผยโฉม “แทรมขอนแก่น” เมดอินขอนแก่น ผลิตโดยคนไทย 100% ระบบล้อสำหรับขับเคลื่อน "แทรมขอนแก่น"

รถไฟฟ้ารางเบา LRT ต้นแบบ “สายสีแดงเหนือใต้ ท่าพระ-สำราญ” เป็นเส้นทางนำร่องจากการศึกษา 5 เส้นทาง วิ่งจากทิศเหนือจรดใต้ในตัวเมืองขอนแก่น ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่จะสร้าง ระบบขนส่งสาธารณะ ที่จะพลิกโฉมพื้นที่เมืองขอนแก่น 

ระยะทางมีความยาว 22.6 กิโลเมตร จำนวน 20 สถานี แบ่งเป็นสถานียกระดับ 6 สถานี และสถานีระดับพื้น 14 สถานี ใช้รถไฟฟ้าที่ผลิตและประกอบในประเทศไทย จำนวน 15 ขบวน โดยมีขบวนละ 3 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสารได้ขบวนละ 180 คน

จากผลการศึกษาพบว่า เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะสร้างประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับจังหวัดขอนแก่น และพื้นที่รอบสถานี ช่วยลดพื้นที่จราจรวิกฤติในตัวเมืองขอนแก่น นอกจากนี้พื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะก็จะสามารถอยู่รอดได้ มีความคึกคักจากการค้า รวมถึงองค์ความรู้ในการบริหารและจัดสร้างรถไฟฟ้ารางเบา

เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ เผยโฉม “แทรมขอนแก่น” เมดอินขอนแก่น ผลิตโดยคนไทย 100% ชาวขอนแก่นให้ความสนใจเข้าชม "แทรมขอนแก่น"

ส่วนเส้นทางรถไฟฟ้ารางเบา LRT นำร่องอีก 4 เส้นทาง ได้แก่

  • สายสีชมพู รอบในเมือง
  • สายสีน้ำเงิน VIP Home-มิตรสัมพันธ์
  • สายสีเขียว น้ำต้อน-ศิลา
  • สายสีเหลือง บ้านทุ่น-บึงเนียม

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำผังแม่บทโครงการระบบขนส่งมวลชนเมืองขอนแก่น พบว่า การขนส่งสาธารณะ LRT ทั้ง 5 เส้นทาง จะเกิดประโยชน์ ดังนี้

  • มีส่วนบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่
  • ทำให้ความเร็วเฉลี่ยของการเดินทางในพื้นที่ศึกษาดีขึ้น 2.5-19.9 เปอร์เซ็นต์
  • ทำให้จำนวนผู้ต้องการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น 1.98 เท่า และมากขึ้นเมื่อระบบขนส่งสาธารณะครอบคลุมยิ่งขึ้น เนื่องจากทั้ง 5 เส้นทางครอบคลุมพื้นที่เมืองขอนแก่นทั้งทางตะวันออก-ตะวันตก  เหนือ-ใต้ และพื้นที่ใจกลางเมือง

โครงการรถไฟฟ้ารางเบา LRT ต้นแบบขอนแก่น ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ เผยโฉม “แทรมขอนแก่น” เมดอินขอนแก่น ผลิตโดยคนไทย 100% แทรมขอนแก่น ผลิตเสร็จแล้วจำนวน 2 โบกี้

เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ เผยโฉม “แทรมขอนแก่น” เมดอินขอนแก่น ผลิตโดยคนไทย 100% ลักษณะด้านข้างตัวถังโบกี้

เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ เผยโฉม “แทรมขอนแก่น” เมดอินขอนแก่น ผลิตโดยคนไทย 100% "มือจับ" ผลิตจากยางพาราในประเทศและผลิตโดยคนขอนแก่น

เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ เผยโฉม “แทรมขอนแก่น” เมดอินขอนแก่น ผลิตโดยคนไทย 100% ลักษณะประตูเข้า-ออกโบกี้

เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ เผยโฉม “แทรมขอนแก่น” เมดอินขอนแก่น ผลิตโดยคนไทย 100% ตัวรถเมื่อเปิดไฟส่องสว่างยามค่ำ

เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ เผยโฉม “แทรมขอนแก่น” เมดอินขอนแก่น ผลิตโดยคนไทย 100% โครงการรถไฟรางเบา LRT ต้นแบบ (Light Rail Transport)