ภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมที่ส่งให้ “สรพงศ์ ชาตรี” เป็นพระเอกตลอดกาล

ภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมที่ส่งให้ “สรพงศ์ ชาตรี” เป็นพระเอกตลอดกาล

ภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิต ภาพยนตร์แจ้งเกิด ภาพยนตร์ที่ทำให้ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองตัวแรก พบกับภาพยนตร์ที่เป็นหมุดหมายสำคัญในชีวิตของ “สรพงศ์ ชาตรี” พระเอกในดวงใจคนไทยตลอด 50 ปีที่ผ่านมา

ไม่มีอะไรบ่งบอกตัวตนของคนๆ หนึ่งได้ดีไปกว่าผลงานที่คนผู้นั้นได้ฝากเอาไว้บนโลกใบนี้อีกแล้ว

 

เพื่อเป็นการแสดงจิตคารวะต่อ “สรพงศ์ ชาตรีศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับที่จากไปด้วยโรคมะเร็งปอดเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา เราได้คัดสรรผลงานชิ้นเอก และผลงานภาพยนตร์ที่เป็นหมุดหมายสำคัญในอาชีพนักแสดงของสรพงศ์ ชาตรีมาให้อนุชนรุ่นหลังได้ทำความรู้จัก และรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ มีคุณูปการต่อวงการภาพยนตร์ไทยของท่านกัน

ภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมที่ส่งให้ “สรพงศ์ ชาตรี” เป็นพระเอกตลอดกาล

  • “มันมากับความมืด" (2514)

ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ สรพงศ์ ชาตรีได้รับบทพระเอกเต็มตัว

 

“มันมากับความมืด” ถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญยิ่งต่อวงการภาพยนตร์ไทย เพราะมี “ครั้งแรก” เกิดขึ้นจากหนังเรื่องนี้ถึง 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

 

1. เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกจากการกำกับของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ ท่านมุ้ย

2. เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ สรพงศ์ ชาตรี ได้รับบทพระเอกเต็มตัว

3. เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของ นัยนา ชีวานันท์

4. เป็นภาพยนตร์แนวไซไฟเรื่องแรกของไทย ถือว่าแหวกแนวมากในสมัยนั้น

เรื่องย่อของ “มันมากับความมืด” มีอยู่ว่า เกิดอุกกาบาตลึกลับพุ่งตกลงมาในอ่าวไทย ตามด้วยเหตุสยองเมื่อชาวเกาะกลายเป็นศพทั้งหมู่บ้านชั่วข้ามคืน ไม่ช้าความตายก็คืบคลานเข้ามายังชายฝั่ง จนหลายคนหวาดผวากับสิ่งที่เรียกว่า "มันผู้มากับความมืด"

ร้อนถึงนักวิทยาศาสตร์ชาวกรุงกับกลุ่มชาวบ้านที่เหลืออยู่ ต้องร่วมมือกันจัดการ "มัน" ให้ได้โดยเร็วก่อนทั้งประเทศจะไม่เหลือใคร

 

 

  • สัตว์มนุษย์ (2519)

ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ทำให้สรพงศ์ ชาตรี ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองพระสุรัสวดี สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม

 

ภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมที่ส่งให้ “สรพงศ์ ชาตรี” เป็นพระเอกตลอดกาล

 

ผลงานการสร้างของ บางกอกการภาพยนตร์ กำกับการแสดงโดยวินิจ ภักดีวิจิตร นำแสดงโดย กรุง ศรีวิไล สรพงศ์ ชาตรี อรัญญา นามวงษ์

 

ในช่วงปี 2519 กรุง ศรีวิไล เป็นพระเอกยอดนิยมของวงการ หลังได้รับรางวัลตุ๊กตาทองพระสุรัสวดีจากภาพยนตร์เรื่อง ชู้ ในปี 2517 ในขณะที่สรพงศ์ ชาตรี ยังเป็นเพียงดาราประกอบ แต่หลังจากที่สรพงศ์ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเรื่อง “สัตว์มนุษย์” แล้ว สรพงศ์ก็กลายมาเป็นพระเอกยอดนิยมในทันที

 

“สัตว์มนุษย์”เป็นภาพยนตร์สะท้อนสังคม ตีแผ่เบื้องลึกของจิตใจมนุษย์ โดยใบปิดของหนังเขียนเอาไว้ว่า “ต่อสู้ดุดัน เสพย์สวรรค์กันมิรู้จบ ถอดเกล็ดมนุษย์ ขุดลึกลงสู่แก่นแท้เพื่อให้ มนุษย์ รู้จัก มนุษย์”

 

เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อ "แสง" ลูกชายกำนันสุด และ "พงษ์ทอง" ลูกชายเจ้าสัว สองนักเลงที่เที่ยวใช้อิทธิพลของพ่อตนรังแกคนอื่นอยู่เสมอ วันหนึ่งแสงส่งลูกน้องมาฆ่าข่มขืน "บัว" หลานสาวของ "ตาเชย" จน "ชด" ลูกชายตาเชยต้องกลายเป็นพวกนอกกฎหมาย เพื่อคอยเอาคืนพวกสัตว์มนุษย์..!!

 

สามารถรับชม “สัตว์มนุษย์” ได้ทางยูทูปช่อง พระนครฟิลม์ คลาสสิค Phranakornfilm Classic

 

 

  • แผลเก่า (2020)

ผลงานที่ทำให้ สรพงษ์ ชาตรี แจ้งเกิดเต็มตัวในฐานะพระเอกกับบท “ไอ้ขวัญ”

 

ภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมที่ส่งให้ “สรพงศ์ ชาตรี” เป็นพระเอกตลอดกาล

 

แผลเก่าเป็นผลงานการกำกับของ เชิด ทรงศรี สร้างจากบทประพันธ์ของ ไม้ เมืองเดิม ตอนที่เข้าฉายครั้งแรกเมื่อ 35 ปีที่แล้ว สามารถทำรายได้ทะลุ 13 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลข “บ็อกซ์ ออฟฟิศ” ที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เคยมีมาในประเทศไทย

“แผลเก่า” ยังไปประกาศศักดาของภาพยนตร์ไทยให้โลกรู้ ด้วยการไปคว้ารางวัล “ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” จากงานประกวดภาพยนตร์ที่เมืองน็องส์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 1981

 

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นโศกนาฏกรรมความรักของ “อ้ายขวัญ” และ “อีเรียม” แห่งท้องทุ่งบางกะปิ ที่สาบานกับเจ้าพ่อไทรเอาไว้ว่าจะรักกันจนวันตาย แต่พ่อของเรียมกีดกันความรักของทั้งคู่จึงส่งลูกสาวไปอยู่กับคุณนายทองคำที่บางกอก เรียมหลงใหลไปกับชีวิตในเมืองกรุงจึงหลงลืมคนรักเก่าไปชั่วขณะ

 

แต่ด้วยอำนาจของ "แผลเก่า" ทำให้เรียมกลับมาทุ่งแสนแสบ และต้องพิสูจน์ "รักแท้" ด้วยความตาย ที่ทำให้ชื่อ "ขวัญ-เรียม" กลายเป็นอมตะจนถึงทุกวันนี้

 

สรพงศ์ ชาตรี ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลในการรับเล่นภาพยนตร์เรื่อง "แผลเก่า" เอาไว้กับทางหอภาพยนตร์ดังนี้

 

 

  • ชีวิตบัดซบ (2520)

ภาพยนตร์ที่ทำให้ สรพงศ์ ชาตรี ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองพระสุรัสวดีเป็นเรื่องที่ 2

ภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมที่ส่งให้ “สรพงศ์ ชาตรี” เป็นพระเอกตลอดกาล

 

credit : Thai Movie Posters

 

ผลงานการสร้างของ มูฟวิ่งพิคเจอร์ กำกับโดย เพิ่มพล เชยอรุณ ผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ของวงการในสมัยนั้น นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี และ เปียทิพย์ คุ้มวงศ์

 

“ชีวิตบัดซบ” เป็นภาพยนตร์สะท้อนสังคม ตีแผ่ชีวิตมนุษย์ที่บางครั้งก็แสนจะรันทดจนต้องอุทานคำว่า “ชีวิตบัดซบ” เหมือนกับชื่อหนังออกมาไม่ได้ แล้วด้วยบทบาทที่เข้มข้น มาบวกเข้ากับการแสดงอันสุดยอดของสรพงศ์ ก็ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ไปครองได้ติดต่อกันเป็นตัวที่ 2

 

  • มือปืน (2526)

ภาพยนตร์ที่ทำให้ สรพงศ์ ชาตรี ได้รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก 2 เวทีในปีเดียวกัน คือ รางวัลตุ๊กตาทอง และรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ

 

ภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมที่ส่งให้ “สรพงศ์ ชาตรี” เป็นพระเอกตลอดกาล

 

“มือปืน” เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองไปครองถึง 5 ตัว รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำอีก 5 ตัว ด้วยเนื้อหาและการนำเสนอที่แปลกใหม่ เล่าถึงชีวิตของคนมีอาชีพเป็นมือปืนรับจ้าง ซึ่งถือว่าฉีกแนวจากภาพยนตร์ในยุคนั้น

สรพงศ์ ชาตรี รับบท “จ่าสมหมาย ม่วงทรัพย์” ทหารที่เคยร่วมรบในสมรภูมิลาวแต่ถูกกับระเบิดจนขาขาด ต้องมามีอาชีพเป็นมือปืนรับจ้างฆ่าคน โดยทำอาชีพช่างตัดผมบังหน้า เขาสามารถถ่ายทอดชีวิตของคนตัวเล็กๆ ในสังคมที่ได้รับความอยุติธรรมจนต้องเลือกอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับกฎหมายได้อย่างยอดเยี่ยม จนคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมไปครอง

 

  • ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (2550)

ภาพยนตร์ที่ สรพงศ์ ชาตรี บอกว่าเล่นยากที่สุด ต้องเทคแล้วเทคอีก

 

ภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมที่ส่งให้ “สรพงศ์ ชาตรี” เป็นพระเอกตลอดกาล

 

แน่นอนว่าเมื่อหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล สร้างภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เรื่องยิ่งใหญ่ด้วยทุนสร้าง 700 ล้านบาท ย่อมต้องขาดนักแสดงคู่ใจอย่าง สรพงศ์ ชาตรี ไปไม่ได้ โดยในเรื่องนี้เขารับบทเป็น “พระมหาเถรคันฉ่อง” พระสงฆ์มอญผู้มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือพระนเรศจนสามารถประกาศอิสรภาพจากพม่าได้เป็นผลสำเร็จ

 

หลายคนอาจคิดว่าเล่นหนังมาขนาดนี้แล้ว บท “พระมหาเถรคันฉ่อง” คงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับนักแสดงระดับสรพงศ์ ชาตรี แต่เจ้าตัวกลับให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ข่าวสดเอาไว้เมื่อครั้งที่ได้รับการประกาศให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง” ในปี พ.ศ.2551 ว่าภาพยนตร์เรื่องที่เล่นแล้วถูกเทกมากที่สุดคือ สุริโยไท กับ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยความยากอยู่ตรงการพูดบท ส่วนเรื่องฟีลลิ่งการแสดงนั้นไม่ยาก

 

สรพงศ์กล่าวว่าภาพยนตร์เรื่องที่ทำเอาเขาไปเกือบไม่รอดก็คือ “นเรศวร” ภาคแรก กับการรับบท “มหาเถรคันฉ่อง” ที่ต้องพูดบทกับ นก-ฉัตรชัย ผู้รับบทพระมหาธรรมราชา ในตอนนั้นเขาถึงเครียดเพราะไม่เคยโดนเทกขนาดนี้มากก่อน แถมยังต้องอดนอน ถ่ายกลางคืนยันสว่างติดต่อกันหลายวัน ทำให้ต้องกินยาแก้ปวดหัวเป็นกำๆ

 

“เล่นหนังมา 500 กว่าเรื่องยังไม่เคยกินยาแก้ปวดหัวมากขนาดนี้เลย จะพูดราชาศัพท์ผิดก็ไม่ได้ ศัพท์แสงที่ต้องพูดนั้นยากมาก

เราถามท่าน (ท่านมุ้ย) ว่าควรจะเล่นยังไง ท่านตอบกลับมาว่า อย่างมึงยังต้องถามกูอีกเหรอ ปกติเล่นหนังท่านมุ้ย ท่านไม่ได้สั่งเทก แต่ผมขอท่านเทก ขอใหม่ ขออีกที ขออีกที ที่ขอเทก คือทำเผื่อไว้ให้ท่านเลือก”

 

 

  • เทพธิดาโรงแรม (2517)

ภาพยนตร์ที่ สรพงศ์ ชาตรี พลิกบทบาทจาก “พระเอก” มาเป็น “แมงดา”

ภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมที่ส่งให้ “สรพงศ์ ชาตรี” เป็นพระเอกตลอดกาล

 

ภาพยนตร์เรื่องที่ 3 ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ที่ถือเป็นผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ในยุคนั้น มีผลงานที่สร้างความแปลกแตกต่าง และสีสันให้กับวงการภาพยนตร์ไทยเป็นอย่างมาก เช่นเรื่อง “เทพธิดาโรงแรม” ที่พูดถึงชีวิตของคนในซ่องโสเภณี

 

หนังเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของ “วิยะดา อุมารินทร์” ผู้รับบท “มาลี” สาวเหนือที่ถูกคนรักหลอกให้เดินทางมาขายตัวที่กรุงเทพฯ หลังจากถูกซ้อมอย่างหนักเธอก็จำใจยอมรับสภาพการเป็น “เทพธิดาโรงแรม”

 

ส่วนสรพงศ์ที่โด่งดังจากบทพระเอกมาแล้ว กลับยอมพลิกบทบาทการแสดงครั้งสำคัญมารับบท “โทน” แมงดาหนุ่มในซ่อง และถ่ายทอดความโหดเหี้ยม ร้ายกาจออกมาได้สมบทบาทจริง ๆ

 

ภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมที่ส่งให้ “สรพงศ์ ชาตรี” เป็นพระเอกตลอดกาล

 

 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ 500 กว่าเรื่องที่ สรพงศ์ ชาตรี ฝากเอาไว้ประดับวงการ ยังมีภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมๆ อีกมากมายที่ควรค่าแก่การรับชม ไม่ว่าจะเป็นหนังที่ทำให้เขาได้รับรางวัลด้านการแสดงอย่าง มือปืน 2 สาละวิน, เสียดาย 2, องค์บาก 2

 

หนังที่สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการอย่าง ไกรทอง, ผีหัวขาด ที่พระเอกอย่างสรพงศ์ยอมเล่นบทคนหัวขาด ถือหัวไปมาจนกลายเป็นตำนานความสยองบทหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทย หรือหนังสะท้อนสังคมอย่างถึงแก่นอย่าง เขาชื่อกานต์, ทองพูน โคกโพ ฯลฯ หนังที่สะท้อนถึงปัญหาของคนอยู่ป่ากับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอย่าง คนเลี้ยงช้าง