"ลุ่มน้ำสงคราม" ลำน้ำสาขาที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า "แม่น้ำโขง"

"ลุ่มน้ำสงคราม" ลำน้ำสาขาที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า "แม่น้ำโขง"

การสื่อสารมีได้หลายทาง “ภาพถ่าย” ก็เสนอเรื่องราวได้เช่นเดียวกัน ดังนิทรรศการภาพถ่ายสารคดี “ลุ่มน้ำสงคราม” ที่ต้องการสื่อสารให้คนส่วนใหญ่ได้เห็นถึงความสำคัญของ "ลำน้ำสาขา" ที่ไม่เคยมีใครสนใจมองเห็นมาก่อน

เปิดใจ "ช่างภาพ" ผู้อยู่เบื้องหลังการถ่ายภาพสารคดีต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องราวของ "แม่น้ำโขง" เขาได้เดินทางไปเก็บภาพ "แม่น้ำสงคราม" ในครั้งนี้ 4-5 เดือน เพื่อนำภาพถ่ายเหล่านั้นกลับมาสื่อสารกับผู้คนในวงกว้างว่า

“ลุ่มน้ำสงคราม” ที่ดูเหมือนไม่สลักสำคัญอะไร แต่จริงๆ แล้ว คือ "ลำน้ำสาขา" ที่สำคัญที่หล่อเลี้ยงน้ำให้กับแม่น้ำโขง ในยามที่แม่น้ำโขงเหือดแห้ง

แม่น้ำสงคราม คือ แม่น้ำที่สำคัญที่สุดของอีสานตอนบน มีต้นน้ำจากเทือกเขาภูพาน ไหลผ่านหลายจังหวัดในภาคอีสานตอนบน ตั้งแต่สกลนคร บึงกาฬ นครพนม แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกไปเจอกับแม่น้ำโขง ที่ บ้านไชยบุรี จ.นครพนม

มีระยะทาง 420 กิโลเมตร หล่อเลี้ยงผู้คน ทั้งน้ำกินน้ำใช้ การทำประมง การทำการเกษตร ถ้านับระดับประเทศ แม่น้ำสงคราม หล่อเลี้ยงผู้คนภาคอีสาน ถ้าในระดับภูมิภาค ก็เป็นลำน้ำสาขาให้กับแม่น้ำโขง

\"ลุ่มน้ำสงคราม\" ลำน้ำสาขาที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า \"แม่น้ำโขง\" นิทรรศการภาพถ่ายชุด "ลุ่มน้ำสงคราม The Mekong’s Womb"

สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์ ช่างภาพสารคดี กล่าวถึงที่มาของนิทรรศการภาพถ่ายชุด "ลุ่มน้ำสงคราม The Mekong’s Womb" ที่มีภาพของ ภัทร บุญประเสริฐ และ พิชญ์ เยาวภิรมย์ ร่วมแสดงด้วย

จัดแสดงในระหว่างวันที่ 15-27 มีนาคม 2565 ณ Curved Wall ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดย Bangkok Tribune Online News Agency ภายใต้การสนับสนุนของ Konrad-Adenauer-Stiftung e.V. Foundation Office Thailand

\"ลุ่มน้ำสงคราม\" ลำน้ำสาขาที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า \"แม่น้ำโขง\" สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์ กับ นิทรรศการภาพถ่าย

  • ป่าบุ่งป่าทาม แลกเปลี่ยนน้ำกัน

สายัณห์ กล่าวว่า ในฤดูน้ำหลากแม่น้ำโขงจะไหลย้อนเข้ามาในแม่น้ำสงคราม ทำให้เกิดภูมิประเทศที่คนอีสานเรียกว่า ป่าบุ่งป่าทาม

"คือในฤดูแล้งมันก็เป็นป่าทั่วไป คนเดินเข้าไปปลูกผักปลูกข้าวได้ ในรอบหนึ่งปีจะมีช่วงน้ำแห้งกับน้ำท่วม นี่คือลักษณะพิเศษที่คล้ายกับ โตนเลสาบ ประเทศกัมพูชา แต่ของเราไม่ใหญ่เท่าเขา

มีการแลกเปลี่ยนน้ำกันระหว่างแม่น้ำสองสาย ในหน้าแล้ง แม่น้ำสงครามก็ให้น้ำกับแม่น้ำโขง ในหน้าฝน แม่น้ำโขงก็คืนน้ำกลับมา จากแม่น้ำสายแคบ ๆ 2-3 เมตร แผ่กว้างเป็น 10 เมตร

แล้วมีปลาเข้ามาวางไข่ พอหน้าแล้งปลาก็ไหลตามแม่น้ำโขงกลับไป เรียกว่า Mekong’s Womb ครรภ์ของแม่น้ำโขง คือคอนเซปต์ของภาพถ่ายสารคดีชุดนี้”

\"ลุ่มน้ำสงคราม\" ลำน้ำสาขาที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า \"แม่น้ำโขง\" นิทรรศการ "ลุ่มน้ำสงคราม The Mekong’s Womb"

  • ลำน้ำสาขา ตัวช่วยสำคัญของแม่น้ำโขง

ภาพถ่ายสารคดีชุดนี้ ต้องการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของแม่น้ำสาขากับแม่น้ำโขง สายัณห์ กล่าว

"ต้นน้ำของแม่น้ำสงครามคือ เทือกเขาภูพาน แม่น้ำทุกสายมีการแลกเปลี่ยนกันตลอด ทั้งพันธุ์ปลา ทั้งสายน้ำ มีการไหลเข้า ไหลออก บางพันธุ์ปลาของแม่น้ำโขงเราก็มาเจอในแม่น้ำสงคราม มันว่ายทวนน้ำเข้ามาหลายร้อยกิโลเมตร มีชาวบ้านเขาจับได้

เรายังได้ไปดูลุ่มแม่น้ำมูล แม่น้ำชี อีสานตอนล่าง มีการสร้างเขื่อนราษีไสล เขื่อนปากมูล ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยน ผู้คนทำมาหากินไม่ได้เหมือนเดิม โครงการพัฒนาขนาดใหญ่เข้าไปทำให้มันเปลี่ยนแปลงไป

ถ้าดูตั้งแต่ต้นจนจบ จะเห็นความเคลื่อนไหว ความสัมพันธ์เชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำสงครามไปถึงปากแม่น้ำโขง ประเทศเวียดนาม"

\"ลุ่มน้ำสงคราม\" ลำน้ำสาขาที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า \"แม่น้ำโขง\" นิทรรศการ "ลุ่มน้ำสงคราม The Mekong’s Womb"

  • ได้รับการประกาศเป็น "แรมซาร์ไซต์" ของโลก 

การไปถ่ายภาพครั้งนี้ สายัณห์บอกว่าเขามีความชื่นชอบสองอย่าง

"สิ่งแรกที่เห็นแล้วชอบคือ เครื่องมือประมง ในแม่น้ำสงครามมีหลากหลายมากถึง 79 ชนิด ชาวบ้านพัฒนาขึ้นมาให้เหมาะกับฤดูกาลต่างๆ ช่วงน้ำน้อยใช้แบบหนึ่ง ช่วงน้ำมากก็ใช้อีกแบบหนึ่ง 

สองคือ บ่อเกลือโบราณ หลายร้อยปี ที่ บ่อหัวแฮด จ.บึงกาฬ เป็นการทำเกลือแบบดั้งเดิม สะท้อนวิถีชีวิตชาวบ้านและวัฏจักรของแม่น้ำ พอน้ำลด เขาก็สูบน้ำจากบ่อเกลือขึ้นมา ทำได้ 6 เดือน น้ำท่วม ก็เปลี่ยนไปทำประมง จับปลาได้เยอะ ไม่มีตู้เย็น ก็เอาเกลือมาทำปลาแดก เกิดวัฒนธรรม "ปลาแดกแลกข้าว" 

และที่สำคัญ แม่น้ำสงครามตอนล่าง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ” หรือ แรมซาร์ไซต์ ลำดับที่ 2420 ของโลก และลำดับที่ 15 ของประเทศไทย

\"ลุ่มน้ำสงคราม\" ลำน้ำสาขาที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า \"แม่น้ำโขง\" นิทรรศการ "ลุ่มน้ำสงคราม The Mekong’s Womb"

  • ความธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

สายัณห์ บอกว่า วิถีชีวิตคือความสวยงาม ภาพที่เรานำเสนอคือวิถีชีวิตของเขาทุกวัน คนส่วนใหญ่สนใจแต่แม่น้ำโขง เราต้องการประกอบจิ๊กซอว์ให้มันสมบูรณ์มากขึ้น พูดถึงแม่น้ำสาขาด้วย

"แม่น้ำโขงไม่ได้อยู่ของมันเดี่ยว ๆ มันมีแม่น้ำสาขาที่มีความสำคัญต่อเนื่องกัน แม่น้ำโขงพัง แม่น้ำสาขาก็พัง แม่น้ำสาขาพัง แม่น้ำโขงก็พัง ทุกวันนี้แม่น้ำโขงแห้งมาก ปลาบึก ตามธรรมชาติก็จับไม่ได้มาหลายปีแล้ว

ความยากลำบากของการถ่ายภาพสารคดีชุดนี้คือ การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ ปีที่ผ่านมาน้ำแทบจะไม่ท่วมเลย ปกติน้ำจะท่วมเยอะ ชาวบ้านก็ออกไปหาปลา ได้มาเยอะแยะ

แต่ตอนนี้แม่น้ำโขงมันแห้ง ไม่มีน้ำหลากเข้ามา สภาพมันเปลี่ยนหมดเลย สิ่งที่ควรจะมี มันก็ไม่มีอีกต่อไป

เรานำเสนอภาพชีวิตประจำวันทั่วไป มันมีความหมาย มีเรื่องราวอยู่ในนั้น ความคุ้นชินทำให้เรามองข้ามมันไป ภาพชุดนี้ไม่ใช่ภาพที่หาดูยาก แต่มันคือภาพวิถีชีวิตปกติธรรมดาที่เราอยากจะนำเสนอให้คนได้มองมันอย่างใช้เวลามากขึ้น มากกว่าที่จะมองเห็นแล้วผ่านไป

\"ลุ่มน้ำสงคราม\" ลำน้ำสาขาที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า \"แม่น้ำโขง\" นิทรรศการ "ลุ่มน้ำสงคราม The Mekong’s Womb"

ในส่วนที่เป็นภาพขาวดำ ต้องการสื่อสารว่าโครงการพัฒนามันทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไปยังไง จากที่เคยมีสีสันมีอะไรมันก็หายไปเลย เกิดความเปลี่ยนแปลงในลุ่มน้ำมูล พอมีการสร้างเขื่อนหลายๆ เขื่อนขึ้นมา ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปหมด"

.....................

นิทรรศการภาพถ่ายสารคดีชุด (Photo Essay exhibition) ลุ่มน้ำสงคราม The Mekong’s Womb จัดแสดงระหว่างวันที่ 15-27 มีนาคม 2565 ณ Curved Wall ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ในวันที่ 18 มีนาคม 2565 เวลา 13.00-15.30 น. จะมีพิธีเปิดและงานเสวนา

\"ลุ่มน้ำสงคราม\" ลำน้ำสาขาที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า \"แม่น้ำโขง\"