ต้องระวัง! ชาว "คอนโด" รู้ไว้ ข้าวของบางอย่างใช้ในห้องแคบๆ ไม่ได้
เช็กลิสต์ข้อควรระวังสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ใน "คอนโด" อพาร์ตเมนต์ หรือหอพัก เพราะการใช้สิ่งของที่ไม่เหมาะสม หรือการใช้น้ำยาทำความสะอาดแบบผิดๆ อาจส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้ ชวนรู้สิ่งต้องห้าม 5 ข้อที่ต้องเตือนตัวเองให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ
กลุ่มคนรุ่นใหม่มีเทรนด์การอยู่อาศัยในแบบของ “คอนโด” มากขึ้น แทนที่การเลือกซื้อ “บ้าน” อย่างในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากความคล่องตัวทางการเดินทาง ใกล้สถานที่ทำงาน หรือแม้แต่ความสะดวกสบายที่มีครบครันมากกว่าการซื้อบ้าน
ยังไม่นับรวมกลุ่มคนที่เลือกเช่า “หอพัก” หรืออพาร์ตเมนต์เป็นที่อยู่อาศัย เนื่องจากปัจจัยข้างต้นที่กล่าวมา แต่การอยู่อาศัยในคอนโดหรือหอพักห้องแคบๆ ก็ล้วนมีปัจจัยเสี่ยงที่อันตรายต่อชีวิตแฝงอยู่ทั้งนั้น
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนเช็กลิสต์ 5 ข้อควรระวังสำหรับการอาศัยอยู่ในพื้นที่ขนาดเล็กอย่างหอพักและคอนโด
- ห้ามใช้เตาแก๊สและ "แก๊สกระป๋อง" บนที่สูง
ยิ่งสูงยิ่งหนาวอาจจะเป็นคำอุปมาอุปไมย แต่ยิ่งสูงยิ่งความกดอากาศต่ำ คือ เรื่องจริง และด้วยความจริงเช่นนี้เองทำให้การใช้แก๊สกระป๋อง หรือเตาแก๊สกลายเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับกลุ่มคนที่อยู่คอนโด แม้ว่าจะไม่ค่อยทำอาหาร มีทิ้งไว้เฉยๆ ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น
เหตุผลที่ไม่ควรใช้เตาแก๊ส/แก๊สกระป๋องในคอนโด ก็เพราะว่าเมื่อเราอยู่ในอาคารสูงหรือที่สูง ความกดอากาศจะต่ำลง ในขณะที่แก๊สกระป๋องนั้นมีความดันสูงอยู่แล้ว เมื่อเจอความกดอากาศจากภายนอก ก็ยิ่งทำให้ความดันภายในกระป๋องสูงขึ้นไปอีก หากเปิดใช้งานเตาแก๊สในขณะนั้น ก็จะเกิดประกายไฟ บวกกับกระป๋องแก๊สแรงดันสูงจึงสามารถทำให้เกิดระเบิดขึ้นได้
อีกทั้งแม้คุณไม่ได้อยู่ชั้นสูงแต่ก็เสี่ยงอันตรายเช่นกัน เพราะอาจมีแก๊สรั่วออกมาจากกระป๋องแก๊ส เมื่อเกิดปัญหามีแก๊สรั่วออกมา แก๊สก็จะวนอยู่ในอาคาร ไม่สามารถกระจายออกไปได้ เนื่องจากลักษณะพื้นที่ของคอนโดอากาศถ่ายเทไม่สะดวก
หากเกิดมีประกายไฟขึ้นมาในขณะที่แก๊สรั่ว ก็จะเกิดการระเบิดจนเป็นสาเหตุทำให้เกิดเปลวไฟหรือตึกถล่มได้ จึงเป็นข้อห้ามใช้แก๊สในอาคารสูงนั่นเอง
นอกจากนี้ การใช้เตาแก๊สแบบกระป๋องที่หลายคนนิยมนั้น ยังมีความเสี่ยงในกรณีที่ว่าถ้าหากใช้เตาแก๊สกระป๋องบ่อยๆ หรือใช้เป็นเวลานาน จะเกิดความร้อนสูงสะสม ทำให้ก๊าซ LPG เกิดการขยายตัวภายในกระป๋องแก๊ส จนเกิดการระเบิดได้
- ห้ามใช้ "น้ำยาล้างห้องน้ำ" ผสม "น้ำยาซักผ้าขาว"
เคล็ดลับแม่บ้านเหมือนขุมทรัพย์ทางปัญญาที่ไม่มีที่สิ้นสุด แต่บางเรื่องก็ต้องขอเบรคไว้ก่อน อย่างเช่นการใช้น้ำยาล้างห้องน้ำผสมน้ำยาซักผ้าขาวหรือไฮเตอร์ เพื่อขจัดคราบฝังแน่นต่างๆ เพราะว่า การนำน้ำยาทั้ง 2 ชนิดมาผสมกัน จะทำให้เกิดสารเคมีที่ชื่อ โซเดียมไฮโปคลอไรต์ (sodium hypochlorite NaClO) ขณะที่ น้ำยาล้างห้องน้ำมักจะมีกรดไฮโดรคลอริก (hydrochloric acid HCl) สารทั้งสองตัวนี้เมื่อผสมกันก็จะเกิดก๊าซคลอรีนขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ ได้แก่
1. ก๊าซคลอรีนจะทำลายเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ หากสัมผัสโดนใบหน้า จะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อตา จมูก ปาก หลอดลม และผิวหนัง
2. เมื่อสูดหายใจเข้าไปจะทำให้หายใจติดขัด และเกิดของเหลวคั่งในปอด เป็นอันตรายได้ ยิ่งถ้าใครเป็นโรคหอบหืด ก็จะยิ่งอันตรายหนักขึ้น
3. หากสูดเข้าไปมากๆ อาจเสียชีวิตได้ เพราะก๊าซคลอรีนเป็นก๊าซพิษ และเคยถูกนำไปใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 มาแล้ว
นอกจากนี้ ก็ห้ามผสมสารเคมีอื่นๆ เข้าด้วยกัน เช่น น้ำส้มสายชู ผงซักฟอก โซดาไฟ เป็นต้น เพราะอาจเกิดสารอันตรายขึ้นได้ ดังนั้น จึงไม่ควรเอาน้ำยาใดๆ มาผสมกันเอง และถ้าเผลอทำหกหรือเทผิด ก็ให้ล้างออกด้วยน้ำเปล่าให้มากที่สุด ก่อนเทน้ำยาอื่นตามลงไป
- ใช้ "แผ่นหอมอบผ้า" มากเกินไป
ใครอยากให้เสื้อผ้าที่ซักแล้วหอมมากๆ คงเคยซื้อแผ่นหอมอบผ้ามาใช้ แต่รู้หรือไม่ว่าหากใช้มากเกินไป อาจเกิดอันตรายได้เช่นกัน เนื่องจากเมื่อแผ่นหอมอบผ้าเจอความร้อนจะปล่อยสารเคมีที่เรียกว่า สารระเหย VOCs ออกมาในอากาศ และเมื่อมากเข้าก็กลายเป็นสารก่อมะเร็งในที่สุด
จริงๆ แล้วสารระเหย VOCs เป็นส่วนผสมที่อยู่ในน้ำยาทำความสะอาดหลายๆ ตัว แต่ถ้าใช้ความคำแนะนำในปริมาณน้อยๆ ก็จะไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าใช้มากไปก็มีอันตรายไม่แพ้ฝุ่น PM 2.5 ข้างนอกเลย เนื่องจากหอหรือคอนโดอากาศถ่ายเทน้อยนั่นเอง
- ไฟไหม้ ห้ามเอาน้ำสาด
เพลิงไหม้หลายๆ ครั้งมักเกิดจากความประมาท โดยเฉพาะแม่ครัวพ่อครัวทั้งหลายที่มักจะตั้งเตาหม้อแกงทิ้งไว้แล้วลืม ดังนั้นในการป้องกันเพลิงไหม้จึงจำเป็นต้องตรวจสอบสภาพรอบตัวให้ดี
แต่ถ้าอุบัติเหตุมันเกิดขึ้นแล้วสิ่งแรกที่ต้องทำคือ ตั้งสติ และให้รีบ "ดับไฟในเบื้องต้น" แต่ทั้งนี้มีข้อควรระวังคือ ห้ามเอาน้ำราดดับไฟที่กำลังลุกไหม้ เพราะจะยิ่งทำให้ไฟลุกโหมยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่คอนโด ประกายไฟจะยิ่งลุกลามและไหม้กระจายเป็นวงกว้างขึ้น
วิธีการที่ถูกต้องคือ หากเกิดไฟไหม้ขึ้นในช่วง 2 นาทีแรก แล้วเปลวไฟสูงประมาณเท่าช่วงตัว ถือเป็นช่วงที่ยังสามารถใช้ถังดับเพลิง น้ำ หรือผ้านวมเปียกๆ ดับไฟได้ ให้ดับโดยการใช้ถังดับเพลิง หรือใช้ผ้าขนหนูหรือผ้าห่มชุบน้ำวางด้านบนเพื่อตัดอากาศไม่ให้เข้าไป และห้ามเคลื่อนย้ายหม้อหรือกระทะนั้นเพราะอาจเกิดอันตรายได้
ขั้นตอนต่อมา หากไฟยังไม่ดับดี ให้ใช้ถังดับเพลิง หรือบอลดับไฟ ดังนั้นแล้วสิ่งที่ควรมีติดคอนโดไว้เสมอก็คือถังดับเพลิงขนาดเล็ก ผู้อยู่อาศัยเองก็ควรเรียนรู้วิธีการใช้งานด้วย
- ไม่ควรจุด "เทียนหอม" ในห้องแอร์
อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรทำโดยเฉพาะหากคุณอาศัยอยู่ในห้องคอนโดหรือหอพักที่มีอากาศถ่ายเทน้อย นั่นคือการจุดเทียนหอมในห้องแอร์
การจุดเทียนควรจุดในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก และไม่ควรจุดติดต่อกันนานเกิน 3 ชั่วโมง เพื่อจะได้ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย และควรให้ร่างกายได้รับอากาศบริสุทธิ์จากธรรมชาติบ้าง
อีกทั้งไม่ควรวางเทียนหอมไว้ใต้เครื่องปรับอากาศ เนื่องจากเครื่องปรับอากาศส่วนใหญ่มักจะฟอกอากาศไปด้วยทำให้กลิ่นหอมให้หายไปหมด และน้ำหอมที่ระเหยออกมา อาจทำให้ท่อแอร์อุดตันได้
นอกจากนี้หากใครไม่มีโคมไฟอุ่นเทียนหอมแบบไฟฟ้า แต่ใช้การจุดเทียนแบบดั้งเดิม ก็อาจจะเผลอลืมดับเทียน เสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ในคอนโดได้
ทั้งหมดนี้เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่คนอยู่คอนโดและหอพักควรรู้ไว้ เป็นการป้องกันความประมาทที่อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ หรือเรื่องร้ายแรงในอนาคตได้
-----------------------------------
อ้างอิง : millioncandle.com, shinyurealestate.com, oas.psu.ac.th, jpss.jp, BBC, euroscan.co.th