พบรักหวานๆ ในจังหวะชีวิตขมๆ 'สำนักพิมพ์แจ่มใส' เพื่อนนักอ่านในทุกช่วงเวลา
สนทนากับเพื่อนสาวใจดีนักเล่าเรื่องที่ชื่อ "สำนักพิมพ์แจ่มใส" ผู้ผลิตนิยายครองใจวัยรุ่น อะไรคือวิธีคิดของการผลิตงานคุณภาพตลอด 20ปี และก้าวต่อไปในภูมิทัศน์สื่อใหม่ พฤติกรรมผู้อ่านใหม่ๆ แจ่มใสจะยังคง "แจ่ม" เหมือนชื่อหรือไม่?
How-to การประสบความสำเร็จในชีวิต, วิธีบริหารการเงิน, ศาสตร์แห่งการค้นหาความสุข และอีก ฯลฯ คือตัวอย่างประเภทหนังสือขายดีที่อธิบายว่าพฤติกรรมการอ่านและแนวทางคอนเทนต์ขวัญใจตลาดเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ถึงเช่นนั้นเนื้อหาประเภท “นิยาย” ก็ยังเป็นหนึ่งในหมวดหนังสือที่อยู่ยงคงกระพัน แม้ว่าผู้ครองอันดับหนึ่งจะเปลี่ยนหน้าค่าตาเป็นอย่างไร
ในตลาดเนื้อหาประเภทนิยาย หากนิยามต่อจากนั้นว่าเป็นนิยายวัยรุ่น สื่อสารความรักใสๆ Poppy Love ชื่อที่หลายคนนึกถึงเป็นลำดับแรกๆ คือผลงานของ “สำนักพิมพ์แจ่มใส” สำนักพิมพ์ที่อยู่คู่กับสังคมการอ่านมามากกว่า 20 ปี
ถ้ายังจำกันได้ ในช่วงหนึ่งของงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ สำนักพิมพ์แจ่มใสเคยสร้างปรากฏการณ์คนแน่นบูธต่อเนื่องมาหลายครั้ง เป็นผู้ผลิตผลงานที่ได้รับความนิยมจากนักอ่านวัยรุ่นหญิง สร้างกลุ่มนักอ่านที่มีฐานมาจาก “นิยายแจ่มใส”
ปัจจุบันสำนักพิมพ์แจ่มใสผลิตหนังสือหลากหลาย มีแบรนด์ในเครือเพื่อสนองความต้องการเนื้อหาในแต่ละช่วงวัย เช่น “มากกว่ารัก” ซึ่งผลิตนิยายรักแปลจีนโบราณย้อนยุคที่แปลจากงานจีนและไต้หวัน , With Love ซึ่งผลิตนิยายรักโรแมนติกร่วมสมัยจากเกาหลีและญี่ปุ่น, แบรนด์ Love นิยายไทยร่วมสมัย, everY(เอเวอร์วาย) นิยายวาย Yaoi และ Yuri, แบรนด์ GANBATTE(กัมบัตเตะ) หนังสือคู่มือเตรียมสอบ และหนังสือ How-to พัฒนาตนเองสำหรับวัยรุ่น
ถ้าแจ่มใสเคยเป็นดั่งเพื่อนสาวที่คอยเคียงข้างให้ความบันเทิงมานับสิบปี ถึงวันนี้เพื่อนสาวคนดีคนเดิมก็ได้เติบโตขึ้น ทั้งยังชักชวนเพื่อนพี่น้องใจดีมาร่วมเป็นเพื่อนให้กับนักอ่าน เป็นทางเลือกให้กับผู้เสพคอนเทนต์ ท่ามกลางมวลมหาสาระและความบันเทิงในภูมิทัศน์สื่อดิจิทัลปัจจุบัน
สังคมการอ่าน ความเป็นไปของธุรกิจสำนักพิมพ์เป็นอย่างไร “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” สนทนากับ รวิวรรณ มฤคพิทักษ์ รองกรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์แจ่มใส แฟนหนังสือที่ผูกพันกับแจ่มใสมานาน และเป็นผู้บริหารเจนเนอเรชั่นใหม่ที่กำลังนำพาสำนักพิมพ์แจ่มใส แสวงหาความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต
รวิวรรณ มฤคพิทักษ์ รองกรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์แจ่มใส
ภาพ : ศุกร์ภมร เฮงประภากร Nation Photo
- ย้อนไปหลายปีก่อน งานมหกรรมและงานหนังสือแห่งชาติเคยมีปรากฎการณ์บูธแตก กลุ่มนักอ่านวัยรุ่นต่อคิวซื้อหนังสือ ขอลายเซ็นต์นักเขียนที่บูธแจ่มใส สถานการณ์ในวันนั้นกับวันนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?
เหมือนกันคือวันนั้นคนต่อคิวเพื่อรอซื้อหนังสือกันในงาน แต่วันนี้ถ้ามีหนังสือเล่มไหนได้รับความนิยม แล้วเปิดให้สั่งจอง เราก็จะเจอคนสั่งซื้อหนังสือจนเว็ปล่ม หรือถ้าเป็นอีบุ๊ค (E-book) ก็จะเจอยอดดาวน์โหลดมากมายใน 1-2 วันที่เราปล่อยให้ดาวน์โหลด ยังรวมถึงถ้าหนังสือนั้นมีของพรีเมี่ยมที่ไปในธีมเดียวกับหนังสือ พอประกาศออกไปชั่วโมงเดียวก็หมด ที่เหมือนเดิมคงเป็นความผูกพันของนักอ่าน ส่วนที่ต่างกันคือวิธีที่ผู้สนับสนุนเข้าถึง
ในยุคนั้น (คนแน่นบูธหนังสือ) มีกลุ่มนักเรียนหญิงชั้นมัธยมเป็นแฟนนิยายแจ่มใส ชอบอ่านนิยาย เขาก็เลือกเนื้อหาของแจ่มใส แต่วันนี้พวกเขามีทางเลือกของสื่อบันเทิงที่หลากหลาย ก็ต้องยอมรับว่าคนที่เคยอ่านก็ต้องกระจาย แบ่งเวลาไปเสพความบันเทิงอย่างอื่น เพราะซีรีส์น่าดูเยอะมาก ดูกันไม่ทัน (ยิ้ม) เวลาในการอ่านเนื้อหาในแบบรูปเล่มก็คงลดน้อยลง แต่ยังมีนักอ่านกลุ่มหนึ่งที่ยังชื่นชอบการอ่าน และเราก็พร้อมจะสนองตอบในกลุ่มนั้น
กระบวนการผลิตคอนเทนต์วันนี้เปลี่ยนไป แจ่มใสจะไม่ใช่รักกุ๊กกิ๊กอย่างเดียวแบบสมัยก่อน แต่จะเป็นนิยายแนววายบ้าง แนวรักโรแมนติค หรือเป็นแนวอื่นๆที่มีคนชอบ ในกลุ่มลูกค้าที่เรามีโอกาสคุย ซึ่งในวันนี้เป็นคนอายุ 25 ปีขึ้นไป พอเขาบอกว่าเป็นแฟนของสำนักพิมพ์แจ่มใสเรารู้สึกดีนะ และสิ่งที่เราและพวกเขามีอยู่คือความผูกพันจากการที่โตมากับแจ่มใส นิยายของแจ่มใสเป็นพื้นฐานที่ทำให้เขารักการอ่าน นำไปสู่การติดตามคอนเทนต์ในรูปแบบใหม่ที่เอาไปพัฒนาชีวิตเขาได้
20 ปีที่แจ่มใสก่อตั้งมา มีหลายอย่างที่ปรับเปลี่ยนไป แต่จุดสำคัญที่ทำให้เราอยู่มาได้คือคุณค่า และคุณค่านี่แหละที่เราต้องทำให้มันจับต้องได้ ผ่านสินค้า ผ่านการบริการ ผ่านทีมงานของเรา ทำอย่างไรที่จะสร้างความสุขแก่คนอ่าน ถึงจะเป็นหนังสือเรียนก็ต้องเป็นหนังสือที่น่าอ่าน นี่คือโจทย์ของแจ่มใส
บรรยากาศบูธสำนักพิมพ์แจ่มใสในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เมื่อปี 2018 ภาพจากเฟสบุ๊ค สำนักพิมพ์แจ่มใส
- มองเส้นทางการเติบโตของสำนักพิมพ์ จากในอดีตจนถึงปัจจุบันอย่างไร?
ทุกวันนี้เรามีหลายบริษัทย่อย มีแบรนด์ย่อย และแต่ละแบรนด์บอกอัตลักษณ์ของสินค้าแตกต่างกัน เรามีแจ่มใสที่ยังผลิตนิยายในแนวทางต่างๆ มีกัมบัตเตะที่ทำหนังสือเรียน มี “กลุ่มนิยายมากกว่ารัก” ที่นำเสนอนิยายจีนโบราณที่แปลจากนิยายจีนและไต้หวัน เจาะกลุ่มผู้ใหญ่ มีแบรนด์ Enter Books (เอ็นเธอร์บุ๊คส์) ซึ่งรวบรวมนิยายเรื่องดังจากทุกมุมโลก มีการสืบสวน-สอบสวน และยังมีแนวแฟนตาซี
แต่ละแบรนด์มีกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง ย้อนไปในวันที่เราทำนิยายรัก เรามีนักอ่านผู้หญิงที่หลากหลายวัย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ในยุคนั้นนักอ่านก็จะอยู่ในกลุ่ม ม.ปลาย จนไปถึงกลุ่มคนทำงานที่อายุประมาณ 30 ปี ช่วงนั้นเราทำนิยายในชุด “ความรู้สึกดีที่เรียกว่ารัก” เป็นแนวที่ทำให้แจ่มใสเป็นที่รู้จัก ยุคนั้นคนที่จะได้รับการตีพิมพ์ผลงานต้องเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง แต่เมื่อเรามองว่ายังมีคนอีกมากที่สามารถสร้างงานได้ดี และอยู่ในออนไลน์ ซึ่งในยุคนั้นถ้าใครเข้าเว็ปไซต์ Pantip ก็จะมีนิยายดีๆเยอะ เราก็คิดว่าน่าจะลองดู เป็นเวทีที่ทำให้ผลิตนักเขียนใหม่ออกมา ในแนวความรู้สึกดีที่เรียกว่ารัก
สิ่งที่ทำให้แจ่มใสเติบโตมา คือนิยายที่เป็นฟิลลิ่งแบบเกาหลี มันเติบโตและได้รับการตอบรับที่ดีมาก ยิ่งประจวบกับในเวลานั้นมีซีรีส์เกาหลีที่ได้รับความนิยมด้วย มันเลยทำให้มีเราเป็นที่รู้จักมากๆ ภาพที่คนมองเข้ามาในแจ่มใส เลยมองว่าเราเป็นสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือวัยรุ่น แต่จริงๆเรามีหนังสือที่ตอบโจทย์หลากหลายวัย แต่ ณ ตอนนั้นก็เป็นนิยายวัยรุ่น ที่เรียกว่า แจ่มใส Love Series ซึ่งเป็นหมวดที่ได้รับความนิยมและสร้างชื่อให้กับแจ่มใสมากที่สุด
ผลงานของสำนักพิมพ์แจ่มใส ที่ถูกทำเป็นซีรีส์ ภาพจากเฟสบุ๊คสำนักพิมพ์แจ่มใส
- ความนิยมแบบที่ว่านี้ พอจะบอกได้ไหมว่าเป็นจำนวนเท่าไร?
ประมาณหลักแสนเล่มต่อหนึ่งเรื่องได้ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูงในธุรกิจสิ่งพิมพ์
- ทุกวันนี้ แจ่มใส Love Series หรือนิยายความรักแบบกุ๊กกิ๊ก ยังเป็นผลผลิตหลักที่สร้างความสำเร็จให้กับสำนักพิมพ์แจ่มใสอยู่หรือไม่?
มันเปลี่ยนแปลงไปนะ ความต้องการมันเปลี่ยน และเราก็ปรับไปเช่นเดียวกัน หลายปีหลังก็จะมาแนววาย (ตัวละครหลักมีเพศสภาพเดียวกัน เช่น ชายรักชาย หญิงรักหญิง) มาทดแทน และถ้ามองถึงนิยายวายเราก็เป็นเจ้าแรกๆ ที่บุกเบิกทำ จนเกิดกระแสวายไปในหลายวงการ
- ในแวดวงการอ่านการเขียน ธุรกิจสำนักพิมพ์ในประเทศไทย พอเอ่ยถึงนิยายวัยรุ่น ก็จะคิดถึงแบรนด์แจ่มใสขึ้นมา กระบวนการคัดเลือกงานของที่นี่มีวิธีการอย่างไร ทำไมถึงเป็นที่จดจำขนาดนี้?
ผลงานที่มาจากแจ่มใสต้องมีมาตรฐานก่อน และมาตรฐานที่ว่านี้จะมีสองส่วน อย่างแรกเราดูความสนใจก่อนว่า ณ ตอนนี้คนสนใจในเรื่องไหน เราคิดในมุมนี้คือเราเชื่อว่าคนต้องการความบันเทิง เพราะคนอาจจะเครียด เราก็อยากให้เขาพักผ่อน และเราก็มองว่าเทรนด์ในสังคมต้องการอะไร ต้องการความบันเทิงแบบไหนซึ่งในมุมนี้คือเราก็ต้องไปค้นหามา
กับอีกส่วน เรามองในต่างประเทศ หรือนักเขียนไทย ที่เรามองว่าน่าสนใจ มีแวว แต่ยังไม่เคยถูกตีพิมพ์ เราจะสามารถเอามาทำให้รู้จัก หลายๆแนวเราก็เป็นเจ้าแรกที่เอามานำเสนอตลาด หรือในบางแนว แม้เราอาจจะไม่ได้เป็นเจ้าแรก แต่เราก็ถือเป็นเจ้าที่ทำจริงจัง และบุกเบิกจนตลาดขยาย และมีผู้เล่นรายอื่นๆเข้ามา
เนื้อหาของหนังสือแจ่มใสต้องสนุก และเป็นที่สนใจ และจากนั้นเราก็ต้องเข้าใจว่า หนังสือมันเป็น Soft Power ซึ่งส่งผลถึงหลักคิดของคน เราจะไม่ตั้งโจทย์ที่ว่าสินค้านี้มันจะทำเงินหรือไม่ เราไม่เน้นตรงนั้นเป็นอย่างแรก เพราะในโลกนี้มันมีคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมแน่ๆ แต่มันติดเรต มีเนื้อหาบางอย่างที่จะสื่อสารแนวคิดบางอย่างไม่เหมาะสม หรือขัดศีลธรรม เราก็จะเลือกที่จะไม่ทำ แม้มันจะได้รับความนิยม และมีโอกาสที่จะสร้างรายได้
ในเชิงปฏิบัติ เราศึกษาตลาด และเราทำโฟกัสกรุ๊ปในสินค้าที่เรายังไม่แน่ใจ และในกระบวนคัดเลือกต้นฉบับ เราไม่ได้ให้ทีมใดทีมหนึ่งเป็นคนเลือก แต่เรามองภาพรวมของแจ่มใส ทั้งทีมขาย ทีมการตลาด ทีมกองบรรณาธิการ เรามาคุยกันถึงศักยภาพของต้นฉบับ มีการ Brainstorm ร่วมกันว่าสิ่งไหนสนุกและไปได้ โดยมีประโยชน์ทางด้านเนื้อหาและนักอ่านเป็นตัวตั้ง
- การคัดเลือกต้นฉบับที่เป็นจะเข้มข้นมาก?
เป็นกระบวนการที่สำคัญ และขั้นตอนของการคัดเลือกงาน เราจะทำเป็นแบบแนวราบ ไม่ว่าผู้บริหารหรือเด็กทำงานใหม่ก็จะสื่อสารโดยตรงกันได้ ทุกคนมีโอกาสจะเสนอความคิดเห็นได้ จากนั้นเรามีลักษณะกลุ่มงานที่จะทำงานกับเรื่องนี้ จะใช้ห้องประชุมหรือคุยออนไลน์อย่างไรก็ได้เพื่อทำงานร่วมกัน ถ้าใครมีความสนใจ มี Passion ในเรื่องใดแล้ว ต่อให้ไม่ได้อยู่ส่วนนี้หรืออยู่ในแผนกนี้ เขาก็สามารถเข้าร่วมได้ และเราเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น และมาประเมินกันว่าสิ่งนี้มันใช่หรือไม่ใช่สำหรับเรา
เราไม่ได้มองว่าการนำเสนอต้นฉบับต้องมาจากการประชุมของทีมงานอย่างเดียว ต้นทางอาจจะมาจากข้อมูลของ Call Center ซึ่งมีผู้อ่านโทรเข้ามาเพื่อแนะนำและสะท้อนอะไรบางอย่างกับเรา เขาก็สามารถโยนไอเดียออกมา ทีมก็เอามาทำต่อ ศึกษาความเป็นไปได้ ขั้นตอนอื่นๆ เราพยายามทำให้พิถีพิถันที่สุด ที่ผ่านมานักอ่านเขาให้การยอมรับว่า เราทำได้ดีในการขัดเกลาปรุงต้นฉบับ จนนำมาสู่การตีพิมพ์ ทั้งคุณภาพ การแปล สำนวน การพิสูจน์อักษร ซึ่งเราก็จะยึดแนวทางนี้ต่อไป
ในการหาผลงานนี้มีไม่น้อย ที่ไม่ได้มาจากการค้นหาของทีมงานเราเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีที่นักอ่านเป็นฝ่ายที่แนะนำเราด้วย แนะนำให้เราไปซื้อลิขสิทธิ์ ซึ่งส่วนหนึ่งเราก็ได้รับข้อมูลเพื่อไปศึกษาต่อ
- สำหรับสำนักพิมพ์ที่ผลิตนิยาย และต้องหาต้นฉบับมาเป็นผลิตภัณฑ์หลัก การพิจารณาที่ว่านี้มีจำนวนเท่าใด?
หนังสือเรามีหลายหมวด ถ้าแยกเป็นแนวๆ หมวดหนึ่งก็หลักสิบเรื่องนะ รวมๆก็เกินร้อยเรื่องที่เราต้องพิจารณา
- ในโลกปัจจุบันทั้งออฟไลน์และออนไลน์ คอนเทนต์ที่นำมาผลิตนิยายเพื่อความบันเทิงมีเยอะมาก ความรู้สึกแบบไหนที่จะตัดสินว่าใช่-ไม่ใช่ สำหรับแจ่มใส?
เบื้องต้นคงต้องดูหลักฐานเชิงตัวเลข เรตติ้ง หรือการวัดผลที่มีอยู่ในเชิงรูปธรรม ของผลงานนั้นๆ ที่ได้รับในออนไลน์ จากนั้นก็เป็นการสำรวจความรู้สึกจากคนที่มอง พิจารณาพล็อตเรื่อง พูดถึงจุดขาย หรือกระทั่งการตั้งคำถามถึงเรื่องที่เรากังวลในผลงานนี้ ถ้าผ่านเกณฑ์ก็คงจะพิจารณาอีกที ซึ่งในแต่ละขั้นตอนการพิจารณาก็จะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
เราใช้เรตติ้ง การวัดผลทั้งภายในและภายนอก ใช้เหตุผลอธิบายทั้งในมุมผู้ผลิต กลุ่มแฟนนักอ่าน เอามาประกอบร่วมกัน ทั้งหมดถือเป็นตะแกรงที่จะเอามาดูในแต่ล่ะขั้นตอนว่าแบบไหนใช่-ไม่ใช่ หรือเรื่องที่จะเอามาแปลจากต่างประเทศ เราก็ควรจะรู้ว่าเรื่องนี้ได้รับความเห็นอย่างไร มีใครพูดถึงและคิดเห็นกับมันอย่างไร
เราไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัวที่จะบอกว่าเรื่องนี้จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่ในอีกด้านเราจะมีหลักคิดถึง “สิ่งที่จะไม่ทำ” เรามีตัวกรอง ว่าแบบไหนเราจะไม่ทำ จริงอยู่ที่เราดูความสนุกเป็นหลัก ว่าผลงานจะตอบโจทย์เรื่องนี้ไหม แต่เรื่องต้องไม่ขัดกับศีลธรรม ไม่ใช่ความรักในแบบครูอาจารย์ เจ้านายลูกน้อง หรือมีความยั่วยุทางเพศ ซึ่งเราไม่ได้ปฏิเสธว่ามันมีอยู่จริง แต่เราจะไม่ก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ และเอาเรื่องลักษณะนี้มาทำเป็นพล็อตในนิยาย
ขอแชร์ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นรูปธรรมคือ เคยมีนิยายแปลของจีนที่เราคิดจะผลิต คือคนอ่านแล้วสนุก ชอบ และก็ถูกส่งมาแนะนำที่สำนักพิมพ์ ตอนแรกเราก็สนใจจะทำนะ แต่พอในเรื่องมันพูดถึงยุคปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน และก็มีบางส่วนที่รู้สึกไม่ดี เพราะว่าในยุคนั้นก็เกิดเหตุการณ์เลวร้ายเยอะ ถ้ามองว่ามีประเด็นแบบนี้เราเลือกที่จะไม่ทำดีกว่า เรานิยามว่าเป็น “ศีลธรรมของผู้ผลิต” อะไรที่สุ่มเสี่ยงแบบนี้เราไม่ทำเลย ทั้งๆที่เป็นหนังสือสนุกและเชื่อว่าจะได้รับความนิยมด้วย
เราอาจจะโลกสวยก็ได้นะ แจ่มใสไม่ได้มองผลลัพธ์ที่รายได้ แต่ต้องเป็นคุณค่าของสังคม และวิธีการที่เราเลือกเราจะจัดลำดับความสำคัญ คืออย่างน้อยมันต้องเป็นหนังสือที่ดี อะไรที่สุ่มเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบในเชิงลบเราก็จะตัดไปเลย เราจะมององค์รวม พนักงาน ลูกค้า นักเขียน นักแปล เราจะคุยกันทุกองค์ประกอบ ถ้าอะไรไม่ผ่าน เราจะตัดจบ
นอกจากกระบวนการคัดเลือกเรื่อง ในส่วน Production หรือกระบวนการผลิตเราทำให้ละเอียดที่สุด ถ้าเป็นภาษาต่างประเทศก็ต้องใช้นักแปลที่เหมาะสม มีการคัดเลือกนักแปลที่ผ่านมาตรฐาน เราก็จะทดสอบ และก็มีฝ่ายภาษาที่ทำให้หน้าที่ถูกต้อง ก่อนไปคัดตอนการรีไรท์ให้สละสลวย เรายังมีขั้นตอนการตรวจสอบ เพื่อให้แนวทางพล็อตเรื่องที่นักเขียนจินตนาการมามีรายละเอียดที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากที่สุด หรือการพิสูจน์อักษร การออกแบบปก ของพรีเมี่ยมที่มากับหนังสือ ก็จะเป็นแนวทางปกติของการทำสิ่งพิมพ์ซึ่งต้องทำให้ดีที่สุด
หลักคิดตรงนี้ก็จะส่งผลไปถึงการมองหาทีมงาน เราคัดเลือกคนที่เป็นแจ่มใส แม้กระทั่งน้องๆทำงาน Part-time ในงานขายหนังสือ ซึ่งเราต้องคัดเลือก ดูทัศนคติ สมมติเป็น Roleplay (บทบาทสมมติ) ถึงสถานการณ์ในการเจอลูกค้า เราอยากส่งมอบบริการที่ดีที่สุด ความประทับใจ เราก็ต้องมองหาคนที่ใช่จริงๆ เพราะเขาเหมือนตัวแทนของแบรนด์ที่จะสามารถส่งต่อสิ่งนี้ ถ้าไม่ใช่เราก็ไม่เสี่ยง เราต้องให้บริการด้วยใจและมีความสุขกับมันจริงๆ
- ทุกวันนี้หนังสือของแจ่มใส ตอบสนองคนอ่านวัยไหน?
ตอนนี้คำว่าหนังสือวัยรุ่น มันเป็นพาร์ทเดียวของแจ่มใสไปแล้ว เรามีเนื้อหาตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ นิยายกุ๊กกิ๊กซึ่งมีฉากพระเอกนางเอกรู้จักกันที่โรงเรียนมัธยมแบบที่คุ้นเคยกันเราก็ยังมี หรือให้มันเข้มข้นขึ้น ออกดราม่านิดๆ เราก็มี ซึ่งเราก็จะแยกตามแบรนด์ย่อยๆ เพื่อสอดคล้องกับผู้อ่าน
การจับกลุ่มสินค้าของแจ่มใสไม่ได้มองถึงอายุ แต่มองถึงอารมณ์ของหนังสือ สมมติแนวรักใสๆ ไม่มีอะไรซับซ้อนก็จะเป็นแนวหนึ่ง หรืออ่านแล้วเป็น Boy love (นิยายวาย) ก็อีกแนว เราแบ่งตามคาแรกเตอร์ของงานมากกว่าช่วงอายุ เพราะคนที่ชอบอะไรเหมือนกันก็จะมีคอมมนูนิตี้ ในการคุย เหมือนกับแฟชั่นที่ไม่จำกัดอายุ แต่เป็นคนที่ชอบอะไรเหมือนๆกัน
ยกตัวอย่างแนวคอนเทนต์จีนโบราณ เราเรียกว่าแนว “มากกว่ารัก” นักอ่านก็มีตั้งแต่วัยทำงานตั้งแต่อายุ 20 ปี จนถึง 60 ปี ซึ่งพล็อตเรื่องก็จะซับซ้อนหน่อย หรือนิยายรักแปลปัจจุบันจากหลายชาติที่เราซื้อลิขสิทธิ์ ก็จะมีตั้งแต่วัยรุ่นผู้ใหญ่
สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกับการทำตลาด คือในแบบแรกหนังสือของแจ่มใสก็ไม่ต่างจากการทำตลาดของที่อื่น การโปรโมทก็ขายปกติ คือช่องทางไหนขายได้ก็ยังทำไป แต่เราให้ความสำคัญกับคอมมูนิตี้ (Community) เราสร้างให้คนอ่านได้สื่อสารกัน และเราใส่สินค้าในคอมมูนิตี้ในจังหวะที่เหมาะสม เราไม่ใช่ตั้งใจมาขายของ แต่เป็นเชิงคุย กับคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน และต้องไม่ลืมเลยคือนักอ่านของแจ่มใสที่เป็นส่วนสำคัญมาก เรามีนักอ่านใหม่ๆ จำนวนมากที่มาจากการแนะนำของแฟนแจ่มใสเดิม
- คอมมูนิตี้น่าจะเป็นสิ่งที่คนผลิตเนื้อหาทุกวันนี้ให้ความสำคัญ ช่วยขยายความให้เห็นภาพหน่อยว่ามันอยู่ตรงที่ไหน อย่างไรบ้าง?
สำหรับนิยายของเรา ก็จะมีใน Pantip, กลุ่มปิดเฟสบุ๊ค หรือถ้าเป็นนิยายแนววายก็จะอยู่ในทวิตเตอร์พอๆกับเฟสบุ๊ค หรือในเชิงนิยายจีนโบราณก็จะ Active อยู่ในกลุ่มเฟสบุ๊คเป็นหลัก
คอมมูนิตี้ที่ว่านี้ไม่ได้ตายตัว มันเป็นทุกๆ พื้นที่ที่เราให้ทั้งคนทำ คนอ่าน และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาเจอกัน ยกตัวอย่าง ถ้าในอดีตที่ยังไม่มีโควิด-19 เราก็จะมีกิจกรรมให้ผู้อ่าน ผู้เขียน หรือคนที่ชอบอะไรเหมือนกันมาเจอกันในแบบออฟไลน์อีเวนท์ แต่เมื่อเจอโควิด-19 ออฟไลน์อีเวนท์ ก็ต้องหยุดไป แต่จะมีการทดแทนเช่นการจัด Live ชวนนักเขียน นักอ่านมาพูดคุยและมีกิจกรรมร่วมกันกัน เราพยายามปรับไปตามสถานการณ์ โดยมี keys หลักคือการรักษาคอมมนูนิตี้ในสิ่งนี้ไว้ และโดยเฉพาะเรื่องที่ถูกสร้างเป็นซีรีส์ที่เชื่อมโยงทั้งคนอ่าน นักเขียน นักแสดง ฯลฯ เราจะจับมาเชื่อมกันทั้งหมด มีการทำเนื้อหาเฉพาะที่สนองคอมมูนิตี้ตรงนั้น
การสร้างคอมมูนิตี้นี้ เชื่อมโยงกับเทรนด์การอ่านในทุกวันนี้นะ ถ้าถามว่าเทรนด์การอ่านเป็นอย่างไรก็ต้องตอบว่า หลากหลายมาก อิทธิพลของโซเชียลมีเดียทำให้ผู้คนสนใจหลากหลาย และมีทางเลือกมาก บางคนสนใจเรื่อง Self-Improvement (การพัฒนาตนเอง) บางคนชอบนิยายแปล ซึ่งทั้งสองแบบก็อาจสามารถเป็นกลุ่มเดียวกันได้ เชื่อมโยงกันโดย Topic หัวข้อที่นำเสนอ เรามีหน้าที่ให้ของที่เราคิดว่าดี ให้เขาเลือก และเราก็เชื่อว่าเราให้หนังสือที่ตอบโจทย์บันเทิง หรือให้ข้อคิดได้
- ช่วยอัพเดทช่องทางการขายของแจ่มใสหน่อย ทุกวันนี้เป็นอย่างไร?
หลักก็ยังเป็นร้านหนังสือนะ แต่ที่เติบโตก็คือดิจิทัลต่างๆ ทั้งอีบุ๊คและในแบบออนไลน์ แต่สัดส่วนใหญ่ในผลิตภัณฑ์ยังเป็นร้านหนังสือเพราะผู้ติดตามยังอยากจับต้องสิ่งที่เป็น Physical อยู่ อยากจะจับต้อง อยากเป็นเจ้าของ สัดส่วนการขาย ณ ปัจจุบันนี้ก็จะเป็นร้านหนังสือกับแพลตฟอร์มดิจิทัลในสัดส่วน 70:30
เวลาพูดถึงการทำธุรกิจสำนักพิมพ์ สิ่งที่จะมักจะถูกพูดถึงตามมาคือเรื่อง Disruption สำหรับแจ่มใสเจอกับอะไรบ้าง และวางเป้าหมายในอนาคตอย่างไร?
เราได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และเราก็คุยกันว่าช่วงปี 64 คือช่วงที่เราทำธุรกิจยากที่สุด ซึ่งสิ่งนั้นมันมาจากสิ่งที่เราคาดการณ์ไม่ได้ วางแผนล่วงหน้าไม่ได้
แต่ถ้ามองคำว่า Disruption ในแบบการปรับเปลี่ยนทางธุรกิจ เราไม่ได้มองมันเป็น Negative (แง่ลบ) นะ แต่เรามองมันเป็นโจทย์ใหม่ตลอดเวลา ในวันที่ลูกค้ามีทางเลือกเยอะ มีเทคโนโลยี แจ่มใสเราก็ปรับตัวอยู่ตลอด และวันนี้เองก็พยายามจะสร้างอะไรใหม่ๆ ให้กับสิ่งรอบตัว
คำว่า Disruption ที่ชัดที่สุดและท้าทายที่สุด มันก็อาจจะเป็นในเรื่องช่องทางที่นำเสนอคอนเทนต์ ที่ผู้คนใช้เวลาในออนไลน์มากขึ้น และก็มีผลที่จะมาซื้อในรูปเล่มน้อยลง แต่เราก็พยายามทำหน้าที่ที่จะผลิตในรูปแบบสิ่งพิมพ์ให้มีพิถีพิถันมากขึ้น เป็นอะไรที่มากกว่าหนังสือ แต่เป็นของที่มีคุณค่า ควรค่าของการเก็บสะสม และสำหรับนักอ่านที่บ้านที่ไม่มีพื้นที่เก็บ เราก็นำเสนอในรูปแบบดิจิทัลไปตามยุคสมัย และเป็นที่มาของระบบจัดเก็บ และสิ่งใหม่ที่เราจะทำตามมาทำให้เรามีระบบ มีสิ่งใหม่ๆ
สำหรับในปี 65 นี้ เราอยากให้แจ่มใสดูสนุกขึ้น คือปี 64 มีหลายอย่างเกิดขึ้น โดยเฉพาะโควิด-19 ตลอดทั้งปีและหลายอย่างเราอาจทำอะไรได้ไม่เต็มที่ ในปีนี้เรามองถึงการ Turn Around ให้กลับมาในจุดที่เราควรจะอยู่ ทั้งในเรื่องรายได้ จำนวนการผลิต ให้กลับมาอยู่ในระดับเดียวกับในช่วงก่อนโควิด-19
ทุกวันนี้เรากำลังมองหาและให้ความสำคัญกับการทำ CRM, Chat bot , Social Commerce ที่ยังไม่เคยมีในแจ่มใส ขณะเดียวกันก็ยังต้องคงเรื่องจิตวิญญาณคุณค่า ที่เราต้องรักษา และนำสิ่งนั้นมาให้ลูกค้า พันธมิตรจับต้องได้ เรามีสโลแกนสำหรับตอนนี้ว่า We bring Happiness to People ซึ่งทุกทีมก็จะมีแคมเปญที่จะส่งมอบความสุขทั้งภายในและภายนอกองค์กร
คอนเซปต์ของการส่งความสุขนี้ เราก็จะพยายามจะมองไปถึงบริการอื่นๆที่เราสามารถทำได้ เช่น ปีที่ผ่านมาเราทำ Virtual Live Fan Meeting ซึ่งนำนักแสดงจากซีรีส์ "Until We Meet Again the Series " ซึ่งมีแฟนคลับเหนียวแน่นทั้งในและต่างประเทศ และได้รับผลการตอบรับที่ดีมาก ถือว่าประสบความสำเร็จ และเป็นแนวทางในการส่งมอบความสุขของเราที่นอกเหนือจากหนังสือ
เราเติบโตมาจากหนังสือนิยายก็จริง แต่วันนี้แจ่มใสไม่ได้เป็นแค่ผู้ผลิตนิยาย แต่เราคือผู้ส่งมอบความสุข มอบความบันเทิง และเป็นเพื่อนกับนักอ่าน ในทุกช่วงเวลา