"วิโรจน์ ลักขณาอดิศร"ปัญหากทม.ที่ต้องแก้ : "ส่วย"ที่เป็นมากกว่าส่วย

"วิโรจน์ ลักขณาอดิศร"ปัญหากทม.ที่ต้องแก้ : "ส่วย"ที่เป็นมากกว่าส่วย

ไม่ได้พูดเก่ง แต่ก่อนพูดต้องพร้อม มีข้อมูลไล่เรียงไทม์ไลน์ชัดเจน และครั้งนี้ขอทำเรื่องยากๆ เสนอตัวเป็น "ผู้ว่าฯกทม." เพราะอยากแก้ปัญหาให้สังคม โดยเฉพาะการศึกษา "ส่วย" ทุนผูกขาด และระบบราชการ

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ดาวรุ่งพรรคก้าวไกล อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.ที่กำหนดวันเลือกตั้งไว้วันที่ 22 พฤษภาคม 2565

ผู้ท้าชิงคนนี้ มีดีกรีทางการศึกษาปริญาตรี ด้านวิศวกรรมยานยนต์ และปริญญาโทบริหารธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์  เคยทำงานด้านวิศวกรรม และงานบริหาร บริษัทเอกชนเกือบ 20 ปี  รวมถึงเคยทำงานบริษัทซีเอ็ดและกลุ่มรักลูก ในเรื่องการพัฒนาด้านวิชาการ

วิโรจน์ เคยเป็นดาวสภาของพรรคก้าวไกล เป็นคนที่มีจังหวะจะโคนการพูดและการนำเสนอข้อมูลในแต่ละเรื่องได้น่าสนใจ

เขาสนใจเรื่องปัญหาการศึกษาและสังคมเป็นทุนเดิม เคยทำเพจ Education Facet ซึ่งเป็นเพจที่ให้ความรู้กลุ่มพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ 

การสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ครั้งนี้ วิโรจน์ชูประเด็นส่วย,ระบบราชการรวมศูนย์ และกลุ่มทุนผูกขาด

ล่าสุด กรุงเทพธุรกิจ พูดคุยกับเขา เรื่องชีวิตที่หลอมรวมให้เป็นวิโรจน์ในวันนี้ รวมถึงปัญหาที่เขาขันอาสา อยากแก้ไขให้บ้านเมือง

\"วิโรจน์ ลักขณาอดิศร\"ปัญหากทม.ที่ต้องแก้ : \"ส่วย\"ที่เป็นมากกว่าส่วย ("การแก้ปัญหาการศึกษา เราแก้ที่ต้นตอหรือยัง ผมยืนยันว่า เด็กไทยเรียนเยอะเกินไป ทำให้ไม่มีคุณภาพ"วิโรจน์ ลักขณาอดิศร)

การอธิบายเป็นขั้นเป็นตอน นิสัยแบบนี้มาจากไหน

ตอนเด็กๆ เวลาผมฟังครูสอนหรือฟังบรรยาย ผมจะคิดตามและคิดอีกมุมเสมอ ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง Six Thinking Hats (ทฤษฎีหมวก 6 ใบ) ของดร.เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน ถ้าเราฟังแล้วเชื่อหมด ไม่มีคำถามหรือข้อโต้แย้ง จะทำให้เรามองไม่รอบด้าน ผมชอบคิดสงสัย ทำให้ชอบตั้งคำถาม

ผมชอบเรียนคณิตศาสตร์ ไม่ชอบจำ แต่อยากรู้ที่มาที่ไป ง่ายๆ เลยการสอนคณิตศาสตร์บ้านเรามักสอนให้เด็กรู้วิธี แต่ไม่รู้ที่มาที่ไป 

ตอนประถมหนึ่ง ผมเรียนแย่มากอยู่อันดับเกือบท้ายๆ จนแม่ถูกครูเชิญไปพบที่โรงเรียน กระทั่งผมมีโอกาสรู้จักคุณอาข้างบ้าน เขาบอกว่าที่ผมเรียนไม่ได้เรื่อง เพราะครูสอนอะไรมาก็จำ ถ้าเราไม่เข้าใจ ก็จะลืม เขาเริ่มสอนคณิตศาสตร์ผม ก็เลยรู้ว่า ถ้าเข้าใจไม่ต้องจำเลย  คุณอาป้อนคำถามให้ผมคิดอยู่เรื่อยๆ หาหนังสือให้ผมอ่าน และคอยตั้งคำถามจากสิ่งที่ผมอ่าน ไม่ให้ผมคิดในมิติเดียวหรือกรอบเดียว ทำให้ผมคิดนอกกรอบ

คุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาแค่ไหน

พ่อแม่ผมเหมือนคนเจนเอ็กซ์ (Generation X) ที่พร้อมทุ่มเททรัพยากรที่หามาได้ให้ลูกเรียนหนังสือ 

ถูกฝึกให้คิดนอกกรอบตั้งแต่เด็ก? 

เด็กไทยเรียนเยอะเกินไป ไม่มีเวลาคิดลึกซึ้งหรือคิดตั้งคำถามที่ไม่เข้าใจ เมื่อผมเรียนแบบเข้าใจมากขึ้น ทำให้ผมเรียนดีขึ้น มั่นใจมากขึ้น แต่ผมไม่เคยสอบได้ที่ 1 วิชาที่ใช้ความจำผมได้เกรดสอง แม่ผมก็ไม่ได้เคร่งเครียดที่จะต้องได้เกรด 4 ทุกตัว

ทำให้ผมตั้งใจเรียนในวิชาที่สนใจ พวกคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ แต่เด็กยุคนี้ไม่เป็นอย่างนั้น พวกเขาต้องเรียนหลายวิชา ทำให้ไม่มีเวลาตั้งคำถามและลุ่มลึก

\"วิโรจน์ ลักขณาอดิศร\"ปัญหากทม.ที่ต้องแก้ : \"ส่วย\"ที่เป็นมากกว่าส่วย

เป็นนักโต้วาทีตั้งแต่เมื่อไร

ตั้งแต่มหาวิทยาลัย ช่วงมัธยม ผมเป็นติวเตอร์ให้เพื่อนที่เรียนไม่ค่อยเข้าใจ จะสอนเพื่อน ผมก็ต้องรู้ว่าเพื่อนจะต้องถามอะไร เป็นทักษะที่ผมใช้ในสภา ต้องเดาว่าอีกฝ่ายจะตั้งคำถามแบบไหน มีคนบอกว่าผมพูดเก่ง ผมไม่ใช่นักพูด แต่ผมชอบชวนคนคิดตาม

ยกตัวอย่างสักเรื่องที่ชวนให้คนตั้งคำถาม ?

อย่างเรื่องการศึกษา โทษกันว่าพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก ผมชวนคิดกลับว่า ไม่ว่าจะผ่านไปปีหรือสิบปี สังคมก็ยังไม่สามารถคืนครอบครัวอันอุดมคติให้พ่อแม่ที่ต้องทำงาน มีเวลาน้อยในการดูแลลูก ทำไมรัฐไม่เอาเวลาที่น้อยทำให้มีคุณภาพ แทนที่จะเรียกร้องให้พ่อแม่มีเวลาให้ลูก

ต้องทำอย่างไร

พ่อแม่เลิกงานห้าโมงเย็น กว่าจะถึงบ้านหนึ่งทุ่ม ลูกกลับถึงบ้านบ่ายสามโมง ถ้าลูกไม่ยอมทำการบ้าน นั่นขี้เกียจหรือทำการบ้านไม่ได้

เมื่อพ่อแม่กลับมาถามว่า ทำการบ้านเสร็จยัง เด็กมีสองทางเลือกคือ ตอบว่ายังไม่ทำ ก็โดนพ่อแม่ดุ เกิดความรุนแรงในครอบครัวอีก 

แล้วทำไมโรงเรียนไม่ดูแลเด็ก เปลี่ยนการบ้านมาเป็นการโรงเรียน ให้คุณครูช่วยดูแล จนพ่อแม่มารับที่โรงเรียน แล้วกลับบ้านมามีเวลาน้อยแต่เป็นเวลาที่อบอุ่น

ถ้าทำอย่างนั้นก็เพิ่มภาระให้ครู?

มีคำถามต่อว่า ทำไมต้องจำกัดบทบาทเฉพาะครู ทำไมไม่เปิดอาสาสมัครที่อยากมาช่วย แล้วมีเบี้ยเลี้ยง ทำไมรัฐไม่จัดให้ ผมไม่ได้บอกว่า ให้ใช้แรงงานครูฟรีๆ 

ถ้าดูแลเด็กแบบเดิม เขาไม่อาจโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพได้ เรายอมรับระดับการพัฒนาประเทศแบบนี้หรือ คนที่ใช้ไม่ได้ เราก็ปล่อยให้เขาติดคุกหรือ แล้วประเทศจะพัฒนาได้ยังไง

\"วิโรจน์ ลักขณาอดิศร\"ปัญหากทม.ที่ต้องแก้ : \"ส่วย\"ที่เป็นมากกว่าส่วย (จากเฟซบุ๊คWiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร)

คุณก็เลยเข้ามาทำงานในระบบการศึกษาอยู่ช่วงหนึ่ง ?

ผมเคยนั่งฟังเสวนาหลายวง สุดท้ายทางออกคือ ประชาชนยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ต้องให้ความรู้การศึกษาประชาชน และโทษประชาชน แสดงว่าการศึกษาไม่ได้ตอบโจทย์ตรงนี้

ยกตัวอย่างเวลาคนเป็นสโตรก (Stroke) หลอดเลือดสมองแตก ทำไมคนในสังคมช่วยเหลือกันไม่เป็น แล้วสรุปว่า ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจ อ้าว! แล้ววิชาสุขศึกษาไม่เคยสอนหรือ

การแก้ปัญหาการศึกษา เราแก้ที่ต้นตอหรือยัง ผมยืนยันว่า เด็กไทยเรียนเยอะไป ทำให้การเรียนไม่มีคุณภาพ

เรียนเยอะเกินไป ถ้าเลือกเรียนเท่าที่จำเป็น ควรเป็นอย่างไร

ยังไงภาษาแม่ก็สำคัญ การอ่านจับใจความ การเขียน การสื่อสาร การเรียนในระดับประถมให้ความสำคัญกับไวยากรณ์และหลักภาษามากไป ผมไม่ได้บอกว่าไม่สำคัญ ควรเป็นเรื่องที่ต้องเรียนตอนมัธยมหรือเปล่า

ผมไม่แฮปปี้เลยที่เห็นเด็กประถมสอง ต้องรู้คำปะหรือไม่ปะวิสรรชนีย์ และภาษาต่างประเทศ ต้องไม่ใช่การเรียนไวยากรณ์ภาษาก่อน รวมถึงการประยุกต์วิทยาศาสตร์ใช้ในชีวิตประจำวันก็สำคัญ

ถ้าจะแก้ปัญหาการศึกษา ต้องปลดล็อคเรื่องไหนก่อน

อย่าเรียกว่าแก้ไข ต้องลดปริมาณการเรียน ยกตัวอย่างอาจมีการสอบแค่สามวิชา ส่วนวิชาอื่นๆ ใช้การประเมินแบบอื่น ไม่ต้องสอบ แต่พอบอกว่า ลดการสอบ ลดการบ้าน ครูก็เปลี่ยนเป็นรายงาน สุดท้ายการศึกษาแย่งเวลาเด็กไปหมด

ถ้าจะให้เด็กคิดสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรม คือ การลองผิดลองถูก เด็กต้องมีเวลา ค้นหาตัวเอง ต้องถามผู้รู้

ถ้าเราต้องการให้เด็กมีมนุษย์สัมพันธ์มากขึ้น ต้องทำงานเป็นทีม รู้จักใจเขาใจเรา เด็กก็ต้องเล่นกับเพื่อนเยอะๆ เมื่อเด็กต้องการรวมกลุ่ม ก็ต้องการเวลา แล้วระบบการศึกษาได้คืนเวลาให้เด็กบ้างไหม

\"วิโรจน์ ลักขณาอดิศร\"ปัญหากทม.ที่ต้องแก้ : \"ส่วย\"ที่เป็นมากกว่าส่วย

(จากเฟซบุ๊ค Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร)

แล้วคุณวางระบบการศึกษาให้ลูกอย่างไร

ผมให้ลูกอายุ 7 ขวบเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน เน้นวิชาสำคัญๆ ส่วนวิชาอื่นผมให้ลูกรับผิดชอบตามที่ครูสั่ง ไม่ต้องหวังเกรด 4 แต่ต้องอ่านหนังสือ เตรียมการสอบและทำแบบฝึกหัดเอง ให้เห็นคุณค่าจากการฝึกฝน

แล้วเอาเวลาไปเล่น ช่วงโควิดเด็กๆ อยากเจอเพื่อนๆ นานแค่ไหนที่เด็กไม่ได้เห็นรอยยิ้มเพื่อนภายใต้หน้ากาก

ทำไมถึงเน้นการเรียนไม่กี่วิชา

เพราะโรงเรียนเป็นโมเดลจำลองสังคมที่แท้จริง มีความปลอดภัยมากกว่าที่อื่น มนุษย์ต้องมีสังคม เด็กได้อยู่กับคนที่เหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้าง

คุณเคยทำงานบริหารเกี่ยวกับในแวดวงหนังสือที่บริษัทซีเอ็ด

คนที่ทำงานบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด ต่างเชื่อว่า ไม่ใช่คนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่เข้าถึงแหล่งหนังสือไม่สะดวก

คนไทยอยากอ่านหนังสือ ถ้ามีร้านหนังสือเข้าถึงสะดวกและการจัดวางหนังสือให้เลือกซื้อง่ายขึ้น ก่อนมีซีเอ็ด และอีคอมเมิร์ช ถ้าจะไปร้านหนังสือมีไม่กี่ร้าน และส่วนใหญ่มีหนังสือเรียนเป็นหลัก ไม่ใช่หนังสือทั่วไป

พอเราอยู่ในสังคมหนังสือ ส่วนหนึ่งเราก็อยากคุยเรื่องหนังสือกับคนคอเดียวกัน คุยเรื่องความซับซ้อนของตัวละคร

ผมชอบอ่านหนังสือนวนิยายกำลังภายในจีน เพราะซ่อนปรัชญาหลายอย่าง ประวัติศาสตร์ และจิตวิทยา

เมื่อสมัครผู้ว่ากทม. คุณมีรายได้จากอะไรบ้าง

เงินเก็บ และเงินลงทุนเล่นหุ้น 

การเข้าสู่แวดวงการเมืองเป็นความตั้งใจหรือความบังเอิญ ? 

ผสมผสานกับความบังเอิญ แต่เดิมผมอยากมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ผมไม่ได้คาดหวังจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผมคาดหวังเป็นทีมหลังบ้าน ตอนเอาชื่อไปลงสมัครปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 33 ใครที่ได้ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 20 ก็ไม่อยากเป็นแล้ว แต่ผมอยากช่วยพรรค 

เวลาคุณพูดในสภา คุณเตรียมข้อมูลอย่างไร

ถ้าเตรียมเยอะไป บางทีก็เกร็ง ช่วงหลังๆ เตรียมเฉพาะประเด็นสำคัญๆ พูดจากใจดีกว่า แต่ก็เตรียมบ้าง บางครั้งรู้สึกว่าเราพูดดี พูดครบ พอมาฟังย้อนหลัง ผมก็รู้จุดอ่อน จึงต้องแก้ไข

ตอนนี้เวลาพูดที่ไหน ผมเอาคำตอบสุดท้ายมาพูดอันดับแรก ปัญหากรุงเทพฯมหานคร 10 ปีก่อนกับตอนนี้ไม่แตกต่าง

ยกตัวอย่าง ปัญหาทางเท้าไม่ใช่แค่ทางเท้า อยู่ที่การประมูลจัดซื้อจัดจ้าง มีการว่าจ้างผู้รับเหมาเพียงไม่กี่ราย มีการฟันหัวคิว โดยที่กทม.ไม่ใส่ใจ ปัญหากทม.ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้ปัญหา อยู่ที่ว่าเรากล้าแตะต้นตอปัญหา แตะเครือข่ายผลประโยชน์หรือไม่

คุณลงพื้นที่หาเสียงกี่วัน

แทบทุกวัน มีทีมงานประจำ 6 คน แต่มีอาสาสมัครมาช่วย

สามประเด็นที่นำเสนอในการสมัครผู้ว่ากทม. ? 

1.เรื่องส่วย ไม่ใช่แค่ส่วย เป็นทั้งส่วยและคอรัปชั่น ทำให้คนกรุงเทพฯอยู่อย่างสิ้นหวังกับคำพูดว่า “ใครมาเป็นผู้ว่ากทม. ก็กินเหมือนกัน”

คนรู้สึกเบื่อ งบประมาณที่จ่าย 100 แต่ได้ของ 40 คุณภาพต่ำกว่าเงินที่จ่าย ทั้งๆ ที่รัฐต้องลงทุนในสินทรัพย์ให้เป็นสาธารณะสมบัติ จ่ายแพงไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือ จ่ายแพงแล้วได้ของห่วย ทำให้คนรู้สึกสิ้นหวัง

แต่เดิมงบราชการ ก็คืองบผู้รับเหมา ซึ่งบางทีประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ปัญหาคุณภาพชีวิต ประชาชนไม่ได้คิดไกลแบบอุโมงค์ยักษ์ ระบบดาวเทียม พวกเขาคิดถึงปัญหาหน้าบ้าน ปากซอย สถานที่เดินผ่านทุกวัน ถ้ามีงบประมาณเฉพาะสี่พันล้านบาท ทำให้เมืองมีความหวังมากขึ้น คนก็จะมีความเชื่อมั่นมากขึ้น

ทำไมเราพูดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาทที่เก็บได้ เพราะสามารถนำมาเติมสวัสดิการเบี้ยผู้สูงอายุให้เป็นหนึ่งพันบาท สวัสดิการค่าเลี้ยงดูบุตร เบี้ยคนพิการจาก 800 เป็น 1200 บาท เราต้องการช่วยเพิ่มค่าครองชีพ

ถ้าประชาชนเป็นเจ้าของงบสี่พันล้านบาท งบสามารถลงสู่ชุมชนประมาณ 1400 ล้านบาท กระจาย 50 เขต ให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในงบได้อีก 2600 ล้านบาท 

เมื่อเราพูดถึงความไม่เป็นธรรมในกรุงเทพฯและความเหลื่อมล้ำ อย่างเรื่องรถไฟฟ้า ก็ต้องเปิดสัญญาให้เป็นธรรม การจัดเก็บขยะ ถ้าเจ้าของห้างสรรพสินค้า ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ต้องเก็บค่าขยะในอัตราที่แพงกว่าครัวเรือน และแพงอย่างสมเหตุสมผล 

ทุกวันนี้ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จ่ายค่าขยะสองสามหมื่นบาทต่อเดือน ทั้งๆ ที่ค่าเก็บขยะต้องอยู่ในระดับสองสามแสนบาท อีกอย่างถ้ามีการคัดแยกขยะอย่างมีคุณภาพ กทม.จะจัดการขยะได้ง่ายขึ้น นำขยะไปผลิตเชื้อเพลิงได้ 

หลายสิบปีที่ผ่านมา ยังมีการเก็บขยะไม่สมเหตุสมผล ? 

เขตจตุจักรมีการจัดเก็บค่าขยะได้มากที่สุด เพราะปริมาณขยะเยอะ แต่เขตปทุมวัน เก็บค่าขยะได้น้อยกว่าเขตประเวศ บางแค ทั้งๆ ที่มีห้างสรรพสินค้าเยอะ เป็นศูนย์รวมนายทุน แม้มีการจ่ายค่าขยะแพงกว่าครัวเรือน แต่แพงอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่

จากการลงพื้นที่เดินดูปัญหาในกทม.เห็นอะไรบ้าง

ปัญหาประชาชนไม่ได้รับการแก้ไข ข้ออ้างเดิมๆ อย่างถนนเส้นหนึ่งแถวสะพานสูง รถเข้าออกไม่ได้ ลำเลียงผู้สูงอายุออกมาหาหมอไม่ได้ ต้องแบก รถฉุกเฉินเพื่อรับคนท้องเข้าไม่ได้ ประสานงานไปที่เจ้าหน้าที่กทม.ก็บอกว่า เป็นพื้นที่เขตกรมชลประทาน เมื่อไปถามเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ก็บอกว่า สามารถใช้พื้นที่ได้ แต่ทางกทม.ต้องขออนุญาตเข้ามา

อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับหน่วยงานอื่น ทางกทม.ไม่คิดว่าเป็นเจ้าภาพ แต่ปรากฏว่า งบทำถนน กลับไปอยู่ในพื้นที่เดิมๆ ขุดแล้วขุดอีก ทำอยู่เรื่อยๆ