“รายการเพลง” ยืนหนึ่ง! เรตติ้งวาไรตี้สูงสุด "ยุคทีวีดิจิทัล"
“รายการประเภทวาไรตี้” ที่เป็นตัวสร้างเรตติ้งและรายได้ให้แก่สถานีโทรทัศน์เสมอมา เนื่องจากมีความสนุกและสร้างความเพลิดเพลินให้แก่ผู้ชม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “รายการแข่งขันประกวดร้องเพลง”
จากการรายงานเรตติ้งของบริษัท บริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) พบว่า “รายการประเภทวาไรตี้” ที่ทำเรตติ้งสูงสุดประจำช่วงเดือน ม.ค. และ ก.พ. 2565 ยังคงเป็นรายการประกวดร้องเพลงที่สามารถครองใจผู้ชมได้อย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยอันดับ 1 คือ รายการ “ไมค์หมดหนี้ เสี่ยงโชค” ที่ออกอากาศทางช่อง “เวิร์คพอยท์ ทีวี” ที่ทำเรตติ้งได้ถึง 3.99 ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565
ตามมาด้วยรายการ “เพชรคู่เพชร 300” ที่ออกอากาศทางช่องเวิร์คพอยท์ ทีวีเช่นกัน ออกอากาศเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565 ทำเรตติ้งไปได้ 3.037 เฉือนอันดับ 3 อย่าง “ดวลเพลงชิงทุน” ออกอากาศวันที่ 15 ก.พ. 2565 ทาง “ช่องวัน 31” ที่เรตติ้ง 3.031
ขณะที่ อันดับที่ 4 เป็นของ “มาสเตอร์ เชฟ ประเทศไทย ซีซัน 5” ออกอากาศทางช่อง 7HD ซึ่งเป็นรายการวาไรตี้รายเดียวใน 5 รายการที่ไม่ใช่รายการประกวดร้องเพลง ทำเรตติ้งไปได้ 2.728 จากการออกอากาศเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2565 และอันดับที่ 5 “โจ๊กตัดโจ๊ก ฟรีสไตล์” อีกหนึ่งรายการของช่องเวิร์คพอยท์ ทีวี ออกอากาศวันที่ 2 ก.พ. 2565 ที่ทำเรตติ้งไปได้ 2.681
เมื่อย้อนดูข้อมูลเรตติ้งรายการวาไรตี้ เกมโชว์ ในช่องโทรทัศน์ดิจิทัลในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560- 2564) พบว่า รายการประเภทร้องเพลงยังเป็นรายการที่ได้รับความนิยมสูงสุดเกือบทุกปี คือ หน้ากากนักร้อง (ช่องเวิร์คพอยท์ทีวี) อันดับหนึ่งปี 2560 , ไมค์ทองคำปี 6 (ช่องเวิร์คพอยท์ทีวี) อันดับหนึ่ง ปี 2561 , ดวงเพลงชิงทุน อันดับหนึ่ง ปี 2563 และ ปี 2564 จากช่องวัน 31
ยกเว้นในปี 2562 ที่รายการประเภทเกมโชว์ทำอาหาร "มาสเตอร์เชฟ จูเนียร์ ประเทศไทย ซีชัน 2" ทางช่อง 7HD ได้รับความนิยมสูงสุด
สาเหตุที่รายการประกวดร้องเพลงยังคงได้รับความนิยมอย่างสูงในกลุ่มผู้ชม เนื่องจากเพลงเป็นสื่อที่เข้าถึงง่าย อีกทั้งผู้เข้าประกวดรายการประกวดร้องเพลงทั้ง 4 รายการที่ติดอันดับ มักจะใช้เพลงลูกทุ่ง ซึ่งเป็นเพลงที่คุ้นหูผู้ชมอยู่แล้ว รวมถึงในระยะหลังมีการเล่าเรื่องสร้างความดราม่าด้วยการใส่ประวัติภูมิหลังของผู้เข้าแข่งขัน ซึ่งทำให้ผู้ชมรู้สึกเอาใจช่วย มีส่วนร่วมในรายการ
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูภาพรวมของผังรายการของช่องทีวีดิจิทัลประจำเดือนมี.ค. 2565 พบว่ามีเพียง 9 ช่องเท่านั้น ที่มีรายการที่เกี่ยวกับรายการเพลง ไม่ว่าจะเป็นรายการประกวดร้องเพลง คอนเสิร์ต มิวสิควิดีโอ และรายการพูดคุยเรื่องเพลง ได้แก่ ช่อง NTB, ช่อง Thai PBS, ช่อง 5 HD, ช่องเวิร์คพอยท์ ทีวี, ช่อง GMM 25, ช่อง ONE 31, ช่อง 3, ช่อง 7HD
ค่าลิขสิทธิ์เพลงมีที่มีราคาสูง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รายการเพลงต้นทุนเพิ่มขึ้น จนทำให้หลายช่องไม่ผลิตรายการเพลง ซึ่งช่องส่วนใหญ่ที่มีรายการเพลงมักเป็นช่องที่มีทรัพยากรและลิขสิทธิ์เพลงเป็นของตนเอง เช่น ช่อง GMM 25 และช่อง ONE 31 ก็อยู่ในเครือของ GMM Grammy ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของประเทศ ขณะที่รายการเพลงของ ช่อง 3 ก็มีเพื่อใช้โปรโมทละคร ดารา นักแสดง โดยที่ส่วนมากมักจะใช้เพลงประกอบละครที่ถือลิขสิทธิ์ไว้มาร้อง
มีเพียงแค่ช่อง 7 และ ช่องเวิร์คพอยท์ ทีวี เท่านั้นที่ไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงรายใหญ่ แต่ยังคงผลิตรายการเพลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในขณะนี้ช่องเวิร์คพอยท์ ทีวีได้พยายามผลิตรายการวาไรตี้รูปแบบอื่นออกมาแทนรายการเพลง เห็นได้จากรายการ “ศึกมายากล” ที่มาแทนรายการ “I Can See Your Voice Thailand นักร้องซ่อนแอบ” ที่ออกอากาศมานานกว่า 6 ปี
แม้ว่ารายการเพลงจะยังคงได้รับความนิยมสูงอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่มีรายการใดที่ได้รับความนิยมอย่างยาวนาน หลายรายการจำเป็นต้องปรับรูปแบบรายการ เติมสาระความบันเทิง เห็นได้จากรายการ “The Mask Singer หน้ากากนักร้อง” ที่เคยสร้างปรากฏการณ์ทำเรตติ้งได้สูงถึง 13.371 แต่เมื่อออกอากาศติดต่อกันเกือบ 4 ปี รายการก็เสื่อมความนิยมลง จนต้องหลุดออกจากผังไปในที่สุด
ในขณะเดียวกัน แม้หลายรายการจะได้ทำเรตติ้งไม่ได้สูงมาก แต่ก็ยังได้รับความในช่องทางออนไลน์ อย่างเช่นรายการ “ร้องข้ามกำแพง” ที่มีจำนวนผู้เข้าชมเกินหลักล้านภายใน 24 ชั่วโมงเกือบทุกตอน และติดอันดับเทรนด์มาแรงในยูทูบเสมอ ดังนั้นผู้ผลิตรายการจะต้องสร้างสรรค์รายการให้มีความสดใหม่ ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ไม่น่าเบื่อเสมอ และต้องให้ออกอากาศหลากหลายช่องทาง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องเฝ้าหน้าจอเพียงอย่างเดียว เพราะสุดท้ายแล้วผู้ที่จะตัดสินว่ารายการดีหรือไม่ดี ก็คือผู้ชมนั่นเอง
ที่มา: วารสารงานวิชาการ ของ กสทช เรื่อง “เจาะลึกรายการฟังเพลง วาไรตี้ยอดนิยมโทรทัศน์ดิจิทัล”