12 คำสุดฮิต ที่ชาว "ทวิตเตี้ยน" นิยมใช้ใน "ทวิตเตอร์"
เปิด 12 คำศัพท์สุดฮิตที่พบบ่อยใน “ทวิตเตอร์” ที่ชาว “ทวิตเตี้ยน” ไทยสร้างสรรค์แบบที่หาไม่ได้จากที่ไหนในโลก
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่าน “ทวิตเตอร์” กลายเป็นหนึ่งในโซเชียลมีเดีย ที่เข้ามามีบทบาทในสังคมไทยเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องการติดตามดารา ศิลปินของไทยและเกาหลีใต้ เป็นพื้นที่ใช้ในการบ่นเรื่อยเปื่อย หรือแชร์สิ่งที่ได้พบเห็นในชีวิตประจำวัน ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคม วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม จนทำให้หลาย ๆ เหตุการณ์เหล่านั้นได้รับการตีแผ่ขยายการรับรู้ไปในวงกว้าง ในขณะเดียวกัน ทวิตเตอร์ยังเป็นแหล่งให้ข้อมูลข่าวสารที่มีความรวดเร็วและอัปเดตแบบเรียลไทม์กว่าสื่ออื่น ๆ
จากข้อมูลของ “We Are Social” ดิจิทัลเอเยนซีชั้นนำของโลก จัดทำรายงาน “Thailand Digital Stat 2022” พบว่า จำนวนผู้ใช้ทวิตเตอร์ในประเทศไทย หรือที่เรียกว่า “ทวิตเตี้ยน” มีจำนวนถึง 11.45 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 16.4% ของคนไทยทั้งหมด ซึ่งเติบโตจากไตรมาสก่อนหน้า 1.8% หรือประมาณ 200,000 คน โดยทวิตเตอร์เป็นโซเชียลมีเดียที่คนไทยมากที่สุดเป็นอันดับที่ 6 รองจาก เฟซบุ๊ก, ไลน์, เฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์, ติ๊กต็อก และ อินสตาแกรม
ดังนั้น ทวิตเตอร์ จึงกลายเป็นสังคมขนาดใหญ่ จนมีการสร้างวัฒนธรรมและกลุ่มคำศัพท์ที่ใช้ขึ้นมาเฉพาะในหมู่ชาวทวิตเตี้ยน
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จึงได้รวบรวม 12 คำศัพท์ ที่ชาวทวิตเตี้ยนนิยมใช้ รับรองว่าสามารถอ่านทวิตรู้เรื่อง และเอาไปใช้ต่อได้อย่างแน่นอน
1. นักฉอด
ใช้กับชาวทวิตเตี้ยนที่รับบทนักบ่น หรือนักวิจารณ์เรื่องต่าง ๆ ในสังคมไปเสียทุกเรื่อง ซึ่งในหลายครั้ง ตนเองก็ไม่ได้มีรู้ที่มาที่ไปของเรื่องนั้น ๆ ดังนั้น “นักฉอด” จึงมักใช้ในทางลบ มากกว่า
2. เอดดุเขต
“เอดดุเขต” เอดุเขต หรือ เอ็ดดุเขต ไม่ว่าจะสะกดแบบไหน ล้วนมาจากคำว่า Educate ที่แปลว่าให้ความรู้ ให้ข้อมูล ถูกนำมาใช้ในกรณีที่ ต้องการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับชาวทวิต แต่ก็มีหลายครั้งที่ “ขออนุญาต เอดดุเขต” กลับกลายเป็นว่าคนที่มาเอดดุเขต ไม่ได้รู้เรื่องหรือมีข้อมูลที่ถูกต้องจริง ๆ ยิ่งกลายเป็นการส่งต่อข้อมูลผิด ๆ ไปใหญ่ ดังนั้นก่อนจะไปเอดดุเขตใคร ควรต้องหาข้อมูลให้ชัวร์ มีแหล่งที่มาที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ
3. เฟมทวิต
คำว่า “เฟมทวิต” มาจากการนิยามของกลุ่มคนในเฟซบุ๊กที่มักมีการโพสต์มุกขำขันล้อเลียนเสียดสีทางเพศ หรือวิพากษ์วิจารณ์และสนับสนุนความรุนแรงต่อเพศหญิง ซึ่งเชื่อว่าเป็นวิธีการตอบโต้กลุ่มเฟมินิสต์ในทวิเตอร์ โดยมองว่า เฟมทวิต แตกต่างจากกลุ่มเฟมินิสต์ทั่วไป เพราะเฟมทวิตพยายามกดผู้ชายให้อยู่ต่ำกว่า เป็นกลุ่มผู้หญิงหัวรุนแรง เป็นกลุ่มนักรบเพื่อความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice Warrior: SJW) และเห็นว่าเฟมทวิตมีการเรียกร้องมากเกินไปหรือใช้อารมณ์มากกว่าข้อเท็จจริงในการถกเถียงกัน
อย่างไรก็ตาม แม้คำว่าเฟมทวิตจะถูกนิยามให้เป็นคำด้านลบ แต่กลุ่มทวิตเตี้ยนซึ่งสนับสนุนแนวคิดเฟมินิสต์ ก็เริ่มใช้คำว่าเฟมทวิตในการนิยามตนเอง และต้องการให้มองว่า มันเป็นเพียงคำที่ใช้เรียกเฟมินิสต์ในทวิตเตอร์เท่านั้น เนื่องจากเฟมทวิตอาจเป็นคำที่ถูกนิยามขึ้นมาจากการไม่เข้าใจความหมายอย่างแท้จริง ว่าจุดสำคัญที่เฟมทวิตวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถาม หรือการเรียกร้องนั้น คือลักษณะเดียวกันกับความคิดแบบเฟมินิสต์หรือสตรีนิยม
ยังคงต้องย้ำอีกครั้งว่าไม่ใช่เฟมทวิตทุกคน ที่ใช้แต่อารมณ์และกดผู้ชาย ที่สำคัญเฟมินิสต์ไม่ใช่ การต้องการให้หญิงเป็นใหญ่ หรือเรียกร้องสิทธิให้แก่เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น แต่เฟมินิสต์คือการเรียกร้องเพื่อให้ทุกคนเท่าเทียมกัน
4. Romanticize
ตามพจนานุกรมมีความหมายว่า ทำให้เป็นเรื่องโรแมนติก ทำให้ดูสวยงาม ซึ่งก็ดูจะเป็นคำที่ดี แต่ชาวทวิตเตี้ยนนำมาใช้ในกรณีที่ เรื่องบางเรื่องถูกทำให้ “Romanticize” กลายเป็นเรื่องดีงาม คนเห็นแล้วใจฟู หรือเลือกมองในมุมที่สวยงาม ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นแบบนั้น และไม่ควรถูกมองในมุมนั้น ส่วนมากมักใช้กับเรื่องที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และปัญหาสังคม
นอกจาก Romanticize แล้วชาวทวิตเตี้ยนยังมีการนำคำที่ลงท้ายด้วย -ize มาใช้อีกหลายคำ ซึ่งมีวิธีการใช้ที่คล้ายคลึงกับ Romanticize เช่น Normalize (ทำให้เป็นเรื่องปกติ), Dehumanize (ลดทอนความเป็นมนุษย์) หรือ Sexualize (ถูกทำให้เป็นวัตถุทางเพศ)
5. ท็อกซิก
มาจากคำว่า Toxic ที่มีความหมายว่า เป็นพิษ ทำให้รู้สึกไม่ดี มักใช้ในกรณีที่ชาวทวิตทวีตเล่าประสบการณ์ที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเกิดจากคน ความสัมพันธ์ หรือเหตุการณ์ จนเกิดความ “ท็อกซิก” ของตน หรือ ใช้รีพลายทวิตบางทวิตที่สร้างความท็อกซิกให้ตนเอง
ขณะเดียวกัน ในปัจจุบันหลายคนเริ่มเห็นว่าทวิตเตอร์กลายเป็นสังคมที่มีความท็อกซิก ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยแบบเมื่อก่อนที่สามารถบ่นอะไรก็ได้ เนื่องจากมีการเรียกร้องที่มากจนเกินไป มีแต่ความตึงเครียด มีการวิพากษ์วิจารณ์ในทุกประเด็น มองทุกเรื่องเป็นจริงเป็นจัง จนขาดความอารมณ์ขัน และพื้นที่ให้ระบายความรู้สึกหรือพูดเล่นก็ไม่ได้ ซึ่งต้องยอมรับว่านักฉอด เฟมทวิต ยอดนักเอดดุเขต ล้วนมีส่วนสร้างทวิตเตอร์ให้มีความเป็นพิษทั้งสิ้น
6. หมูเต๊ะ
“หมูเต๊ะ” ไม่ใช่ชื่ออาหารอย่างหมูสะเต๊ะ แต่เป็นการสร้างคำใหม่ที่เพี้ยนจากคำว่า Mute หรือ การปิดการแจ้งเตือนทวิต ที่จริง ๆ อ่านว่า มิ้วท์ แต่เอามาอ่านแยกเป็น Mu-te จนกลายเป็นหมูเต๊ะ มักใช้โดยเจ้าของทวิตที่ได้รับความนิยม มียอดรีทวิตเป็นจำนวนหลักหมื่น ที่เลือกกดปิดแจ้งเตือนเมื่อมีคนมารีพลาย รีทวิต หรือโควททวิตเป็นจำนวนมาก
7. (นอทออล) / (Not All)
เวลาที่มีการทวิตเกี่ยวกับเรื่องปัญหาทางสังคม หรือ พูดถึงกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งซึ่งส่วนมากจะเป็นด้านไม่ดี มักจะมีชาวทวิตเตอร์มาแย้งเสมอว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นแบบนั้น คนดี ๆ ก็มี อย่าเหมารวมจ้า” จนมีการสร้าง “(นอทออล)” หรือ (Not All) ขึ้นมาต่อท้าย เวลาที่ทวิตเกี่ยวกับคนกลุ่มใหญ่ในด้านไม่ดี เพื่อป้องกันการถูกแย้งว่า ไม่ใช่ทุกคน
8. Trigger Warning (TW)
“Trigger Warning” หรือที่ถูกย่อเป็น TW มักจะใส่ไว้ตั้งแต่ต้นทวิต เพื่อแจ้งเตือนกับผู้อ่านว่าเนื้อหาทวิตมีความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทารุณกรรม การข่มขืน การใช้ความรุนแรง การฆ่าตัวตาย คดีฆาตกรรม เรื่องผี หรือ โรคซึมเศร้า ซึ่งอาจจะกระทบจิตใจผู้อ่านได้ หากประเมินตนเองแล้วว่าความเสี่ยงที่จะรับไม่ไหว หรือกระทบจิตใจ ก็ควรข้ามทวิตเหล่านั้นไป เพราะการรับรู้เรื่องเหล่านั้นอาจจะต้องแลกมาด้วยผลเสียทางจิตใจ ซึ่งมันไม่คุ้มกันเลย
9. โควทลม
“โควทลม” ใช้เรียกโควทที่แอคเคาท์ที่ไม่เปิดสาธารณะ หรือ ที่เรียกว่า "แอคล็อค" โควททวิตไป แล้วไม่สามารถดูได้ว่าเขาโควททวิตไปว่าอะไร เนื่องจากแอคล็อคไม่เปิดให้เห็น เพียงแต่จะบอกว่ามีคนโควททวิตไปเท่านั้น ซึ่งสามารถสร้างความหงุดหงิดให้แก่เจ้าของทวิตได้ เพราะไม่รู้ว่าเขาโควทไปทำไม มีจุดประสงค์อะไร เข้าใจในสิ่งที่ต้องการจะสื่อได้ถูกต้องหรือไม่ หรือเอาไปฉอด หรือเอดดุเขตอย่างไร
อนึ่ง โควท หรือ โควต (Quote) เปรียบเสมือนกับการแชร์ในเฟซบุ๊ก ซึ่งผู้ใช้สามารถแชร์ได้ทันที หรือจะทวีตข้อความของตนร่วมไปได้ด้วยก็ได้ โดยจะปรากฏในหน้าฟีด และ โปรไฟล์ของคนที่โควททวิต
10. แอคหลุม
ในสังคมทวิตเตอร์ หรือที่เรียกว่า “ทวิตภพ” นั้น ผู้ใช้งานแต่ละคนสามารถมีบัญชีได้มากกว่า 1 บัญชี ซึ่งหลายคนได้สร้าง “แอคหลุม” ขึ้นมาเพื่อเป็นแอคเคาท์สำรอง โดยไม่แสดง ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวให้ใครรู้ แม้กระทั่งรูปภาพ ขึ้นมาเพื่อรีทวิต กดถูกใจ ทวิตในเรื่องที่สนใจเท่านั้น เพื่อไม่ให้ทวิตเตอร์แอคเคาท์หลักของตน หรือ “แอคหลัก” มีความวุ่นวายมากจนเกินไป หรือมีเอาไว้เพื่อบ่นขิงบ่นข่า ระบายอารมณ์ ซึ่งส่วนมากจะเป็นแอคล็อค
11. แอคเห็บ
“แอคเห็บ” เป็นแอคหลุมประเภทหนึ่งที่ตั้งมาก่อกวนคนอื่น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดสงครามระหว่างกลุ่มแฟนคลับ ด้วยการอวยศิลปินหนึ่งคน และกดศิลปินอีกหนึ่งคน หรือคอยเสี้ยมคนโน้นที คนนี้ที ปั่นให้เกิดเรื่องตลอดเวลา ทั้งทีตัวเองไม่ได้เป็นแฟนคลับของทั้งสองกลุ่มเลย มักจะเกิดขึ้นกับกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลี แต่ในระยะหลังก็มีมาในหมู่ศิลปินไทยด้วยเช่นกัน
12. แอคเคอร์
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในทุกวันนี้อีกด้านหนึ่งของโลกทวิตภพ ที่เรียกว่า “ด้านมืด” นั้น มีการลงรูปภาพ 18+ ไม่ต่างจาก Onlyfans ซึ่งแอคเคาท์ที่เอาไว้ลงผลงานด้านเพศนั้นเรียกว่า “แอคเคอร์” หรือ “เค่อ” ถือว่าเป็น Sex Creator รูปแบบหนึ่ง มีทั้งแบบให้ชมฟรีและเสียค่าบริการรายเดือน
นอกจากนี้ ยังมีคำอื่น ๆ ที่เป็นศัพท์ทวิตที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยที่ยังทวิตได้เพียงแค่ 140 ตัวอักษร ด้วยข้อจำกัดนี้ จึงทำให้ต้องใช้คำย่อ ตัวย่อ หรือการวิบัติคำเพื่อให้ได้ใจความ เช่น
- จขท (เจ้าของทวิต)
- รีล่า (รีทวิตล่าสุด ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีโควททวิต)
- ปสด (ประสาทแดก)
- เดม (มาจาก ดีเอ็ม หรือ DM: Direct Message เป็นการส่งข้อความส่วนตัว หรือในอดีตเรียกว่าหลังไมค์)
- อห (ที่ไม่ใช่ โอ้โห เป็นคำด่า คำอุทาน คำสบถ) เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า พี่น้องชาวทวิตได้มีการสร้างสรรค์คำศัพท์ใหม่ ๆ ขึ้นมาใช้อยู่เสมอ ส่วนมากจะเป็นคำสแลง คำที่พัฒนามาจากภาษาพูด ตลอดจนการกร่อนคำ และใช้ตัวย่อ ตามข้อจำกัดที่มีของแพลตฟอร์ม เพื่อให้สื่อสารกันได้เข้าใจอย่างมีอรรถรส และแพร่ขยายเข้าสู่สื่อกระแสหลัก จนหลายคำถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งไม่แตกต่างอะไรกับภาษาต่าง ๆ ที่ใช้กันทั่วโลก ย่อมมีวิวัฒนาการทางภาษาอยู่เสมอ ตราบใดที่ภาษาเหล่านั้นยังถูกใช้อยู่ก็ย่อมต้องมีการพัฒนา ถ้าหากภาษาใดที่ไม่มีการพัฒนาเลย นั่นหมายความว่าภาษานั้นได้ตายไปแล้ว
กราฟิก: ชณิตนันท์ เหมืองจา
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รวบรวม (ข้อมูลวันที่ 21 มี.ค. 2565)