‘สติกเกอร์ท้ายรถ’ พลังพวกพ้องและการสื่อสารจากผู้ขับขี่ที่อยากบอกคนอ่าน

‘สติกเกอร์ท้ายรถ’ พลังพวกพ้องและการสื่อสารจากผู้ขับขี่ที่อยากบอกคนอ่าน

วัดท่าไม้-วัดท่าไหน-วัดซับแหมน-ใช้หนีราชการเท่านั้น และสารพัด "สติกเกอร์ท้ายรถ" ซึ่งมากสีสันและเต็มไปด้วยอารมณ์ขันหลากหลายรูปแบบ บรรดาเจ้าของรถเขาอยากบอกอะไรและมีสิ่งใดซ่อนอยู่ในสติกเกอร์เหล่านี้?

เสียเธอเพราะจน เสียคนเพราะเธอ, สู้งานสู้ชีวิตแต่ไม่คิดสู้เมีย, วัยรุ่นสร้างตัว, รถคันนีสีชมพู, วัดท่าไม้, คณะเรา, Baby in Car และอีก ฯลฯ คือบรรดาสติกเกอร์ท้ายรถที่เราคงเคยผ่านตามาสักครั้งบนท้องถนน

สติกเกอร์ท้ายรถให้อารมณ์ที่หลากหลาย และก็น่าแปลกที่ความรู้สึกที่มีต่อถ้อยคำจะเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับบริบทและประเภทของรถที่บรรจุถ้อยคำเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น ถ้อยคำและสีสันบนท้ายรถสิบล้อคือความตรากตรำและสู้ชีวิต ขณะที่บนท้ายรถกระบะ รถมอเตอร์ไซค์คือความขบขัน เสียดสี เป็นเรื่องราวที่ผู้ขับขี่ต้องการสื่อสารกับสังคม

ขณะที่สติกเกอร์บนรถยนต์ส่วนตัวนี่คือการสื่อสารและแสดงถึงความเป็นพวกพ้อง คนกลุ่มเดียวกัน บนรถหรูคือการแสดงถึงสิทธิพิเศษ ถึงเช่นนั้นก็มีอีกไม่น้อยที่สติกเกอร์จงใจเสียดสีสติกเกอร์ด้วยกันเอง เช่น รถคันนีสีอะไร? วัดท่าไหน?  ใช้หนีราชการเท่านั้น

  • ความในใจใส่ลายมือ สู่ยุคสติกเกอร์สะท้อนความรู้สึก

จากการสืบค้นการสื่อสารผ่านท้ายรถมีมานานแล้ว โดยถ้อยคำบนรถบรรทุก รถสองแถว เริ่มจากการเขียนชอล์คด้วยมือ โดยลักษณะข้อความมีทั้งแบบทั่วๆ ไป เช่น การเขียนเลขกำกับ การทำสัญลักษณ์ที่เข้าใจในหมู่คนขับ-คนนั่ง ซึ่งถ้อยคำก็มีทั้งที่เล่าแบบตรงไปตรงมาและใช้สุภาษิตคำพังเพยเปรียบเปรยวิถีชิวิตที่ตัวเองประสบ

แต่ก็เป็นลักษณะคนไทยคือชอบความสนุกสนาน มีอารมณ์ขัน เจ้าบทเจ้ากลอน นอกจากถ้อยคำที่เป็นข้อมูล ตัวเลข สัญลักษณ์ เราจึงเห็นลายมือเขียนถ้อยคำที่สื่อสารถึงความเป็นไปในแต่ละวัน เช่น รักสิบล้อรอสิบโมง, ขับรถไม่รังแกใครคือน้ำใจสิบล้อ, หยาดเหงื่อทุกหยดคืออนาคตของลูก ซึ่งแสดงถึงความเป็นไปในแต่ละวัน

‘สติกเกอร์ท้ายรถ’ พลังพวกพ้องและการสื่อสารจากผู้ขับขี่ที่อยากบอกคนอ่าน

การใช้ชอล์คเขียนที่ท้ายรถบรรทุกก่อนยุคสติกเกอร์ (ภาพจาก Pantip)

หากแต่เมื่ออุตสาหกรรมการพิมพ์ การผลิตสติกเกอร์แพร่หลายมากขึ้น ราคาถูกขึ้น จากถ้อยคำที่เขียนด้วยลายมือก็ปรับไปเป็นการใช้สติกเกอร์สื่อสารแทน เราจึงเห็นร้านค้าของชำ ร้านขายของเล่น (แบบจักรยานถีบ) มีสติกเกอร์เป็นหนึ่งในสินค้าเพื่อรอจำหน่ายกับใครก็ได้ที่อยากสื่อสารความสนุกสนานเหล่านั้นผ่านท้ายรถ

บทความงานวิจัย “สติกเกอร์ท้ายรถ: วรรณกรรมของกลุ่มคนรถและกลุ่มเด็กแว้นกับการต่อสู้ทางสังคม” วารสารวิชาการนวัตกรรมสื่อสารสังคม. ปีที่8 ฉบับที่1 อธิบายตอนหนึ่งว่า บทบาทการสื่อสารของสติกเกอร์ท้ายรถในยุคเริ่มต้นนั้นมีบทบาทที่เปรียบเสมือนสมุดจดบันทึก (Diary) หรือเครื่องมือบันทึกความคิด

เป็นความรู้สึกในชีวิตประจำวันของกลุ่มคนขับรถรับจ้างที่ใช้ในการระบายอารมณ์เพียงเท่านั้น โดยมักแสดงออกในลักษณะของผู้ที่ยอมรับในสภาพเศรษฐกิจและสถานทางสังคมของตน แต่ไม่ได้แสดงถึงความก้าวร้าวหรือต่อต้านกับสภาพความเป็นอยู่หรือสถานะทางสังคมที่ตนได้รับ จนกระทั่งปีพ.ศ. 2555 กระแสการแต่งรถด้วยสติกเกอร์ท้ายรถได้รับความนิยมอย่างมากที่สุดจากโครงการรถคันแรก ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการงานประดับยนต์อย่างร้านตัดสติกเกอร์ท้ายรถเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

“สติกเกอร์ท้ายรถในยุคนี้จึงมีรูปแบบที่ทันสมัยและสะท้อนตัวตนของกลุ่มคนขับ จากเดิมที่ตัวอักษรมีรูปแบบเหมือนลายมือ ก็ได้กลายมาเป็นตัวอักษรขนาดใหญ่ที่หนาและมีมุมเหลี่ยมชัดเจนเป็นองค์ประกอบหลัก มีภาพตัวการ์ตูนและภาพเครื่องยนต์อะไหล่ยนต์ประกอบข้อความซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบใหม่ที่ไม่พบในสติกเกอร์ท้ายรถในอดีต"

การใช้สีบนตัวอักษรมักนิยมสีเหลือง สีเขียว และสีส้มในลักษณะของสีสะท้อนแสงทั้งหมด ในขณะที่การใช้ สีพื้นหลังตัวอักษรนิยมใช้สีที่เกิดจากการไล่เฉดสี (Color Gradient) จากสีน้ำเงินไปสีม่วง ชมพูและเหลืองภาษาที่ใช้ต่างก็เป็นภาษาที่สะท้อนถึงกลุ่มวัยรุ่นที่มักใช้คำแสลง” ส่วนหนึ่งของบทความอธิบาย

‘สติกเกอร์ท้ายรถ’ พลังพวกพ้องและการสื่อสารจากผู้ขับขี่ที่อยากบอกคนอ่าน สไตล์สติกเกอร์ในยุคปัจจุบันที่เราคุ้นตา

คำแสลงที่อยู่บนสติกเกอร์แบบว่านี้มาจากอิทธิพลของสื่อออนไลน์อย่างไม่ต้องสงสัย เช่น “จัยมันรัก” ซึ่งมาจาก “ใจมันรัก” คำว่า “ม่ายด้าย” ที่มาจาก “ไม่ได้” ทั้งนี้ยังรวมถึงการสะท้อนตัวตนของกลุ่มที่ชื่นชอบการแต่งรถซิ่งและการประลองความเร็ว จนเกิดถ้อยคำโดนๆกันเฉพาะกลุ่ม เช่น “มัวแต่หมอบเลยสอบม่ายผ่าน, พลังไล่ช้าง, วัยรุ่นสร้างตัว,วัยรุ่นทำกิน ซึ่งทั้งหมดเป็นการแสดงออกทางตัวตนเพื่อการยอมรับทางสังคม จากการใช้สัมผัสตัวอักษร สัมผัสสระ ในลักษณะ ของคำสุภาษิต กลายเป็นการใช้ภาษาสแลง

พัฒนาการสติกเกอร์ท้ายรถจึงมีหลายรูปแบบ โดยเฉพาะสติกเกอร์ท้ายรถสำหรับแต่งรถจักรยานยนต์ กลุ่มผู้ชื่นชอบการแต่งรถเป็นทุนเดิมได้กลายเป็นกลุ่มผู้ใช้สติกเกอร์ท้ายรถกลุ่มใหม่ และมีบทบาทต่อการสร้างสรรค์เนื้อหาสติกเกอร์ท้ายรถให้มีความแตกต่างไปจากสติกเกอร์ท้ายรถของกลุ่มคนขับรถรับจ้างแบบดั้งเดิม

  • พวกพ้องสะท้อนที่ท้ายรถ

มันเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะเห็นกรุ๊ปไลน์จากเพื่อนโรงเรียนเก่า ส่งเสื้อยืดที่มีสัญลักษณ์สถาบันเพื่อจำหน่ายให้กับศิษย์เก่า หรือถ้าใครต้องรับส่งบุตรหลานไปโรงเรียนก็จะโดนเชิญชวนให้ซื้อสติกเกอร์ที่มีสัญลักษณ์โรงเรียนเพื่อให้ง่ายต่อการจำแนก นี่คือหลักของการสร้างความจดจำ ความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ที่มีมาช้านาน

กรณีของ "สติกเกอร์วัดท่าไม้” ที่ผู้คนสนใจกันเมื่อไม่นานมานี้ก็เช่นกัน วัดท่าไม้แห่งนี้ มีการจัดทำสติกเกอร์สีขาวหรือสีเหลือง เขียนว่า "วัดท่าไม้" เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้คนร่วมทางรู้ว่าเป็นศิษย์หลวงพ่อโสธร และเพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่รู้ด้วยว่าใครคือคนแปลกหน้าที่เข้ามาในพื้นที่ 

"นอกจากนี้อยากให้ลูกศิษย์ที่เห็นสติกเกอร์แล้วได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ขับรถแซงกันเบียดกัน รวมทั้งมีอุบัติเหตุได้ช่วยเหลือกันไปไหนใกล้ไกลให้บีบแตรทักทายกันเพราะเป็นลูกศิษย์เดียวกัน" ข้อมูลจากวัดท่าไม้อธิบายถึงที่มาของสัญลักษณ์ติดท้ายรถ

ไม่ว่าจะเป็นสติกเกอร์วัด, สติกเกอร์โรงเรียน, สติกเกอร์ที่แสดงความเป็นคนกลุ่มเดียวกัน มีจุดเชื่อมโยงเดียวกัน มีข้อสังเกตว่าถ้าหากรถคันนั้นเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกันเองจะไม่เกิดเรื่องใหญ่แน่ เพราะผู้คนที่มีความเชื่อมโยงกันมักอะลุ่มอล่วยซึ่งกันและกัน เปรียบเสมือนการมีอาจารย์คนเดียวกัน เป็นเพื่อนร่วมทางที่ทำให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวบนท้องถนน และทั้งหมดนี้คือเหตุผลว่า ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัยความหมายของสติกเกอร์ท้ายรถยังคงอยู่ทั้งในแง่การสื่อสารและความเป็นพวกพ้องที่ส่งถึงกัน

  • สติกเกอร์ท้ายรถบนถนนไทย

เมื่อรู้ถึงที่มาและความหมายของการมีอยู่ของสติกเกอร์ท้ายรถแล้ว จากนี้ไปเราจะขอยกตัวอย่างถึงสติกเกอร์ยอดฮิตที่คุณน่าจะเคยผ่านตามาสักครั้ง หรืออาจจะเจอสติกเกอร์เหล่านี้ได้หากคุณยังขับรถอยู่บนท้องถนนไทย 

‘สติกเกอร์ท้ายรถ’ พลังพวกพ้องและการสื่อสารจากผู้ขับขี่ที่อยากบอกคนอ่าน

Baby in Car

สติกเกอร์ท้ายรถที่สื่อสารแบบตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นสัญลักษณ์รูปเด็ก ถ้อยคำ ซึ่งหลายคนทราบกันอยู่แล้วว่าหมายถึงการมีเด็กเล็กโดยสารอยู่บนรถคันนั้นๆ

ที่มาของสติ๊กเกอร์ดังกล่าว เกิดขึ้นในปี 1984-1985 เมื่อชายชาวอเมริกันนามว่า ไมเคิล เลอร์เนอร์ มีไอเดียทำป้ายข้อความ ‘Baby on board’ เนื่องจากมีประสบการณ์หลานของเขาต้องเสียชีวิต จากการขับรถของผู้ที่ไม่ระมัดวัง จากนั้นได้การผลิตสติกเกอร์นี้ในกันอย่างแพร่หลาย ส่วนในยุโรปและเอเชียมีการปรับคำเล็กน้อยด้วยการใช้คำว่า Baby in Car แทน Baby on board

‘สติกเกอร์ท้ายรถ’ พลังพวกพ้องและการสื่อสารจากผู้ขับขี่ที่อยากบอกคนอ่าน

วัดท่าไม้

แม้จะเป็นข่าวดังและผลกระทบไปบ้าง แต่ก็ยังมีผู้ศรัทธาอยู่ นี่คือสติกเกอร์แบบแรกๆ ที่ใครๆนึกถึงเมื่อเอ่ยถึงสติกเกอร์ท้ายรถแบบไทยๆ โดยสติกเกอร์นี้จัดทำโดยวัดท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เพื่อจุดประสงค์คือให้รู้ว่าบุคคลดังกล่าวเคยเดินทางมาทำบุญที่วัดนี้ โดยจำแนกเป็น 2 สี คือ สีเหลืองหมายถึงคนที่เดินทางมาปฏิบัติธรรม และสีขาวหมายถึงคนที่เดินทางไปไหว้พระทำบุญ

 

‘สติกเกอร์ท้ายรถ’ พลังพวกพ้องและการสื่อสารจากผู้ขับขี่ที่อยากบอกคนอ่าน

คณะเรา

สติกเกอร์ที่หมายถึงศิษย์เก่าของโรงเรียนอำนวยศิลป์ โรงเรียนชื่อดังที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2469 ถือเป็นคำที่ใช้เรียก ‘คนอำนวยศิลป์’ ที่ใช้กันแพร่หลายที่สุด เพราะคำว่าคณะเรา ก็เหมือนกับ “พวกเรา” ซึ่งจบการศึกษามาจากที่เดียวกันนี่เอง

‘สติกเกอร์ท้ายรถ’ พลังพวกพ้องและการสื่อสารจากผู้ขับขี่ที่อยากบอกคนอ่าน

ผมเพื่อนโชค

จากกรณีคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ในโลกโซเชียล กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ได้ตั้งด่านตรวจในพื้นที่ ได้เรียกตรวจรถคันหนึ่งตามปกติ ปรากฏว่าชายผู้ขับขี่อ้างว่าตนเองเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแห่งหนึ่ง ไม่ยินยอมที่จะมอบใบอนุญาตขับขี่ และอ้างว่าเป็นเพื่อนผู้กำกับโชค จนกลายเป้นข่าวโด่งดัง คำว่า “ผมเพื่อนโชค” จึงเป็นการเสียดสีข่าว และแสดงออกมาตัวเองมีเส้นสายใหญ่โต

‘สติกเกอร์ท้ายรถ’ พลังพวกพ้องและการสื่อสารจากผู้ขับขี่ที่อยากบอกคนอ่าน

เศรษฐีเรือทอง

มีที่มาจากวัดพุน้อย จังหวัดลพบุรี ที่โด่งดังจากการประกอบพิธียกเรือแม่ตะเคียน โดยเริ่มแรกผู้ที่เช่าวัตถุมงคลจะได้สติ๊กเกอร์นี้ และชื่อกันว่าหากผ่านพิธีดังกล่าวจะทำให้กิจการการค้าเจริญรุ่งเรือง

‘สติกเกอร์ท้ายรถ’ พลังพวกพ้องและการสื่อสารจากผู้ขับขี่ที่อยากบอกคนอ่าน

พุทธวจน

คำว่า พุทธวจน (อ่านว่า พุท ธะ วะ จะ นะ) แปลว่า คำสอนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ส่วนสติกเกอร์คำดังกล่าว จุดเริ่มมาจากวัด วัดนาป่าพง จ.ปทุมธานี โดยทางวัดได้จัดทำขึ้นให้ผู้ที่มาทำบุญหรือฟังธรรมสามารถหยิบฟรีเพื่อไปแจกญาติโยมหรือนำไปติดตามสิ่งของต่างๆ ซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งความนิยมในการนำไปติดท้ายรถ เพราะถือเป็นระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นการแบ่งปันคำสอนให้กับผู้มองเห็นและเตือนสติในระหว่างขับรถนั่นเอง

อ้างอิง : สติกเกอร์ท้ายรถ: วรรณกรรมของกลุ่มคนรถและกลุ่มเด็กแว้นกับการต่อสู้ทางสังคม 

"วัดท่าไม้" ความเชื่อสติกเกอร์ปลุกเสก รู้จัก หลวงพี่อุเทน ผู้บวช 2 พราหมณ์

ชมรมอำนวยศิลป์ติดคอม2020

วิกิพีเดีย:  Baby on board