"พีรพงศ์ ดาวพิเศษ" แห่ง LA VELA พังงาจะยิ่งใหญ่ด้วย "เขาหลักเซิร์ฟทาวน์"
มองทะลุไปเกินกว่าธุรกิจ เพราะด้วยความทุ่มทุนและทุ่มเท ทำให้ผู้บริหารของโรงแรม LA VELA Khaolak เชื่อมั่นว่า Sport Tourism จะผลักดันจังหวัดพังงาให้แข็งแกร่งได้มากกว่าเดิม
โรงแรม LA VELA Khaolak (ลา เวล่า เขาหลัก) คือเบอร์ต้นๆ ของการนำ Sport Tourism มาเป็นคอนเซปต์หลักของโรงแรม ที่นอกจากจะได้บรรยากาศสนุกๆ แล้ว พีรพงศ์ ดาวพิเศษ เจ้าของ LA VELA Khaolak ยังมองว่ามีความหมายมากกว่าการทำธุรกิจโรงแรมให้มีธีม แต่คือการสร้างภาพจำใหม่ให้จังหวัดพังงา แล้วต่อยอดไปถึงการทำให้พังงายิ่งใหญ่แม้จะเป็นจังหวัดเล็กๆ
เขายอมรับว่าแรกเริ่มเขามองทุกอย่างเป็นเพียงธุรกิจ กีฬาทางน้ำต่างๆ นานา คือกิจกรรมเพื่อรองรับลูกค้าที่มาพักโรงแรม โดยเฉพาะเพื่อดึงลูกค้าในช่วงโลว์ซีซัน ซึ่งใครเคยไปเขาหลักช่วงนั้นจะรู้ดีว่าฝนจะตกไม่หนัก ทว่าตกอย่างน่ารำคาญ
แต่ก่อนวิธีการดึงลูกค้ามักจะลงเอยด้วยการลดราคาห้องพัก แน่นอนว่า "LA VELA Khaolak" ก็ใช้วิธีเดียวกัน จนกระทั่งมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักเซิร์ฟเดินทางช่วงโลว์ซีซันของเขาหลัก เพราะคลื่นลมคือสิ่งที่พวกเขาตามหา และช่วงนั้นคือเวลาทอง
“ตั้งแต่นั้นผมก็เริ่มโฟกัสกลุ่มนี้มากขึ้น อย่างที่ทุกคนเห็นว่ากลุ่มนี้โตมากขึ้นเรื่อยๆ พอเราเริ่มโฟกัสมากขึ้นก็เริ่มอินขึ้นเรื่อยๆ เราได้เห็นคนย้ายที่อยู่มา ย้ายมาอยู่เขาหลักเพราะกีฬานี้เยอะมาก อีกอย่างคือต่อไปนี้เราจะไม่มีโลว์ซีซันแล้ว เราจะมีแต่ไฮซีซัน และเซิร์ฟซีซัน”
จากจุดอ่อนจึงกลายเป็นจุดแข็ง "เขาหลัก" คือหนึ่งในหมุดหมายของนักเล่นเซิร์ฟ เปลี่ยนไปจากเดิมที่ "LA VELA Khaolak" วางคาแรกเตอร์ตัวเองไว้สำหรับคนที่ชอบถ่ายภาพ ด้วยโลเคชันมีสระน้ำสีขาว พื้นหินอ่อน จะใส่ชุดอะไรถ่ายรูปก็สวยไปหมด
ในเมื่อคาแรกเตอร์เดิมก็ยังแข็งแรง และการจับกลุ่ม Surfer ก็ไปได้สวย แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มนักเซิร์ฟที่ไม่ได้มาโต้คลื่นกันที่หน้าหาดของโรงแรม และไม่ใช่ว่าทุกวันจะลงไปเล่นเซิร์ฟในทะเลได้
แม้ว่าบริเวณหาดของโรงแรมนี้จะไม่ใช่ Surf spot แต่ความพยายามเอาชนะธรรมชาติให้ได้ทำให้พีรพงศ์ตัดสินใจทุ่มทุนสร้างสนาม Surfskate เพื่อรองรับการเล่นเซิร์ฟบนบกในวัน Flat day รวมถึงกลุ่มนักเซิร์ฟสเก็ตที่ไม่ได้ต้องการเล่นเซิร์ฟในน้ำด้วย ความตั้งใจที่จะเป็นศูนย์กลางของทุกกิจกรรมในระบบนิเวศของเซิร์ฟ เขามองว่าเป็นมากกว่าการเป็นสถานที่เล่น แต่เป็นเรื่องวัฒนธรรมเซิร์ฟ (Surf culture)
“ผมอยากให้เขารู้จักกีฬานี้ ไม่ว่าจะรู้จักทางบกหรือทางน้ำก็อยากให้รู้จัก และผมไม่ได้สนใจด้วยว่าคนนั้นจะเคยเล่นหรือไม่เคย ก็อยากให้มาลอง เราจึงมีให้ทุกคนได้ลองเซิร์ฟสเก็ตฟรี 30 นาที หรือถ้าคุณลองเล่นบนบกแล้วคุณชอบ อยากจะลองในทะเลบ้าง ก็ไปลองในทะเลต่อ
เราเองเป็นโรงแรม ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องเซิร์ฟสเก็ตหรอกครับ เราก็ต้องหาคนที่เชี่ยวชาญมาทำให้ เราก็เลยเลือก Surf lab มาดูแลเรื่องการออกแบบ ดูแลเรื่ององศา ซึ่งทางนั้นเขาเคลมมาว่าองศาซื้อมาจากชิลีกับสเปน ซึ่งเรามาลองดูสนามของเขาก็เห็นว่าสมูทดี เราใช้ปูนอย่างดี ทุกอย่างอย่างดี ปูนมันแข็ง แต่จะทำอย่างไรให้อย่างน้อยล้มแล้วไม่ถลอก ให้มันนิ่มที่สุดเท่าที่จะทำได้”
หลายครั้งที่พีรพงศ์เอ่ยถึงโอกาสของเขาหลักรวมถึงจังหวัดพังงา ซึ่งเขาเองก็ระดมแรงกาย แรงใจ และแรงทุนมาเนรมิตให้ที่นี่มีของมากกว่าเดิม นี่คือการสร้างโอกาสให้พื้นที่ และเป็นโอกาสสร้างรายได้คนท้องถิ่นเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะถามว่านี่คือการให้ของเขาใช่ไหม แต่คำตอบก็ยังตรงไปตรงมาว่า นี่คือธุรกิจที่เขาจะต้องทำให้พื้นที่อยู่รอด เพื่อธุรกิจอยู่รอด
“เราอยู่พังงา ทำไมเราต้องดูแลขนาดนี้ พังงามีประชากรไม่เยอะเลย เพราะฉะนั้นเรื่องงบประมาณเอยอะไรเอยมันค่อนข้างยาก ประเทศเรามีการจัดสรรทุกอย่างตามจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ ยิ่งทำให้เราต้องคิดมากขึ้น ช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น และเรามาทำธุรกิจที่นี่ ไม่กล้าบอกว่าประสบความสำเร็จมากมายหรอก แต่ว่าเราได้เงินได้ทองจากที่นี่ เราก็อยากตอบแทน แต่สิ่งที่เราตอบแทนเราพยายามไม่ใช้การบริจาค เพราะมันไม่ช่วยอะไร เราจึงเน้นที่การสร้างงาน นโยบายเราชัดเจนอยู่แล้วว่าถ้าคนพังงามาสมัครเราแทบจะรับทุกคน
เมื่อก่อนพังงาคือเมืองคนแก่ แต่เซิร์ฟมาเปลี่ยนทุกอย่าง ทำให้คนหนุ่มสาวอยากกลับมา เริ่มมีงาน เริ่มมีคาเฟ่ดีๆ เริ่มมีศิลปิน คนที่มองว่าน่าจะเป็นกำลังสำคัญเราอยากให้กลับมาอยู่ที่นี่ คนที่มีสกิลพิเศษที่มาอยู่ที่นี่ เราก็อยากซัพพอร์ตพวกเขา เริ่มให้พวกเขาทำได้ สิ่งที่เริ่มต้นให้พวกเขามาที่นี่ได้คือเซิร์ฟ แล้วทำไมเราจะไม่ทำให้เซิร์ฟมันดีขึ้นล่ะ มันก็ยิ่งมีคนมาอยู่เยอะขึ้น งบประมาณก็เพิ่มขึ้น จังหวัดก็จัดสรรอะไรได้มากขึ้น”
ในขณะที่ภูเก็ตซึ่งเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงของพังงาก็มีชื่อเรื่องเซิร์ฟมานานพอตัว ในสายตาเจ้าของโรงแรม "LA VELA Khaolak" อาจจะมีตลาดของเซิร์ฟที่ใหญ่กว่าภูเก็ตเสียอีก ด้วยปัจจัยเรื่องความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ความปลอดภัย กฎเกณฑ์ของจังหวัดที่ห้ามมอเตอร์สปอร์ตทางน้ำ
ยกตัวอย่างง่ายๆ การมีสนามเซิร์ฟสเก็ตระดับมาตรฐาน หรือการมีหาดเมโมรีบีชสำหรับนักเซิร์ฟโดยเฉพาะ การมีนักกีฬาเซิร์ฟ ทุกอย่างคือการันตีว่าพังงาพร้อมทั้ง Hardware และ Software คำว่า Khaolak Surf Town (เขาหลัก เซิร์ฟทาวน์) จึงเกิดขึ้นและกำลังได้รับการต่อยอดไปสู่สากล
“ที่เขาหลักอาจไม่ได้มีคลื่นใหญ่อย่างโปรตุเกสหรือฮาวาย แต่เรามีความปลอดภัย คุณพาเด็กพาครอบครัวมา คุณมั่นใจว่าจะไม่มีอุบัติเหตุ หินก็น้อย ทรายก็ละเอียด น้ำก็ไม่ลึก น้ำก็อุ่น เราต่อยอดจากสิ่งเหล่านี้ได้เยอะกว่า”
เมื่อ Surf คือความหวังของพังงา มองไปข้างหน้าอนาคตของเซิร์ฟ รวมถึง Surfskate และ SUP ของที่นี่ในทัศนะพีรพงศ์ การเปิดประสบการณ์ให้คนได้ลองคือหัวใจสำคัญ เขาจึงไม่รีรอที่จะทำให้ทุกคนได้สัมผัสวัฒนธรรมเซิร์ฟ นับตั้งแต่การมีอุปกรณ์ให้ลอง มีสนามมาตรฐาน
“หน้าที่ที่สองของเราคือต้องสร้างเทรนเนอร์ เทรนเนอร์มาอยู่ที่นี่ต้องอยู่ได้ ต้องมีกระบวนการสร้างเทรนเนอร์จริงจัง มันต้องเป็นอาชีพได้ พอมีคนสอนแล้ว มีกระบวนการบางอย่างให้เขาได้ลองแล้ว อันที่สามคือการแข่งขัน ก็ต้องมีเงินรางวัล มีสปอนเซอร์ แต่ที่ขาดไม่ได้เลยคือต้องมีมาตรฐานด้วย เพื่อให้มันเป็นกีฬาจริงๆ มันจะได้ไปต่อได้ ไม่ใช่แค่ไถๆ แล้วอย่างไรต่อ
ตัวโรงแรมเราเปิดมาสี่ปี สนามเซิร์ฟสเก็ตเราเปิดมาครึ่งปี ผมได้เริ่มเห็นว่ากลุ่มเซิร์ฟมีอยู่แล้ว ส่วนเซิร์ฟสเก็ตยังไม่เยอะ แต่ผมไม่ได้มองว่าจะมากันกี่คนแม้จุดนั้นจะเป็นเรื่องธุรกิจ แต่อีกจุดที่สร้างสังคมจริงๆ หรือสร้างธุรกิจนี้ให้มันยั่งยืนคือเรามีหน้าที่ต้องเพิ่มคนเล่น โปรแกรมให้ลองจึงสำคัญมาก คนธรรมดาที่มาพักเขาก็อาจจะไม่ได้มีแพลนมาเล่นเซิร์ฟสเก็ต แต่ไม่เป็นไรนี่ ถ้าคุณชอบ สนุกกับมัน โอกาสที่จะรีเทิร์นมันเยอะกว่า”
การสมดุลระหว่างเรื่องธุรกิจและการตอบแทนท้องถิ่นที่เขามาทำมาหากิน พีรพงศ์บอกว่าเกิดจากหลักยึด 3 ประการ คือ ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
“ถ้าธุรกิจเราทำลายสิ่งแวดล้อม แล้วเราอยู่ในธุรกิจที่ต้องขายสิ่งแวดล้อม มันก็ผิดอยู่แล้วที่ไปทำลายสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่ากำไรส่วนหนึ่งของเราจะกลับไปProlong สิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมดีแล้ว โรงแรมพร้อมแล้ว แต่ถ้าไม่มีสังคม พื้นที่ไม่มีเอกลักษณ์อะไรน่าสนใจเลย มันก็เท่านั้น จะมีธรรมชาติแล้วจะอยู่กันอย่างไร ยังมีที่อีกหลายที่ที่มีธรรมชาติดีกว่าเราด้วยซ้ำ แต่ไม่ได้มีสังคม ไม่ได้มีวัฒนธรรม มันก็ทำเป็นธุรกิจไม่ได้ไง เพราะไม่มีคน มันมีแค่อิฐแค่ปูน
ผมเชื่อว่าทุกธุรกิจต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น ไม่มีธุรกิจไหนอยู่ด้วยตัวคนเดียวได้ ไม่งั้นคุณจะขายใคร ถ้าสังคมดี มาเจอผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส มีความสุข โรงแรมทำได้มาตรฐาน ธรรมชาติสวยงาม ทุกอย่างก็จบ นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมต้องพูดถึงคนพังงา ผมสงสัยมากเลยว่าทำไมต้องไม่พูดล่ะ ต้องถามแบบนี้มากกว่าว่าทำไมหลายคนที่มาทำธุรกิจแล้วทำไมไม่สนใจคนพังงา มันเหมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าจริงๆ นะ ผมก็ทำโรงแรมไม่ได้หรอกถ้าไม่มีเกาะสิมิลัน ถ้าไม่มีหาดสวยๆ ผมมีหน้าที่ต้องรักษามันไว้ คนมาทิ้งขยะบนหาดผมแคร์นะ เพราะนี่มันบ้านผม ที่ทำกินของผม หรือมีโจรมีฆาตกรรม ผมก็แคร์ เพราะมันเกิดความกลัวในชุมชน คนจะไม่กล้ามาอยู่ เพราะพังงาต้องการคนมาอยู่เยอะๆ และต้องเป็นคนที่มีสกิล มันถึงจะเกิดได้”