"ร้านนายอินทร์" ท่าพระจันทร์ โบกมือลาแน่นอนปลายมีนาคมนี้

ร้านนายอินทร์ ท่าพระจันทร์ สาขาแรก ประกาศเลิกกิจการร้านหนังสือ หากใครอยากไปรำลึกความหลัง หรือไปช้อปหนังสือ ต้องก่อนสิ้นเดือนมีนาคม 65
ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ หรือตลาดวงการหนังสือไทย มีมูลค่าลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากการอ่านที่เปลี่ยนไป สามารถค้นหาอ่านผ่านสื่อออนไลน์ได้มหาศาล บางสำนักพิมพ์จึงปิดตัวลง ร้านหนังสือก็ต้องปิดตาม
- จุดเริ่มต้น ร้านนายอินทร์
บริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด หนึ่งในสายงานในเครือบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจค้าปลีกหนังสือผ่านหน้าร้านในนาม “ร้านนายอินทร์” ภายใต้สโลแกน “รู้ใจนักอ่าน บริการประทับใจ”
เริ่มต้นสาขาแรกที่ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2537 โดยมุ่งหวังกระจายความรู้ ความคิด ส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้กับคนไทย เป็นรากฐานพัฒนาคน สังคม ประเทศชาติ
สร้างวัฒนธรรมการอ่านให้กับคนไทย ด้วยการสร้างสรรค์โครงการดี ๆ ให้นักอ่านนำหนังสือมาบริจาคที่ ร้านนายอินทร์ เพื่อมอบให้กับโรงเรียนและแหล่งชุมชนต่างๆ ที่ขาดแคลน
จัดกิจกรรมช่วยเหลือสังคมมากมาย เช่น สร้างห้องสมุดโรงเรียน, ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ, บริจาคเงินให้กับองค์กรและมูลนิธิต่างๆ ภายใต้โครงการ “ปันความรัก ด้วยความรู้”
- วิสัยทัศน์ผู้ริเริ่ม
ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊ป ตัดสินใจเปิดร้านนายอินทร์สาขาแรกที่ท่าพระจันทร์ บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในอาคาร 4 ชั้น 2 ห้อง ด้วยความมุ่งหวังว่า จะส่งเสริมการอ่านให้บุคคลทั่วไป ในร้านได้จัดมุมหนึ่งไว้เพื่อจัดงานเสวนาให้นักเขียนได้มาพบปะกับนักอ่าน
“เราขอพระราชทานชื่อ นายอินทร์ มาเป็นชื่อร้าน เพราะรู้สึกประทับในในหนังสือ “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” และคอนเซปต์ของร้านเราก็ทำงานลักษณะผู้ปิดทองหลังพระเช่นกัน คือ เราพยายามสร้างร้านหนังสือให้สามารถทำหน้าที่ได้มากกว่าความเป็นเพียงร้านหนังสือ” ชูเกียรติ เคยกล่าวไว้ ในวันเปิดร้าน
บริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด จึงมีธุรกิจค้าปลีกเพิ่มขึ้นด้วยเปิดร้านหนังสือชื่อ “ร้านนายอินทร์” เพื่อสร้างความใกล้ชิดกับนักอ่าน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีร้านนายอินทร์ สาขาต่างๆ เปิดดำเนินการอยู่ 145 ร้าน)
- รางวัลนายอินทร์อะวอร์ด
นอกจากนี้ ร้านนายอินทร์ ยังสนับสนุนให้เกิดงานเขียนใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพขึ้นในสังคมไทยด้วยการจัดประกวด “รางวัลนายอินทร์อะวอร์ด” ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา
มีการจัดประกวดต้นฉบับประเภท สารคดี เป็นประเภทแรก ต่อมาปี พ.ศ. 2543 ได้เพิ่มประเภท หนังสือภาพสำหรับเด็ก และ วรรณกรรมเยาวชน
ปี พ.ศ. 2548 ได้เพิ่มประเภท เรื่องสั้น, กวีนิพนธ์, นวนิยาย รวมทั้งหมด 6 ประเภท
รางวัลนายอินทร์อะวอร์ด กำหนดรับผลงานต่าง ๆ เข้าประกวดล่วงหน้า 1 ปี ปิดรับผลงานในเดือนพฤศจิกายน และประกาศผลรางวัลในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมของปีต่อมา
- ปรับตัวสู่โลกออนไลน์
ในปี พ.ศ. 2553 ร้านนายอินทร์ มีเป้าหมายพัฒนาเว็บ www.naiin.com ให้เป็นศูนย์กลางร้านหนังสือออนไลน์
ขณะนั้นมีร้านนายอินทร์ 150 สาขา เป็นแฟรนไชส์ 27 สาขา มีเครือข่ายพันธมิตรกว่า 100 ร้านค้า เปิดในเทสโก้โลตัส 15 แห่ง
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 ร้านนายอินทร์ ได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่น ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์นักอ่านที่เปลี่ยนไปให้มากขึ้น ปรับตัวมาเป็นร้านหนังสือผ่านโลกออนไลน์ Book & E-Book+ สั่งซื้อหนังสือได้ทั้งแบบรูปหนังสือเล่ม และ E-Book
และหนังสือจากสำนักพิมพ์อรุณ, แจ่มใส, มติชน, รักยิ้มของเธอ, Be(ing), Bear Publishing, Beat, Bee Media บีมีเดีย, BEYOND MANGA, Bibli, Biblio, Big Idea เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมี หนังสือสำหรับเด็ก จากสำนักพิมพ์ต่างๆ ทั้ง อมรินทร์คิดส์, แปลนฟอร์คิดส์, นานมี ฯลฯ มาให้เด็กๆ อ่านในฟรีในรูปแบบ E-Book กว่า 300 เล่ม
การเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไม่หยุดนิ่ง ทำให้ ร้านนายอินทร์ สาขาแรก สาขาท่าพระจันทร์ จะต้องปิดตัวลงในวันที่ 31 มีนาคม 2565
แฟน ๆ นักอ่านที่คิดถึงร้านนายอินทร์สาขานี้ ยังมีเวลาอีกไม่กี่วัน ที่จะไปรำลึกและพบกับหนังสือลดราคา 20 % ทั้งร้าน