"โรคผมร่วงเป็นหย่อม" Alopecia เกิดจากอะไร? ป้องกันไว้ดีกว่าต้องโกนผมทิ้ง!
"โรคผมร่วงเป็นหย่อม" หรือ "Alopecia" เป็นอาการป่วยของ “เจดา พินเก็ตต์ สมิธ” ภรรยาของ “วิล สมิธ” ที่กำลังเผชิญอยู่ ชวนรู้โรคนี้เกิดจากอะไร? พร้อมส่องวิธีป้องกันก่อนจะต้องโกนผมทั้งศีรษะ
ใครที่ได้ชมถ่ายทอดสดการประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 94 เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (28 มีนาคม) คงจะได้เห็นภาพสุดช็อก เมื่อ “วิล สมิธ” นักแสดงชื่อดังตบหน้า “คริส ร็อค” หลังจากที่หนุ่มคริสปล่อยมุกตลกล้อเลียน “เจดา พินเก็ตต์ สมิธ” ภรรยาของเขา เกี่ยวกับการโกนผมทั้งหัว ซึ่งเธอกำลังป่วยด้วยโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia)
ทั้งนี้รายงานข่าวยังระบุอีกว่า “เจดา พินเก็ตต์ สมิธ” เผชิญกับอาการของโรคที่ทำให้ "ผมร่วง" อย่างหนัก จนทำให้เธอตัดสินใจโกนผมทิ้งทั้งศีรษะ
จากกรณีนี้อาจทำให้สาวๆ ที่ปัญหาผมร่วงเป็นทุนเดิมเริ่มกังวลใจว่าตนเองจะเข้าข่ายป่วยเป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อมหรือไม่? โรคนี้มีอาการและสาเหตุเกิดจากอะไรกันแน่? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนหาคำตอบเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน
1. Alopecia โรคผมร่วงเป็นหย่อม คืออะไร?
มีข้อมูลจาก คลินิกโรคเส้นผมและการผ่าตัดปลูกถ่ายเส้นผม ภาควิชาตจวิทยา (Dermatology) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายไว้ว่า โรคผมร่วงเป็นหย่อม หรือ Alopecia areata ไม่มีสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด
แต่เบื้องต้น แพทย์พบว่าเกิดจากการอักเสบใต้หนังศีรษะ ซึ่งเป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติ จนเกิดการทำลายรูขุมขน อย่างไรก็ตาม หากโรคสงบลงแล้ว รูขุมขนบนหนังศีรษะของผู้ป่วยยังสามารถกลับมาสร้างเส้นขนใหม่ได้ตามปกติ
2. อาการของโรคผมร่วงเป็นหย่อม มีลักษณะแบบไหน?
สำหรับอาการของโรคผมร่วงเป็นหย่อมที่พบบ่อย ได้แก่
- มีผมร่วงเป็นหย่อมในลักษณะวงกลม
- บริเวณที่ผมร่วงมีขอบเขตชัดเจน แต่อาจเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง
- ผู้ป่วยส่วนมากจะไม่มีอาการใดๆ แต่อาจมีอาการคันหรือแสบนำมาก่อน
- โรคนี้มักเกิดที่บริเวณศีรษะ แต่ก็สามารถเกิดที่จุดอื่นๆ ได้ (ขนคิ้ว ขนตา หนวด ขนรักแร้)
- อาจพบผมหักเป็นตอสั้นๆ ติดหนังศีรษะได้ในบริเวณขอบของรอยโรค
- โรคนี้อาจเกิดแบบเฉียบพลันหรือค่อยเป็นค่อยไปก็ได้
ทั้งยังพบว่าในผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อม อาจมีอาการโรคอื่นๆ แทรกแซงด้วย ได้แก่ ต่อมไทรอยด์อักเสบ, ด่างขาว, กลุ่มโรคภูมิแพ้ ฯลฯ
นอกจากนี้ ผู้ป่วยผมร่วงเป็นหย่อมประมาณ 20% มักจะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย ในทางการแพทย์เชื่อว่าปัจจัยทางพันธุกรรม อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้ได้
3. โรคนี้ผู้ชายก็เป็นได้ ชวนรู้วิธีป้องกันก่อนต้องโกนผมทิ้ง
โรคนี้เกิดขึ้นได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิงเท่าๆ กัน อายุเฉลี่ยคือประมาณ 30 ปีขึ้นไป แต่อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถเกิดขึ้นที่ช่วงอายุใดก็ได้ อุบัติการณ์ที่เกิดโรคเฉลี่ยคือ 1 ใน 1,000 คน หรือ ประมาณ 2%
สำหรับวิธีป้องกันไม่ให้เสี่ยงเป็น “โรคผมร่วงเป็นหย่อม” นั้น ควรดูแลสุขภาพร่างกายและสุขภาพหนังศีรษะให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยมีข้อแนะนำ ดังนี้
- ผ่อนคลายความเครียด เพราะความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคได้
- เลือกรับประทานอาหารที่มีสารบำรุงเส้นผม เช่น วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี และธาตุสังกะสี เป็นต้น
- ใส่วิก สวมหมวก หรือทาครีมกันแดดบริเวณหนังศีรษะที่เกิดอาการ เพื่อป้องกันแสงแดดทำอันตรายหนังศีรษะ
- สวมแว่นกันแดด *ในกรณีที่โรคนี้ส่งผลให้ขนตาร่วง* เพราะอาจมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตาได้เนื่องจากไม่มีขนตาคอยป้องกัน
---------------------------------