"April Fool's Day" ทำไมเราต้อง "โกหก" ใน "วันเมษาหน้าโง่" 1 เม.ย.ของทุกปี
ชวนส่อง 10 ข้อ ทำความรู้จักวัน "April Fool's Day" หรือ "วันเมษาหน้าโง่" เปิดที่มาและประวัติวัน April Fool's Day ที่กลายเป็นวัฒนธรรมร่วมทั่วโลก สามารถ "โกหก" กันขำๆ ไม่ถือเป็นเรื่องจริงจัง เฉพาะในวันที่ 1 เมษายนของทุกปี
1 เมษายน นี้ ใครยังไม่ถูกอำ หรือถูก "โกหก" ต้องถือว่า ไม่อินเทรนด์เสียเลย เพราะนี่คือวัน "April Fool's Day" !
เชื่อว่าหลายคนคงกันเจ็บกับการโดนแกล้งในวันนี้มาไม่น้อย บางคนแอบเคืองเพื่อนไปเลยก็มี แต่ก็โกรธจริงจังเกินงามไม่ได้เพราะว่าเพื่อนดันมาโกหกในวันที่เรียกว่า "เอพริลฟูลส์เดย์" ซึ่งคนทั่วโลกเขาเล่นแกล้งกันในวันที่ 1 เมษายนของทุกปี หมายความว่า คุณจะถือสาการแกล้งโกหกกันในวันนี้ไม่ได้ เพราะเป็นการยกเว้นให้โกหกขำๆ ได้หนึ่งวัน
แต่ทั้งนี้.. ถ้าอยากจะเล่นจริงๆ ก็อย่าลืมใส่ใจกับคำว่า "กาลเทศะ" เป็นสำคัญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : "April Fool's Day" โกหกได้แต่ต้องระวัง โพสต์ผิดชีวิตเปลี่ยน อาจเจอโทษจำคุก
แม้ว่า "April Fool's Day" จะไม่ใช่วันสำคัญของไทยอย่างเป็นทางการ แต่คนไทยก็พร้อมจะอินกับเทศกาลนักอำแบบไม่อิดออดเลย แต่ถ้าถามว่า ที่มาที่ไป หรือ ต้นกำเนิดของ "April Fool's Day" บางคนอาจยังไม่รู้เท่าไรนัก
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" เลยจะชวนไปดูกันว่า การแกล้ง "โกหก" แบบนี้มีมาตั้งแต่ยุคโรมันเลยทีเดียว ถ้าอยากรู้เรื่องนี้ให้มากขึ้น อย่ารอช้า ล้อมวงเข้ามาเลย..
1. April Fool's Day เริ่มมีในศตวรรษที่ 16-19
เอพริลฟูลเดย์ (April Fool's Day) หรือ "วันเมษาหน้าโง่" ตรงกับวันที่ 1 เมษายนของทุกปี ซึ่งมีการเฉลิมฉลองในหลายประเทศทั่วโลก โดยผู้คนจะเล่นมุกตลก "โกหก" หรือเล่าเรื่องหลอกลวงต่อกัน ตามสำนักพิมพ์หรือสื่อต่างๆ อาจรายงานเรื่องหลอกลวงในวันนี้ และออกมาเฉลยในวันต่อมา มีข้อมูลพบว่าการเล่นแกล้งกันในวัน April Fool's Day นั้น เริ่มมีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16-19 ในแถบประเทศทางยุโรป เช่น กรีก ฝรั่งเศส
2. หลักฐานที่เกี่ยวกับ April Fool's Day
มีบันทึกโบราณพบว่าต้นกำเนิดของ "วันเมษาหน้าโง่" เกิดขึ้นใกล้เคียงกับเทศกาลฮิลาเรียของโรมันที่จัดขึ้นวันที่ 25 มีนาคม และพบว่ามี "เทศกาลคนโง่" ในยุโรปสมัยยุคกลาง ที่จัดขึ้นวันที่ 28 ธันวาคม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : วันเมษาหน้าโง่ "April Fool's Day" รู้จักการ “โกหก” 7 รูปแบบที่เจอได้ในชีวิตประจำวัน
3. April Fool's Day กับความเขลาของคนโบราณ
April Fool's Day มีความเชื่อมโยงกับความเขลาที่เก่าแก่ที่สุด มีหลักฐานจากบันทึกโบราณในตำนานแคนเตอร์บรี ของชอเซอร์ (ค.ศ. 1392) ซึ่งในตำนานแคนเตอร์บรี เล่าว่า สมัยนั้นมีการเขียนบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานแม่ชีและพระ (Nun's Priest's Tale) ซึ่งเรื่องนี้มีการทำสำเนาเอาไว้หลายแผ่น จนเกิดการคัดลอกผิดพลาดเกี่ยวกับการระบุวันที่
จากบันทึกเดิมพูดถึง 32 วันหลังเดือนเมษายน นั่นคือคือวันที่ 2 พฤษภาคม แต่ถูกทำสำเนาผิดเป็น 32 วันหลังมีนาคม ซึ่งก็คือวันที่ 1 เมษายน ซึ่งทำให้ความหมายเปลี่ยนไป พอคนรุ่นหลังๆ มาอ่านบันทึกที่ไม่เหมือนกัน ก็เข้าใจไปว่าตำนานฉบับคัดลอกเป็นเรื่อง "โกหก" ซึ่งก็มีความเชื่อมโยงกับวันที่ 1 เมษายนนั่นเอง
4. April Fool's Day กับวันขึ้นปีใหม่
อีกหนึ่งทฤษฎีเชื่อว่า April Fool's Day มีความเชื่อมโยงกับการกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวยุโรปที่เพิ่งเปลี่ยนใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 16 นั้น แต่เดิมในช่วงยุคสมัยกลางวันปีใหม่ของชาวยุโรปคือวันที่ 1 เมษายน ต่อมาในปี ค.ศ. 1592 พระสันตปาปาเกรเกอรี่ได้ประกาศใช้ปฏิทินใหม่สำหรับชาวคริสต์ ทำให้วันปีใหม่ถูกเปลี่ยนไปเป็นวันที่ 1 มกราคม
และเนื่องจากปัญหาด้านการสื่อสารที่ล่าช้าในยุคนั้น ยังคงมีประชาชนบางส่วนที่ไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่เชื่อเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว พวกเขายังจัดงานฉลองวันปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายนตามเดิม ทำให้คนอื่นๆ พากันเรียกพวกเขาว่า " พวกเมษาหน้าโง่" (April Fools) แล้วพยายามกลั่นแกล้งคนพวกนี้โดยส่งข้อความไปหลอก หรือล่อลวงให้หลงเชื่อเรื่องโกหกทั้งหลายว่าเป็นเรื่องจริง
5. คำโกหกของคนยุโรปยุคกลาง
ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 19 ชุดคำพูด "โกหก" ที่ผู้คนสมัยนั้นนิยมนำมาแกล้งอำกัน เช่น พวกอาจารย์มักจะแกล้งบอกกับลูกศิษย์ในโรงเรียนว่า "ดูโน่นสิ! ฝูงห่าน" แล้วชี้นิ้วขึ้นไปบนฟ้า ส่วนกลุ่มนักเรียนจะแกล้งหลอกเพื่อนๆ คนอื่นว่าโรงเรียนงดการเรียนการสอนในวันนั้น ซึ่งเมื่อไหร่ที่เหยื่อตกหลุมพรางตามแผนที่คนแกล้งวางเอาไว้แล้ว คนแกล้งจะตะโกนออกมาว่า "April Fool"
6. April Fool's Day จากยุโรปสู่ทั่วโลก
จากการล้อเลียนคนที่ฉลองปีใหม่ผิดวันในประเทศแถบยุโรปในวันที่ 1 เมษายน ต่อยอดสู่วัฒนธรรมการแกล้งโกหกกันในวัน April Fool's Day ของทุกๆ ปี ซึ่งการเล่นนี้ก็ได้แผ่ขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เช่น แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย บราซิล และสหรัฐอเมริกา ส่วนปัจจุบันก็แพร่มาถึงชาวเอเชียรวมถึงในประเทศไทยด้วย
7. คนอังกฤษเล่น "โกหก" อย่างเปิดเผย
ในประเทศอังกฤษมีประเพณีการเล่นแกล้งกันในวันที่ 1 เมษายนที่สืบต่อกันมายาวนาน โดยวิธีแกล้งคือจะทำอย่างเปิดเผยด้วยการตะโกนว่า "เอพริลฟูล" ใส่คนที่ถูกหลอกตรงๆ เพื่อชี้เป้าว่าใครกำลังโดนแกล้งและถูกเพื่อนๆ เรียกว่า "คนโง่เดือนเมษา"
8. April Fool's Day ของชาวฝรั่งเศส
สำหรับประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 1 เมษายนผู้คนมักจะเรียกว่า "Poisson d'Avril" โดยพวกเด็กๆ จะแกล้งเพื่อนด้วยการเอากระดาษรูปปลาไปแปะไว้ข้างหลัง เมื่อฝ่ายที่ถูกแกล้งรู้ตัว คนแกล้งจะตะโกนว่า "Poisson d'Avril!" (April Fish!) ซึ่งเป็นคำที่คนฝรั่งเศษใช้เรียกคนที่ถูกหลอกหรือถูกแกล้งนั่นเอง
9. April Fool's Day ของชาวอเมริกัน
สำหรับชาวอเมริกันก็นิยมหยอกล้อเพื่อนฝูงหรือคนแปลกหน้าในวัน April Fool's Day เช่นกัน ซึ่งการโกหกที่เป็นสากลและนิยมที่สุดก็คือการชี้ไปที่รองเท้าของเพื่อนและพูดออกมาว่า "เชือกรองเท้าของเธอหลุดแน่ะ" หรือ แกล้งเทเกลือลงในโถใส่น้ำตาลเพื่อแกล้งคนที่นั่งข้างๆ หรือ การแอบหมุนเข็มนาฬิกาของเพื่อนให้เดินช้า 1 ชั่วโมง เพื่อหลอกให้เพื่อนเข้าชั้นเรียนผิดเวลา เป็นต้น
10. แกล้งอำได้แต่ต้องไม่อันตราย
หัวใจของการโกหกในวัน April Fool's Day คือความตลก โดย เรื่องที่โกหกต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่าไม่ทำอันตรายให้คนอื่น ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ไม่เกี่ยวกับความเป็นความตาย เพราะฉะนั้นกลอุบายที่ยอดเยี่ยมที่สุดจะต้องทำให้ทุกคนหัวเราะได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของวันแห่งความสนุกสนานนี้