"สินสอด" เป็นกรรมสิทธิของใคร ในทางกฎหมาย
ทำความเข้าใจ "สินสอด" เป็นสิทธิ์ของใครกันแน่ในทางกฎหมาย หลังมีกรณีสินสอดอลเวง หลังเจ้าบ่าวเช่าสินสอด 1 ล้านวางขันหมาก แต่แอบนำไปส่งคืนจนถูก ตำรวจตั้งข้อหาลักทรัพย์
ข่าวคราวสินสอดอลเวง จากกรณีที่ช่างภาพคนหนึ่งถูกเพ่งเล็งว่า มีส่วนรู้เห็นว่าสินสอดจำนวน 1 ล้านบาทในงานสูญหายไป ก่อนที่จะคดีพลิกเมื่อเจ้าบ่าวเจ้าสาว สารภาพว่า เป็นผู้เก็บเงินสินสอดเอง เพราะเป็นเงินสินสอดที่เช่ามา เมื่อนำมาประกอบพิธีเสร็จแล้ว ต้องรีบนำส่งคืน จนกลานเป็นไวรัลที่ถูกพูดถึงในโซเชียลมีเดีย
ล่าสุด ตร. จับตั้งข้อหา "ลักทรัพย์เงินสินสอด 1 ล้าน" ขึ้นโรงพักเมืองกำแพงเพชร เมื่อถูกเค้นจนยอมรับสารภาพนำเงินสินสอด 1 ล้านไปเอง เพราะเป็นเงินเช่ามาราคา 4 หมื่นบาท
กรณีนี้ทำให้หลายคนสงสัยว่า ทำไมเจ้าบ่าวถึงกลายเป็นผู้ต้องหาลักทรัพย์ไปเสียได้ ทั้งๆ ที่เป็นคนยืมสินสอดมาเอง
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาไปดูว่าแท้จริงแล้ว "สินสอด" นั้นในทางกฎหมายแล้วเป็นของใครกันแน่ และเมื่อเกิดข้อพิพาทแบบนี้ขึ้นมา ใครมีสิทธิในสินสอดที่ว่านี้บ้าง
- ตามกฎหมายสินสอด เป็นของใคร ?
ตามกฎหมายแล้วสินสอดถูกนิยามไว้ว่า เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่พ่อแม่ ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง เพื่อตอบแทนที่หญิงยอมสมรสด้วย ซึ่งจะตกเป็นของพ่อแม่ฝ่ายหญิงทันที โดยไม่ต้องรอให้มีการสมรสกันก่อน
ถ้าไม่มีการสมรสโดยเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง มีพฤติการณ์ที่ฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรส หรือฝ่ายหญิงไม่ยอมแต่งงานด้วย ก็ต้องคืนสินสอดให้ฝ่ายชาย แต่ถ้าแต่งงานกันแล้วมาหย่าภายหลัง สินสอดก็ไม่ต้องคืน ทั้งสินสอด และของหมั้น
ทั้งนี้ ชายหญิงต้องมีเจตนาไปจดทะเบียนตามกฎหมาย แต่หากชายหญิงไม่มีเจตนาจะไปจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ก็ไม่ถือว่าทรัพย์สินที่ให้ไปนั้นเป็นสินสอด ฝ่ายชายเรียกคืนไม่ได้
พูดง่ายๆ คือ สินสอดที่สัญญาว่าจะให้นั้น เมื่อมีการสมรสกันจะถือเป็นของพ่อแม่ฝ่ายหญิงในทันที
- แบบไหนเรียกคืนสินสอดได้บ้าง ?
ในกรณีที่เป็นไปตามตกลง เช่น ถ้าไม่มีการสมรสโดยเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง มีพฤติการณ์ที่ฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรส หรือฝ่ายหญิงไม่ยอมแต่งงานด้วย ก็ต้องคืนสินสอดให้ฝ่ายชาย โดยวิธีการคืนสินสอดต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
1. เงินตรา คืนเพียงส่วนที่เหลืออยู่ในขณะเรียกคืน แต่หากนำไปซื้อทรัพย์สินอื่น ต้องนำทรัพย์นั้นคืนให้ฝ่ายชาย เพราะเป็นการช่วงทรัพย์
2. มิใช่เงินตรา คืนตามสภาพในขณะเรียกคืน อีกทั้งไม่ต้องรับผิดชอบกรณีสูญหายด้วย
ทั้งนี้ อายุความเรียกคืนสินสอดมีอายุ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
------------------------------------------------------
อ้างอิง: sarutlawyer, thanulaw