รู้จัก ‘ค่างแว่น’ มาสคอตกระตุ้นท่องเที่ยว จ.ประจวบฯ เทียบชั้น ‘หมีคุมะมง’
จ.ประจวบฯ คัดเลือก “น้องค่างแว่น จาก “ค่างแว่นถิ่นใต้” สัตว์คู่เมืองเป็นมาสคอตกระตุ้นการท่องเที่ยว ยกบุคลิกน่ารัก นิสัยดี เป็นมิตร ขี้อาย สะท้อนนิสัยคนประจวบฯ เตรียมพัฒนาต้นแบบสู่มาสคอตเทียบชั้น 'หมีคุมะมง'
โควิด-19 ที่กินระยะเวลามานานกว่า 2 ปี ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกับ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งนักท่องเที่ยวมีจำนวนลดน้อยลง ทำให้จังหวัดได้มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ช่วยกันคิดหาแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การจัดทำโปรแกรมการท่องเที่ยวให้มีความเชื่อมโยงทุกอำเภอ เพื่อกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
นอกจากแผนการท่องเที่ยวข้างต้นแล้ว สิ่งที่การประชุมได้เสนอคือ การกำหนดมาสคอตส่งเสริมท่องเที่ยว ซึ่งที่ประชุมได้เลือก “ค่างแว่นถิ่นใต้” หรือ “น้องค่างแว่น” ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความน่ารัก นิสัยดี เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ในการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ค่างแว่นถิ่นใต้ สัตว์คู่เมืองประจวบ ภาพจาก ประจวบโพสต์นิวส์
“ค่างแว่นถิ่นใต้” คู่เมืองประจวบฯ
“ค่างแว่นถิ่นใต้” เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวก “ค่าง” ลักษณะทั่วไปคล้ายค่างแว่นถิ่นเหนือ คือ มีวงกลมสีขาวรอบตาเหมือนกับใส่แว่นอันเป็นที่มาของชื่อ มีขนาดของลำตัวยาว 45-57 เซนติเมตร หางยาว 66-78 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 6-9 กิโลกรัม ค่างโตเต็มวัยมีขนบริเวณด้านหลังสีเทาเข้มเกือบดำ ขนบริเวณด้านข้างใบหน้าบริเวณปลายมือและปลายเท้ามีสีเทาเข้ม โคนขาและโคนแขนด้านนอกเป็นสีเทาจาง ลักษณะสำคัญที่ใช้จำแนกค่างชนิดนี้ คือสีขนหางสีดำ ลูกที่เกิดใหม่สีขนจะเป็นสีทอง
“ค่างแว่นถิ่นใต้” นั้น เป็นสัตว์ที่พบได้ทั่วไปในพื้นที่หลายแบบ ตั้งแต่ภูเขาสูงจนถึงป่าริมชายฝั่ง และเกาะ ชอบอาศัยในป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นลักษณะภูมิศาสตร์โดยทั่วไปของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีอุปนิสัยที่โดดเด่นคือ เป็นมิตร ซุกซน และขี้อาย
ลักษณะนิสัยที่ว่านี้ ที่การมองว่า ตรงกับลักษณะนิสัยของชาวประจวบฯ ที่มีความเป็นมิตร ความซุกซน ซึ่งเปรียบได้ว่า จ.ประจวบคีรีขันธ์มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งทะเล ภูเขา และความขี้อาย ที่สื่อถึงยังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกหลายแห่งที่ยังไม่ได้รับการโปรโมตให้เป็นที่รู้จัก ทำให้การเชื่อมโยงระหว่าง “ค่างแว่นถิ่นใต้” และจังหวัดประจวบฯ เหมาะสมลงตัว
ภาพออกแบบ "น้องค่างแว่น" ที่เตรียมไปพัฒนาต่อ
รายงานข่าว ระบุว่า ขณะนี้ได้มีการออกแบบเพื่อเป็นต้นแบบในเบื้องต้นก่อน เป็นตัวการ์ตูนค่างแว่น ใส่เสื้อฮาวายลายสับปะรด ผลไม้ประจำจังหวัด ในอิริยาบถเล่นกีฬาทางน้ำ สื่อถึงจังหวัดประจวบฯ ที่มีชายหาดทอดตัวยาวทุกอำเภอกว่า 200 กิโลเมตร และเรียกว่า “น้องค่างแว่น” ไปก่อน เนื่องจากยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ โดยจะมีการนำน้องค่างแว่น ทูตน้อยมาแนะนำตัวให้ชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์รู้จักเป็นครั้งแรกในงานท่องเที่ยวประจวบคีรีขันธ์ มหัศจรรย์เมืองสามอ่าว และงานกาชาดประจำปี 2565 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-10 เม.ย.นี้
โมเดล ‘หมีคุมะมง’ มาสคอตกระตุ้นท่องเที่ยว
ทั้งนี้ จุดประสงค์หนึ่งในการมีมาสคอตสำหรับการพัฒนาท่องเที่ยวคือการสร้างเอกลักษณ์ของจังหวัดให้ชัดเจน โดดเด่นเป็นที่น่าจดจำ ซึ่งโมเดลนี้เคยสำเร็จมาแล้ว กับ “หมีคุมะมง” มาสคอตหมีเพศผู้ ซึ่งสร้างโดยรัฐบาลท้องถิ่นของจังหวัดคูมาโมโตะ บนเกาะคีวชูทางภาคใต้ของญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2553
‘หมีคุมะมง’ เป็นมาสคอตหมีเพศผู้ ซึ่งสร้างโดยรัฐบาลท้องถิ่นของจังหวัดคูมาโมโตะ บนเกาะคีวชูทางภาคใต้ของญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2553 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อมกับการเปิดเส้นทางการเดินรถไฟชิงกันเซ็งสายคีวชู ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค จากนั้นไม่นานคุมะมงก็ได้รับความนิยมไปทั่วประเทศญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว ในปลายปีเดียวกันคุมะมงได้รับการโหวตจากชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศจนได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดตุ๊กตาสัญลักษณ์จากจำนวน 350 ตัวที่แต่ละท้องถิ่นส่งเข้าประกวด
หมี 'คุมะมง' มาสคอตการท่องเที่ยวที่คนทั่วโลกคุ้นเคยดี
หลังจากคุมะมงเปิดตัวออกมาแล้ว ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมีการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากถึง 23,000 ตัว และนอกจากจะเป็นมาสคอตเพื่อใช้ในการส่งเสริมทางท่องเที่ยวแล้ว ยังใช้เป็นสัญลักษณ์ในการปลอบประโลมและเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเมื่อปี พ.ศ. 2559
ที่มา : ข่าวสารประจวบคีรีขันธ์, ประจวบโพสต์นิวส์
วิกิพีเดีย : คูมามง