"เช็งเม้ง 2565" ไหว้วันไหน? รู้ตำนานวันไหว้บรรพบุรุษที่มาจากการสูญเสีย
"เช็งเม้ง 2565" ตรงกับวันที่ 5 เมษายน โดยลูกหลานชาวจีนสามารถ "ไหว้บรรพบุรุษ" ได้ทั้งก่อนและหลังวันเช็งเม้ง ตามแต่ความสะดวก แล้วรู้หรือไม่? ประเพณีการไหว้เช็งเม้งมีที่มาจากตำนานการสูญเสียเพื่อทหารผู้ภักดี
หากพูดถึงประเพณีการไหว้บรรพบุรุษที่สำคัญของลูกหลานชาวจีน หนึ่งในวันสำคัญนี้คงหนีไม่พ้น "เช็งเม้ง 2565" ตรงกับวันที่ 5 เมษายน 2565 ทั้งนี้ การไหว้เช็งเม้งที่ฮวงซุ้ยนั้น ไม่จำเป็นต้องไหว้เช็งเม้งเพียงวันเดียว แต่สามารถไหว้ได้ทั้งก่อนและหลังวันเช็งเม้งก็ได้
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้วันไหว้เช็งเม้งที่ถูกต้อง พร้อมส่องตำนานและต้นกำเนิดของวันเช็งเม้งที่ว่ากันว่าเริ่มมาจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักยิ่งของกษัตริย์จีนในอดีต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- วันเช็งเม้ง 5 เมษายน รู้ความหมาย "เช็งเม้ง" แปลว่าอะไร ทำไมต้องไหว้บรรพบุรุษ
- "ดูดวง" เมษายน 2565 รับ "วันเช็งเม้ง" ตามหลักโหราศาสตร์จีนกับซินแสนัตโตะ
1. วัน "เช็งเม้ง 2565" ต้องไหว้วันไหน?
แม้ในปฏิทินจะระบุว่า "วันเช็งเม้ง" ตรงกับวันที่ 5 เมษายนของทุกปี แต่จริงๆ แล้ว เทศกาลเช็งเม้งตามหลักประเพณีของชาวจีนมักจะคร่อมอยู่ในช่วงวันที่ 4-5 เมษายน ของทุกปี
ส่วนช่วงเวลาในการไหว้เช็งเม้ง สามารถเริ่มไหว้ได้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม หรือจะไหว้ช่วงวันเช็งเม้ง 4-5 เมษายนก็ได้ และยังสามารถไหว้หลังจากวันเช็งเม้งได้ไปจนถึง 20 เมษายน ประมาณ 1 เดือน สามารถไหว้เช็งเม้งได้หมดตามหลักตำราโหราศาสตร์จีน
2. ทำไมต้อง "ไหว้บรรพบุรุษ" ในวันเช็งเม้ง
ว่ากันว่าประเพณีการไหว้เช็งเม้งของลูกหลานแดนมังกร มีขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณความดีของบรรพบุรุษ ที่เคยได้ดูแลลูกหลานมาในตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ ตามความเชื่อของคนจีนที่ว่า "เราสบายเพราะพ่อแม่ลำบาก"
คนจีนเชื่อว่าก่อนที่พวกเขาจะมีชีวิตที่ดี ราบรื่น อยู่สุขสบาย เนื่องมาจากบรรพบุรุษหลายๆ รุ่น ต้องลำบากมาก่อน เพื่อให้ลูกหลานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต
นอกจากนี้ การไหว้บรรพบุรุษในวันเช็งเม้ง ยังเป็นประเพณีแห่งการรวมญาติ เป็นศูนย์รวมตระกูล การไหว้ที่ดีที่สุดต้องนัดหมายญาติพี่น้องทุกคนไปไหว้พร้อมกัน ทำให้ลูกหลานที่อยู่กระจายกันไป ได้มาพบปะ สังสรรค์กันพร้อมหน้า เป็นการสร้างความสามัคคีและความกตัญญูในครอบครัว
3. ตำนานสุดเศร้า ต้นกำเนิด "วันเช็งเม้ง"
ในยุคสมัยชุนชิว (春秋) ในช่วงราชวงศ์โจวตะวันออก ก่อน ค.ศ.770 พระเจ้าโจวผิงหวาง ได้ย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่เมืองลั่วหยาง เพราะหัวเมืองต่างๆ เริ่มมีกำลังกล้าแข็ง กลายเป็นระบบ "เจ้าเมืองใหญ่" ตั้งตนเป็นแคว้น เจ้านครต่างยกตนขึ้นเป็นเจ้านครรัฐ
มีการรวบรวมหัวเมืองเล็กเมืองน้อยเข้าด้วยกัน เมืองเล็กจึงต้องส่งส่วยให้แคว้น และแคว้นก็ค่อยส่งส่วยต่อให้นครหลวงลั่วหยาง ซึ่งก็เหลือส่วนน้อยที่ไปถึง
อีกทั้งมีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่หลายฝ่ายสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ดั้งเดิม และไม่พอใจกับการดูแลบ้านเมืองของกษัตริย์ที่ทำให้เจ้านครต่างๆ กล้าแข็งข้อ ในยุคนั้นจึงเกิดการแย่งชิงอำนาจในราชสำนักกันอย่างดุเดือด
จนมาถึงรัชสมัยของกษัตริย์ "จิ้นเหยียนกง" การแย่งชิงก็ยังไม่จบสิ้น ขณะนั้นพระองค์ทรงมีโอรส 4 พระองค์ หนึ่งในนั้นสามารถขึ้นครองราชย์สืบต่อได้ แต่มีพระสนมเอกนางหนึ่ง อยากให้โอรสของตนคือ "อี้ฮู" เป็นองค์รัชทายาท จึงวางแผนกำจัดองค์ชายทั้งหมด
พระสนมเอกได้ปลอมพระราชโองการเรียกเจ้าชายทั้ง 4 เข้าเฝ้า อ้างพระบิดาป่วย แล้วลอบสังหาร แต่มีองค์ชายองค์หนึ่งพระนามว่า "ชงเอ้อ" ไม่ได้ไปเข้าเฝ้า เมื่อเห็นว่าพี่น้องถูกฆ่า ตนจึงหนีไปพร้อมกลุ่มทหารผู้จงรักภักดี
ต่อมากษัตริย์จิ้นเหียนกงป่วยหนัก สิ้นพระชนม์ ขุนนางกังฉินและพระสนมเอก ได้ยกองค์ชาย "อีฮู" ขึ้นครองราชย์ ตั้งพระนามใหม่ว่า "จิ้นฮุยกง"
ส่วนองค์ชายชงเอ้อกับทหารต่างระหกระเหินไปอาศัยอยู่ตามเมืองต่างๆ ในช่วงที่เดินทางรอนแรมระหว่างเมือง องค์ชายและทหารต่างหิวโหยไม่มีอะไรจะกิน ทหารผู้ติดตามคนหนึ่งชื่อ "เจ๋ยจื่อตุ้ย" เห็นองค์ชายทรงหิวมาก ด้วยความซื่อสัตย์ จึงเอากระบี่แล่เนื้อต้นแขนซ้ายออกมาชิ้นหนึ่ง แล้วเอาไปต้มให้องค์ชายกินประทังชีวิต
เมื่อพระองค์รู้ความจริง ก็ทรงสลดพระทัยจนทรงกรรแสง ที่ตนและเหล่าทหารได้รับความทุกข์ยากถึงขนาดนั้น และรับปากสัญญากับเหล่าพวกทหารจะยึดราชบัลลังก์กลับคืนมาให้ได้
เวลาผ่านไป 14 ปี ขณะนั้น องค์ชายอีฮู ลูกของนางสนมที่ได้ขึ้นครองราชย์ทำหน้าที่ได้ไม่ดี บ้านเมืองอ่อนแอ สบโอกาสให้องค์ชายชงเอ้อเข้าทำการศึกจนชนะสงคราม องค์ชายชงเอ้อได้อำนาจกลับคืนมาเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า "จิ้นเหวินกง"
แต่หลังชนะศึก จิ้นเหวินกง กลับหลงลืมเหล่าทหารคนสนิทข้างกายที่ร่วมเดินทางกันมานานสิบกว่าปี รวมถึงลืมทหารเอก "เจ๋ยจื่อตุ้ย" ด้วย บรรดาทหารต่างลาออกเพราะน้อยใจ
ฝ่ายเจ๋ยจื่อตุ้ยหลังลาออกจากทหาร ก็กลับบ้านเกิดมาช่วยมารดาทอเสื่อขาย คนในหมู่บ้านก็เฝ้าถามว่าทำไมเขาถึงลาออกจากทหาร ทำไมไม่ได้รับรางวัลจากองค์ชาย เขาจึงพามารดาหนีจากเสียงนินทา ย้ายไปอยู่ในป่าระหว่างภูเขาจินซาน
มีเพื่อนข้างบ้านคนหนึ่ง อดสงสารเจ๋ยจื่อตุ้ยไม่ได้ จึงเขียนคำโคลง พรรณนาถึงความทุกข์ยาก 19 ปีแห่งความหลังของอดีตทหารผู้นี้ แล้วเอาไปปิดไว้ที่กำแพงเมือง เมื่อจิ้นเหวินกง (องค์ชายชงเอ้อ) ทรงทราบเรื่องและนึกขึ้นได้ จึงให้ทหารไปตามเจ๋ยจื่อตุ้ยมาเข้าเฝ้า
เมื่อทรงทราบว่าเขาได้อพยพหนีเข้าป่าไปเสียแล้ว พระองค์จึงเสด็จพร้อมผู้ติดตามไปตามหาในป่า แต่เจ๋ยจื่อตุ้ยกลับพามารดาหนีเข้าป่าลึกไปอีก พระองค์ทรงเสียพระทัยมากและละอายพระทัย จึงทรงคิดอุบายให้ "เผาป่าทั้งภูเขา" โดยหวังว่าเจ๋ยจื่อตุ้ยคงหนีไฟออกมาแน่
แต่เมื่อไฟป่าโหมไหม้ เจ๋ยจื่อตุ้ยกับมารดาพยายามหาทางหนีไฟ แต่ก็หนีไม่พ้น เพราะควันไฟบดบังหนทาง และทำให้ทั้งสองคนสำลักควันไฟจนเสียชีวิต
ด้านพระเจ้าจิ้นเหวินกง ทรงคอยให้เจ๋ยจื่อตุ้ยออกมาก็ไม่เห็น จึงให้ทหารเข้าไปสำรวจดู ปรากฏว่าพบศพ 2 ศพกองอยู่ในโพรงต้นไม้ถูกไฟคลอกเสียชีวิต และรู้ได้ทันทีว่านั่นคือเจ๋ยจื่อตุ้ยและมารดาของเขานั่นเอง
เมื่อพระองค์ทรงทราบดังนั้นก็เสียพระทัยในความโง่เขลาของพระองค์เอง จึงทรงสร้างศาลเจ้าไหว้เจ๋ยจื่อตุ้ยและมารดาขึ้นบนภูเขานั้น ทรงดำริให้นำอัฐิแม่ลูกบรรจุไว้ในศาลเจ้า แล้วให้เหล่าลูกหลานของเจ๋ยจื่อตุ้ยเป็นผู้มาดูแลเซ่นไหว้ตลอดทุกปีอย่าได้ขาด
อีกทั้งทรงกำหนดให้มีวันระลึกถึงเจ๋ยจื่อตุ้ย เรียกว่า "เทศกาลวันหานสือ" หรือ "วันอาหารเย็นชืด" ในวันนี้ของทุกปี ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านจะไม่ก่อไฟหุงข้าว ทำอาหารอะไรทั้งสิ้น เพื่อเป็นการไว้ทุกข์จากเหตุสลดใจที่พระเจ้าจิ้นเหวินกงไปเผาป่าฆ่าเพื่อน
โดยพระองค์จึงสั่งให้ประชากรทั้งแคว้น เลิกจุดฟืนไฟในช่วง "วันชุนเฟิน" (ช่วงก่อนถึงเช็งเม้ง) ไปจบที่ "วันชิงหมิง" หรือ "วันเช็งเม้ง" ในปัจจุบัน
อีกทั้งช่วงเทศกาลนี้ผู้คนนิยมทำ "ขนมเข่ง" หรือ "เหนียนเกา" ก่อนถึงวันเช็งเม้ง เพื่อเก็บไว้รับประทานได้หลายวันโดยไม่ต้องใช้ฟืนไฟหุงหาอาหาร
จากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ดังกล่าว ได้กลายมาเป็นประเพณีให้ชาวจีนทุกครอบครัว ต่างยึดถือในการไหว้บรรพบุรุษในช่วงวันเช็งเม้งอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากันนั่นเอง
--------------------------------
อ้างอิง : อาจารย์ธนากร ซินแสมังกร, หมื่นเทพเทวะ