เปิดเกม “หยุด-คิด-ถาม-ทำ” วัคซีนออนไลน์ เพื่อผู้สูงวัยทันเกมโกงสื่อ
ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้การเข้าถึงสื่อยุคใหม่ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ไม่ได้จำกัดแค่ “วัยรุ่น” หรือคนหนุ่มสาว เพราะสื่อออนไลน์กำลังเป็นโลกใบใหม่ที่สร้างความตื่นเต้น เร้าใจในกลุ่ม “ผู้สูงวัย” เช่นเดียวกัน
แม้สื่อออนไลน์จะสร้างความสนุกสนาน อีกมุมยังเป็น “ดาบสองคม” เมื่อ ผู้สูงวัย ไม่น้อยกลับถูกหลอกลวงจากสารพัดเล่ห์เหลี่ยมมิจฉาชีพในโลกออนไลน์ เราจะเห็นได้จากข่าวที่ในระยะหลังมักมีผู้สูงวัยที่โดนหลอกมากขึ้น และยังได้รับความเสียหายมากกว่าอดีต การสร้าง “ความรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ” จึงเป็นอีกเรื่องสำคัญที่สังคมไม่อาจเพิกเฉยอีกต่อไป
รศ.ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ ประธานศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ (ICEM) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวให้ข้อมูลสถานการณ์และผลกระทบการใช้สื่อของผู้สูงอายุไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยกรณีตัวอย่าง 2,000 คนทั่วประเทศ ในปี 2564 โดยพบว่า ปัจจุบันผู้สูงอายุเปิดรับสื่อออนไลน์มากที่สุด รองลงมาคือ สื่อโทรทัศน์ และสื่อบุคคล ตามลำดับ ที่สำคัญพบความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการถูกหลอกลวงถึง ร้อยละ 16 โดยเฉพาะการซื้อสินค้าในราคาที่สูงเกินจริง เชิญชวนลงทุนธุรกิจ และทำบุญ ส่งผลทำให้ผู้สูงอายุต้องเสียเงิน เสียความรู้สึก และเสียรู้ต่างๆ นานา สะท้อนได้ว่า ผู้สูงอายุไม่มีทักษะการรู้เท่าทัน ทำให้ถูกหลอกและหลงเชื่อสิ่งที่สื่อนำเสนอ
ญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่ประเทศไทยเราต้องมีการเตรียมพร้อมปัจจัยสุขภาพในทุกด้านแก่ผู้สูงวัย เพราะปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ขณะเดียวกัน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อมีอิทธิพลสำคัญต่อโลกยุคใหม่ในวงกว้าง ดังนั้น เพื่อให้ผู้สูงอายุก้าวข้ามขีดจำกัดไปเป็นพลเมืองสูงวัยเท่าทันสื่อจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะ ทักษะเท่าทันสื่อ
“ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย พัฒนาหลักสูตรวัยเพชรรู้ทันสื่อ เพื่อเตรียมพื้นฐานก่อนที่จะให้ผู้สูงวัยเริ่มไปใช้สื่อ ฝึกให้ผู้สูงวัยมีสติก่อนเชื่อ สามารถใช้สื่อได้อย่างรู้เท่าทันและปลอดภัย มีโรงเรียนผู้สูงอายุเข้าร่วมกว่า 20 โรงทั่วประเทศแล้ว” ญาณีเอ่ย
ซึ่งอีกหนึ่งมาตรการสกัดสูงวัย ไม่หลงเหยื่อสื่อ ทาง สสส. และภาคียังเร่งขยายผลการขับเคลื่อนงานรู้เท่าทันสื่อให้แก่ผู้สูงอายุที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ เพื่อใช้แก้ปัญหาและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมสูงวัย โดยเฉพาะประเด็นสูงวัยเท่าทันสื่อ ล่าสุดสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล จึงร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จัดตั้งศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ (Intelligence Center for Elderly Media Literacy : ICEM) ขึ้น เพื่อพัฒนาหลักสูตรวัยเพชรรู้ทันสื่อและสร้างนวัตกรรมที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมผู้สูงวัยของไทย โดยใช้กลไกของศูนย์วิชาการเป็นระบบสนับสนุนให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ความร่วมมือดังกล่าว ทางสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นศูนย์กลางรวบรวมองค์ความรู้ และพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือที่ง่าย สร้างผลกระทบทางสังคมได้จริง และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางศูนย์ฯ ยังเปิดตัวนวัตกรรม “เกมออนไลน์ หยุด คิด ถาม ทำ หรือ STAAS (สต๊าซ)” ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือ พัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ด้วยตัวเอง
“นวัตกรรมเกมออนไลน์ สต๊าซ เป็นเครื่องมือให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้การรู้เท่าทันสื่อ และฝึกทักษะ หยุด คิด ถาม ทำ ที่เป็นหัวใจของ หลักสูตรวัยเพชรรู้ทันสื่อ ในรูปแบบเกมออนไลน์ที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นเกมที่จำลองเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ มี 4 เหตุการณ์ คือ 1. ได้รับข่าวน้ำมะนาวเกลือรักษามะเร็ง 2. ข้อความจากครูหนุ่ม 3. ลูกสาวเข้าโรงพยาบาล และ 4. ตำรวจตรวจเงิน ผู้ร่วมเล่นเกมจะได้พิจารณาจากเหตุการณ์แล้วเลือกว่า ควรจะ หยุด คิด ถามหาแหล่งข้อมูล และตัดสินใจทำอย่างไร รวมถึงเกมยังให้ความสำคัญกับการส่งต่อข้อมูลอีกด้วย ทั้งนี้ เกมออนไลน์ สต๊าซ ถือเป็นนวัตกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการรู้เท่าทันสื่อที่เข้ากับยุคสมัย เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุไทยเป็น สูงวัยหัวใจสต๊าซ รู้เท่าทันสื่อ” รศ.ดร.นันทิยา กล่าว
สำหรับผู้สูงวัยและผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลด เกมออนไลน์ “สต๊าซ” บนแพลตฟอร์มโทรศัพท์มือถือ ทั้งในระบบปฎิบัติการ iOS และ Android ได้แล้ววันนี้
เมื่อเราไม่อาจสกัดกั้น “ผู้สูงวัย” ได้เรียนรู้กับโลกใบใหม่ ผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตอยู่ในมือได้ การสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้สูงวัยเท่าทันเกมมิจฉาชีพหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ น่าจะเป็นทางออกดีที่สุด